ThaiPublica > Sustainability > Headline > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้สร้างสุขภาวะชุมชนเชิงระบบที่ดี ‘ต้องมีสัญญาประชาคมใหม่”โซ่กลาง เชื่อมไทย เชื่อมโลก

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้สร้างสุขภาวะชุมชนเชิงระบบที่ดี ‘ต้องมีสัญญาประชาคมใหม่”โซ่กลาง เชื่อมไทย เชื่อมโลก

7 กรกฎาคม 2024


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (ปี 2565-2570)

วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567” วาระชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (ปี 2565-2570) และประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth in Charge ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน”

3 ประเด็นโลกท้าทายชุมชนท้องถิ่น

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศและเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วใน 3 มิติ คือ มิติด้านชีวภาพ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ และด้านเทคโนโลยี เป็นโลกที่มนุษย์มีอิทธิพลเหนือธรรรมชาติ ซึ่งหากเราทำดีกับธรรมชาติ เราก็จะได้ดี แต่หากทำไม่ดี ก็จะถูกธรรมชาติลงโทษ

แต่สิ่งสำคัญในอนาคตที่ชุมชนท้องถิ่นจะต้องเตรียมตัวคือเรื่องของเทคโนโลยี เพราะหลังจากนี้มนุษย์กับเทคโนโลยีจะไร้ความสมดุลระหว่างกัน และจะเป็นประเด็นสำคัญของโลก นอกเหนือไปจากการไร้ความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และการไร้ความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะฉะนั้นชุมชนจะต้องพร้อมรับมือเรื่องนี้ให้ดี

“ผมพูดอยู่เสมอว่า รัฐบาลควรจะมีนโยบายมองว่าเทคโนโลยีนั้นเสมือนหนึ่งเป็นสาธารณูปโภค เช่นเดียวกับ ไฟฟ้า น้ำประปา ที่ชุมชนจะต้องเอาไปใช้ ประชาชนต้องเอาไปใช้ เพื่อให้สร้างประโยชน์ขึ้นมา วันนี้เทคโนโลยี AI เป็นของใกล้ตัวแล้ว เราจะมีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้อย่างไร”

“นี่คือประเด็นที่ท้าทายชุมชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้ง 3 มิตินี้ มันจะถาโถมไปสู่ประเด็นต่างๆ ในระดับชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหามลพิษ ไปจนถึงปัญหาความมั่นคงในระดับชุมชนทั้งเรื่องน้ำ พลังงาน และสุขภาพ รวมถึงเรื่อง AI สิ่งเหล่านี้มีผลต่อวัฒนธรรมการเรียนรู้ การทำงาน และการดำรงอยู่ของคนในชุมชนอย่างยิ่ง” ดร.สุวิทย์ กล่าว

ชุมชนท้องถิ่น “โซ่ข้อกลาง” ในการขับเคลื่อน SDGs

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นเป็น “โซ่ข้อกลาง” ที่เชื่อมต่อความสัมพันธ์ระดับปัจเจกบุคคลและครอบครัว กับระดับภูมิภาค ประเทศ และประชาคมโลก

ดังนั้นหากมองแบบองค์รวมจะพบว่า ชุมชนแต่ละท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง แต่ส่วนที่เหลือยังจำเป็นต้องพึ่งพิงอาศัยกับข้อต่อส่วนอื่นๆ ดังนั้นการเป็นโซ่ข้อกลาง ทำให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs

“หากมองอย่างนี้เราจะพบความสัมพันธ์ว่า หมุดหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาระดับโลกคือชุมชน เพราะฉะนั้นชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง แต่ ณ วันนี้ถ้าชุมชนยังไม่ยั่งยืน อย่าหวังว่าโลกจะยั่งยืน”

สร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ sustainable growth

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า โจทย์การสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน จะต้องสร้างสุขภาวะเชิงระบบ (total wellbeing) ให้สมดุล โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.สุขภาวะปัจเจก (individual wellbeing) 2. สุขภาวะทางสังคม (social wellbeing) และ 3. สุขภาวะของสิ่งแวดล้อม (planetary wellbeing)

“สาระสำคัญคือ เราจะบริหารจัดการชุมชนให้ตอบโจทย์นี้ได้อย่างไร โดยชุมชนที่เข้มแข็งจะต้องเป็นชุมชนที่ productive สามารถเอาคุณค่าที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ออกมาเป็นมูลค่าได้ ขณะเดียวกันจะต้อง responsive ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก และต้อง inclusive ทำให้คนในชุมชนสร้างความรู้ สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง”

“ชุมชนที่ยั่งยืน คือชุมชนที่มีสุขภาวะเชิงระบบที่ดี จะสามารถตอบโจทย์เรื่องการเติบโตที่ยั่งยืน หรือ sustainable growth เป็นชุมชนที่แข็งแรง สามารถสร้างความมั่งคั่ง แต่เป็นความมั่งคั่งที่แบ่งปัน ไม่ใช่แค่ใส่ใจต่อตัวเอง แต่ยังใส่ใจต่อผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม จึงจะสามารถรักษาโลกของเราได้ นำมาสู่การสร้างประโยชน์สุข ความเป็นปกติสุขของชุมชน และการมีสันติสุข” ดร.สุวิทย์ กล่าว

ดร.สุวิทย์กล่าวด้วยว่า ชุมชนท้องถิ่นยังเป็นส่วนที่เชื่อมต่อเป้าหมาย SDGs, ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, และโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้าด้วยกัน หากทุกชุมชนสามารถเข้าใจเรื่องนี้และขับเคลื่อนอย่างจริงจัง สิ่งนี้จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยที่แท้จริง

“ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย คือการทำให้เกิดต้นแบบของความยั่งยืนที่สากลยอมรับ ด้วยแนวคิดของความสมดุล ความพอเพียง ความพอประมาณ จึงจะไปตอบโจทย์ความยั่งยืนได้”

“เพราะฉะนั้นต้องถอดรหัสแนวคิดดังกล่าว แล้วทำให้เกิดการบูรณาการในบริบทของชุมชนให้ได้ โดยบริบทชุมชนที่เป็นรูปธรรมคือ 3P ได้แก่ place พื้นที่, people คนในชุมชน, และ product นวัตกรรมชุมชน ซึ่งอาจเป็นนวัตกรรมในเชิงเศรษฐกิจหรือสังคมหรือสิ่งแวดล้อม”

“นี่คือสาระสำคัญที่จะทำให้เกิดสุขภาวะชุมชนในเชิงพื้นที่ ที่ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ตัวเอง แต่เพื่อไปตอบโจทย์ระดับประเทศ และระดับประชาคมโลกในเวลาเดียวกัน” ดร.สุวิทย์ กล่าว

หัวใจสำคัญของ BCG ในมิติเชิงพื้นที่

ดร.สุวิทย์อธิบายว่า หัวใจสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไม่ได้มีแค่มิติเชิงเซ็กเตอร์ ด้านเกษตรอาหาร การแพทย์ พลังงาน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “มิติเชิงพื้นที่” ที่ไม่ได้ตอบโจทย์แค่เรื่องความยั่งยืน แต่ยังเกิดความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ ผ่านมิติความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางสังคม

รวมทั้งตอบโจทย์เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะ BCG อาศัยความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้แต่ละพื้นที่มีศักยภาพและโอกาสอยู่ในมือ หากมีการขับเคลื่อนที่ดี ก็จะสามารถตอบโจทย์ในมิติด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่นเดียวกับเทคโนโลยีในอนาคตที่ชุมชนจะต้องไม่กลัว แต่ต้องฉลาดใช้ให้เกิดประโยชน์ไปในทิศทางที่มีความก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนจริงๆ

“เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้ว ที่ชุมชนอย่ามองแต่ประเด็นปัญหาย่อยๆ เป็น issue based หรือมองจากข้อจำกัด แต่ต้องมองจากโอกาส มองจากศักยภาพ ถอดรหัสเรื่องสุขภาวะชุมชนให้ถ่องแท้ ทั้งสุขภาวะปัจเจก สังคม และสิ่งแวดล้อม แล้วมองในโหมดต่างๆ ของการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมผ่านกลไกการผลิตและการบริโภค”

“เราจะได้มองดูว่า จะเอาเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในระดับชุมชนได้อย่างไร จะเอาเรื่อง zero waste, zero carbon มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชนได้อย่างไร จะสามารถตอบโจทย์โมเดลความร่วมมือภายใต้ BCG ระหว่างคนในชุมชนกันเอง หรือระหว่างชุมชนกับโลกภายนอกได้อย่างไร”

“ทั้งหมดนี้ ถ้าเราตระหนักว่าชุมชนมีความสำคัญต่อการตอบโจทย์การสร้างความยั่งยืนให้กับโลกได้ เราต้องมาออกแบบชุมชนกันใหม่ มองในมิติของโอกาสและศักยภาพ มากกว่าจะไปมองแค่มิติของการแก้ไขปัญหาแบบแยกส่วน หรือการทำงานภายใต้ข้อจำกัดเพียงอย่างเดียว”

ขับเคลื่อนชุมชนยั่งยืนด้วย “ปัญญา” และ “ความรู้”

ดร.สุวิทย์มองว่า หัวใจสำคัญของการทำให้ชุมชนยั่งยืน คือการทำให้ชุมชนน่าอยู่ (liveable community) และมีชีวิต (lively community) ควบคู่ไปด้วยกัน และเป็นชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาเพื่อการดำเนินชีวิต (wisdom for life) ควบคู่ไปกับการมีองค์ความรู้เพื่อการดำรงชีวิต (knowledge for living) อย่างมีความหมาย

“ทุนที่สำคัญที่สุดคือทุนทางปัญญา เพราะฉะนั้นชุมชนจะต้องมี wisdom คือมีปัญญาเพื่อจะทำให้การดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนมีความหมายว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นไม่ใช่แค่เพื่อเรา ไม่ใช่แค่เพื่อชุมชน แต่เพื่อคนอื่น เพื่อโลกของเราด้วยในเวลาเดียวกัน”

“นอกจากนี้ ยังต้องสร้างชุมชนให้มีเรื่องราวเป็นตำนานเล่าขาน ความเชื่อ และจิตวิญญาณ มีกิจกรรมที่ดูแลเกื้อกูลแบ่งปันกันในชุมชน แต่คำถามคือ ถ้าคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับความเสมอภาค โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นมีช้ามาก”

“ถึงเวลาที่ชุมชนจะต้องมีสัญญาประชาคมใหม่ที่สามารถบอกว่า ทำอย่างไรให้ชุมชนนั้นใช้อำนาจที่ถูกต้อง เพื่อไปสร้างความเจริญก้าวหน้าและความมั่งคั่งให้กับชุมชน ทำอย่างไรให้ชุมชนยึดกติกาเดียวกัน เป็นกติกาที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้ชุมชนเกิดความเป็นธรรม ให้ทุกคนในชุมชนมีโอกาสเท่าๆ กัน เมื่อชุมชนมีความโปร่งใส มีความเป็นธรรม จิตวิญญานของความเอิ้ออาทร และแบ่งปัน ก็จะหวนกลับคืนกลับสู่ชุมชน” ดร.สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย