
CPI จัดอันดับ 180 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกตามระดับความโปร่งใสของภาครัฐ ด้วยคะแนน 0 (มีการทุจริตคอร์รัปชันสูง)ถึง 100 (โปร่งใสมาก)
TI-CPI จัดอันดับและวัดผลประเทศต่างๆ ตามระดับการรับรู้การทุจริตในภาครัฐ ดัชนีปี 2566 อิงตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและการสำรวจนักธุรกิจ และคำนวณโดยใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลภายนอก 13 แห่ง จากนั้นประเทศต่างๆ จะได้รับคะแนนตั้งแต่ศูนย์ สำหรับการคอร์รัปชันสูง ถึง 100 คะแนนสำหรับความโปร่งใสมาก รายงานของ TI ปี 2566 เร่งรัดให้ประเทศต่างๆ เสริมสร้างความยุติธรรมและหลักนิติธรรมที่มีประสิทธิผล เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและหยุดยั้งการทุจริต
สถานการณ์คอร์รัปชันในสิงคโปร์ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มแข็ง ในด้านเกณฑ์หลักนิติธรรมของ World Justice Project (WJP) ปี 2566 สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 3 จากการไม่มีการทุจริต ซึ่งเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชียจาก 142 ประเทศ ขณะที่ Political and Economic Risk Consultancy (PERC) อีกหนึ่งแหล่งข้อมูล จัดอันดับให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการทุจริตน้อยที่สุดในรายงานการทุจริตในเอเชียประจำปี 2566 จาก 16 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่สิงคโปร์ครองมาตั้งแต่ปี 2538 สำหรับสถานการณ์ในประเทศ จำนวนคดีทุจริตในภาครัฐยังคงต่ำมาตลอด และการสำรวจการรับรู้ของสาธารณะที่จัดทำเป็นประจำโดย CPIB บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อความพยายามในการควบคุมการทุจริตในระดับชาติของสิงคโปร์
อาเซียนต้องฝ่าฟันการคอร์รัปชัน
สำหรับดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือคอร์รัปชัน ของกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น องค์กรความโปร่งใสสากลหรือ Transparency International (TI) รายงานว่า
ประเทศในกลุ่มอาเซียนพยายามฝ่าฟันเพื่อต่อต้านการทุจริต โดยประเทศในกลุ่มอาเซียน มาเลเซียได้ 50 คะแนนอยู่ในอันดับ 57 และยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค จากการเลือกตั้งที่เข้มแข็งควบคู่ไปกับคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตที่ยื่นฟ้องคดีที่โด่งดังในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนอินโดนีเซีย (34 คะแนน อันดับ 115) ท่ามกลางการถอยหลังของระบอบประชาธิปไตย ยังคงไม่แน่ใจว่า KPK ซึ่งเป็นหน่วยงานต่อต้านการทุจริตที่ถูกลดอำนาจลงอย่างมาก จะได้รับอนุญาตให้ได้อำนาจเดิมกลับคืนมาในเร็วๆ นี้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นเสือกระดาษ ด้านในเวียดนาม (41คะแนน อันดับ 83) การรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีชื่อเสียงโด่งดังถูกบั่นทอนลงเนื่องจากการจำกัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฟิลิปปินส์ (34 คะแนน อันดับ 115) และไทย (35 คะแนนอันดับ 108) ยังคงอยู่ในระดับล่างของอันดับ และเมียนมาคะแนนลดลงอย่างมาก 10 คะแนนเหลือ 20 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 162

เอเชียแปซิฟิกคืบหน้าน้อย
ส่วนในกลุ่มประเทศเอเชีย แปซิฟิก Transparency International ระบุว่า ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผชิญกับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2567 โดยประชาชนจะออกมาลงคะแนนเสียงในบังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน หมู่เกาะโซโลมอน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2566 เผยให้เห็นว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่มีความก้าวหน้าในการปราบปรามการทุจริตเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกันที่คะแนน CPI เฉลี่ยสำหรับภูมิภาคนี้หยุดนิ่งที่ 45 จากทั้งหมด 100 คะแนน มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ซึ่งบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระดับการคอร์รัปชัน และหลายประเทศในอดีตที่อยู่ในระดับสูงสุดกำลังลดลงอย่างช้าๆ
รายงานระบุว่า 71% ของประเทศทั่วเอเชียและแปซิฟิกมีคะแนน CPI ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 45 และค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 43 จาก 100 คะแนน ซึ่งคะแนนที่น้อยนี้สะท้อนถึงการขาดการตอบสนองของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งในวาระการต่อต้านการทุจริต บวกกับการปราบปรามกลุ่มประชาสังคมที่จัดตั้งขึ้น และการโจมตีเสรีภาพสื่อ การชุมนุม และการสมาคม
ประเทศที่มีคะแนนสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น นิวซีแลนด์ (คะแนน CPI: 85) และสิงคโปร์ (83) ยังคงรักษาตำแหน่งของตัวเองที่ระดับบนสุดของดัชนีทั่วโลก ตามมาด้วยประเทศอื่นๆ ที่มีกลไกควบคุมการทุจริตที่แข็งแกร่งกว่า เช่น ออสเตรเลีย (75) , ฮ่องกง (75), ญี่ปุ่น (73), ภูฏาน (68), ไต้หวัน (67) และเกาหลีใต้ (63)
คะแนนของนิวซีแลนด์ค่อยๆลดลงตั้งแต่ปี 2563 การลดลงนี้เป็นผลมาจากการขาดความเชื่อมั่นจากประชาคมธุรกิจในเรื่องบูรณาภาพของการทำสัญญาสาธารณะ การเก็บภาษี และโอกาสทางการค้า ในปี 2565 ออสเตรเลียได้เลือกตั้งรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตระดับชาติ และได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสของภาครัฐและการจัดหาเงินทุนทางการเมือง ซึ่งต้องมีการปฏิรูปที่ครอบคลุมเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีประสิทธิภาพ ส่วนภูฏานได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานต่อต้านการทุจริต
อันดับล่างสุดของดัชนีประกอบด้วยรัฐที่เปราะบางในระบอบเผด็จการ ซึ่งรวมถึงเกาหลีเหนือ (17) และเมียนมา (20) ที่คะแนนตกลงมาอย่างน่าตกใจถึง 10 คะแนนนับตั้งแต่ปี 2560 อัฟกานิสถาน (20) ยังคงเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

เอเชียใต้หลักนิติธรรมถึงทางแยก
ในเอเชียใต้ ทั้งปากีสถาน (29) และศรีลังกา (34) ต้องจัดการกับภาระหนี้ของตนเองและทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองตามมา อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศมีการกำกับดูแลด้านตุลาการที่เข้มแข็ง ซึ่งช่วยให้ตรวจสอบรัฐบาลได้ ศาลฎีกาแห่งปากีสถานเสริมสร้างสิทธิของพลเมืองในการเข้าถึงข้อมูลโดยขยายสิทธิ์นี้ภายใต้มาตรา 19A ของรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมสถาบันที่ถูกจำกัดก่อนหน้านี้ ในศรีลังกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้อดีตประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2564
อินเดีย (39) ความผันผวนของคะแนนน้อยจนไม่สามารถสรุปผลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกตั้ง อินเดียมีพื้นที่เปิดของพลเมืองแคบลงมากขึ้น รวมถึงการผ่านร่างกฎหมายที่อาจเป็น ภัยคุกคามร้ายแรงต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะที่บังคลาเทศ (24) หลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่สนับสนุนการลดความยากจนอย่างต่อเนื่องและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กระแสของข้อมูลภาครัฐถูกกีดกันท่ามกลางการปราบปรามสื่ออย่างต่อเนื่อง