ThaiPublica > สู่อาเซียน > กรุงศรี เดินหน้ากลยุทธ์กลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ พร้อมเชื่อมต่อโอกาสลงทุนในอาเซียน

กรุงศรี เดินหน้ากลยุทธ์กลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ พร้อมเชื่อมต่อโอกาสลงทุนในอาเซียน

26 เมษายน 2024


นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

กรุงศรี เดินหน้ากลยุทธ์กลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ รุกสร้างระบบนิเวศเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมเชื่อมต่อโอกาสลงทุนในอาเซียน

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) โดย กลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) เผยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2567 ตอกย้ำความเป็นผู้นำธนาคารพันธมิตรที่กลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นไว้วางใจ พร้อมเดินหน้าพันธกิจในการสร้างความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบ ESG และการเติบโตของสตาร์ทอัพ ให้การสนับสนุนการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน และมุ่งขยายฐานลูกค้าในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก

วันที่ 26 เมษายน 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)จัดแถลงข่าวผลการดำเนินงานในปี 2023 และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2024 ของกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ โดย นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ

นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติประสบความสำเร็จในการส่งมอบผลการดำเนินงานอย่างเป็นที่น่าพอใจ โดยยังคงครองความเป็นผู้นำในการเป็นธนาคารหลักสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นอย่างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับ MUFG ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศทั่วโลก เพื่อส่งมอบโซลูชันที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของทั้งกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ หรือองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงเปิดเวทีสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนผ่านการจัดงานสัมมนา และการจับคู่ทางธุรกิจ โดยมีกลุ่มลูกค้าที่ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมหนักอย่างธุรกิจพลังงาน โลหะ ผลิตภัณฑ์เคมี ไปจนถึงอุตสาหกรรมเบาอย่างผู้ให้บริการทางการเงิน แพลตฟอร์มการบริการจัดส่งพัสดุ สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น”

สานต่อเป้าหมายในการเป็นธนาคารพันธมิตร

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 กรุงศรียังคงสานต่อเป้าหมายในการเป็นธนาคารพันธมิตรที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับลูกค้าธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ โดยมีมุมมองสำคัญในการดำเนินงาน 4 ด้านประกอบไปด้วย

1.เร่งส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืน (ESG Ecosystem) ให้กับสังคมไทย โดยอาศัยจุดแข็งในการมีความรู้ ความชำนาญในด้าน ESG ผ่านความร่วมมือกับ MUFG เพื่อนำเสนอโซลูชันทางการเงินเพื่อความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยเมื่อช่วงต้นปี ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Deposit) บัญชีเงินฝากประจำเพื่อใช้สนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าและคาดว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีในปีนี้ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์เรื่อง ESG ให้กับลูกค้า ทั้งยังเดินหน้าสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมให้การสนับสนุนองค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่มีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันธนาคารมีผลิตภัณฑ์การเงินยั่งยืนที่หลากหลาย เช่น Social Bond, Green Bond, Sustainability-Linked bond, Green Loan, Green Financing

สำหรับการขับเคลื่อน Green Financing นั้น นายโอคุโบะ ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า หรือ การสนับสนุนทางกาารเงินให้กับโครงการ Smart Energy Solution ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

2.ต่อยอดความร่วมมือเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) โดยจะขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับ สปป. ลาว และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่เอื้อต่อสังคม ชุมชน ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน โดยในปีนี้จะมีการจัดงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching อย่างต่อเนื่องหลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากในปีก่อน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ตลาดระดับสากล ดึงดูดนักลงทุน สร้างตำแหน่งงาน พร้อมช่วยกระตุ้นให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Japan-ASEAN Startup Business Matching จะจัดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 มิถุนายน โดยจะขยายความร่วมมือกับสปป.ลาว เวียดนาม และจะสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพในลุ่มน้ำโขง ผ่านความร่วมมือหน่วยงานพัฒนาสตาร์ทอัพของภาครัฐ เพื่อมองหาศักยภาพสตาร์ทอัพในช่วงแรก(early stage) ที่จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่าน การจับคู่ธุรกิจให้มากขึ้น และในปีนี้ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจที่ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ(National Innovation Center:NIC) ของเวียดนาม เพื่อร่วมขยายเครือข่าย ที่จะให้ธุรกิจมีโอกาสมากขึ้น

3.ขยายฐานลูกค้าบรรษัทข้ามชาติจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asian Economies) ด้วยพื้นฐานและปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในประเทศไทย ทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลี กรุงศรีจะใช้โอกาสนี้ทำงานร่วมกับ MUFG ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจจากกลุ่มประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนและขยายการเติบโตของธุรกิจในประเทศไทย

“เราได้เห็นบริษัทใน จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวันได้ขยายธุรกิจการลงทุนเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เราก็จะร่วมกับ MUFG ในการสนับสนุนลูกค้าเหล่านี้ในการทำธุรกิจในประเทศไทย โดยต่อยอดจากความเชี่ยวชาญความชำนาญของ MUFG” นายโอคุโบะกล่าว

พร้อมเชื่อมต่อโอกาสลงทุนในอาเซียน

4.ยกระดับบริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Krungsri ASEAN LINK เชื่อมทุกความต้องการทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยกรุงศรีพร้อมใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสานพลังเครือข่ายธุรกิจของธนาคาร และ MUFG ที่ครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศในอาเซียน อาทิ Danamon Bank ในอินโดนีเซีย VietinBank ในเวียดนาม และ Security Bank ในฟิลิปปินส์ เพื่อต่อยอดบริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับลูกค้าที่ต้องการขยายธุรกิจสู่อาเซียน ตั้งแต่ในขั้นตอนเริ่มแรก เช่น การสำรวจแปลงที่ดิน การรวบรวมข้อมูลและกฎระเบียบ จนถึงการจัดตั้งและดำเนินการทางธุรกิจในต่างประเทศ โดยในปีนี้ กรุงศรีมีแผนในการจัดงานสัมมนา และกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่ร่วมกับธนาคารพันธมิตรเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าและผู้ที่สนใจจะขยายธุรกิจในอาเซียน

“ในปีที่แล้วเราได้เปิดเว็บไซต์ Krungsri ASEAN LINK เพื่อสนับสนุนการขยายงานของกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ ปีนี้เราจะร่วมมือมากขึ้นกับธนาคารพันธมิตร ด้วยการจัด ASEAN LINK Conference การสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งจะจัดงาน ASEAN LINK Forum เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจของลูกค้าธนาคาร” นายโอคุโบะกล่าว และว่า Krungsri ASEAN LINK ได้สนับสนุนลูกค้าในทุกระยะ ตั้งแต่การให้ข้อมูลและกฎระเบียบ เพื่อประกอบการตัดสินใจ และสามารถจัดตั้งธุรกิจในต่างประเทศได้สำเร็จ

โดยให้ข้อมูลว่าลูกค้าที่เป็นบริษัทไทย ด้วยศักยภาพของธนาคารและธนาคารพันธมิตร ทำให้ลูกค้าของธนาคารเติบโตและขยายกิจการ และทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างราบรื่น ทั้งในประเทศ อย่าง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

นายโอคุโบะกล่าวว่า กรุงศรีมองว่าในกลุ่มประเทศอาเซียน ศักยภาพการเติบโตสูงเด่นชัดในเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจากการที่มีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งในอาเซียน ผสานกับความร่วมมือกับ MUFG มีส่วนช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าขยายในอาเซียน จึงเชื่อว่าด้วยเครือข่ายพันธมิตร และ MUFG ก็จะทำให้กรุงศรีสามารถสนับสนุนลูกค้าให้ขยายในอาเซียนได้อย่างต่อเนื่อง

นายโอคุโบะกล่าวว่า ปัจจุบันเวียดนามเป็นฐานการลงทุนที่หลายประเทศอาเซียนให้ความสนใจ โดยธุรกิจจากจีนได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก ธุรกิจญี่ปุ่นก็ได้เข้าไปลงทุนเช่นกัน สำหรับธูรกิจไทยเองก็ได้ลงทุนในเวียดนาม

นายโอคุโบะกล่าวว่า หลายสำนักได้ประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปีนี้ไว้ที่ 4.5% และมองว่าเวียดนามจะขยายสูง 5.8% อินโดนีเซีย 5% ฟิลิปปินส์ 5-6% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศเหล่านี้

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเติบโตในอาเซียน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน จากการที่มีแนวทางพัฒนาสู่ความยั่งยืนและสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมไปถึงภาคการผลิต โดยเฉพาะในเวียดนาม และลุ่มแม่น้ำโขง ภาคการขนส่งโลจิสติกส์ ที่ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาอีกมาก นอกจากนี้สตาร์ทอัพก็เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีศักยภาพเติบโต และการที่กรุงศรีได้ทำ MoU กับ NIC ของเวียดนามก็สามารถสนับสนุน บริษัทญี่ปุ่นให้ไปลงทุนในเวียดนาม หรือบริษัทไทยที่ต้องการขยายไปเวียดนาม

นายโอคุโบะกล่าวว่า กรุงศรียังคงขยายธุรกิจในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวในปีนี้ 2.7% แต่ก็มีความท้าทายอยู่บ้าง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้แก่ หนึ่งโครงสร้างประชากร ไทยมีประชากรสูงวัยจำนวน ทำให้เกิดความท้าทายข้อที่สองตามมาคือ การขาดแคลนแรงงาน และสามหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมีผลกระทบต่อสินเชื่อ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และภาระหนี้ที่สูงทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็มีผลกระทบต่อลูกค้าธนาคารที่เป็นธุรกิจเช่าซื้อ

อย่างไรก็ตามก็ยังมีโอกาสอีกมาก ประเทศไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ที่สามารถรองรับการย้ายฐานการผลิตท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนได้ และไทยยังมีความพร้อมในหลายด้าน

ไทยยังเป็นฐานลงทุนสำคัญสำหรับธุรกิจญี่ปุ่น

นายโอคุโบะกล่าวว่า ในปีที่แล้วด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินเชื่อลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบรายปี โดยกลุ่มยานยนต์ส่วนหนึ่งได้ชะลอตัวลง แต่ผลกำไรยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากการที่มีนวัตกรรมมาให้บริการ

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติในปีนี้ นายโอคุโบะกล่าวว่า เป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายอยู่มาก แต่สินเชื่อคาดว่าจะฟื้นตัวและขยายตัว 7% ซึ่งนอกจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทริกส์ กลุ่มการค้า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มพลังงานทางเลือก อีกทั้งสินทรัพย์ภายใต้กลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติยังมีคุณภาพดี หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(non-performing loan:NPL) ต่ำมากและเชื่อว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

นายโอคุโบะกล่าวว่า พอร์ตโฟลิโอปัจจุบันของกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติมีมูลค่า 333 ล้านบาท โดยสัดส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นมีประมาณ 88% และบรรษัทข้ามชาติ 12%

สำหรับรูปแบบการเข้ามาลงทุนในไทยของบริษัทญี่ปุ่นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าลงทุนในภาคอุตสาหกรรมไหน ในภาคอสังหาริมทรัพย์มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เป็น joint-venture ในภาคส่วนอื่นๆเป็นการลงทุนโดยตรง(Foreign Direct Investment) อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ที่ค่าเงินเยนอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ก็อาจจะมีผลต่อการลงทุนในธุรกิจญี่ปุ่นในไทยบ้าง แต่ก็เชื่อว่าหากมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และศักยภาพทางธุรกิจในไทย ธุรกิจญี่ปุ่นก็ยังขยายการลงทุน

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ในปีที่แล้วจีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นนักลงทุน FDI รายใหญ่สุดในไทย ส่วนอันดับสองได้แก่ สิงคโปร์ อันดับสาม สหรัฐ และญี่ปุ่นอยู่ในอันดับสี่ แต่นายโอคุโบะกล่าวว่า นับว่าเป็นโอกาสให้ธนาคารขยายธุรกิจด้านกลุ่มบรรษัทข้ามชาติ อย่างไรก็ตามลูกค้าหลักของธนาคารยังเป็นธุรกิจญี่ปุ่น จึงยังมุ่งมั่นสนับสนุนธุรกิจญี่ปุ่น

“ไทยยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการลงทุนที่มีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งนักลงทุนญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในฐานการลงทุนอันดับต้นๆของธุรกิจญี่ปุ่น จุดแข็งของไทยคือ ห่วงโซ่อุปทานที่มีความลึก(deep supply chain) มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม มีที่ตั้งที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์” นายโอคุโบะกล่าว

ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นกว่า 4,000 บริษัทที่ลงทุน ประกอบธุรกิจ ผลิตสินค้าในไทย ดังนั้นห่วงโซ่อุทานจึงมีความสำคัญมากต่อธุรกิจญี่ปุ่น

นายโอคุโบะกล่าวว่า ปัจจุบันการให้บริการธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างเดียวจะไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องการมีเสริมบริการนวัตกรรมเข้าไปด้วยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้ก้าวไปอีกขั้น หวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือในสาขาธุรกิจใหม่ๆ ที่จะทำให้บริษัทไทยและญี่ปุ่นนั้นสามารถพัฒนาธุรกิจ เป็นการ co-create สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

“เราเชื่อมั่นว่าด้วยความสามารถอันโดดเด่นและความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีจากการประสานพลังเครือข่ายของกรุงศรี ธนาคารพันธมิตร และ MUFG จะช่วยให้ลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติสามารถคว้าโอกาสและขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีแห่งความยั่งยืน และสำคัญที่สุดคือช่วยผลักดันให้เกิดความยั่งยืนทางศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศต่อไป” นายโอคุโบะ กล่าว