‘เชฟรอน’โชว์กระบวนการจัดการน้ำเสียจาก “ยางแผ่นรมควัน” เป็นก๊าซชีวภาพ ช่วยชาวสวนยางลดต้นทุนการผลิต พร้อมผลักดัน‘สหกรณ์ยูงทอง’ สู่องค์กรความเป็นกลางทางคาร์บอน ชูต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG อย่างยั่งยืน
ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ ส่งผลทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันของเกษตรกรชาวสวยยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ที่ใช้ไม้ฟืน เป็นเชื้อเพลิงหลักในการสร้างความร้อนและควัน ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงและไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ และกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก, น้ำเสีย, มีกลิ่นเหม็น กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนที่อยู่รอบข้างโรงงาน
เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชม “โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสหกรณ์กองทุนสวนยางยูงทอง จำกัด อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา โดยนางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ในปี 2558 เชฟรอนร่วมกับสถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ และนำก๊าซชีวภาพไปรมควันยางแผ่น ทดแทนเชื้อเพลิงไม้ฟืน ตลอดจนนำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตยางแผ่นและกิจการภายในของสหกรณ์ โดยเริ่มทำโครงการนำร่องที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายขาวเป็นแห่งแรก ขยายผลมาที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านยูงทอง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาสงขลาตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้เป็นเมืองเกษตรกรรมสีเขียวมูลค่าสูง และสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนภายใต้หลักการของ BCG

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เชฟรอนได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประมาณ 10.8 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันในระดับชุมชนสู่เป้าหมายความยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนในระยะยาว” นางสาวพรสุรีย์ กล่าว
ดร. สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าโครงการนี้ เริ่มเมื่อปี 2537 – 2538 โดยรัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์ และสร้างโรงงานแปรรูปน้ำยางพาราเป็นยางแผ่นลมควัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง แทนที่จะกรีดเอาน้ำยางสด แล้วนำน้ำยางขายให้โรงงานยางแผ่นรมควัน หรือ โรงงานยางอัดแท่ง โดยจัดสรรงบประมาณเข้าไปสนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกับจัดตั้งสหกรณ์ และสร้างโรงงานยางแผ่นรมควันเกิดขึ้นมาหลายร้อยแห่งกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยโรงงานแต่ละแห่งจะก็มีบ่อบำบัดน้ำเสีย 1-2 บ่อ แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ปรากฏว่าเครื่องบำบัดน้ำเสียของสหกรณ์ชำรุดเสียหายเกือบทุกแห่ง เกิดปัญหาน้ำเสียส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโรงงานจนกลายเป็นปัญหาข้อพิพาทกันในหลายพื้นที่ เพราะสหกรณ์ไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมและเจ้าหน้าที่วิศวกรมาช่วยแก้ปัญหา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสหกรณ์ยางแผ่นรมควัน จึงร้องขอให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งทีมงานนักวิจัยเข้ามาช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียกับกลิ่นเหม็น เป็นที่มาของโครงการนี้
“ในช่วงปี 2558 เชฟรอนเข้ามาให้ทุนสนับสนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดทำโครงการนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็ส่งผมและทีมงานเข้ามาช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียและกลิ่นเหม็นให้ชาวบ้าน โดยเราเริ่มทดลองนำถุงพลาสติกขนาดใหญ่มาใส่น้ำเสียที่ออกมาจากโรงงานยางแผ่นรมควัน เมื่อนำน้ำเสียไปเก็บไว้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นระบบปิด กลิ่นเหม็นก็หายไป โดยเราเติมจุลินทรีย์เข้าไปช่วยย่อยสลาย เพื่อแปลงน้ำเสียกลับเป็นน้ำดี และนำน้ำดี ซึ่งผ่านการบำบัดโดยจุลินทรีย์แล้ว มีแร่ธาตุสารอาหารที่พืชต้องการ เราก็นำไปรดพืชผักผลไม้ ต้นยางพารา และต้นปาล์ม ผลการทดลอง ปรากฏว่าต้นไม้เจริญงอกงามดีมีใบงอกงามมากกว่าแปลงทดลองไม่ได้รับน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงงาน และยังได้ก๊าซชีวภาพเป็นผลพลายได้ที่ตามมาอีกจำนวนหนึ่ง”ดร.สุเมธ กล่าว
ส่วนก๊าซชีวภาพที่ได้ ได้นำไปใช้ทดแทนไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงบางส่วน เพื่อนำควันเข้าห้องอบใช้รมแผ่นยาง เราจึงเริ่มทดลองนำก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับไม้ฟืน เป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรชาวสวนยาง แต่ปัญหาคือใช้ก๊าซชีวภาพทำความร้อนแทนการใช้ไม้ฟืนทั้งหมดเลยไม่ได้ ยังต้องใช้ควันไม้รมยางแผ่นอยู่ หากใช้ก๊าซชีวภาพแทนมากเกินไป ผลผลิตยางแผ่นที่ก็ได้เสียหาย หรือ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของการยางแห่งประเทศไทย

“เราเริ่มทำการทดลองปรับเพิ่มและลดปริมาณการใช้ก๊าซชีวภาพร่วมกับไม้ฟืนนานเกือบ 1 ปี จนกระทั่งได้สัดส่วนที่เหมาสม สามารถผลิตยางแผ่นรมควันได้ตรงตามมาตรฐานของการยางแห่งประเทศไทย จากนำก๊าซชีวภาพมาใช้แทนการไม้ฟืนบางส่วนในครั้งนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ปีละ 130,000 – 180,000 บาทต่อปี ส่วนการลงทุนซื้อถุงพลาสติกขนาดใหญ่มาบำบัดน้ำเสีย ผลิตก๊าซชีวภาพ รวมทั้งการวางท่อ และระบบส่งน้ำต่างๆ คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5 ปี ไม่ต้องเสียเงินค่าซ่อมบำรุงเครื่องบำบัดน้ำเสียอีก แถมยังช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้อีกด้วย”
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่างานวิจัยของเรายังไม่หยุดอยู่นี้ ในปี 2565 เราได้ต่อยอดโครงการนี้สู่ “โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” โดยการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในสหกรณ์ และโรงงานยางแผ่นรมควัน เพื่อลดคาร์บอนที่ติดมาจากการใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
จากนั้นเราก็ทำการประเมิน Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควัน ทั้งขาเข้าและขาออกจากโรงงานจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควัน เริ่มประเมินตั้งแต่ขาเข้าประเมินตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ เช่น การขนส่งน้ำยางสด, สารเคมี, กรดฟอร์มิก, น้ำ, พลังงานไฟฟ้า, ไม้ฟืน มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่งและน้ำมันหล่อลื่นไปเท่าไหร่ และมีการปล่อยคาร์บอนออกมาในปริมาณเท่าไหร่ ตลอดกระบวนการผลิตในโรงงานจนกระทั่งได้ยางแผ่นรมควัน ปล่อยน้ำเสีย ขี้เถ้า ยางฟอง ยางตัดทิ้ง เศษยาง นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสหกรณ์ยางแผ่นรมควัน ที่ไม่ได้ใช้ก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียหักกลบกันแล้ว สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 425 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี หรือประมาณ 31% เราผลักดันจนกระทั่งสหกรณ์ยูงทองได้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควัน (Carbon Footprint of Product : CFP) จนสำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศ และถือเป็นต้นแบบในการส่งต่อองค์ความรู้ให้กับสหกรณ์อื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป
ดร.สุเมธ กล่าวต่ออีกว่าปัจจุบันยังเหลือคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะต้องหาทางชดเชยอีกเกือบ 700 ตันคาร์บอน จากการศึกษาของพบว่าการปลูกต้นยางพาราขั้นต่ำ 1 ไร่ สามารถ Absorb คาร์บอนได้ 2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ดังนั้นเราจะต้องหาพื้นที่ให้สมาชิกของสหกรณ์ยูงทองปลูกต้นยางพาราไม่น้อยกว่า 350 ไร่ เพื่อดูดซับคาร์บอนส่วนที่เหลือออกไป ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับรองการจดทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ระดับองค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO) และกำลังประเมินความเป็นไปได้ ในการจัดทำคาร์บอนเครดิตของสหกรณ์ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยมีเป้าหมายที่จะนำสหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทองไปสู่ แห่งแรกของประเทศไทย
“การต่อยอดโครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางแผ่นรมควัน ไปสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ครั้งนี้ เราต้องการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่แค่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ วิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก ก็ทำได้เช่นกัน” ดร.สุเมธกล่าว