ThaiPublica > เกาะกระแส > ปี 2025 อินเดียจะแซงหน้าญี่ปุ่น เป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 4 อะไรคือสาเหตุสำคัญ ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ปี 2025 อินเดียจะแซงหน้าญี่ปุ่น เป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 4 อะไรคือสาเหตุสำคัญ ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่น

9 กรกฎาคม 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : investing.com

ในปี 2023 เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกมาอยู่อันดับ 4 ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ตามหลังเยอรมัน เนื่องจากช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2023 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 0.4% และเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2023 เศรษฐกิจก็ติดลบ 2.9% แต่โดยรวมทั้งปี 2023 เศรษฐกิจเติบโต 1.9% การที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ถือกันว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางกฎเกณฑ์แล้ว (technical recession)

เมื่อเดือนเมษายน 2024 IMF ก็คาดการณ์ว่า ในปี 2025 เศรษฐกิจอินเดียจะมีมูลค่าถึง 4.34 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะล้ำหน้าญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจมีมูลค่า 4.31 ล้านล้านดอลลาร์ อินเดียจะก้าวเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน และเยอรมัน ซึ่งเกิดเร็วขึ้น 1 ปี จากเดิมที่ IMF เคยคาดการณ์ไว้ เพราะค่าเงินเยนอ่อนตัว ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่คำนวณเป็นดอลลาร์ลดลง

จาก 2010 เศรษฐกิจลดชั้นมาตลอด

การตกต่ำของฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้คนญี่ปุ่นวิตกในสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการก้าวแซงล้ำหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศที่เคยยากจนมาก่อน ปี 2010 จีนแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อับดับ 2 ของโลก ปี 2023 เยอรมันขึ้นมาอันดับ 3 แทน และในปี 2025 อินเดียจะขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ส่วนญี่ปุ่นจะหล่นมาอันดับ 5

ปี 2023 จีนเองก็เพิ่งก้าวเป็นประเทศส่งออกรถยนต์มากสุดของโลก ที่ญี่ปุ่นเคยเป็นครองตำแหน่งนี้มานาน สาเหตุสำคัญเพราะผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นยังลังเลที่จะเปลี่ยนมาสู่รถยนต์ EV

Martin Schulz นักเศรษฐศาสตร์ของ Global Market Intelligence Unit ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Deutsche Welle (dw.de) ว่า “สำหรับญี่ปุ่น สิ่งนี้เป็นความกังวลที่ใหญ่มาก แต่มีไม่กี่คนที่จะพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผย เพราะเป็นเรื่องน่าอับอาย และยากมากที่จะแก้ปัญหานี้”

นอกจากนี้ ประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปก็เพิ่มมากขึ้นญี่ปุ่น ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ไม่นานมานี้ ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ปัจจุบัน คนญี่ปุ่น 1 ใน 10 คน มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดของโลก

เมื่อปีที่แล้ว ประชากรญี่ปุ่นเกือบ 30% มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนอัตราการเกิดก็น้อยที่สุด ปี 2023 ประชากรเกิดใหม่มีแค่ 727,277 คน เทียบกับ 1973 มี 2 ล้านคน บทความของ CNN เรื่องธุรกิจผ้าอ้อมสำเร็จรูป (diaper) ในญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในญี่ปุ่นมีผลกระทบต่อธุรกิจผ้าอ้อม คือตลาดต้องการผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น ส่วนผ้าอ้อมของเด็กลดน้อยลง

ที่มาภาพ : https://www.japantimes.co.jp/news/2023/02/07/business/financial-markets/japan-yen-foreign-exchange-forex-intervention/

โลกต้องการเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ทรงพลัง

บทความของ Richard Katz ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ในเว็บไซต์ foreignaffairs.com เรื่อง สิ่งที่หน่วงรั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่น กล่าวว่า นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกลับมาแบบเดิมได้อีกแล้ว ความคิดนี้ไม่น่าจะถูกต้อง แม้ว่า GDP ของญี่ปุ่นในปัจจุบันจะไม่สูงกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นับจากปี 1991 รายได้ต่อคนก็เพิ่มแค่ปีละ 0.7% เทียบกับทศวรรษ 1980 เพิ่มปีละ 4% ปัจจุบัน รายได้ต่อคนของเกาหลีใต้สูงกว่าญี่ปุ่น ขณะที่ในปี 1980 รายได้ต่อคนของเกาหลีใต้แค่ 1 ใน 4 ของญี่ปุ่นเท่านั้น

Richard Katz มองว่า การที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขาดพละกำลังมีความหมายสำคัญต่อโลก เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีพลังจะเป็นตัวช่วยถ่วงดุลกับจีน ช่วยประเทศกำลังพัฒนาในโลกใต้ มีอำนาจต่อรองกับจีนมากขึ้น หากว่าจีนจะใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจ โลกโดยรวมจะได้ประโยชน์จากการที่บริษัทญี่ปุ่นฟื้นตัวกลับมาด้านนวัตกรรม หลายสิบปีมาแล้ว บริษัทญี่ปุ่นเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยี 3 อย่าง ที่มีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก คือ แผงโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน

อุปสรรคขัดขวางพลวัตเศรษฐกิจ

Richard Katz มองว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น จำเป็นต้องมีการปฏิรูปทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ สิ่งที่สร้างปัญหายากลำบากแก่การฟื้นตัวเศรษฐกิจมาจากการฉุดรั้งของนโยบาย วิธีการปฏิบัติ และสถาบันเดิมของศตวรรษ 20 ที่เคยสร้างคุณประโยชน์ แต่ปัจจุบันล้าสมัยแล้ว เช่น การจ้างงานตลอดชีพ ทำให้เกิด “ตำแหน่งงานถาวร” ขึ้นในบริษัท แต่ไปลดความคล่องตัวของระบบการจ้างงาน การจ้างงานตลอดชีพยังทำให้พนักงานมีทักษะอยู่อย่างเดียว คือชำนาญเฉพาะงานของบริษัทนั้น (company-specific skill)

ปัญหาอุปสรรคสำคัญอีกอย่างคือการครองฐานะนำของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่อดีตเคยมีบทบาทสร้างสรรค์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นฝ่ายขัดขวางนวัตกรรมทางธุรกิจ นอกจากนี้ สถาบันการเงินที่มีขอบข่ายกว้างขวาง ก็ยังสนับสนุนอุ้มชูบริษัทยักษ์ใหญ่เดิมที่ฐานะธุรกิจอ่อนแอลง มากกว่าที่จะสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัป

แต่สัญญาณบ่งชี้ที่ดีก็คือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีใหม่ และการเติบโตที่ลดต่ำลง จะเอื้ออำนวยต่อโอกาสที่ญี่ปุ่นจะฟื้นตัว ภายในระยะเวลาคนหนึ่งรุ่น แบบเดียวกับการฟื้นตัวของญี่ปุ่น ในการสร้างความทันสมัยในสมัยจักรพรรดิเมจิ และการฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เศรษฐกิจโต 10% ต่อเนื่องนานถึง 25 ปี

แต่ลำพังแนวโน้มที่ดี จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ที่ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิมหวาดกลัวว่า หากปล่อยให้มีธุรกิจแบบ “ผู้ประกอบการ” (entrepreneurship) มากเกินไป อาจทำให้เกิดสภาพ “การสร้างสรรค์แบบทำลาย” (creative destruction) ที่กระทบต่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างหนัก จนอาจเลิกกิจการธุรกิจไป

คำว่า “การสร้างสรรค์แบบทำลาย” เป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Joseph Schumpeter (1883-1950) ที่กล่าวว่า หัวใจของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดจากผู้ประกอบการแบบนวัตกรรม (innovative entrepreneur) ที่กล้าเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้แทนเทคโนโลยีเก่า ทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า “การสร้างสรรค์แบบทำลาย”

กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่เรียกว่า “พวกหัวเก่า” (old guard) ไม่ได้มีแค่พวกธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ตามหลังเทคโนโลยีเท่านั้น แต่รวมถึงธุรกิจ SME อีกหลายแสนบริษัท ดังนั้น การต่อสู้ระหว่างผู้ประกอบใหม่กับพวกธุรกิจหัวเก่าดั้งเดิม จะเป็นตัวกำหนดอนาคตเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

ตัวอย่างเศรษฐกิจมีพลวัต

Richard Katz ยกตัวอย่างว่า ประเทศเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาพแข็งแรง ต้องมีธุรกิจเติบโตสูงแบบใหม่ ที่มาพร้อมกับความคิดใหม่ๆ ในสหรัฐฯ บริษัทไฮเทคในซิลิคอนวัลเลย์มีมากกว่า 2,000 บริษัท ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรดาบริษัทเกิดใหม่ที่มีพลวัตทั้งหมดกว่า 50,000 บริษัทในสหรัฐฯ บริษัทผู้ประกอบการใหม่เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจมีพลัง ขณะที่บริษัท “หัวเก่า” ไม่มีสิ่งนี้ ธุรกิจใหม่เข้ามาแทนที่บริษัทเก่า หรือไม่ก็ทำให้บริษัทเก่าต้องปรับตัว เช่น ผลกระทบของ Tesla ต่อบริษัทรถยนต์เก่าแก่

แต่บริษัทธุรกิจดั้งเดิมมักได้รับการปกป้อง จากนวัตกรรมที่ทำให้ธุรกิจแบบเดิมหยุดชะงัก (disruptive innovation) ในบรรดาบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำ 20 กว่าบริษัท ของญี่ปุ่น มีเพียงบริษัทเดียวที่ตั้งขึ้นมาหลังปี 1959 ช่วงปี 2008-2020 ยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกพุ่งขึ้น 40% แต่ยอดขายบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นกลับตกต่ำ เพราะไม่สามารถเสนอสินค้าที่แข่งขันได้ เช่นสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต

นักเศรษฐศาสตร์เรียกปัญหานี้ว่า “โรคมาจากบริษัทเก่า” แต่ญี่ปุ่นยังมีปัจจัยเด่นเฉพาะหลายอย่าง ที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดขึ้นของบริษัทใหม่ที่มีความคิดใหม่ เช่น ความลำบากที่จะดึงพนักงานมีความสามารถ การเข้าถึงลูกค้า การหาแหล่งเงินทุน และนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนบริษัทที่มีอยู่เดิม ในประเทศกลุ่ม OECD บริษัท SME ของญี่ปุ่นเก่าแก่ที่สุด และมีอัตราการเติบโตน้อยที่สุด

ยังมีโอกาสและความหวัง

บทความ What Holds Japan Back กล่าวว่า โอกาสและความหวังของญี่ปุ่นยังมีอยู่ อุปสรรคต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไป ในศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นสร้างระบบการทำงานตลอดชีพ บริษัทจ้างพนักงานใหม่ ฝึกให้มีทัศนะขององค์กร และจ้างงานตลอดอาชีพ พนักงานไม่กล้าลาออกไปทำงานบริษัทสตาร์ทอัป เพราะหากล้มเหลว บริษัทใหญ่จะไม่จ้างคนที่เปลี่ยนงาน แต่ทุกวันนี้ เด็กหนุ่มเต็มใจที่จะเสี่ยงทำงานกับบริษัทใหม่

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็เพิ่มอำนาจทางตลาดแก่บริษัทสตาร์ทอัป ที่ผ่านมา บริษัทใหม่เข้าถึงลูกค้ายาก เพราะต้องอาศัยช่องทางจำหน่ายที่ควบคุมโดยบริษัทเก่าแก่ อีคอมเมิร์ซเปลี่ยนระบบช่องทางจำหน่ายครั้งใหญ่ เช่น ความสำเร็จของ Rakuten “ศูนย์การค้าอินเทอร์เน็ต” ของญี่ปุ่น ปี 2023 บริษัท SME กว่า 57,000 บริษัท ขายสินค้าออนไลน์เป็นเงินกว่า 40 พันล้านดอลลาร์ให้ผู้บริโภค 100 ล้านคน

การแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล เพื่อที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ เรียกว่า digitization คือสิ่งที่สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น การต่อสู้ที่จะบรรลุผลสำเร็จในเรื่อง digitization คือสาเหตุหนึ่งทำให้บริษัทญี่ปุ่น ประสบปัญหาการแข่งขันในตลาดโลก เป็นครั้งแรกในปี 2018 ที่ซัพพลายเออร์กว่า 5,000 บริษัทของโตโยต้า กว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์

แต่อุปสรรคใหญ่ที่สุดของบริษัทเกิดใหม่ของญี่ปุ่น คือเรื่องเงินทุน หากผู้ก่อตั้งไม่ร่ำรวยก็ต้องอาศัย “นางฟ้าธุรกิจ” (business angel) เช่น คนอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่จะให้เงินสนับสนันธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ญี่ปุ่นมีคนแบบนี้น้อย เพราะไม่ได้ให้การลดหย่อนภาษีเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว

ธนาคารญี่ปุ่นก็ปล่อยกู้โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ได้มองจากศักยภาพของผลกำไรในอนาคต บริษัทอายุ 10 ปี จึงจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าบริษัทอายุ 50 ปี เพราะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันมากกว่า แม้ผลดำเนินงานของธุรกิจเก่าแก่จะปกติธรรมดา รัฐบาลญี่ปุ่นก็เอื้ออาทรแก่บริษัทดั้งเดิม 90% ของงบประมาณเพื่อวิจัยพัฒนา ให้กับบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน

ปี 2022 นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เสนอโครงการ “ทุนนิยมรูปแบบใหม่” (new form of capitalism) มีเป้าหมายให้เพิ่มบริษัทสตาร์ทอัพ 100,000 ราย ภายในปี 2027 สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) ก็ให้การสนับสนุนนโยบายนี้ แต่ความสำเร็จของโครงการอยู่ที่นโยบายปฏิรูปของรัฐบาล ที่จะต้องเอาชนะอุปสรรค เพราะการมองการณ์ระยะสั้นของธุรกิจเก่าแก่

เอกสารประกอบ

Japanese angst as India set to become 4th largest economy, May 10, 2024. Dw.com
What Holds Japan Back: And How Economic Reform Could Overcome a Hidebound Old Guard, Richard Katz, January 31, 2024, foreignaffairs.com