ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามคาดเศรษฐกิจปี 2567 โต 7%

ASEAN Roundup เวียดนามคาดเศรษฐกิจปี 2567 โต 7%

14 กรกฎาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2567

  • เวียดนามคาดเศรษฐกิจปี 2567 โต 7%
  • การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6% ของเวียดนามมีผลแล้ว
  • ราคาส่งออกข้าวเวียดนามทรงตัวระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรก
  • กัมพูชาคาดการณ์ GDP ปี 2567 ขยายตัว 6%
  • ตลาดแรงงานลาวป่วนคนออกทำงานต่างประเทศกว่า 4 แสนคน
  • ธนาคารพาณิชย์เมียนมาจำกัดการถอนเงินสด

    เวียดนามคาดเศรษฐกิจปี 2567 โต 7%

    ภาพต้นแบบ:https://e.vnexpress.net/news/economy/vietnam-seeks-uk-assistance-for-hcmc-financial-center-4482640.html
    กระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม ได้ให้ข้อมูลอัปเดตสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตเกินการคาดการณ์และขยายตัวที่ 7% ตลอดทั้งปี โดยประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังไว้ 2 กรณี

    ในกรณีแรก การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจสูงถึง 6.5% ในปี 2567 ซึ่งเท่ากับเป้าหมายของสมัชชาแห้งชาติ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 6.5% ในไตรมาสที่ 3 และ 6.6% ในไตรมาสสุดท้าย

    กรณีที่สองเศรษฐกิจสามารถเติบโตการคาดการณ์ โดยจะขยายตัว 7% ตลอดทั้งปี โดยมีอัตราการเติบโต 7.4% และ 7.6% ในสองไตรมาสสุดท้ายตามลำดับ

    กระทรวงการวางแผนและการลงทุนยึดตามกรณีที่สอง ซึ่งมีปัจจัยจาก การเติบโตเชิงบวกของภาคเศรษฐกิจ การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของการลงทุนภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ แรงส่งของการเติบโตเชิงบวกของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) การส่งออกที่แข็งแกร่ง การท่องเที่ยวและการบริโภคที่ดีขึ้น และนโยบายใหม่

    นาย เหงียน ฉี สุง รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุน กล่าวว่า ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่การปรับปรุงกรอบกฎหมายเพื่อเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยที่ดิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และที่อยู่อาศัย ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม

    นอกจากนี้จะส่งเสริมการเติบโตจากการลงทุน การบริโภค และการส่งออก ตลอดจนแรงผลักดันใหม่จากการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและสีเขียว ควบคู่ไปกับการเร่งการปฏิรูปการบริหารและปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน

    เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวที่ 6.93% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

    “หากรักษาโมเมนตัมการเติบโตไว้ได้ เวียดนามก็สามารถบรรลุหรือโตเกินเป้าหมายของรัฐสภาได้ที่ 6.5%” นาย เหงียน ฉี สุง กล่าว

    เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมาในการแถลงข่าวตามปกติของรัฐบาลที่จัดขึ้นที่กรุงฮานอย รัฐมนตรีและประธานสำนักงานรัฐบาล นาย เจิ่น วัน เซิน ซึ่งเป็นโฆษกรัฐบาลด้วยนั้น ได้เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เติบโตที่ดีกว่าคาดและมีการเกินดุลการค้าจำนวนมาก โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีแนวโน้มเชิงบวกต่อเนื่อง เห็นได้ชัดเมื่อเทียบรายเดือนและรายไตรมาส

    นาย เจิ่น วัน เซิน กล่าวว่าเศรษฐกิจดีขึ้นในหลายด้าน จากช่วงเดียวกันของปี 2566 โดย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเติบโต 6.93% ในไตรมาสที่ 2 และขยายตัว 6.42% ในครึ่งปีแรก ซึ่งสูงขึ้นมากจาก 3.84% ช่วงเดียวกันของปี 2566 และยังดีกว่า 5.5 -6% ที่ตั้งเป้าไว้ในมติของรัฐบาล

    เศรษฐกิจมหภาคยังคงมีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม และยังสามารถรักษาความสมดุลของเศรษฐกิจสำคัญไว้ได้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในรอบ 6 เดือนเพิ่มขึ้น 4.08% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.75% อีกทั้งยังมีความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารด้วย

    ทื่สำคัญการส่งออกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดส่งไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น 14.5% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 17% ในช่วงครึ่งแรกของปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 11.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสงผลบวกต่อดุลการชำระเงิน

    ภาคบริการและการท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่งเช่นกัน ยอดขายปลีกสินค้าและการบริการผู้บริโภครวมเพิ่มขึ้น 8.6% ขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่งสูงถึง 8.8 ล้านคนในช่วง 6 เดือน เพิ่มขึ้น 58.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ 4.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนการระบาด

    นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเงินและงบประมาณของรัฐ การลงทุนเพื่อการพัฒนา การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) การพัฒนาของวิสาหกิจ การประกันสังคม รายได้ต่อหัว วัฒนธรรมและการกีฬา การปฏิรูปการบริหาร กิจการภายนอก และการบูรณาการเข้ากับ โลกก็อยู่ในเกณฑ์ดี

    อย่างไรก็ตาม นายเจิ่น วัน เซิน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความท้าทายบางประการที่ต้องจัดการ เช่น แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค อุปสรรคด้านการผลิตและธุรกิจในบางพื้นที่ การชะลอการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ และการแก้ไขปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ช้า

    เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังและสร้างแรงส่งในปีหน้า รัฐบาลจะยังคงให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ สร้างความมั่นใจในความสมดุลที่สำคัญของเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการขยายตัวอย่างสมเหตุสมผลและดำเนินนโยบายการคลังที่เน้นเป้าประสงค์ ซี่งจะสอดคล้องและเอื้อต่อการดำเนินการตามนโยบายการเงินเชิงรุก ยืดหยุ่น ทันเวลา และมีประสิทธิภาพ

    โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า วินัยทางการเงินและงบประมาณจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ดูแลการจัดการจัดเก็บงบประมาณให้ดีขึ้น และลดงบประมาณรายจ่ายลง

    นอกจากนี้ รัฐบาลจะผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การยกเว้น ลด และขยายกำหนดเวลาการชำระภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการใช้ที่ดิน พร้อมขจัดอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกด้านอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ และตลาดหลักทรัพย์

    นาย เจิ่น วัน เซินกล่าวอีกว่า จะมีการดูแลเรื่องการจัดหาไฟฟ้าและน้ำมันสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภค โดยจะเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งต้องยกระดับปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตแบบดั้งเดิม (การลงทุน การส่งออก การบริโภค)ให้ดีขึ้น และส่งเสริมปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ๆ

    นอกจากนี้ รัฐบาลยังพร้อมที่จะยกระดับสถาบันและกฎหมาย การปฏิรูปกระบวนการบริหาร และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของประเทศ

    การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6% ของเวียดนามมีผลแล้ว

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-raises-minimum-wage-by-6-4764909.html

    เงินเดือนขั้นต่ำของคนงานเวียดนามเพิ่มขึ้น 6% หรือสูงถึง 280,000 ดองเวียดนาม (11 ดอลลาร์) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

    ประกาศคำสั่งของรัฐบาลที่ออกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนระบุว่า เงินเดือนขั้นต่ำและค่าจ้างรายชั่วโมงของคนงานในธุรกิจต่างๆ จะเพิ่มขึ้น 6% ตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน คนพิการ และกิจการสังคม การเพิ่มขึ้นนี้ถือว่าเป็นผลประโยชน์ที่ลงตัวระหว่างคนงานและภาคธุรกิจ และเป็นหลักของมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำในปี 2568

    เงินเดือนขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.96 ล้านด่องเวียดนาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงจะเพิ่มขึ้นเป็น 23,800 ด่องเวียดนาม

    การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้นับเป็นครั้งที่สองในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำต้นเดือนกรกฎาคม โดยครั้งสุดท้ายคือในปี 2565 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยปกติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี

    นอกเหนือจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ฐานเงินเดือนสำหรับข้าราชการจะเพิ่มขึ้น 30% จาก 1.8 ล้านด่องเวียดนามเป็น 2.34 ล้านด่องต่อเดือน ในขณะที่เงินบำนาญจะเพิ่มขึ้น 15%

    ราคาส่งออกข้าวเวียดนามทรงตัวระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรก

    ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/business/20230707/vietnams-rice-export-on-upward-trend-in-h1/74250.html
    ราคาข้าวเวียดนาม เพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาดต่างประเทศหลายแห่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม

    ราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 18% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยขายที่ 959 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในบรูไน 868 ดอลลาร์สหรัฐในสหรัฐอเมริกา 857 ดอลลาร์สหรัฐในเนเธอร์แลนด์ 847 ดอลลาร์สหรัฐในยูเครน 836 ดอลลาร์สหรัฐในอิรัก และ 831 ดอลลาร์สหรัฐในตุรกี

    ที่น่าสนใจในไตรมาสแรก การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 18,200 ตัน มูลค่า 19.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ในช่วงเวลาะเดียวกัน เวียดนามส่งข้าว 46,000 ตันไปยังสหภาพยุโรป (EU) สร้างรายได้ 41.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 118% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    สำนักงานการค้าเวียดนามในสหภาพยุโรปกล่าวว่า พันธุ์ข้าวหอมชนิดพิเศษของเวียดนาม เช่น ST25, ST24, Nang Hoa และ OM ได้รับความนิยมในตลาดเนื่องจากคุณภาพที่โดดเด่น ทำให้มีราคาสูง

    ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดอเมริกามากถึง 135,300 ตัน โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 94.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 299% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกข้าวของเวียดนามีปริมาณ 4.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีมูลค่าการส่งออกเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 32%

    กัมพูชาคาดการณ์ GDP ปี 2567 ขยายตัว 6%

    ที่มาภาพ: https://www.luxuo.com/properties/luxury-locations/promising-outlook-cambodian-real-estate-market.html
    กระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน กัมพูชาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะยังมีอัตราการเติบโตของ GDP ที่ 6% ในปี 2567 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.5% ในระยะปานกลางระหว่างปี 2568-2570 เนื่องจากเศรษฐกิจมีความหลากหลาย และกำลังแสดงสัญญาณของการฟื้นตัวในแง่ของการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2567 และในระยะต่อไป

    การคาดการณ์เชิงบวกของกระทรวงฯมาจากเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพ ซึ่งสนับสนุนความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการส่งออกของกัมพูชาและลดต้นทุนการนำเข้า

    การคาดการณ์ยังพิจารณาถึงสัญญาณเชิงบวกของการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงปี 2568-2570 โดยได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง และภาคเกษตรกรรม

    จากข้อมูล ในปี 2568 การเติบโตของผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่แท้จริง(real GDP) ของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.3% ส่งผลให้ยอด GDP สะสมมีมูลค่า 51.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ GDP ต่อหัวที่ 2,924 ดอลลาร์

    สำหรับการคาดการณ์การเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง กระทรวงฯคาดการณ์ว่าจะเติบโต 6.3% ในปี 2568 และเฉลี่ย 6.6% ในปี 2569-2570 หลังจากได้คำนึงถึงแนวโน้มปัจจุบันของปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

    จากายงาน การผลิตที่ไม่ใช่เสื้อผ้าได้แสดงให้เห็นถึงแรงส่ง(momentum)อย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนหลักจากอุปสงค์ภายนอกที่เพิ่มขึ้น และอุปทานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นของการผลิตที่ไม่ใช่เสื้อผ้าภายในประเทศ

    ในขณะที่ภาคเสื้อผ้าสำเร็จรูปเผชิญกับความต้องการที่ผันผวนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่สัญญาณในปี 2567 บ่งชี้ถึงการฟื้นตัว และคาดว่าจะดีดตัวขึ้นในระยะกลาง เนื่องจากความต้องการทั่วโลกจากตลาดส่งออกหลักๆ คาดว่าจะฟื้นตัว เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร

    การฟื้นตัวของภาคเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมที่มีบทบาทสูงในภาคอุตสาหกรรมของประเทศในปี 2568 และหลังจากนี้ คาดว่าจะมีผลอย่างมากต่อการส่งออกของประเทศและระดับ GDP โดยรวม

    อีกปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนตลาดส่งออกในปีต่อๆ ไปคือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตทั้งแบบดั้งเดิมและที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม

    ความหลากหลายของการส่งออกยังเกิดขึ้นจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสมดุลทางการค้า
    หลังจากช่วงการแพร่ระบาดที่ภาคการท่องเที่ยวและบริการประสบกับความยากลำบาก สัญญาณต่างๆ ในปีนี้เริ่มสดใสขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมเหล่านี้ เมื่อเทียบกับช่วงปี 2563-2566

    ข้อมูลของกระทรวงฯ บ่งชี้ว่า ภาคที่พักและบริการอาหารกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ วควบคู่ไปกับการกลับมาเริ่มต้นการเดินทางระหว่างประเทศทั้งเพื่อการพักผ่อนและทำธุรกิจ แต่สัญญาณบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวนี้จะต่อเนื่องในระยะปานกลางเท่านั้น

    MEF กระทรวงฯคาดการณ์ว่าภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจมายาวนาน และเป็นภาคส่วนที่ยังขยายตัวได้ ก็จะคงมีการเติบโตที่แข็งแกร่งไว้ได้ในหลายปีข้างหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกพืชผลเป็นหลัก ขณะที่งระบุถึงการเติบโตของภาคการประมง ปศุสัตว์ และสัตว์ปีก ชะลอตัวลง

    ด้านแนวโน้มกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วทั้งตลาด อัตราเงินเฟ้อของดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.7% ในปีนี้ แต่จะลดลงเหลือ 2.5% ในช่วงปี 2568-2570 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีเสถียรภาพ ซึ่งช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้บริโภคในประเทศ

    ในช่วงถามตอบภายหลังการเปิดเผยรายงาน นายพัน พัลลา ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาขึ้นอยู่กับสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาสำหรับการส่งออก และจีนสำหรับการนำเข้า โดยยกตัวอย่างว่า ถ้าเศรษฐกิจยุโรปดีขึ้น ก็หมายความว่าการบริโภคและคำสั่งซื้อจากกัมพูชาจะเพิ่มขึ้น

    สำหรับบางภาคส่วน เช่น การท่องเที่ยว ประสบปัญหาในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แม้ปีนี้จะมีการฟื้นตัวในเชิงบวก แต่ยังคงต่ำกว่าระดับในปี 2562

    นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรม แม้จะยังคงเป็นหลักสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ยังค่อนข้างซบเซาเมื่อเทียบกับก่อนโควิด

    นาย อึง ลูงา(Ung Luyna) อธิบดีกรมนโยบายทั่วไป ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 และระยะต่อๆ ไป โดยกล่าวว่า แม้ภาคส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะฟื้นตัวได้บ้างจากภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นในปี 2566 แต่การลดลงในภาคส่วนนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรทั่วไป เนื่องจากคนงานเผชิญกับค่าแรงที่ลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง

    ดังนั้น การเติบโตที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม เช่น การส่งออกผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ ยางรถยนต์ และจักรยาน มีความสำคัญมากขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งถือเป็นการหันเหจากการพึ่งพาเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมในฐานการส่งออกของประเทศ

    ตลาดแรงงานลาวป่วนคนออกทำงานต่างประเทศกว่า 4 แสนคน

    ที่มาภาพ : https://laotiantimes.com/2024/06/17/more-than-415000-lao-workers-abroad-affecting-domestic-labor-market/

    ปัจจุบันมีคนลาวมากกว่า 415,000 คนรับจ้างทำงานในต่างประเทศ ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศรุนแรงขึ้น นางใบคำ ขัดทิยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมรายงานในระหว่างการประชุมสามัญสมัยสามัญครั้งที่ 7 ของรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567

    นางใบคำรายงานว่า ปัจจุบันแรงงานลาวที่กำลังทำงานอย่างผิดกฎหมายในต่างประเทศมีทั้งหมด 203,161 คน ส่วนแรงงานลาวทั้ถูกจ้างงานอย่างถูกกฎหมายในต่างประเทศมีจำนวน 212,795 คน ซึ่งคนงานที่ได้รับการว่าจ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมายส่งเงินกลับประเทศรวมกันมากกว่า 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละเดือน หรือมียอดรวมมากกว่า 625 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

    นางใบคำชี้ว่า จำนวนแรงงานลาวในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้การขาดแคลนแรงงานในประเทศรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ค่าแรงที่ต่ำและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ค่าเงินกีบลาวอ่อนค่าลง ส่งผลให้ชาวลาวจำนวนมากต้องออกไปหางานทำในต่างประเทศ

    นางใบคำกล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ที่อย่างน้อย 3.8 ล้านกีบ (174 ดอลลาร์สหรัฐ) ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันในลาวกำหนดไว้ที่ 1.6 ล้านกีบ (ประมาณ 73 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2566 จาก 1.3 ล้านกีบ (59 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

    ขณะที่ธุรกิจและบริษัทหลายแห่งในลาวจ่ายเงินสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว โดยมีเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 2.7 ล้านกีบ (123 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่นางใบคำเน้นย้ำว่า ค่าจ้างเหล่านี้ยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวันเนื่องจากค่าครองชีพสูง

    เพื่อดูแลคนงานลาวในต่างประเทศอย่างเหมาะสม กระทรวงแรงงานและรัฐบาลลาวกำลังดำเนินการเพิ่มขึ้นในการที่จะดูแลคนงานลาวในต่างประเทศ ผ่านแนวทางเชิงโครงสร้างมุ่งเป้าไปที่การปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของพวกเขา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ระบบการตรวจสอบและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสำหรับการจัดหางานในต่างประเทศ การจัดตั้งสำนักงานตัวแทน เช่น สถานทูตและสถานกงสุลในประเทศเจ้าบ้าน และการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อจัดการกิจการของคนงานลาว

    นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้คนงานทำงานในประเทศเพิ่มมากขึ้น นางใบคำ กล่าวว่า รัฐบาลลาวกำลังยกระดับสภาพแรงงาน ส่งเสริมการพัฒนาแรงงาน และปรับปรุงสวัสดิการของคนงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การปรับปรุงการประกาศรับสมัครงาน การออกใบรับรองทักษะ และการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและประกันสังคม โดยกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

    แม้จะมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่เนื่องจากจำนวนคนงานชาวลาวที่แสวงหางานทำในต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้น

    ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติของไทย ประกอบด้วย กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติในปฏิบัติการ 120 วัน

    ด้านเงินกีบของลาวแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เดือนเมษายน จากการที่ลาวประสบปัญหาการขาดดุลการค้าติดต่อกันสี่เดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ สถานการณ์รุนแรงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้เงินกีบ สกุลเงินของประเทศอ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์

    ในเดือนเมษายนการค้าสองทางของลาวมีมูลค่า 1.122 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการส่งออก 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ขาดดุลการค้า 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดในรอบปีและขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

    สำหรับ ข้อมูลสำหรับเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนยังไม่มีการเผยแพร่

    สถิติล่าสุดจากรัฐบาลลาว เปิดเผยว่าเกลือเป็นสินค้าส่งออกชั้นนำ มูลค่า 84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือทองคำผสมและทองคำแท่ง 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แร่ทองแดง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมันสำปะหลัง 32 ล้านดอลลสร์สหรัฐ การส่งออกที่โดดเด่นอื่นๆ ได้แก่ น้ำตาล กล้วย ยางพารา แป้งมันสำปะหลัง และแร่เหล็ก

    ด้านการนำเข้า ดีเซลเป็นสินค้านำเข้ามากที่สุดของลาว มูลค่า 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือยานพาหนะทางบก 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อุปกรณ์เครื่องจักรกล 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เครื่องใช้พลาสติก เคมีภัณฑ์สำเร็จรูป น้ำมันเบนซิน และอะไหล่

    ในด้านคู่ค้า เวียดนามเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของลาว มีมูลค่ารวม 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือไทย 107 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลาวยังส่งออกสินค้ามูลค่า 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังออสเตรเลีย และ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังสวิตเซอร์แลนด์

    ด้านการนำเข้า ประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของลาว มีมูลค่า 336 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือจีน 213 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนาม 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ก็เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญเช่นกัน โดยมีมูลค่าการนำเข้า 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

    แม้จะเผชิญกับการขาดดุลการค้า แต่ Lao State Portal ระบุตามปกติว่า ตัวเลขที่รายงานไม่รวมมูลค่าการค้าไฟฟ้า การที่ไม่รวมรายการนี้ไว้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ในเดือนพฤษภาคม อัตราเงินเฟ้อในลาวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 25.8% เพิ่มขึ้น 1% จาก 24.9% ในเดือนเมษายน

    ก่อนถูกสมัชชาแห่งชาติสั่งปลดออกจากตำแหน่ง นายบุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารกลางลาว ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงจนถึงสิ้นปีนี้ ทำให้ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้ในช่วงปลายปี 2566 ที่จะลดลงเหลือ 9%

    ในขณะเดียวกัน เงินกีบลาวยังคงมีแนวโน้มลดลง โดยแตะระดับต่ำสุดใหม่เป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เช่น เงินบาทไทย เงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินหยวนจีน ณ วันที่ 13 มิถุนายน ธนาคารพาณิชย์ของลาว รวมถึง ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public:BCEL Bank) และธนาคารพงสะหวัน(Phongsavanh Bank) ขายดอลลาร์สหรัฐที่ 21,825 กับและเงินบาทไทยที่ 694.45 กีบ อย่างไรก็ตาม อัตราที่ไม่เป็นทางการหรือตลาดมืดนั้นสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเกิน 25,000 กับ สำหรับดอลลาร์สหรัฐ และเกิน 710 กีบสำหรับเงินบาทไทย จากข้อมูลของร้านแลกเปลี่ยนเงินในประเทศ

    เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเหล่านี้ รัฐบาลได้เริ่มการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 7 ซึ่งมีกำหนดต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ การทุจริต ปัญหาด้านการศึกษา รวมถึงการขาดแคลนครูและแรงงาน และการค้ายาเสพติด แม้จะมีความพยายามเหล่านี้ แต่ประชาชนจำนวนมากกล่าวว่าจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมและการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ธนาคารพาณิชย์เมียนมาจำกัดการถอนเงินสด

    ที่มาภาพ:เพจ Yoma Bank Limited
    ธนาคารพาณิชย์เอกชนเมียนมาได้จำกัดจำนวนเงินที่ลูกค้าสามารถถอนออกได้ในแต่ละวัน เพื่อป้องกันการที่คนแห่กันถอนเงินจนธนาคารไม่มีเงินสดให้คนถอน ผู้บริหารธนาคารรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวอิรวดี The Irrawaddy

    “เราต้องกำหนดจำนวนเพราะเกรงว่าเงินสำรองอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับการถอนเงิน” ผู้บริหารรายนี้กล่าว โดยอธิบายว่า ลูกค้ามีแต่ถอนเงินออกแต่ไม่มีใครฝากเงิน

    ธนาคารกลางเมียนมาที่ควบคุมโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ได้ลดการจัดหาเงินสดให้กับธนาคารเอกชน ผู้บริหารกล่าวและว่าธนาคารเอกชนได้จำกัดวงเงินรายวันที่ลูกค้าสามารถถอนออกได้ตั้งแต่ 1,000,000 จั๊ต ถึง 2,000,000 จั๊ต (เงินจั๊ตซื้อขายกันที่ประมาณ 4,500 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมกราคม 2564 ก่อนรัฐประหารหนึ่งเดือน ปัจจุบันซื้อขายที่ประมาณ 1,300 ต่อดอลลาร์สหรัฐ)

    ลูกค้าธนาคารในสัปดาห์นี้รายงานว่าสาขาธนาคาร ซึ่งรวมถึงสาขาในย่างกุ้ง เมืองหลวงทางการค้าของประเทศ ได้เข้มงวดกับการจำกัดจำนวนเงินในการถอนเงินรายวันมากขึ้น การจำกัดการถอนเงินมีขึ้นหลังมีรายงานว่ารัฐบาลทหารได้ควบคุมตัวและสอบสวนนายธนาคาร

    The Irrawaddy รายงานในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ว่า รัฐบาลพม่าควบคุมตัว เซอร์เก พัน(Serge Pun) ประธาน Yoma Strategic Holdings ที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงบางคนของธนาคารโยมา และบริษัท โยมา สตราทิจิค โฮลดิ้งส์ จำกัด ตามรายงานของแหล่งข่าวหลายแห่งที่ใกล้ชิดกับธุรกิจและครอบครัวของเขา

    แหล่งข่าวกล่าวว่าเขายังคงถูกกักบริเวณในบ้านในกรุงเนปีดอ และเขาและเจ้าหน้าที่ของบริษัทอื่นๆ ยังคงถูกสอบปากคำต่อไป จากการถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎระเบียบทางการเงินโดยให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านธนาคารของเขาแก่ชาวเมียนมาที่ซื้อคอนโดในประเทศไทย และเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่มีมูลค่าเกินกว่าที่ธนาคารกลางแห่งเมียนมาอนุญาต (CBM)

    ผู้ส่งออกรายหนึ่งกล่าวว่าลูกค้าองค์กรกำลังหลีกเลี่ยงธนาคาร “เจ้าของธุรกิจและพ่อค้าไม่ฝากเงินในธนาคารอีกต่อไป … ส่วนใหญ่ … เลือกที่จะเก็บเงินไว้ที่บ้าน”

    เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้ประกาศว่า ได้มีการดำเนินการด้านการปกครองกับผู้บริหารของธนาคารเอกชน 7 แห่งคือ United Amara Bank, AYA Bank, Yoma Bank, Construction, Housing and Infrastructure Development Bank, Myanmar Citizens Bank, SME Development Bank และ Myanmar Metro Bank จากการอนุญาตให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเกินเกณฑ์ที่ธนาคารกลางกำหนด

    การประกาศนี้ทำให้ลูกค้ามีความวิตก นับตั้งแต่ดำเนินการดังกล่าว ก็ได้หยุดฝากเงินกับสาขาของธนาคาร เนื่องจากกังวลว่าเมียนมาจะเผชิญกับวิกฤติทางการเงินอีกครั้ง ความไว้วางใจในธนาคารลดลง ลูกค้าก็เริ่มถอนเงินฝาก

    ลิน อ่อง รองผู้ว่าการธนาคารกลาง ชี้ว่าปัญหาคือธนาคารที่เห็นแก่ตัว โดยบอกกับสื่อของรัฐบาลทหารว่า “พวกเขา (ธนาคารเอกชน) ควรให้ความร่วมมือกับเราเพื่อประโยชน์ของประชาชน”

    นอกจากนี้เขายังพยายามสร้างความเชื่อั่นให้กับลูกค้าธนาคาร โดยบอกว่าธนาคารกลางที่ควบคุมโดยรัฐบาลทหารมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ โดยกล่าวว่า “กำกับดูแลการฝากและถอนเงินที่ธนาคารทุกวัน [ดังนั้น] ประชาชนไม่ต้องกังวลกับข่าวลือ”

    ลูกค้าธนาคารในเมียนมายังรายงานว่าตู้เอทีเอ็มไม่มีเงินสดเช่นกัน ลูกค้าของสาขาธนาคาร KBZ ในเมืองเนปิดอ เมืองหลวง กล่าวว่า เขาไม่สามารถถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารได้ “เมื่อเช้านี้ลองใช้ตู้เอทีเอ็ม KBZ สามตู้ แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้”

    รัฐบาลทหารได้เรียกผู้นำและประธานธนาคารเอกชนทั้งหมดในประเทศมาที่กรุงเนปีดอเมื่อวันพุธเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านการธนาคาร

    ออง ลวิน ดเว เลขาธิการสภาบริหารแห่งรัฐของรัฐบาลทหาร บอกพวกเขาให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหารและปฏิบัติตามกฎระเบียบ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประชาชนอย่าถอนเงินสดจำนวนมากเว้นแต่จำเป็นและอย่าเชื่อข่าวลือ

    ในรัฐมอญ ธนาคารก็ได้จำกัดการถอนเงินสดเช่นกัน

    ลูกค้าธนาคารและนักธุรกิจได้ให้ข้อมูลแก่ Than Lwin Times ว่า ขณะนี้ธนาคารในรัฐมอญได้จำกัดการถอนเงินสด หลังจากการถอนเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

    ภายหลังที่รัฐบาลเผด็จการลงโทษธนาคารชั้นนำ 7 แห่งในเมียนมา การถอนเงินจากธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ เนื่องจากความไว้วางใจของสาธารณะที่มีต่อธนาคารลดน้อยลง จำนวนผู้ฝากเงินก็ลดลงเช่นกัน

    ในปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณเงินสดสำรองในธนาคารลดลง บวกกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการขนส่งเงินสดเนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย และความสามารถในการกระจายเงินสดจากสำนักงานใหญ่ไปยังสาขาที่ลดลง การถอนเงินสดจึงกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น

    ลูกค้าสามารถถอนเงินได้ระหว่าง 500,000 จั๊ต ถึง 1,000,000 จั๊ต ซึ่งวงเงินที่ถอนได้ของแต่ละธนาคารแตกต่างกัน

    นักธุรกิจคนหนึ่งบอกกับ Than Lwin Times ว่า การดำเนินธุรกิจมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากการจำกัดการถอนเงินสดจากธนาคาร

    “การชำระเงินบางต้องใช้เงินสด แต่ตอนนี้ธนาคารจำกัดการถอนเงินอย่างเข้มงวด เรากำลังเผชิญกับความยากลำบากอย่างมาก บางคนชอบเงินสดมากกว่าการโอนเงินผ่านธนาคาร และวิกฤติในปัจจุบันทำให้เราประสบปัญหามากมาย”

    ภายหลังการดำเนินการกับธนาคารของรัฐบาลทหาร การถอนเงินในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธนาคารต้องดิ้นรนเพื่อให้ดำเนินงานตามปกติ

    พนักงานของธนาคารเอกชนรายหนึ่งอธิบายว่าเนื่องจากมีเงินสดสำรองจำกัด ลูกค้าจึงได้รับอนุญาตให้ถอนเงินได้ในจำนวนที่จำกัดเท่านั้น

    “ทุกวันนี้ ธนาคารมีเงินสดในมือน้อยมาก นั่นเป็นสาเหตุที่การถอนเงินถูกจำกัดไว้ที่ระหว่าง 500,000 จั๊ต ถึง 1,000,000 จั๊ตหากมีเงินอยู่ในห้องนิรภัยของธนาคารมากขึ้น เราอาจอนุญาตให้ถอนเงินได้มากขึ้น แต่ด้วยเงินสดสำรองของเราที่ต่ำมาก เราจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจำกัดการถอนเงิน”