วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น.กระทรวงการคลังได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ภยใต้หัวข้อ “Ignite Finance: Thailand’s Vision for a Global Financial Hub” เปิดทางนำไทยสู่ศูนย์กลางการเงินโลก
ในจดหมายเชิญสื่อมวลชนระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะกล่าวปาฐกถาและขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือผลักดันโครงการ Financial Hub หลังจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาเปิดงาน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล) แสดงวิสัยทัศน์
นอกจากนี้ยังมีผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเปิดโครงการ Financial Hub รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์)
ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประธานสมาคมธนาคารนานาชาติ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย
ก่อนหน้านี้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2024 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision ที่ทำเนียบรัฐบาล มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เทคโนโลยี และการเงิน
นอกจากนี้รัฐบาลตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค ซึ่งหนึ่งใน 8 วิสัยทัศน์ที่ 8 นั้นคือ ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub)โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะเปลี่ยนให้ไทยเป็น Financial Center of Southeast Asia ขับเคลื่อนโดยระบบการเงินที่แข็งแกร่ง ดึงสถาบันการเงินระดับโลกเข้ามาลงทุน สร้างย่านการเงิน Wall Street ของอาเซียนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และพัฒนา Infrastructure รองรับระบบการเงินแห่งอนาคตขับเคลื่อนด้วย Blockchain ที่ไร้ตัวกลาง และเตรียมปลดล็อก Digital Asset ต่าง ๆ ให้สามารถแปลงเป็นผลผลิตในโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงเชื่อมต่อระหว่างสินทรัพย์ในโลกปัจจุบันให้มาอยู่บนโลกดิจิทัลได้อีกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลจะเริ่มพัฒนาระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน Carbon Credit Trading ซึ่งในอนาคตจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลจำเป็นต้องมีหน่วยงาน กฎระเบียบ รองรับการก้าวไปสู่ยุคการเงินสมัยใหม่เช่นกัน
ปัจจุบันกรุงเทพติดศูนย์กลางการเงินโลกอันดับที่เท่าไร และได้รับความนิยมแค่ไหน ลองมาดูจากการจัดอันดับล่าสุด Global Financial Centres Index (GFCI) ของ Z/Yen Partners ที่ร่วมกับ China Development Institute โดย Global Financial Centers Index ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลกเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำของโลก
GFCI ได้จัดอันดับมาแล้ว 16 ปี แต่ละปีจะเผยแพร่รายงาน 2 ฉบับที่แสดงถึงความก้าวหน้าของศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลก คือ เดือนมีนาคมและกันยายน
Global Financial Centres Index ฉบับที่ 35 (GFCI 35) เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 โดยนำเสนอการประเมินความสามารถในการแข่งขันและการจัดอันดับในอนาคตสำหรับศูนย์กลางทางการเงิน 121 แห่งทั่วโลก และ GFCI ยังเป็นข้อมูลอ้างอิงที่มีคุณค่าสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านนโยบายและการลงทุน
GFCI 35 ศึกษาศูนย์กลางทางการเงิน 133 แห่งโดยมี 121 แห่งอยู่ในดัชนีหลัก ทั้งนี้ GFCI รวบรวมโดยใช้ปัจจัยเครื่องมือ 145 รายการ มาตรการเชิงปริมาณเหล่านี้จัดทำโดยบุคคลที่สาม รวมถึงธนาคารโลก, Economist Intelligence Unit, OECD และสหประชาชาติ
ปัจจัยเครื่องมือได้นำมารวมกับการประเมินศูนย์การเงิน จากผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ของ GFCI ซึ่ง GFCI 35 ใช้การประเมิน 48,365 รายการจากผู้ตอบแบบสำรวจ 8,494 คน

ผลการประเมินของ GFCI 35 มีดังนี้
ศูนย์กลางการเงินชั้นนำ
นิวยอร์กเป็นผู้นำ โดยลอนดอนเป็นอันดับสอง นำหน้าสิงคโปร์ในอันดับที่สาม ซึ่งยังคงเป็นนำเหนือฮ่องกงที่อยู่ในตำแหน่งที่สี่ ซานฟรานซิสโก ยังคงอยู่อันดับที่ 5 โดยเซี่ยงไฮ้ แซงลอสแองเจลีสขึ้นมาเป็นอันดับที่ 6 และตกลงไปอยู่อันดับที่แปด เจนีวาไต่ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 7 โดยชิคาโกตงอันดับเดิมที่ 9 และโซลอยู่อันดับที่ 10
ยุโรปตะวันตก
ลอนดอนยังคงเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้และอยู่ในอันดับที่สองของโลก โดยมีศูนย์กลางการเงินยุโรปตะวันตก 6 แห่งที่ติด 20 อันดับแรกใน GFCI 35 แม้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทั่วภูมิภาคมาเพียง 0.9% แต่เรคยาวิก เจอร์ซีย์ กลาสโกว์ และลูกาโนก็มีคะแนนที่มีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับ GFCI 34
ในทางกลับกัน เฮลซิงกิ เวียนนา เกิร์นซีย์ ออสโล มิลาน สตอกโฮล์ม อัมสเตอร์ดัม เบอร์ลิน มิวนิก และโคเปนเฮเกน กลับมีอันดับลดลงปฏิเสธการจัดอันดับ
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ภูมิภาคนี้มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.89% โดยสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ และมีคะแนนนำหน้าฮ่องกงหนึ่งคะแนน เซี่ยงไฮ้และโซลยังติด 10 อันดับแรกของโลกในอันดับที่ 6 และ 10 ตามลำดับ
ปักกิ่งร่วงลงมา 2 อันดับ โดยที่โอซาก้า กรุงเทพฯ จาการ์ตา และไทเป มีเรตติ้งลดลงเช่นกัน เมืองในเอเชียจตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดอันดับใน GFCI 35 นอกจากสิงคโปร์แล้ว กัวลาลัมเปอร์ ติดอันดับที่ 77 กรุงเทพอันดับ 93 มะนิลาอันดับ 101 จาการ์ตาอันดับ 102 และโฮ จิมินห์ ซิตี้อันดับ 108
เมืองศูนย์กลางการเงินอื่นๆ ทั้งหมดในภูมิภาคมีเรตติ้งขึ้น โดยเฉพาะเวลลิงตัน (เพิ่มขึ้น 15 อันดับ) เมลเบิร์น (เพิ่มขึ้น 11 อันดับ) และเมืองฮอยจิมินห์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 12 อันดับ

อเมริกาเหนือ
นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส และชิคาโกยังคงอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก โดยลอสแองเจลิสตกลงมา 2 อันดับ
โดยเฉลี่ยแล้ว คะแนนของเมืองศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเพียง 0.68% ซึ่งเป็นคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดที่เพิ่มขึ้นรายภูมิภาค
วอชิงตัน ดี.ซี. บอสตัน แอตแลนต้า ไมอามี และแวนคูเวอร์ ต่างก็มีอันดับที่ตกลง
ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง
อัสตานายังคงอยู่ในตำแหน่งผู้นำในภูมิภาค โดยมีทาลลินน์แซงปรากมาอยู่อันดับสอง คะแนนเฉลี่ยภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น 1.75%
อัลมาตีเพิ่มขึ้น 11 อันดับ โดยศูนย์อื่นๆ ทั้งหมด ยกเว้นทาลลินน์ มีอันดับลดลง
ตะวันออกกลางและแอฟริกา
ดูไบและอาบูดาบียังคงครองอันดับหนึ่งและสองในภูมิภาค เทลอาวีฟไต่ขึ้นมา 9 อันดับ อยู่อันดับ 3 โดยมีคาซาบลังกาเป็นศูนย์กลางชั้นนำของทวีปแอฟริกา และอันดับ 4 ในภูมิภาค
คะแนนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคนี้คือ 2.16%
คิกาลีเลื่อนขึ้นมา 14 อันดับ เคปทาวน์ขยับขึ้น 8 อันดับ และมอริเชียสขึ้น 7 อันดับ โดยโดฮาตกไป 10 อันดับและริยาดห์ตก 9 อันดับ
ละตินอเมริกาและแคริบเบียน
ภูมิภาคนี้ได้รับคะแนนสูงสุดเพิ่มขึ้นที่ 3.35% โดยหมู่เกาะเคย์แมน เซาเปาโล และบาร์เบโดสขึ้นนำ และเซาเปาโลขึ้นอันดับ 21
บาร์เบโดสขึ้นมา 11 อันดับ และริโอเดจาเนโร 10 อันดับ ขณะที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จินตกลง 8 อันดับและบาฮามาสตกลง 6 อันดับ
ฟินเทค
GFCI ประเมินFintech จากศูนย์กลางการเงิน 116 แห่ง โดยเวลลิงตัน เข้าสู่การจัดอันดับ Fintech เป็นครั้งแรกในอันดับที่ 23
นิวยอร์กยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำในการจัดอันดับ Fintech ตามมาด้วยลอนดอน และซานฟรานซิสโก เซินเจิ้นคงอันดับที่สี่ไว้ได้ และวอชิงตัน ดี.ซี. ขยับขึ้นนำเป็นอันดับที่ 5 แซงสิงคโปร์
โซลติดอันดับอยู่ในท็อป 10 ร่วมกับลอสแอนเจลีส สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ และชิคาโก แทนที่ปักกิ่งซึ่งตกลงไปอยู่ที่สิบเอ็ด
ในการจัดอันดับ Fintech มีศูนย์กลางการเงิน 17 แห่งตกลง 10 อันดับขึ้นไป และมีศูนย์กลางการเงิน 12 แห่งขยับขึ้นมากกว่า 10 อันดับขึ้นไป……

คลังชูกุญแจ 3 ดอก ขับเคลื่อนไทยสู่ ‘Financial Hub’
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2527 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเปิดตัวโครงการ “Ignite Finance” ร่วมกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีผู้บริหารกระทรวงการคลัง , ธนาคารแห่งประเทศไทย , สำนักงาน กลต. , สำนักงาน คปภ. และผู้นำจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมงาน ณ ห้องกำปั่น ชั้น 21 อาคารหลังใหม่ กระทรวงการคลัง
โดยดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ วิสัยทัศน์ของกระทรวงการคลังในการนำประเทศไปสู่ศูนย์กลางการเงินโลก (Global Financial Hub) เริ่มบรรยายโดยการอธิบายความหมายของคำว่า “Globalization” คือการเคลื่อนย้ายของคน , เงิน ,ข้อมูลความรู้ และสินค้า/บริการ ที่เคลื่อนไหวอย่างอิสระ โจทย์ของกระทรวงการคลัง คือ ทำอย่างไรจะดึงการเคลื่อนย้ายเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทย โดยผู้ที่ชนะในเกมนี้คือประเทศที่สามารถดึงสิ่งเหล่านี้เข้ามาในประเทศของตนเองได้ และผู้ที่แพ้คือประเทศที่ถูกมองข้าม และนี่เป็นที่มาที่ทำให้รัฐบาลต้องประกาศนโยบาย Ignite Thailand เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนใน 8 อุตสาหกรรม ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไปแล้ว

“ถามว่าการเคลื่อนย้ายของคน , เงิน , นวัตกรรมองค์ความรู้ และสินค้าและบริการจะวิ่งเข้าหาอะไร คำตอบคือจะวิ่งเข้าหาประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด , วิ่งเข้าหาประเทศที่มีความสะดวกสบายในการประกอบธุรกิจมากที่สุด และวิ่งเข้าหาประเทศที่น่าอยู่มากที่สุด ถามต่อไปว่าใน 3 สิ่งนี้ประเทศไทยมีอะไรเป็นจุดแข็ง คำตอบคือเป็นประเทศที่น่าอยู่ มีขนบธรรมเนียมประเพณี และสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่สิ่งที่ประเทศไทยขาด คือ ต้องเป็นประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด และมีความสะดวกสบายในการประกอบธุรกิจ โดยกระทรวงการคลังถืออีกเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนนโยบาย Ignite Thailand ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงิน , Hot Spot ทางการเงิน และ Financial Hub ของโลก” ดร.เผ่าภูมิ กล่าว
ตั้งองค์กรแจกสิทธิประโยชน์ ดึงต่างชาติลงทุนธุรกิจการเงิน 5 ประเภท
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า แล้วเราจะไปให้ถึงเป้าหมายได้อย่างไร หรือมีแค่วิสัยทัศน์ ทางกระทรวงการคลังจึงขอนำเสนอกุญแจ 3 ดอก ในการนำพาประเทศไทยไปสู่ Financial Center มีดังนี้
กุญแจดอกที่ 1 ในระยะเวลาอันใกล้นี้ กระทรวงการคลังจะนำเสนอกฎหมายธุรกิจการเงินชุดใหม่ โดยจะมีจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาต ดูแล กำหนดเงื่อนไข ทิศทาง ยุทธศาสตร์และกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับธุรกิจการเงิน 5 ประเภท เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก ได้แก่ ธุรกิจทางด้านธนาคาร , ธุรกิจหลักทรัพย์ , ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward contract), ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจประกันภัย โดยรัฐบาลจะไปเชิญชวนนักลงทุนเหล่านี้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
กุญแจดอกที่ 2 กำหนดสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจสำหรับคนต่างด้าว , การให้ VISA ทำงานแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และครอบครัว (Work Permit), การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เทียบเท่ากับศูนย์กลางการเงินอื่นในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่ภาษี ไทย เช่น เงินสนับสนุน (Grant) เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ
กุญแจดอกที่ 3 ระบบนิเวศน์แห่งอนาคต หรือ “Eco System” ใหม่ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆที่มีกฎหมาย และหน่วยงานมากำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นการเฉพาะ และยังเป็นประเทศแรกๆที่ให้ความสำคัญกับระบบการค้าการลงทุนสมัยใหม่ รวมทั้งกำลังเร่งดำเนินการนำคาร์บอนเครดิตมาเชื่อมโยงกับ Digital Asset ซึ่งสิ่งต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ Eco System ใหม่ ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ Financial Center
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า แต่อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากระบบการเงินของประเทศไม่แข็งแรง และยังไม่เป็นระบบการเงินที่ตอบโจทย์คนไทยทุกคน ไม่ว่ายากจน หรือ ร่ำรวย ทุกคนในประเทศต้องเข้าถึงระบบการเงินได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะไปเชิญชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน จากภาพที่นำมาแสดง คือเรื่องของการเข้าถึงสินเชื่อ หรือ แหล่งเงิน เรียงลำดับตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ซ้ายมือเป็นธนาคารพาณิชย์ ถัดมาเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ฝั่งขวามือเป็น Non-Bank และหนี้นอกระบบ กรณีผู้กู้มีเงินเดือนประจำมีหลักฐานแสดงแหล่งที่มาของรายได้ครบ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คนกลุ่มสามารถเข้าไปกู้เงินกับธนาคารพาณิชย์ได้ไม่มีปัญหา
“แต่ที่เป็นปัญหาคือประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบ 50% ของแรงงานทั้งหมด คนกลุ่มนี้ไม่มีเงินเดือนที่แน่นอน ไม่มีหลักฐานทางการเงิน ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากต้องการสินเชื่อต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยแพงโดยไปกู้ Non – Bank ไปจนถึงเงินกู้นอกระบบ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีช่องว่างทางการเงิน หรือ “Financial Gap” ไม่มีระบบการเงินมารองรับคนกลุ่มนี้ เป็นสิ่งที่ขาดสำหรับประเทศไทย”
เข็น “Virtual Bank – NaCGA” ปิดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งเงิน
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า เพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ขอนำเสนอธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ “Virtual Bank” คาดว่าอีกไม่เกิน 1 ปี จะมีการออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อเปิดให้มีการประกอบธุรกิจประเภทนี้ โดย Virtual Bank จะเป็นธนาคารที่ใช้ข้อมูลทางเลือกใหม่มาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ นอกเหนือไปจากข้อมูลเงินเดือนประจำ ประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน และข้อมูลเครดิตต่างๆ เช่น ข้อมูลการชำระค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รวมไปถึงข้อมูลการซื้อ-ขายสินค้าผ่าน e-Commerce Platform ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาใช้ในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้แทนที่สลิปเงินเดือน แทนที่หลักทรัพย์ค้ำประกัน และข้อมูลเครดิต ซึ่ง Virtual Bank นี้จะมาตอบโจทย์ Financial Gap ของประเทศไทย เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้ถึงแหล่งสินเชื่อได้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี SMEs เป็นจำนวนมาก แต่ลูกค้ากลุ่มนี้มีความเสี่ยง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐไม่พร้อมที่จะเข้าไปรับความเสี่ยง หากไม่ทำอะไร SMEs ก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้ ซึ่งกระทรวงการคลังจึงมีแนวคิดที่จะมีการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) โดยการยกระดับ บสย.ขึ้นเป็น “NaCGA” เป็นกลไกในการมารับความเสี่ยงของ SMEs เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้ ซึ่งในขณะนี้กระทรวงการคลังได้ส่งเรื่องไปให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อแก้ปัญหา Financial Gap
“หาก SMEs ต้องการสินเชื่อให้ไปติดต่อ NacGA ขอให้ออกหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ จ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราที่ถูก โดยรัฐบาลจะจัดงบประมาณมาอุดสนุน หลังจากที่ได้หนังสือค้ำประกันหนี้จาก NaCGA ไปกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ NaCGA จะเป็นผู้ชำระหนี้แทน โดยกลไกรูปแบบใหม่นี้จะแตกต่างจากเดิมผู้กู้ต้องเดินเข้าไปหาแบงก์ก่อน จากนั้นธนาคารจะส่งผู้กู้มีความเสี่ยงสูงไปให้ บสย.การันตี นี่คือนวตกรรมใหม่ที่เรียกว่า NaCGA เปลี่ยนจากคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ กลายเป็นลูกค้าที่ธนาคารวิ่งเข้าหา เพื่อปิดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อให้กับประชาชน และ SMEs ทุกราย” ดร.เผ่าภูมิ กล่าว

จากนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวปิดงานว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยจากการพึ่งพาการผลิตไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมบริการที่มีมูลค่าสูง โดยการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสำคัญด้านการเงิน การลงทุน และการธนาคาร ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของประเทศไทย และการพัฒนากฎหมายการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้จะดึงดูดเงินทุนต่างชาติ และผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงมายังประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก ภายใต้โครงการ Ignite Finance รัฐบาลไม่เพียงมุ่งหวังที่จะพัฒนาภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยทุกคน
โครงการ “Ignite Finance” ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก ด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นร่วมกันของภาครัฐและผู้นำในอุตสาหกรรมการเงิน โครงการนี้มีความมุ่งหวังที่จะสร้างระบบนิเวศน์ที่ผู้ประกอบการระดับโลกและวิสาหกิจเริ่มต้นและคนที่มีแนวคิด มารวมตัวกันเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต โดยยังคำนึงถึงเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ เพื่อเปิดทางนำไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินโลก
เมื่อประเทศไทยเริ่มต้นก้าวสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก ประเทศพร้อมที่จะจุดประกายอนาคตแห่งความรุ่งเรือง นวัตกรรม และการเป็นผู้นำด้านการเงิน ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราจะสร้างศูนย์กลางการเงินทัดเทียมกับที่อื่น ๆ ในโลก