ThaiPublica > เกาะกระแส > อีคอมเมิร์ซจีนใช้ช่องว่างภาษีรุกตลาด ขนส่งทางอากาศทั่วโลกถึงขั้นปั่นป่วน

อีคอมเมิร์ซจีนใช้ช่องว่างภาษีรุกตลาด ขนส่งทางอากาศทั่วโลกถึงขั้นปั่นป่วน

24 กรกฎาคม 2024


สุนิสา กาญจนกุล รายงาน

สินค้าปริมาณมากที่บริษัทอีคอมเมิร์ซจีนส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในแต่ละวัน ทำให้ค่าระวางขนส่งทางอากาศทะยานสูงทะลุเพดาน แต่บริษัทก็ยังยินดีเลือกใช้วิธีขนส่งที่รวดเร็วกว่าเพื่อผูกใจลูกค้า ที่มาภาพ: https://theloadstar.com/congestion-building-at-us-airports-as-handlers-struggle-to-find-cargo-space/

หลายประเทศมีเกณฑ์ยกเว้นภาษีสำหรับสินค้ามูลค่าต่ำ ที่กำหนดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชากรของตน แต่บริษัทอีคอมเมิร์ซของจีนเล็งเห็นช่องว่างนี้และใช้เป็นช่องทางบุกตลาดการค้าในหลายๆ ประเทศ จนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและทำเงินได้อย่างมหาศาล ส่งผลให้ระบบขนส่งทางอากาศเผชิญภาวะสับสนวุ่นวายในการรับมือพัสดุจากจีน ที่ต้องใช้เครื่องบินโบอิง 777 ถึงวันละ 88 ลำโดยประมาณ เพื่อลำเลียงพัสดุเหล่านั้นไปทั่วโลก

สองยักษ์เทมูและชีอิน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนได้สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาในตลาดโลก โดยเฉพาะในประเทศตะวันตกหลายแห่ง สามารถทำยอดขายได้ชนิดที่เรียกว่าถล่มทลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ สองบริษัทที่โดดเด่นที่สุดก็คือ เทมู (TEMU) และชีอิน (SHEIN)

เจ้าของเทมูก็คือ พีดีดี โฮลดิงส์ บริษัทแม่ของพินตัวตัว (Pinduoduo) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งเปิดตัวเทมูในสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายนในปี 2022 พร้อมกับขยายไปยังตลาดต่างประเทศอื่นๆ อย่างรวดเร็ว รวมถึงสหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศในยุโรป

เทมูเติบโตอย่างก้าวกระโดดในตลาดสหรัฐฯ โดยกลายเป็นแอปชอปปิงยอดนิยมในเวลาไม่กี่เดือนหลังเปิดตัว จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มจาก 5.8 ล้านราย ในเดือนตุลาคม ปี 2022 เป็น 104.2 ล้านราย ในเดือนเมษายน ปี 2023

คู่แข่งที่ไล่ตามเทมูมาแบบไม่ทิ้งห่างกันมากนักก็คือชีอิน ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซระดับโลกที่มีชื่อเสียงโดดเด่นด้านแฟชั่น โดยคริส ซู ก่อตั้งชีอินในปี 2008 ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน ช่วงแรกชีอินเน้นขายชุดแต่งงานออนไลน์ แต่ขยายไปสู่สินค้าแฟชั่นทั่วไปในปี 2012 และเริ่มขยายตลาดไปทั่วโลกในปี 2015 พร้อมกับเพิ่มประเภทสินค้าที่หลากหลายกว่าเดิม เช่น เครื่องประดับ รองเท้า และสินค้าตกแต่งบ้าน

ชีอินกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ขยายธุรกิจไปยังกว่า 150 ประเทศ แม้ว่าจะไม่มีการยืนยันตัวเลขที่แน่นอน แต่มีรายงานว่าชีอินมียอดขายหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และได้รับเงินทุนจากนักลงทุนรายใหญ่จนมีมูลค่าบริษัทหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

กุญแจสู่ความสำเร็จ

อีคอมเมิร์ซจีนทั้งสองรายสร้างแรงกระเพื่อมอย่างไม่เคยมีมาก่อนในตลาดต่างประเทศ ด้วยราคาที่แสนถูกและกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดและโดดเด่น

สินค้าของเทมูและชีอินเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าเนื่องจากราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งอย่างมาก โดยทั้งคู่ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ผลิตในจีน ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้คนกลาง ขณะเดียวกัน การที่จีนเป็นแหล่งรวมโรงงานผลิตสินค้าราคาถูก ทำให้สินค้าจากอีคอมเมิร์ซทั้งสองรายนี้มีความหลากหลายอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โดยมีข้าวของสารพัดชนิดให้เลือกซื้อหา ตั้งแต่เสื้อผ้า ของเล่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือช่าง ไปจนถึงของใช้เบ็ดเตล็ดในบ้าน

การตลาดดิจิทัลที่แข็งแกร่งเป็นอีกหนึ่งกลไกของความสำเร็จ การใช้โซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์อย่างมีประสิทธิภาพช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์อย่างรวดเร็ว รวมถึงการนำเอไอมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อช่วยในการคาดการณ์แนวโน้มและปรับสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

แอปและเว็บไซต์ของเทมูและชีอินยังออกแบบให้ใช้งานง่าย มีคุณสมบัติการแนะนำสินค้าที่ชาญฉลาด ทำให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดีในการเลือกหาสินค้า ส่งผลให้เกิดการกลับมาซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก

กระทบขนส่งทางอากาศ

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทมูและชีอินส่งผลให้ทั้งคู่กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซ เพื่อตอบสนองบรรดาลูกค้าใจร้อน ทั้งสองรายจึงเลือกใช้วิธีการจัดส่งสินค้าด้วยบริการขนส่งอากาศซึ่งรวดเร็วกว่า

ในแต่ละวันพัสดุที่ต้องจัดส่งรวมกันของทั้งสองบริษัทต้องใช้เครื่องบินบรรทุกสินค้าโบอิง 777 จำนวนมากถึง 88 ลำ โดยบรรทุกเต็มความจุ จึงจะสามารถรองรับความต้องการของเทมูและชีอินได้

ปริมาณการขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้อัตราค่าขนส่งทางอากาศพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา แต่ทั้งสองบริษัทก็ยินดีที่จะควักกระเป๋าของตัวเองเพื่ออุดหนุนค่าขนส่งที่แพงกว่าเดิม

ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์บางรายมีความวิตกกังวลว่าเมื่อถึงช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ผู้บริโภคมีปริมาณการจับจ่ายใช้สอยสูงกว่าช่วงเวลาปกติ ความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอาจสร้างความสับสนวุ่นวายให้กับระบบขนส่งทางอากาศได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทโลจิสติกส์และสายการบินหลายแห่งกำลังพยายามปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้น บางรายตัดสินใจเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางใหม่ โดยเฉพาะเที่ยวบินและเส้นทางระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะสร้างความปั่นป่วนให้กับวงการขนส่งและผู้ใช้บริการขนส่งที่มีขนาดเล็กกว่ายักษ์อีคอมเมิร์ซทั้งสองราย แต่ยังก่อให้เกิดความข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะเป็นที่รู้กันดีกว่าการขนส่งทางอากาศนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าการขนส่งทางทะเลอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้หลายฝ่ายกังวลใจที่เทมูและชีอินเลือกพึ่งพาวิธีการนี้เพื่อเอาใจลูกค้าที่ชื่นชอบความรวดเร็วในการจัดส่ง

ใช้ประโยชน์จากช่องว่างภาษี

นอกจากความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าแล้ว ความสำเร็จส่วนหนึ่งของเทมูและชีอินมาจากการฉวยประโยชน์จากช่องว่างทางภาษี ทำให้ราคาสินค้าที่ส่งจากจีนมีราคาถูกกว่าสินค้าที่วางจำหน่ายในประเทศ เนื่องจากสินค้าเหล่านั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้เหมือนสินค้าขนาดเล็กที่จัดส่งจากต่างประเทศ

หลายๆ ประเทศมีนโยบายยกเว้นภาษีที่เรียกว่า ดีมินิมิส (De Minimis) ซึ่งเป็นหลักการทางภาษีศุลกากรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบริบทของการค้าระหว่างประเทศ

ดีมินิมิสมาจากภาษาลาติน มีความหมายว่า “เรื่องเล็กน้อย” หรือ “ไม่สำคัญ” แต่ในแง่ของภาษีศุลกากรจะหมายถึงมูลค่าขั้นต่ำของสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระทางภาษีให้ประชาชน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าขนาดเล็ก

ดีมินิมิสมีผลดีในแง่ของการส่งเสริมการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศและเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าในประเทศ จึงต้องมีการพิจารณานโยบายอย่างรอบคอบเพื่อสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้บริโภคและการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

แต่ละประเทศจะกำหนดมูลค่าดีมินิมิสแตกต่างกันไป เช่น มูลค่าดีมินิมิสของสหรัฐฯ คือ 800 เหรียญสหรัฐฯ สหภาพยุโรป 150 ยูโร สำหรับภาษีศุลกากร และ 22 ยูโร สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ญี่ปุ่น 10,000 เยน ขณะที่ประเทศไทยเคยกำหนดมูลค่าดีมินิมิสไว้ที่ 1,500 บาท

แต่การค้าออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้จำนวนพัสดุที่ส่งมาจากจีนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2023 มีการส่งพัสดุประมาณหนึ่งพันล้านชิ้นเข้าสู่สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากจีน โดยพัสดุจากเทมูและชีอินน่าจะมีสัดส่วนเกือบหนึ่งในสาม ทั้งหมดไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากหลักการดีมินิมิส

แนวทางรับมือ

รัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่างก็กำลังพิจารณามาตรการต่างๆ เพื่อปิดช่องโหว่นี้ หนึ่งในวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือการลดเพดานมูลค่าดีมินิมิส ซึ่งจะทำให้สินค้าของเทมูและชีอินต้องเสียภาษีมากขึ้น อีกทางเลือกหนึ่งคือการกำหนดเพดานมูลค่าภาษีตามธุรกรรมแทนที่จะเป็นรายพัสดุ เพื่อป้องกันการแบ่งคำสั่งซื้อมูลค่าสูงเป็นพัสดุมูลค่าต่ำหลายพัสดุเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการพัฒนาระบบจัดเก็บภาษีที่ง่ายขึ้นสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีอื่นๆ ณ จุดขาย ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจว่ามีการจัดเก็บภาษีแม้กับสินค้ามูลค่าต่ำ

การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง โดยปรับปรุงระบบคัดกรองและประเมินความเสี่ยงของศุลกากรเพื่อระบุพัสดุที่น่าสงสัย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและกำลังคนเพิ่มขึ้น

ความร่วมมือระหว่างประเทศก็เป็นกุญแจสำคัญ สหรัฐฯ และประเทศในยุโรปอาจร่วมมือกันเพื่อสร้างแนวทางที่สอดคล้องกันในการกำหนดเพดานดีมินิมิสและการจัดเก็บภาษีสำหรับอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ค้าปลีกทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

ขณะที่อีกหลายประเทศเลือกใช้วิธีที่ส่งผลชัดเจนแบบฉับไวซึ่งได้แก่การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทุกชิ้นโดยไม่มีการยกเว้นอีกต่อไป ซึ่งหลายๆ ประเทศทยอยประกาศใช้มาตรการนี้ไปพลางๆ ก่อน ระหว่างที่กำลังเสาะหามาตรการอื่นๆ เพื่อให้ได้วิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ล่าสุดประเทศไทยเองก็เพิ่งประกาศเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าจากต่างประเทศทุกชิ้นที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 บาท ขึ้นไป โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2024 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลและสร้างสนามแข่งขันที่เสมอภาคกัน

อย่างไรก็ตาม ทุกแนวทางล้วนมีข้อดีและข้อเสีย จึงมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค ธุรกิจ และประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล โดยยึดถือเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นธรรมทางภาษี ภาระด้านการบริหารจัดการ และผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

แหล่งข้อมูล:

https://time.com/6695469/temu-shein-de-minimis/
https://www.forbes.com/sites/cyrusfarivar/2024/05/21/youre-buying-so-much-from-temu-and-shein-the-air-cargo-industry-cant-keep-up/?sh=dd8bca643ef8
https://ecommercenews.eu/shein-and-temu-are-clogging-the-air-freight-market/
https://asia.nikkei.com/Business/Transportation/U.S.-obsession-for-China-s-Temu-Shein-sends-air-cargo-prices-soaring
https://www.reuters.com/business/retail-consumer/rise-fast-fashion-shein-temu-roils-global-air-cargo-industry-2024-02-21/
https://www.forbes.com/sites/petercohan/2024/03/21/down-by-26-million-users-amazon-could-keep-losing-customers-to-temu/?