“พริษฐ์ วัชรสินธุ” ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทุ้ง กกต. เปิดให้ประชาชนร่วมสังเกตการณ์เลือก สว. กำหนดกรอบเวลาประกาศผลเลือก สว.ชุดใหม่ ให้ชัดเจน พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนมาร่วม สมัคร สว.ชุดใหม่ เพื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตย

นักวิชาการ และนักการเมืองซึ่งยึดหลักประชาธิปไตยได้ออกมาประเมินการทำงานของ 250 ส.ว. ที่หมดอายุลงเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมาว่า ไม่ได้มีบทบาทในการส่งเสริมประชาธิปไตยแต่กลับทำหน้าที่แช่แข็งประชาธิปไตย และมีเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
ขณะที่จะมีการเลือก 200 ส.ว.ชุดใหม่ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเปิดรับสมัคร สว.วันที่ 20-24 พ.ค.2567 และจะเริ่มเลือกวันที่ 9 มิ.ย.ในระดับอำเภอ, วันที่ 16 มิ.ย.เลือกในระดับจังหวัด และวันที่26 มิ.ย. เลือกในระดับประเทศ ประกาศผลการเลือก สว.วันที่ 2 ก.ค.2567
แม้การเลือก 200 สว.ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะมีทิศทางดีขึ้นจากเดิม แต่การเลือกกันเองใน 20 กลุ่มวิชาชีพ มีความยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าที่จะคาดหวังได้ว่า โฉมหน้า สว.ชุดใหม่จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่เพื่อถ่วงดุลตามหลักประชาธิปไตยได้หรือไม่ โดยเฉพาะกระบวนการเลือก ที่ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมไม่มาก
“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” พูดคุยกับ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ถึงปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือก สว.ชุดนี้
นายพริษฐ์ บอกว่าการเลือก 200 สว.ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของกระบวนการคัดเลือกกันเองระหว่าง 20 กลุ่มอาชีพตามรัฐธรรมนูญ 2560 แม้ว่าที่มาของ สว.ชุดใหม่จะดีขึ้นกว่า ที่มาของ 250 สว.ชุดที่หมดอายุไป แต่ในเชิงโครงสร้างอำนาจที่มาของ สว.ชุดใหม่ก็ยังห่างไกลจากมาตรฐานประชาธิปไตย ที่ควรจะเป็นอันดับสากล
ในหลายประเทศทั่วโลกที่มีสภาสูงหรือ วุฒิสภา มีเกณฑ์ทวัดมาตรฐานประชาธิปไตย คืออำนาจและที่มาต้องสอดคล้องกัน ถ้าวุฒิสภามีอำนาจเยอะมาก เช่น ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการถอดถอนประธานาธิบดีได้ แต่ที่มาของ สว.ของสหรัฐมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ในสหราชอาณาจักร อย่างอังกฤษ สว. มาจากการแต่งตั้งแต่ก็กำหนดอำนาจไว้น้อยมากแค่ชะลอกฎหมาย
“ผมจะพูดเสมอว่าเกณฑ์หรือไม้บรรทัดที่เราสามารถใช้ได้ในการประเมินว่า สว.ในประเทศใดมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่มี ดูที่โครงสร้างอำนาจว่ามีความสมดุลหรือไม่ อำนาจและที่มา เราจะเห็นว่าประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตย มักจะยึดไม้บรรทัดนี้ อย่างสว. สหรัฐมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่อังกฤษมาจากการแต่งตั้ง แต่ก็จะมีอำนาจที่น้อย อำนาจในเชิงกฎหมายที่มากที่สุดคือ การชะลอร่างกฎหมายใน 1 ปี”
นอกจากอำนาจของ สว.ในอังกฤษยังมีวัฒนธรรมประเพณีทางการเมืองที่ถือปฏิบัติ 2 ธรรมเนียมที่เรียกว่า sorcery convention คือถ้าเป็นกฎหมายที่เชื่อมโยงกับนโยบายของ ส.ส.ที่ถูกสื่อสารและรณรงค์ช่วงการเลือกตั้ง สว.จะไม่ใช้อำนาจในการชะลอร่างกฎหมาย และ ถ้ากฎหมายนั้นถูกเสนอโดย ส.ส. และเกี่ยวข้องการเงิน สว.ก็จะไม่ชะลอเช่นกัน เพราะฉะนั้นเกณฑ์ที่ทำให้วุฒิสภามีความชอบธรรมต้องเดินไปตามมาตรฐานสากล คืออำนาจและที่มาต้องสอดคล้องกันตามมาตรฐานประชาธิปไตย

อำนาจที่มาของ สว. ต้องเป็นประชาธิปไตย
นายพริษฐ์บอกว่าวุฒิสภา 250 คน ที่หมดอายุลงไม่มีความสมดุลระหว่างอำนาจและที่มา โดยมาจากการแต่งตั้ง 100 % ประมาณ 90 คนแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 50 คน เลือกกันเองก่อน และหลังจากนั้น คณะคสช.มาจิ้มเลือกที่หลัง ส่วนอีก 6 คนมาจากผบ.เหล่าทัพอยู่แล้ว
“อำนาจของ 250 สว.มีมากถึงขั้นโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ มีอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอำนาจในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ แต่ 250 สว.ไม่ได้มีโครงสร้างอำนาจที่เป็นประชาธิปไตย เพราะว่าที่มาก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจค่อนข้างมากในการกำหนด การปกครองของประเทศ”
ขณะที่ สว.ชุดใหม่ที่กำลังจะมีการเลือกเกิดขึ้นแม้ว่าจะมีทิศทางที่อาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ก็มีความไม่สมดุลระหว่างอำนาจและที่มา แม้ว่าจะไม่อยู่ภายใต้ คสช. แต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากเป็นการคัดเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร ส่วนอำนาจก็ยังถือว่ามีมากแม้ว่าจะไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล แต่ยังมีอำนาจในการรับรององค์กรอิสระ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
“ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ เรื่องของโครงสร้างอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยของ สว. แต่ว่ากติกาที่ออกแบบมาแล้วตามรัฐธรรมนูญ 2560 เราไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก แต่เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการตรงนี้ การแก้ไขความเสียหายจากการเลือก สว.ชุดนี้ทำได้ 2 เป้าหมายคือ
1.ทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจจาก สว.ชุดเก่าไปสู่ สว.ชุดใหม่ ราบรื่นและรวดเร็วตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เพราะว่ายิ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาไปนานเท่าไรจะทำให้ สว.ชุดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งขอ คสช.สามารถรักษาการณ์ไปนานมากขึ้น นั่นเท่ากับ สว.ชุดเดิมยังมีอำนาจเท่ากับ สว.ชุดใหม่ที่กำลังจะเลือกเข้ามา
“เพราะฉะนั้น ง่ายๆคือ ถ้าสว.ชุดใหม่ยังเลือกเข้ามาไม่ได้ ก็เท่ากับว่า ส.ว.250 คน ก็ยังคงมีบทบาทกำหนดทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังนั้นเป้าหมายที่ 1 จะทำอย่างไร ให้กระบวนการคัดเลือกชุดใหม่ รวดเร็วได้ตามกรอบเวลา”

รณรงค์ให้ประชาชนสมัคร สว.สกัดบล็อกโหวต
2. ทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือก สว.ขุดใหม่ให้มากที่สุด แม้ว่าประชาชนจะไม่มีสิทธิไปเลือก สว.ด้วยตนเองก็ตาม โดยการมีส่วนร่วมสามารถทำได้ในหลายวิธี เช่น การรณรงค์ให้คนตัดสินใจไปสมัครมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่ายิ่งมีผู้สมัครจำนวนมากจะทำให้เกิดการแข่งขัน ที่ทำให้มันคัดกรองนำไปสู่การคัดเลือก สว.ที่มีความเหมาะสมได้มากขึ้น
นอกจากนี้การที่มีผู้ไปสมัคร สว.จำนวนมากจะช่วยทำให้ กลุ่มคนที่มีความพยายามจะบล็อกโหวต หรือแม้กระทั่งสนับสนุนทุนให้กลุ่มผู้สมัครบางกลุ่มทำได้น้อยลงและส่งผลให้การเลือกมีประสิทธิภาพ ลดการการบล็อกโหวตลงได้
“สิ่งที่เราจะลดความเสียหายในการเลือก สว.ชุดใหม่ได้คือ ทำให้ผู้สมัครเข้าถึงข้อมูลผู้สมัครให้มากที่สุด โดยผู้สมัครเองก็ควรจะมี โอกาส เสรีภาพในการ รณรงค์ หรือว่าให้ข้อมูลนอกจากประสบการณ์ที่ตัวเองเคยทำมาแล้วว่าหากเข้าไปทำหน้าที่ สว.จะปฏิบัติหน้าที่เช่นไร มีมุมมองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร และการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ องค์กรอิสระจะทำอย่างไร โดยข้อมูลเหล่านี้ผู้สมัครควรจะสื่อสารและสามารถทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไปถึง ประชาชน เข้าถึงสะดวกสบายและมากขึ้นที่สุด”
“การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสังเกตการณ์ ตรวจสอบว่ากระบวนการทั้งหมดมันเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม เพราะว่าการคัดเลือกจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ ตั้งแต่ อำเภอ มาจังหวัด และประเทศ เพราะฉะนั้นจึงต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือก สว.”
“เราหวังไว้ว่าภายใต้ข้อจำกัดในการคัดเลือกจะลดความเสียหายได้มากที่สุด ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ กกต. เพราะถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเลือก แม้ว่ารัฐธรรมนูญและ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภา ถูกเขียนมาแล้ว แต่ กกต. มีอำนาจในการออกระเบียบและประกาศ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นผมคิดว่า กกต.สามารถทำให้ 2 เป้าหมายเป็นจริงได้”
จี้ กกต.กำหนดกรอบเวลาประกาศผลเลือก สว.
นายพริษฐ์ยอมรับว่ามีความกังวลหลายประการเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กกต. โดยเฉพาะเป้าหมายที่หนึ่งคือการทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจ รวดเร็ว ราบรื่น โดยสิ่งที่เรากังวลตอนนี้คือ กกต. ยังไม่ให้ความชัดเจนว่า การประกาศผลการคัดเลือก สว. 200 คน ภายในเมื่อไหร แม้จะบอกว่าจะไม่มีการยื้อผลคัดเลือก แต่ก็ยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยหากเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายจะกำหนดชัดเจนภายในกี่วันต้องประกาศผล
ระเบียบคัดเลือกสว.ข้อ 154 ไม่ได้เขียนกรอบเวลา แต่เขียนแค่ว่าให้ประกาศผลหากคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต.เห็นว่า การเลือก สว.เป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต เที่ยงธรรม แต่สิ่งที่ผมกังวลก็คือว่ากระบวนการมันซับซ้อนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าความซับซ้อนดังกล่าวจะนำไปสู่ข้อร้องเรียนจำนวนมาก
ด้วยข้อร้องเรียนที่มีจำนวนมาก และกกต. ซึ่งไม่มีกำหนดกรอบเวลาว่าจะต้องหาข้อยุติ และข้อร้องเรียนภายในเมื่อไหร อาจจะทำให้การประกาศผลเลือ สว.ยืดยาวออกไป ซึ่งหมายความว่า สว.ชุดปัจจุบันที่หมดอายุไปแล้ว ก็ยังจะปฏิบัติหน้าที่ไปต่อได้เรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนดเช่นกัน
“สิ่งแรกที่อยากเรียกร้อง กกต. คืออยากให้การเปลี่ยนผ่านจากสว.ชุดเก่าไปสู่ชุดใหม่มีความรวดเร็ว ราบรื่น แม้ว่าระเบียบไม่ได้เขียนไว้ แต่ว่า กกต. ควรจะออกมายืนยันกับ ประชาชนว่าจะวางกรอบเวลาอย่างไร ประกาศผลภายในเมื่อไหร เพื่อให้เกิดความมั่นใจ”
ส่วนเป้าหมายที่สองเรื่องการมีส่วนร่วม นายพริษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าผิดหวังคือระเบียบการแนะนำตัวที่ กกต. ที่ให้แนะนำตัวได้แค่เอกสารสว.3 ที่มีให้แค 5 บรรทัด โดยให้พูดได้แค่อดีต ไม่สามารถพูดถึงการปฏิบัติหน้าที่ ในอนาคตได้
ขณะที่ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้สมัคร ก็มีข้อคำถามว่าจะเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครได้มากน้อยแค่ไหนแม้ว่า กกต.บอกว่าจะเอารายชื่อทุกคน ทุกอำเภอ ทุกกลุ่มอาชีพ ขึ้นใน เว็ปไซด์ของ กกต . ให้ทุกคนเข้าถึงทันทีที่มีการประกาศรายชื่อ แต่ผู้สมัครแนะนำตัวกับคนอื่นได้น้อย ประชาชนทั่วไปก็เข้าถึงข้อมูลได้ยาก
ส่วนการเข้าไปสังเกตการณ์ในหน่วยเลือก สว. กรรมาธิการได้ทำหนังสือเพื่อเข้าไปสังเกตการณ์ในการการเลือกสวในบางหน่วย ว่าการคัดเลือกเป็นไปโดย สุจริต เที่ยวธรรม หรือไม่
“ผมก็ยังมีมุมมองว่า ที่มาของ สว. โครงสร้างอำนาจต้องเป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อกติกาเป็นแบบนี้เราทำอะไรไม่ได้มาก ก็อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เรามี สว.ที่สะท้อนความต้องการของประชาชนได้มากที่สุด”

3 หมุดหมายท้าทายบทบาท ‘สว.ชุดใหม่’
นายพริษฐ์ บอกว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สว.ชุดใหม่ที่จะเข้ามามีเรื่องท้าทายใน 2-3 เดือนแรก คือ แก้ไขประเด็นรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สว.ชุดใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้เนื่องจากต้องใช้เสียงเห็นชอบเกิน 1 ใน3 ของสว. เพราะผลงานที่ผ่านมาของ สว.ชุดเก่า คือการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นบทบาทสำคัญของ ส.ว.ชุดใหม่เนื่องจากชุดเดิมได้ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยได้มีเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 26 ร่าง แต่มีแค่ร่างเดียวความเห็นชอง ของ ส.ว. และมี 18 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ส .2ใน 3 แต่ก็ไม่ผ่าน เพราะ ไม่รับเสียงเห็นชอบจาก สว.ดังนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สว.ชุดใหม่จะมีบทบาทสำคัญ ในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการแก้กติกา แก้รัฐธรรมนูญ แล้วก็ปลดล๊อค เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
ดังนั้นภารกิจของ สว.ชุดใหม่ จึงมี 3 หมุดหมายที่สำคัญ โดยเรื่องแรกคือเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่สอง คือการแก้ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งทั้งพรรคก้าวไกล และพรรครัฐบาลต่างเห็นตรงกันว่าควรจะเปิดประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาพ.ร.บ.ประชามติ โดยหาก พ.ร.บ.ผ่านการพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ต้องได้เสียงเห็นชอบจากวุฒิสภาเช่นกัน
“ หมุดหมายที่สองมีเรื่องจองการเสนอคำถามประชามติที่แตกต่างจากที่รัฐบาลเสนอมาซึ่งพรรคก้าวไกลจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและต้องได้เสียงจาก ส.ว.เช่นกัน จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญของ ส.ว.ชุดใหม่ในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังถูกเลือกเข้ามา”
ส่วนหมุดหมายที่สาม คือรูปแบบรายละเอียดเรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. เพราะท้ายที่สุดแล้ว การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการเสนอร่างแก้ไขสสร.ให้พิจารณาร่วมกันในรัฐสภา เพราะฉะนั้นต้องมาร่วมกำหนดที่มาของ สสร.ซึ่งพรรคก้าวไกลอยากให้มีการเลือกตั้ง 100 % ซึ่ง สว.ชุดใหม่ต้องร่วมพิจารณาด้วย
“ผมคิดว่า 3 หมุดหมายที่สำคัญ ทั้งเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประชามติ การทบทวนคำถามประชามติ และการเลือก สสร. ล้วนเป็นภารกิจที่เราอยากเห็น สว. ชุดใหม่เข้าพิจารณาโดยยึดกรอบประชาธิปไตย”
นายพริษฐ์ บอกทิ้งท้ายว่า ด้วยบทบาทที่สำคัญของสว.ชุดใหม่ที่กำหนดทิศทางการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้เราอยากเห็นประชาชนเข้ามาร่วมสมัคร สว.มากที่สุด เพื่อให้การคัดเลือกมีประสิทธิภาพและได้ สว.ที่มาร่วมกำหนดทิศทางในการส่งเสริมประชาธิปไตยของประเทศไทยมากขึ้น