ThaiPublica > คนในข่าว > รู้จักจีนผ่าน “อู๋ จื้ออู่” อัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย

รู้จักจีนผ่าน “อู๋ จื้ออู่” อัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย

23 กรกฎาคม 2024


นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ” รู้จักประเทศจีน ความสัมพันธ์จีน-ไทย และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน” ในการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านองค์ความรู้และความร่วมมือทางธุรกิจจีน TEPCIAN(Top Executive Program on China Business Insights and Network)รุ่นที่ 4 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงทั้งชาวไทยและชาวจีนที่ต้องการทำการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ รวมทั้งผู้บริหารภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวไทย-จีน

อัครราชทูตอู๋กล่าวว่า การที่ได้มาบรรยายในหลักสูตรเป็นคนแรก “ในฐานะคนจีนคนหนึ่งเมื่อมาพูดคุยหรือแนะนำประเทศของตัวเองให้กับเพื่อมิตรชาวต่างชาติแล้ว ผมจะแนะนำอะไรให้เขาบ้าง ถ้าอยากจะทำความรู้จักกับประเทศจีน คนจีนและการทำกิจการหรือ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจีนกับไทย เพื่อนมิตรชาวต่างชาตินั้นต้องรู้อะไรบ้าง ถึงจะมีส่วนช่วยเขา ผมเลยอยากจะขอแนะนำสภาพคร่าวๆของประเทศจีนโดยสังเขปให้ด้วย”

อารยธรรมที่สร้างจีนสืบทอดมาหลายพันปี

อัครราชทูตอู๋กล่าวว่า ทำเลที่ตั้งของประเทศใดประเทศหนึ่งก็จะกำหนดชะตากรรมของประเทศนั้น ฉะนั้นจึงอยากให้ทราบถึงประเทศจีน

ประเทศจีนตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และอยู่ภาคตะวันออกของเอเชีย จีนมีเนื้อที่ทั้งหมด 9.6 ล้านตารางกิโลเมตรหรือเท่ากับทวีปยุโรปทั้งทวีป หรือเล็กกว่าเล็กน้อย แต่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน เมื่อก่อนเคยเป็นประเทศที่มีประชากรใหญ่ที่สุดในโลก จนกระทั่งปีที่แล้วตกเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย อย่างไรก็ตามเนื้อที่ของจีนก็เป็นอันดับสามของโลก รองจากรัสเซียและแคนาดา จากตะวันออกถึงตะวันตก 5,200 กว่ากิโลเมตร ความยาวจากเหนือลงใต้กว่า 5,500 กิโลเมตรทำให้มีความหลากหลายความแตกต่าง

ใน 1,400 ล้านคนแบ่งออก 56 ชนเผ่าและใน 56 ชนเผ่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่นถึง 91% ซึ่งในอนาคตอาจจะลดลง เพราะในหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเคยดำเนินนโยบายวางแผนครอบครัวอย่างเข้มงวด และส่วนใหญ่ใช้กับคนชาวฮั่น แต่สำหรับชนกลุุ่มน้อยไม่จำเป็น สัดส่วนชนกลุ่มน้อยได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่จีนได้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 ตอนนั้นสัดส่วนของชาวฮั่นมีมากกว่า 94% แต่หลังมีการวางแผนครอบครัวแล้วก็ลดลง ชนกลุ่มเหล่านี้ได้อยู่ร่วมกันกับประเทศจีน

“ลักษณะที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง คือ จีนได้เป็นประเทศจีนอย่างนี้มาแล้วเป็นเวลานับพันปี ผืนแผ่นดินหรืออาณาเขตของจีนที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน จีนก็เป็นมาอย่างนี้แล้วนับพันปี อารยธรรมจีนที่เราสืบค้นทางโบราณคดีได้นานที่สุดนับหมื่นปี ที่มีร่อยรอยวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวของมนุษย์ ที่เราพบมีเมืองที่มีการวางผังเมืองไว้อย่างดีมีอายุราว 8,000 ปี หนังสือที่เราขุดพบที่เก่าแก่ที่สุด เป็นหนังสือกระดองเต่า มีประวัติกว่า 3,600 ปี” นายอู๋กล่าว

นายอู๋กล่าวต่อว่า จีนมีประเพณีที่จะบันทึกประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษร และการบันทึกนี้ก็เริ่มมากกว่า 2,300 ปี ซึ่งสามารถที่จะย้อนกลับไปได้ว่า แต่ละปี บางทีไปถึงแต่ละวัน มีบันทึกไว้ทุกราชวงศ์ จีนก็ถือได้ว่า เป็นอารยธรรมโบราณ อารยธรรมเดียวในโลกนี้ที่ได้พัฒนาการ มีวิวัฒนการมาจนกระทั่งวันนี้อย่างไม่ขาดสาย ในโลกนี้มีอารยธรรมที่เก่าแก่กว่าจีน อย่างเมโสโปเตเมีย ที่ตะวันออกกลาง มีหนังสือสิบสาวไปได้กว่า 7,000 ปี แม่น้ำอินเดียที่ส่วนใหญ่อยู่ในปากีสถานก็มีราวๆ 7,000 ปี แต่คนเมโสโปเตเมียในเวลานั้น อินเดียโบราณในเวลานั้น อิยิปต์โบราณในเวลานั้น ไม่ใช่คนเมโสโปเตเมีย ไม่ใช่คนอินเดีย หรือคนอิยิปต์ในปัจจุบัน มีแต่คนจีนที่อยู่ในทุกวันนี้ที่ได้สืบเชื้อสาย เชื้อชาติมาจากโบราณ จนกระทั่งทุกวันนี้

“ความภาคภูมิใจต่ออารยธรรมเก่าแก่นี้ก็ถือว่าฝังอยู่ในใจลึกของคนจีนทุกคน อยู่ใน DNA ทำให้ทุกคน ถ้าพูดถึงก็จะพูดว่า มาจากอารยธรรมที่เก่าแก่ มาจากประเทศที่มีวัฒนธรรมหลายพันปี และวัฒนธรรมเหล่านี้ ที่ปั้นคนจีนมาก็ไม่ได้เปลี่ยนจากเมื่อหลายพันกว่าปีก่อน คนจีนในปัจจุบันยังนับถือขงจื๊อ เหล่าจื๊อ ยังท่องคำสอน หรือที่เราเรียกว่า วาทะวิจารณ์ หรือคัมภีร์หลุนอวี่ของขงจื๊อที่เขียนไว้เมื่อ 2,400 กว่าปีก่อน ขงจื๊อก็อยู่ในรุ่นเดียวกับพระพุทธเจ้า คำสอนเหล่านี้ก็ได้สร้างนิสัยของจีนมาจนทุกวันนี้” นายอู๋กล่าว

ถูกรุกรานต้องสร้างประเทศชาติใหม่

เมื่อพูดถึงอารยธรรมที่เก่าแก่ของจีนแล้ว ก็ต้องพูดถึงประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของจีน นายอู๋กล่าวว่า ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากประเทศต่างๆในเอเชีย หรือในแอฟริกา เมื่อในหลายร้อยปีที่ผ่านมา ได้ถูกรุกรานจากมหาอำนาจตะวันตกเหมือนกัน ในยุคแรก ค.ศ. 1840-1842 เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 จากอังกฤษที่อยากจะได้สิทธิขายฝิ่นให้กับจีน เพราะเสียดุลการค้าให้จีน เนื่องจากแต่ละปีต้องนำเข้าผ้าไหม ใบชา เซรามิก เครื่องเคลือบ จากจีนจำนวนมาก อังกฤษปลูกฝิ่นที่อินเดีย แล้วจะมาค้าที่เมืองจีน

รัฐบาลสมัยนั้นไม่ยอม จึงเกิดสงครามใน 1840 มีการปะทะกันระหว่างจีนกับมหาอำนาจในเวลานั้น จีนก็พ่ายแพ้สงคราม ต้องเซ็นสนธิสัญญานานกิงในปี 1842 และเสียเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษตั้งแต่นั้น

“เหตุการณ์นี้เป็นเพียงเริ่มแรกที่จีนประสบ เราเรียกว่า ศตวรรษแห่งอัปยศหรือร้อยปีแห่งอัปยศ ตั้งแต่ปี 1840 เป็นต้นมา ต่อจากนั้นจีนก็ถูกรุกรานอีกขนานใหญ่อีกหลายครั้ง”นายอู๋กล่าวและว่า สิบกว่าปีต่อมาได้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่สอง ปี 1856-1860 ซึ่งในเวลานั้นกองทัพพันธมิตรอังกฤษ กับฝรั่งเศส ได้ตีเข้ากรุงปักกิ่ง จีนจึงต้องเสียกรุงในเวลานั้น พระราชวังหยวนหมิงหยวนซึ่งเป็นพระราชวังขนาดใหญ่ ในทางตอนเหนือของกรุงปักกิ่งถูกเผาทำลาย ก็เหมือนกับกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาเกิดสงครามจีนกับฝรั่งเศสในปี 1883-1885 จีนก็พ่ายแพ้อีก เพราะกองเรือฮกเกี้ยนของจีนถูกฝรั่งเศสลอบโจมตี (คล้ายกับฝรั่งเศสมาตีสยามในเวลานั้น) จีนก็แพ้และต้องยอมรับการยึดครองเวียดนามของฝรั่งเศส นับเป็นระหว่างจีนกับประเทศในยุโรป

จากนั้นเกิดสงครามเจี๋ยอู่ 1894-1895 จีนถูกรุกรานจากญี่ปุ่น ซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วและสร้างแสนยานุภาพ ญี่ปุ่นได้ยึดครองเกาหลี ที่ในเวลานั้นถือเป็นประเทศราชของจีน ราชวงศ์ชิงในเวลานั้นต้องส่งกองทัพเข้าไปปกป้องเกาหลี แล้วทั้งจีนกับญี่ปุ่นก็ทำสงครามระหว่างกัน และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เรือทพะเลเหนือของจีนพ่ายแพ้กับญปุ่น ทำให้จีนจำเป็นต้องลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ และทำให้จีนต้องเสียเกาะไต้หวันให้ญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1895 ไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น 50 ปี จนถึงปี 1945 ตอนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด

“นั้นเป็นครั้งแรกที่จีนพ่ายแพ้ประเทศที่อยู่ข้างๆ และเราถือว่าเป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องประเทศหนึ่ง ทำให้คนจีนเริ่มตื่นตัวว่า ทำไมประเทศที่เคยเป็นประเทศที่เล็กกว่าเรา เดินตามเรา ทำไมถึงพัฒนาขึ้นมาได้ เพราะว่าเขาปฎิรูปหรือปฎิวัติก่อนเรา คนจีนก็เริ่มคิดแล้ว แต่ระหว่างการคิด ไม่กี่ปีผ่านไป ในปี 1900-1901 ตามที่ฝรั่งเขียนว่า Rebellion of Boxer หรือ กบฏนักมวย แต่คนจีนเรียกว่า ขบวนการ อี้เหอถวน (Yihequan) เป็นคนจีน ประชาชนชาวจีนมาต่อต้านการรุกรานของอิทธิพลชาวต่างชาติ” นายอู๋กล่าว

นายอู๋กล่าวต่อว่า เหตุการณ์สำคัญเหล่านี้นำมาซึ่งการรุกรานครั้งใหญ่ขึ้นของมหาอำนาจตะวันตกรวมทั้งญี่ปุ่น ได้มีการยึดครองปักกิ่งในปี 1901 โดยกองทัพพันธมิตร 8 ชาติ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และในเวลานั้น จีนจำเป็นต้องลงนามในสนธิสัญญาซินไฮ่ หรือสนธิสัญญา 1901 และกองทัพพันธมิตร 8 ชาติ ให้จีนจ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวน 450 ล้านตำลึง โดยคิดจากจำนวนประชากรที่จีนในเวลนั้นคือ 450 ล้านคน คนละ 1 ตำลึง”ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ขมขื่น เมื่อทบทวนเรื่องเหล่านี้”

“สิ่งเหล่านี้ทำให้คนจีนนึกอยู่ในใจว่า ทำไมประเทศเราที่เคยรุ่งเรืองมาเป็นเวลาหลายพันปี ทำไมเราต้องมาเจอกับความอัปยศ และการรุกรานครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้คนจีนเริ่มแสวงหาหนทางที่จะกู้ชาติ หรือสร้างประเทศชาติใหม่ ถึงได้มีการปฎิวัติซินไฮ่ ในปี 1911 ที่นำโดยดร.ซุน ยัดเซน ได้โค่นล้มราชวงศ์ชิง และได้สร้างสาธารณรัฐจีนขึ้น” นายอู๋กล่าว

อยากรู้จักจีนต้องรู้จักพรรคคอมมิวนิสต์จีน

การสร้างสาธารณรัฐจีนขึ้นเป็นการสร้างประเทศที่เลียนแบบตะวันตกที่เป็นสาธารณรัฐ และใช้ระบบสภา แต่การดำเนินตามระบบนี้ไม่มั่นคงมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นเป็นร้อยพรรค นอกจากนี้มีคนในแต่ละมณฑลที่มีฐานของตัวเอง มีการยึดดินแดนและมีการต่อสู้ระหว่างกัน ทำให้จีนตกอยู่ในความวุ่นวาย “คนจีนลยมาคิดว่าหนทางนี้เหมาะสมกับเราหรือไม่ เราจะต้องกู้ชาติให้ได้ เป็นคลื่นความคิดที่เกิดขึ้น ในการก่อตั้งสาธารณรัฐจีนในช่วงต้นศตวรรษ 20 ” นายอู๋กล่าว

นายอู๋กล่าวว่า ต่อมาได้คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาแล้วจับกลุ่มตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้น ในปี 1921 มีการประชุมครั้งแรกวันที่ 23 กรกฎาคม แต่ต่อมาได้กำหนดวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์

“พรรคคอมมิวนิสต์จีนเกิดขึ้นท่ามกลางการแสวงหาหนทางกู้ชาติของคนจีน หลังจากการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว ที่มีด้วยกันเริ่มแรก 10 กว่าคนที่เป็นตัวแทนคนจีนไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น แต่ได้นำพาคนจีนฟันฝ่าต่อสู้จนสามารถที่จะสร้างสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในปี 1949 ถือว่าเป็นการสิ้นสุดร้อยปีแห่งความอัปยศของประชาชาติจีน เพราะหลังจากปี 1949 แล้ว ก็ไม่มีประเทศไหนที่กล้ารุกรานจีน แผ่นดินจีน และจีนก็ไม่เคยแพ้สงครามตั้งแต่ปี 1949” นายอู๋กล่าว

นายอู๋กล่าวว่า ในปี 1950 ปีที่สองแห่งการตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเกิดสงครามเกาหลี จีนได้ส่งกองทัพเข้าไปช่วยเหลือ หลังสหรัฐอเมริกาได้ตีไปจนถึงแม่น้ำยาลู่ที่พรมแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ ก็สามารถผลักดันสหรัฐอเมริกากลับไปที่เส้นขนานที่ 38

“ถ้าอยากรู้จักประเทศจีน นอกจากนี้รู้จักประวัติศาสตร์จีนแล้ว ต้องรู้จักพรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคที่ปกครองประเทศจีนมาตั้งแต่ปี 1949 และผมเชื่อมั่นว่าอีกหลายสิบปีข้างหน้าในช่วงชีวิตผม พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังเป็นพรรคที่ปกครองประเทศไปโดยตลอด” นายอู๋กล่าว

อัคราชทูตอู๋กล่าวว่า เหตุผลที่คนจีนศรัทธา พรรคคอมมิวนิสต์จีน และเหตุผลที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถเติบโตและขยายได้ ในตลอด 103 ปี ที่ผ่านมา จนจากพรรคที่เล็กๆ โดยกลุ่มปัญญาชนไม่กี่คน จนกลายเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดมีสมาชิกกว่า 90 ล้านคน คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถทำให้ประชาชาติจีนได้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งหนึ่งหลังร้อยปีแห่งความอัปยศ และสามารถทำให้คนจีนรู้สึกว่าไม่ต้องคุกเข่าต่ออิทธิพลต่างชาติอีกต่อไป “ที่เราเรียกว่า ยืนขึ้นอย่างสง่างาม หลังร้อยปีแห่งความอัปยศ”

หลังสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ก่อตั้งขึ้นแล้ว ผู้นำชุดแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดยประธานเหมา เจ๋อตง ตั้งแต่ปี 1949-1976 ได้พยายามปูพื้นฐานทุกอย่างให้จีน ได้สร้างระบอบทางการเมือง ที่เรียกว่า ระบอบประชุมสภาผู้แทนประชาชน ซึ่งมีผู้แทนจากทั่วประเทศ ที่มีการเลือกหลายชั้น คือ หนึ่งมีการเลือกตั้งในขั้นชุมชน ระดับชนบท และให้ผู้แทนเหล่านี้ไปเลือกอีกทีหนึ่ง หมู่บ้านก็เลือกผู้แทนโดยตรง แล้วไปเลือกระดับอำเภอ อำเภอก็ไปเลือกระดับจังหวัด จังหวัดไปเลือกระดับมณฑล มณฑลไปเลือกระดับประเทศ ใช้วิธินี้ก็ได้ผู้แทนสภาประชาชนราว 2,000 กว่าคน

นอกจากนี้ยังมีสภาที่ปรึกษาการเมือง เป็นระบอบการเมืองที่วางไว้ตั้งแต่ต้นไว้ให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ นอกเหนือจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะในประเทศจีนไม่ใช่ว่ามีพรรคการเมืองเดียว ยังมีอีกหลายพรรค แต่พรรคเหล่านี้ ไม่ใช่ฝ่ายค้าน แต่เป็นพรรคร่วมบริหารประเทศ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กลไกที่สำคัญของพรรคเหล่านี้คือ สภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ ซึ่งจะจัดการประชุมทุกปีควบคู่กับสภาผู้แทนประชาชนจีน เป็นระบบพรรคการเมืองโดยพื้นฐานของประเทศ ระบบการปกครองพื้นฐานของประเทศจีนซึ่งไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ

ในด้านการต่างประเทศ อัคราชทูตอู๋กล่าวว่า ประธานเหมา ได้มีนโยบายที่จะสร้างเสริมเรื่องใหม่ จีนได้ประกาศว่าสนธิสัญญาที่รัฐบาลเก่าได้ลงนามกับต่างประเทศนั้นเป็นโมฆะ

ประธานเหมาบอกว่า “ปิดประตูกวาดบ้านให้สะอาดแล้วค่อยต้อนรับแขก” โดยอัคราชทูตอู๋ขยายความว่า ก่อนปี 1949 มีกองทัพต่างประเทศที่เข้ามามีฐานทัพอยู่ในจีนหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา โซเวียต และมีกองเรือของอังกฤษด้วย แต่ในปี 1949 ประธานเหมาได้ขับไล่ออกไป “แล้วเราค่อยเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ โดยผูกความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศที่ยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกระทั่งทุกวันนี้จีนมีประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว 180 กว่าประเทศทุกทวีปส่วนใหญ่ของโลก”

ในด้านเศรษฐกิจในยุคนั้น ประธานเหมาได้พยายามสร้างอุตสาหกรรมของจีนตั้งแต่ศูนย์ เพราะจีนในปี 1949 เป็นประเทศเกษตรกรรม ไม้ขีดไฟยังต้องนำเข้า สมัยนั้นเรียกว่า ไฟฝรั่ง และต้องมีคำว่าฝรั่ง เพราะนำเข้าหมด แต่ประธานเหมาได้วางพื้นฐานไว้ และสร้างอุตสาหกรรมโดยความช่วยเหลือของโซเวียต มีโครงการ 150 กว่าโครงการที่วางพื้นฐานอุตสาหกรรมของจีนตั้งแต่ปี 1953 สิ้นสุดสงครามเกาหลี

“จีนค่อยๆพัฒนา ในหลายสิบปีตั้งแต่ปี 1949 ถึงปลายปี 1978 ุถือว่าเป็นระยะที่วางพื้นฐานของประเทศและทดสอบหนทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งก็ลุ่มๆดอน ประสบความไม่สำเร็จมหาศาล เสียหายมหาศาล ซึ่งเราก็ยอมรับ เป็นราคาที่เราจำเป็นต้องจ่าย เพราะเราไม่ทราบว่า
ประเทศใหญ่ขนาดนี้ เราจะไปในแนวทางไหน เราก็ต้องค่อยๆหยั่งเชิง และค่อยๆคืบหน้าไป” นายอู๋กล่าว

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุด ที่ผู้นำรุ่นเก่าของจีนได้วางไว้ให้คนจีนในปัจจุบันคือ สามารถที่สร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับจีนในทุกวันนี้ “เราไม่ได้เพิ่งเริ่มในเร็วๆนี้ เราได้มีพื้นฐานไว้แล้วตั้งแต่ท่านประเหมา ที่สำคัญที่สุด จีนเป็นประเทศที่ 5 ในโลกนี้ที่สามารถทดลองและประสบความสำเร็จในการพัฒนาระเบิดปรมาณู มีอาวุธนิวเคลียร์ ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงถาวรแห่งสหประชาชาติ ที่ประกอบด้วย 5 ประเทศ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย”

นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศในปี 2513 แม้ในช่วงนั้นอุตสาหกรรมจีนยังอ่อนแอ แต่ผู้นำรุ่นเก่าของจีนเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันประเทศ

ต่อจากการพัฒนารุ่นประธานเหมา เป็นการพัฒนารุ่นผู้นำเติ้ง เสี่ยว ผิง ซึ่งนายอู่กล่าวว่า “ท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นผู้นำที่เราบอกว่า ท่านเหมาเป็นที่ทำคนจีนยืนขึ้น ท่านเติ้งเป็นคนที่ทำให้คนจีนรวยขึ้น” เพราะว่าจนถึงปี 1978 จีนตอนนั้นค่อยๆพัฒนาและปูพื้นฐาน แต่เป็นพื้นฐานที่บอบบางมาก และถูกปิดกั้น เพราะมีความสัมพันธ์ไม่ดีทั้งกับสหรัฐ ทั้งโซเวียต ทั้งสองค่าย จำเป็นต้องอาศัยตัวเอง

ในปี 1978 หลังสงครามอินโดจีนแล้ว สหรัฐก็ทำสงครามเย็นกับโซเวียต ก็มาฟื้นฟูพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน โดยความต้องการทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐ ทำให้จีนสามารถเข้าสู่โลกภายนอก

การเปิดประเทศเหมือนกับว่าจีนไม่ยอมให้คนอื่นเข้าไป แต่สหรัฐอเมริกา หรือประเทศตะวันตก ปิดประตูใส่จีน ไม่ยอมให้จีนเข้า แล้วที่จีนสามารถเปิดประเทศได้ เพราะจีนกับสหรัฐฯได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1949 จีนถึงมีความเป็นไปได้ในการเปิดประเทศ และก้าวสู่โลกภายนอก และนำมาซึ่งการปฎิรูปและการพัฒนาขนานใหญ่ “จีนจึงสามารถพัฒนาประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีทั้งได้นำกลไกตลาดเข้ามาภายในระบบสังคมนิยม และประสบผลสำเร็จในหลายสิบปีที่ผ่านมา”

จากเมื่อปี 1979-2012 อัตรการเติบโตของจีนโดยเฉลี่ย 9.6% แล้วจากปี 2011-2013 สี จิ้นผิงได้เป็นเลขาธิการใหญ่พรรคอมมิวนิสต์จีน อัตราการเติบโตของจีนคือ 6.1% ต่อปี ซึ่งใน 6.1% แต่ละปีจีนการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อปี 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับประเทศอิตาลี หรือเกาหลีใต้ทั้งประเทศ แม้จะเพิ่มขึ้นในอัตรา 5% เพราะฉะนั้นการเข้าสู่รุ่นที่สาม ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง คนจีนบอกว่า “เมื่อเรามีปัญหา เรารวยขึ้นมาแล้ว ท่านสีทำให้คนจีนสามารถเข้มแข็งขึ้น”

นายอู๋กล่าวว่า ปัจจุบันประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้วางแนวทางให้กับจีนว่า ต่อจากนี้ไปประเทศจีนมีการพัฒนาประเทศเป็น 2 ระยะ คือ จากปี 2010 จะต้องเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยโดยพื้นฐาน หมายความว่าประชาชนของจีนจะอยู่ในระดับกินดีอยู่ดีได้ ซึ่งก็ได้ทำสำเร็จไปแล้ว โดยดัชนีชี้วัดที่สำคัญคือ สามารถแก้ความยากจนสัมบูรณ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จในปี 2020 ทำให้ประเทศจีนสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืนของสหประชาชาติหรือ SDGs ล่วงหน้า 10 ปีก่อน 2030 ที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้

“ชีวิตความเป็นอยู่ขั้นต่ำสุดของจีนตอนนี้อยู่เหนือเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ถือเป็นความสำเร็จมหาศาลทางประชาชน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” นายอู๋กล่าวและว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังได้กำหนดว่า ต่อจาก 2021 ซึ่งครบรอบ 100 ปีของการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปสู่ 100 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2049 หรือใน 28 ปีข้างหน้า จะต้องพัฒนาประเทศเป็น 2 ระยะ ระยะแรกคือ 2020-2035 และจะต้องพัฒนาให้ทันสมัยโดยพื้นฐาน ไปถึงเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้วระดับปานกลางขึ้นไป ส่วนช่วงต่อจากปี 2035 ถึงกลางศตวรรษ หรือ 2049 ครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นในทุกด้าน ในทุกมิติ

“เราจะต้องสามารถเทียบเท่ากับ ประเทศที่พัฒนาแล้วที่เป็นแนวหน้าในโลก ภายในปี 2049 แม้อาจจะดูมีความทะเยอทะยาน แต่ประชาชนชาวจีนมีความเชื่อมั่น อย่างที่ผมเรียนไปว่า ทำไมประชาชนมีความศรัทธาในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะตั้งแต่อดีต 75 ปีที่ผ่านมาหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ปกครองประเทศจีนแล้ว คำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้ เขาทำได้ ใน 75 ปีที่ผ่านมา ผู้นำทุกรุ่นมีแผนการของตัวเอง ไม่เพียงทำสำเร็จเท่านั้น ส่วนใหญ่สำเร็จก่อนเวลาด้วย หรือในภาษาอังกฤษว่า ability to deliver พูดแล้วทำได้ ตามเวลาที่กำหนด”นายอู๋กล่าว

นายอู๋กล่าวว่า “นี่คือสิ่งที่อยากจะให้รู้ว่า ถ้าอยากรู้จักประเทศจีน ก็ต้องรู้จักพรรคคอมมิวนิสต์จีน”

สังคมนิยมแบบจีนอิงบนสภาพความเป็นจริงของประเทศ

นายอู๋กล่าวต่อว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พัฒนาประเทศ โดยยึดมั่นมาร์กซ์-เลนิน ระบบสังคมนิยม แต่ระบบสังคมนิยมของจีน และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ไม่เหมือนกับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความแตกต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตที่ล่มสลายไปแล้ว ที่สำคัญที่สุด ผู้นำทุกรุ่นของจีนได้เน้นว่า จะต้องยึดถือสภาพความเป็นจริงของประเทศจีนเป็นหลัก จะต้องพัฒนาระบบสังคมนิยมของจีนเอง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังเน้นย้ำอีกว่า นอกจากจีนจะต้องผสมผสานและคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของประเทศแล้ว จะต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของประเทศ จะต้องเน้นความคิดและการสั่งสอนของปรมาจารย์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในสมัยต่างๆของจีน แล้วคำสอนหลายอย่าง ยกตัวอย่างในการต่างประเทศ นโยบายการทูตของจีนจะเน้น หนึ่ง ยึดถือสันติภาพเป็นสิ่งที่ล้ำค่าเหนือสิ่งอื่นใด

“สองในการพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ประธานาธิบดีโจว เอินไหล มักจะพูดกับผู้นำต่างประเทศว่า “เพราะว่าจีนเราเคยถูกรุกรานมา เพราะฉะนั้น การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ต่างจากประเทศอื่นๆ เราจะเน้นว่า ‘สิ่งที่ตนไม่พึงปราถนา ก็อย่าไปทำกับคนอื่นเขา เพราะเราเคยถูกรังแกมา เราจะไม่ไปรังแกคนอื่น” นายอู๋กล่าว

“ขงจื๊อเคยสอนให้คนจีนรู้ว่า ถ้าเราอยากจะยืนหยัด ก็ต้องทำให้คนยืนหยัดได้ ถ้าอยากจะรุ่งเรือง ก็ต้องทำให้คนอื่นรุ่งเรืองไปด้วย” นายอู่เล่าว่า เศรษฐจีนสมัยก่อนไม่ได้ขูดรีดชาวบ้าน เจ้าของที่ดินที่ฉลาด พยายามจะช่วยเหลือคนในหมู่บ้านให้มีฐานะที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงสามารถทำให้ทรัพย์สินมีความมั่นคง มีความปลอดภัย

นายอู๋กล่าวต่อว่า การพัฒนาของจีนเป็นแบบนี้ เมื่อจีนมีฐานะดีขึ้นแล้ว ก็คืดว่าจะพยายามทำให้เพื่อนบ้านของจีนมีฐานะที่ดีขึ้น ตามจีนไปด้วย และจีนต้องพยายามสร้างประชาคม ที่เรียกว่า ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน หรือในภาษาจีนได้ใช้ว่า ประชาคมที่มีชะตากรรมร่วมกัน เมื่อร่วมชะตากรรมกันแล้ว ก็สามารถที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุข ซึ่งเป็นแนวความคิดพื้นฐานของแนวนโยบายต่างประเทศของจีน

นายอู๋กล่าวว่า เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกเลย ตั้งแต่สมัยประธานเหมา จีนก็ได้ประกาศแล้ว มีหลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติ และเมื่อเร็วๆนี้ได้จัดประชุมใหญ่เพื่อระลึกถึงการครบรอบ 70 ปีของหลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติ

“หลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติ เป็นการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนซึ่งกันและกัน การไม่รุกรานซึ่งกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ความเสมอภาคและเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตามที่ได้ยึดถือมาและยึดถือต่อไป” นายอู๋กล่าว

ความสัมพันธ์ไทย-จีนสะท้อนใน 4 คำ

สำหรับความสัมพันธ์ไทย-จีน อย่างแรกขอพูดถึงว่า คนจีนมองคนไทยอย่างไร โดยนายอู๋กล่าวว่า ทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่า ชาติจีนชาติไทยใช่อื่นไกล คือพี่น้องกัน “ถ้าจะบอกว่าจีนมองไทยอย่างไร ผมนึกถึงตอนที่ท่านสี(สี จิ้นผิง)ได้พูดไว้เมื่อเยือนไทยในเดือนพฤศจิกายน 2022 ซึ่งได้มีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวง และมีการประชุมกับท่านนายกฯประยุทธ์ โดยใช้คำ 4 คำ ให้คำนิยามความสัมพันธ์ไทย-จีน หนึ่ง จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เป็นมิตรที่ดี เป็นญาติที่ดี และเป็นหุ้นส่วนที่ดี”

นายอู๋อธิบายถึงการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีว่า ไทยกับจีนอยู่ใกล้กัน จากเชียงรายไปถึง ยูนนาน สิบสองปันนา หากวัดเป็นเส้นตรงไม่ถึง 120 กิโลเมตร แต่ไม่มีพรมแดนที่ติดต่อกัน จึงไม่มีปัญหาที่ต้องแก้ไข

“เราเป็นเพื่อนมิตรที่ดีก็เพราะว่า จีนกับไทยตั้งแต่เราได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในวันที่ 1 กรกฎาคม 1975 เป็นต้นมา เราก็ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ในยามที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการ”

“ผมยังจำได้ว่าตอนที่เข้ากระทรวงใหม่ๆ รุ่นพี่อาวุโสที่เข้ามาคุยได้บอกว่า รู้ไหมว่าจีนกับไทย เป็นประเทศที่มีบุญคุณต่อกัน ไทยในประวัติศาสตร์ก็เป็นที่ลี้ภัยของคนจีนที่จะหาทางรอด ก็มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่ประเทศไทย ซึ่งก็มาด้วยทักษะของพวกเขาเอง มีเทคนิคในการทำนา ทำเครื่องปั้นดินเผา คนที่คิดเลขเก่งก็ไปทำงานด้านเก็บภาษีได้ แล้วจีนก็เคยช่วยเหลือไทย ในหลายต่อหลายครั้ง ย้อนกลับไปไ่ต้องไกล สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ได้ไปตีพม่า จนทำให้พระเจ้าตากสินสามารถกู้ชาติได้ เพราะทัพใหญ่ของพม่าต้องกลับไปสู้กับจีนที่อยู่ทางเหนือ”

นายอู๋กล่าวว่า ในปี 1949 ตอนที่มีปัญหา จีนกับไทยมีความร่วมมือที่ดีเยี่ยม ในตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีระหว่างการแก้ไขปัญหา จนจีนสามารถที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์มาจนกระทั่งทุกวันนี้ แล้วในเวลาที่ไทยประสบวิกฤติหรือปัญหา จีนก็ยื่นมือเข้ามาช่วย เช่นเดียวกับประเทศไทย เมื่อจีนประสบปัญหา อย่าง การระบาดของโควิด เมื่อเริ่มมีโควิดที่อู่ฮั่น ตอนนั้นประเทศฝั่งตะวันตกก็พยายามหาที่มาของโรค แทนที่จะเข้ามาช่วย มีแต่ประเทศไทยที่ส่งเวชภัณฑ์ไปให้จีน และมีหลายกลุ่ม รวมทั้งผู้นำของรัฐบาลไทยทำวิดีโอคลิป ส่งเสียงว่า ประเทศจีนสู้สู้ อู่ฮั่นสู้สู้

“สิ่งเหล่านี้ ยังเป็นที่ซาบซึ้งใจของประชาชนชาวจีน จนกระทั่งทุกวันนี้ เราพิสูจน์ตัวเองในยามที่เพื่อนของเราต้องการ และเป็นสิ่งที่ทำให้ เพื่อนได้มีความผูกพันกับเราได้ดียิ่งขึ้น” นายอู๋กล่าว

ด้านความเป็นญาติที่ดี นายอู๋กล่าวว่า “ผมเป็นคนซัวเถาก็ยิ่งมีความรู้สึก ในเดือนเมษายนมีหนังเรื่อง หลานม่า สิ่งต่างๆที่แสดงอยู่ในหนัง ผมยิ่งมีความคุ้นเคย ก็เหมือนอาม่าผม สิ่งเหล่านี้เป็นความผูกพันอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เรามีพื้นฐานที่ดี เมื่อเราเป็นญา่ติกันแล้ว มีอะไร เราก็คุยกัน ปรึกษาหารือกันได้ เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ดีได้”

นายอู๋ขยายความในเรื่องหุ้นส่วนว่า ตอนที่ประธานาธิบดีสีมาเยือนไทย ก็ได้ร่วมหารือกับผู้นำของไทย และได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันที่ว่า “จีนกับไทยจะต้องร่วมกันสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น” ซึ่งเป็นเป้าหมายของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยในอนาคต และความสัมพันธ์ก็ได้พัฒนาขึ้นจากหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านไปสู่หุ้นส่วนที่จะสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน

“ตามความเข้าใจของผมในเรื่อง ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น มั่นคงก็เป็นเพราะว่าเรามีวุฒิภาวะพอ มีความสุกงอมพอ และมีความไว้เนื้อเชื่อใจมากพอ ที่จะพัฒนาความร่วมมือของเรา เราจะไม่สั่นคลอนและอ่อนไหว ในเรื่องสถานการณ์ ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร เราก็ยังคงถือว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นหุ้นส่วนและเป็นพันธมิตร เป็นเพื่อนของเรา เราสามารถที่จะร่วมกัน ส่วนมั่งคั่งหมายความว่า ความร่วมมือของเราจะต้อง เป็นความร่วมมือที่เอื้อต่ออำนวยผลประโยชน์ร่วมกัน สามารถที่จะสร้างคุณค่าให้แก่กัน ให้กับพวกเราในอนาคตข้างหน้า และยั่งยืนหมายความว่า ความสัมพันธ์นี้จะสามารถพัฒนาต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะรู้สึกเสียเปรียบ จนไม่ไหว ไม่อยากทำต่อแล้ว แต่เป็นสิ่งที่ต้องการของทั้งสองฝ่าย ที่เราคิดว่า เราจะต้องพัฒนา และจะต้องร่วมมือกันไว้อย่างเหนียวแน่นต่อไป” นายอู๋กล่าว

นายอู๋กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของไทย-จีนในมิติต่างๆ ถือว่าพัฒนาด้วยดี อย่างเช่น ในด้านการเมือง มีการไปมาหาสู่กันระหว่างผู้นำของสองประเทศ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ทูลเกล้าถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ รัฐมิตราภรณ์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดที่รัฐบาลจีนมอบให้ผู้นำของต่างประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2562 เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ก่อนหน้านี้เมื่อสิบปีก่อน ประชาชนชาวจีนมีการลงคะแนนคัดเลือก 10 มิตรชาวต่างชาติที่ดีที่สุดในโลกของจีน ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้คะแนนสูงมาก “ประชาชนชาวจีนรู้จักพระองค์ท่านดี และเคารพนับถือท่านเป็นอย่างสูง ในเดือนเมษายน เกือบจะทุกปีท่านจะเสด็จเยือนจีน โดยเฉพาะก่อนโควิด ปีนี้ก็เช่นกัน ท่านได้เสด็จไปเสฉวน เมืองเหมียนหยาง เพราะในปี 2008 ที่เสฉวนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ มีความเสียหายมาก พระองค์ท่านได้สร้างโรงเรียนด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง ที่เมืองเหมียนหยาง รัฐบาลจีนนำพระนามมาตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียน เหมียนหยางเซียนเฟิงลู่ สิรินธร

“ความร่วมมือของเรา ได้รับการเอาใจใส่จาก การสนพระทัยจากพระราชวงศ์ไทยทุกพระองค์ เป็นการวางกรอบและวางทิศทางให้กับความสัมพันธ์ของเราด้วยดี มีการไปมาหาสู่กันระหว่างผู้นำที่สม่ำเสมอ และต่อมาได้ส่งผลให้การกำหนดนโยบายของรัฐบาลของทั้งสองประเทศมีการเดินหน้าเข้าหากัน และมีการประสานงานกัน” นายอู๋กล่าว

นอกจากนี้นายอู่ยังได้แนะนำให้อ่านหนังสือ หมิงสือลู่ ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยาม จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ซึ่งตรงกับการครบรอบ 40 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับจีน เพื่อที่จะได้รู้ว่า ความสัมพันธ์ไทยกับจีนมีมาตั้งแต่โบราณกาล และได้รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งเครื่องบรรณาการว่า ในความเป็นจริงคือการค้าขายระหว่างประเทศ และเป็นที่ต้องการของประเทศสยามในสมัยนั้นด้วย เพราะจีนถือว่าเป็นตลาดใหญ่ในสมัยนั้น

ความร่วมมือที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่กันและกัน

สำหรับความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจ จีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกันมาเป็นเวลา 11 ปีแล้ว และเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของสินค้าเกษตรของไทย ปัจจจุบันจีนยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทยด้วย คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดของไทย

นายอู๋กล่าวถึงกรณีที่มีปัญหาและมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เมื่อเร็วๆนี้มีการเสนอข่าวด้านลบว่า มีปัญหาเกิดขึ้นพร้อมกับการเข้าถึงของทุนจีน ที่เข้ามาดิสรัปไทยในเกือบทุกๆด้าน “ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ผมว่าทุกท่านก็มีคำตอบของตัวเอง ผมอยากจะชวนให้มองที่ตัวเลขแรก ในครึ่งแรกของปีนี้มีโรงงานปิดกิจการ 667 แห่ง มีโรงงานเปิดใหม่ 809 โรงงานมูลค่าการลงทุนของกิจการที่เปิดใหม่ 10 เท่าของกิจการที่ปิดไป และตำแหน่งงานที่สร้างขึ้น 3 เท่าของกิจการที่ปิดไป”

ส่วนตัวเลขที่สองคือ ไทยเสียดุลการค้ากับจีน แม้จีนเป็นคู่ค้าอันดับแรกของไทย “แต่เราต้องวิเคราะห์อีกชั้นหนึ่งว่า สิ่งที่ไทยนำเข้าจากจีนในช่วงหลังโควิด สินค้าสำคัญที่สุด คือ intermediate goods หรือผลิตภัณฑ์ขั้นกลาง ยกตัวอย่าง เช่น โซลาร์เวเฟอร์ โพลีซิลิคอน (polysilicon) เนื่องจากนักลงทุนไทย หรือนักลงทุนจีนเริ่มมาสร้างแผงโซลาร์เซลล์ในไทย ได้นำเข้ามาเพื่อประกอบในโรงงานของไทย
และส่งออกไปยังตลาดโลก” นายอู๋กล่าว

ผลิตภัณฑ์ขั้นกลางนี้คิดเป็น 60% ของสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนทั้งหมด และอีก 20% เป็นสินค้าประเภททุน เพราะนักลงทุนได้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น มีการสร้างโรงงาน ซึ่งเป็นกิจการใหม่ที่ไทยยังไม่ค่อยมีพื้นฐานมากพอ เช่น โรงงาน EV แม้ไทยมีโรงงานรถยนต์อยู่แล้ว แต่การผลิตแตกต่างกัน ทั้งชิ้นส่วน อะไหล่ที่ EV ใช้น้อยกว่า โครงสร้างเครื่องยนต์ก็แตกต่างกัน ดังนั้นในช่วงเริ่มแรกต้องนำเข้าจากประเทศจีน เพื่อมาประกอบและตั้งโรงงานเหล่านี้ขึ้น “เป็นการสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลไทย IGNITE THAILAND ที่จะสร้างศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) เป็นการสร้างกิจกรรมใหม่ในประเทศไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดุลการค้าของไทยเสียดุลให้กับจีน แต่คนที่มองว่าเสียดุลไม่ได้มองว่า สินค้าที่ผลิตเหล่านี้ได้ส่งออก และไทยได้ดุลกับประเทศที่ส่งออก

การค้าอีกด้านหนึ่งระหว่างจีนกับไทย คือ การค้าสินค้าเกษตร จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของสินค้าเกษตรไทย ซึ่ง 64% ของทุเรียนที่ผลิตได้ ได้ส่งออกไปที่จีน ในปีที่แล้วเฉพาะทุเรียนอย่างเดียวมียอดขายถึงกว่า 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสี่เดือนแรกปีนี้ 97% ของทุเรียนที่ส่งออกได้ส่งออกไปจีน

นอกจากนี้มังคุดที่ส่งออกของไทย 92% ส่งออกไปจีน ลำไยสด 72% มันสำปะหลัง 98%

“ในขณะเดียวกันจีนได้เปิดตลาดยินดีต้อนรับสินค้าทุกประเภทของไทยไปขายที่ประเทศจีน และอีคอมเมิร์ชของจีนก็เอื้อต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก ของไทยที่ส่งไปจีน ขอให้ผ่าน อย.ของไทยแล้ว สินค้าที่ไปจีนทางอีคอมเมิร์ช ก็ไม่จำเป็นที่ต้องตรวจสอบอีกครั้ง นักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยก็ชอบซื้อสินค้าจากไทย ขอให้มีของดีๆ ก็ไม่ต้องห่วงว่าตลาดจีนจะไม่ยินดีต้อนรับ” นายอู๋กล่าว

“ฉะนั้นแทนที่จะมากังวลกับการเสียดุล ผมว่าวิธีหนึ่ง วิธีที่ดี คือ เรามาร่วมกันว่า เราไปร่วมกันบุกเบิกตลาดจีนอย่างไรดีกว่า ซึ่งสถานทูตยินดีที่จะเป็นตัวเชื่อมและเป็นผู้ประสานงานให้กับนักธุรกิจของไทย และสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นที่คนไทยได้ประสบ ถ้ามองในแง่ใจเขาใจเรา อย่างโรงงานที่ปิดไป เราสามารถทำอะไรให้กับคนเหล่านี้ได้บ้าง หรือจะขยายความร่วมมือให้กับคนเหล่านี้ เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการของจีนได้เข้ามาร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยได้มากขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ ผมว่าเป็นภาระหน้าที่ร่วมกันทั้งสถานทูต องค์กรต่างๆของไทย และหอการค้าไทยด้วย ซึ่งเราถือว่าเป็นผู้ร่วมมือที่ดี และเรายินดีที่จะร่วมประสานงานต่างๆ” นายอู๋กล่าว

นายอู๋กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วรัฐบาลจีนมีนโยบายว่า ประการแรก เมื่อนักธุรกิจหรือบริษัทจีนได้ออกไปทำกิจการที่ต่างประเทศ ให้ปฎิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้นๆอย่างเคร่งครัด และประการที่สอง จีนจะร่วมมือกับแต่ละประเทศในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติอย่างเคร่งครัด

“ผมอยากชวนให้มองที่ความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างจีน-ไทย เป็นความร่วมมือที่เอื้อผลกระโยชน์ให้กับกันและกัน เช่น ทำไมคนจีนแห่มาไทยหลังโควิด ก็มาจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ เมืองไทยช่วงจังหวะนั้นต้องการการลงทุนต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเมืองไทยต้องการการพัฒนาใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต เช่น EV เพื่อทดแทนรถยนต์สันดาป และโทรคมนาคมที่หันมาใช้ 5G ไทยเป็นประเทศแรกๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ใช้ 5G เพราะมีบริษัทจีนเข้ามาลงทุน ประกอบกิจการด้านนี้ในประเทศไทย นอกจากนี้ทำกิจการใหม่ นำเทคโนโลยีเข้ามาแล้ว ยังได้ช่วยอบรมบุคลากรให้กับประเทศไทยด้วย เฉพาะบริษัทหัวเว่ย รายเดียวใน 5 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยอบรมบุคลากรด้านเทคนิคไปแล้วกว่า 70,000 คน บริษัทหัวเว่ยถือว่ามาเมืองไทยแล้ว ถือว่าเป็นบริษัทไทย มาปักหลักและสร้างกิจการ และต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ของประชาชนชาวไทย” นายอู๋กล่าว

นายอู๋กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเดียวกันที่จีนต้องการให้บริษัทจีนที่มาประกอบกิจการในไทยเป็นแบบนี้ และเชื่อว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ออกจากจีนมาไทย ไม่ได้มาแบบชั่วคราว แต่เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทย และต้องการให้ไทยเป็นถิ่นที่มั่นในการประกอบกิจการ เพื่ออยู่ยาว และขอเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจของไทย

“ห่วงใยก็คงอดไม่ได้เมื่อมีปัญหา แต่เราต้องมีความมั่นใจ เมื่อเทียบกับนักลงทุนประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นที่เข้ามาแล้ว 60 ปี ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ค่อยๆแก้ไป เรื่องของจีนก็เหมือนกัน ในสองปีกว่าที่ผ่านมาเข้ามาจำนวนมาก มาตามนโยบายที่ต้องการ การลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลไทย แล้วมาสร้างกิจการใหม่ให้กับประเทศไทย มาสร้างโอกาสการจ้างงานใหม่ให้กับประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันก็กระทบกระเทือนกิจกรรมเก่าที่มีอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติ สำคัญที่สุด เราจะพยายามร่วมกันช่วยกันสร้างบรรยากาศให้คนเหล่านี้ ให้ทำความเข้าใจให้กับสังคมไทยให้รับได้ว่ามีสิ่งที่ สิ่งเก่าที่ออกไปก็มีสิ่งใหม่เข้ามา สิ่งใหม่เหล่านี้จะสามารถสร้างผลประโยชน์ที่ดีกว่าให้กับสังคมไทย และในขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามที่จะร่วมมือกันสร้างผลประโยชน์ เรียกร้องให้นักลงทุนสร้างผลประโยชน์ที่ดีกว่า ที่ประชาชนชาวไทย สามารถเห็นและจับต้องได้ ผมถือว่าเป็นภาระหน้าที่ร่วมกันของเรา” นายอู๋กล่าว

“ผมขอให้มีความมั่นใจ ในความสัมพันธ์ฉันมิตรของจีนกับไทย เราเป็นมิตรที่ดี เราเป็นญาติที่ดี เราจะต้องเป็นหุ้นส่วนที่ดี ที่นักลงทุนมาที่นี่ เขาเลือกมาที่ไทย ไม่ได้เลือกไปประเทศอื่น เพราะเห็นว่าประเทศไทย หนึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง มีพื้นฐานอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับการเติบโตของกิจการเขาได้ สอง มีกฎหมายที่ค่อนข้างครบถ้วน สามารถที่จะคุ้มครองนักลงทุนได้ สามประชาชนชาวไทย มีสัมพันธิตรต่อประชาชนชาวจีนเป็นส่วนใหญ่” นายอู๋กล่าวและว่า ผลสำรวจล่าสุดพบชาวไทยมีทัศนคติที่ดีที่สุดต่อจีน โดย 80% ขึ้นไปมีความเห็นเชิงบวกต่อจีน จึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมนักลงทุนจีนอยากมาไทย

นายอู๋กล่าวว่า จีนกำลังเตรียมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ จากตัวเลขการเติบโตของจีนในครึ่งแรกปีนี้อยู่ที่ 5% ต่ำกว่า 5.2% ในปีที่แล้ว และลดลงเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน แต่หากเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักหลายประเทศ 5% นี้ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เศรษฐกิจก็มีปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังแก้ไข ส่วนอุปสงค์ภายในยังไม่มากพอ เพราะสถานการณ์โควิดหลายปี กระทบต่อฐานะการเงิน ทำให้การลงทุนยังไม่มากพอ เป็นปัญหาที่กำลังแก้ไข

สำหรับการกล่าวกันว่า จีนส่งสินค้ามาไทยเพราะสถานการณ์ oversupply ในประเทศ นายอู๋กล่าวว่า เป็นคำกล่าวที่สร้างขึ้นมาอย่างไร้เหตุผล เพราะในระบบเศรษฐกิจโลก ตอนนี้การค้าทุกประเทศเหมือนกัน สิ่งที่จีนส่งออกก็เป็นสิ่งที่จีนผลิตไม่เพียงเพื่อสนองต่อตลาดของจีนเอง ยังต้องคำนึงถึงตลาดของต่างประเทศด้วย

นายอู๋กล่าวว่า ตลาดของจีนไม่ได้จำกัดเพียงภายในประเทศเท่านั้น ความจริงแล้วอัตราการใช้กำลังการผลิตของจีนยังต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกา เช่น การผลิตเครื่องบินโบอิ้งของอเมริกา และแอร์บัสของอียู ผลิตใช้ภายในประเทศกี่ลำ สินค้าเกษตรของไทยเช่นกัน ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออก อันนี้เป็นระบบโลกาภิวัฒน์ ตลาดของจีนคือทั่วโลก เพราะฉะนั้นจีนมีกำลังเหลือ ก็อาจจะไปใช้ในถิ่นที่ยังมีกำลังไม่พอ เพื่อสร้างกำลังที่ไม่พอของประเทศนั้นๆ

นายอู๋กล่าวว่า…..

“จีนกับไทยก็เหมือนกัน เราสามารถที่จะรวมเอาสิ่งที่ต่างคนต่างถนัด มาผสมผสานกัน แล้วมาสร้างกำลังที่เข้มแข็งและใหญ่ยิ่งขึ้น เพื่อบุกเบิกตลาดที่ใหญ่ยิ่งขึ้นในโลก ในประเทศอื่น และเพื่อสร้างความผาสุขให้กับภายในประเทศของเรา ฉะนั้นผมขอย้ำอีกครั้งว่า ความร่วมมือของเราเป็นความร่วมมือที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่กันและกัน และมีอนาคตที่สดใส และขอให้มีความมั่นใจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสอง”