ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อาเซียนเตรียมวางทิศทางอนาคตหลังปี 2025

ASEAN Roundup อาเซียนเตรียมวางทิศทางอนาคตหลังปี 2025

2 ตุลาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 25 กันยายน-1 ตุลาคม 2565

  • อาเซียนเตรียมวางทิศทางอนาคตหลังปี 2025
  • สิงคโปร์ร่วมมือลาวด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและดิจิทัล
  • เวียดนาม GDP ปีนี้โต 8% สูงสุดในอาเซียน
  • เวียดนามทุ่มงบกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สู้โควิด-19
  • กัมพูชาเปิดใช้ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์
  • อาเซียนเตรียมวางทิศทางอนาคตหลังปี 2025


    ดาโต๊ะ ลิม จ๊ก ฮอย เลขาธิการอาเซียนเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานระดับสูง หรือ High-Level Task Force (HLTF) กำลังอยู่ในขั้นตอน กำหนดทิศทางในอนาคตหลังจากปี 2025 สำหรับกลุ่มสมาชิก 10 ประเทศ

    “โดยมีวิสัยทัศน์ว่าอาเซียนจะยังคงเป็นประชาคมที่ปรับตัวได้ และสามารถจัดการกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและที่เกิดขึ้นใหม่ได้เพื่อประโยชน์ของประชาชนอาเซียน” ดาโต๊ะลิม จ๊ก ฮอยกล่าวในการประชุมผู้นำ CSIS ASEAN เมื่อเร็วๆ นี้

    โรดแมปปัจจุบันที่จัดทำบนแนวคิด “ASEAN 2025: Forging Ahead Together” ซึ่งรับรองโดยผู้นำในการประชุมสุดยอดที่มาเลเซียเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2015 เป็นแนวทางในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนไปจนถึงปี 2015

    ดาโต๊ะลิมซึ่งเป็นเลขาธิการอาเซียนคนที่ 14 ตั้งแต่ปี 2018 ยังหวังว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะสามารถแก้ไขปัญหาพม่าได้ก่อนการประชุมสุดยอดของกลุ่มในเดือนพฤศจิกายน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะยังคงมีส่วนร่วมกับเมียนมาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

    “เมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของอาเซียนเสมอ… แน่นอนว่ามันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก… แต่ก็นั่นแหละ เป็นประเด็นที่จะหารือภายในครอบครัวกันอยู่เสมอ” ดาโต๊ะลิมกล่าวเมื่อถูกขอให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทางเลือกที่มีให้กับครอบครัวอาเซียนเกี่ยวกับวิกฤติในเมียนมา

    รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมีกำหนดจะประชุมที่อินโดนีเซียในเดือนหน้า เพื่อเตรียมการก่อนการประชุมสุดยอดกลุ่มเดือนพฤศจิกายนที่กัมพูชา

    สำหรับการสมัครเข้าร่วมอาเซียนของติมอร์เลสเต ดาโต๊ะลิมกล่าวว่า ต้องการเห็นติมอร์เลสเตเป็นสมาชิกรายที่ 11 ของอาเซียนในปีนี้

    “เราเชื่อมั่นค่อนข้างมากว่า เราจะหารือเรื่องนี้กับคณะทำงานที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นสักวัน”

    ติมอร์เลสเตได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน บรรษัทภิบาล และยังเตรียมการเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก(WTO)ในปีหน้า

    ที่ประชุมคณะทำงาน HLTF ที่มาภาพ: https://asean.org/asean-commences-work-on-asean-communitys-post-2025-vision/
    คณะทำงาน HLTF ด้านวิสัยทัศน์หลังปี 2025 ของประชาคมอาเซียนได้จัดการประชุมครั้งแรก ที่สำนักเลขาธิการอาเซียนในช่วงวันที่ 31 มีนาคมถึง 1 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนงานของ HLTF ในปี 2022 ข้อบังคับการประชุมของ HLTF และองค์ประกอบหลักของวิสัยทัศน์หลังปี 2025

    ที่ประชุมมีกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนเป็นประธานร่วม และมาเลเซียเป็นผู้ดูแลถาวรของ HTLF และมีสมาชิก HLTF จากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วม

    คณะทำงาน HLTF ที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียง ผู้แทนระดับสูง จากแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน และเลขาธิการอาเซียน ได้รับมอบหมายให้ร่างวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนหลังปี 2025

    คณะทำงาน HLTF ได้เริ่มงานอย่างเป็นทางการด้วยการนำข้อบังคับมาใช้และแผนงานสำหรับปี 2022 สำนักเลขาธิการอาเซียน นำโดยเลขาธิการอาเซียน ได้ให้ข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของการสร้างประชาคมอาเซียนและความคิดเห็นเกี่ยวกับวิสัยทัศน์หลังปี 2025

    นอกจากนี้คณะทำงาน HLTF ยังมีหารือกับคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (CPR) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรึกษาหารือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

    คณะทำงาน HLTF กำลังดำเนินการตามปฏิญญาฮานอยว่าด้วยวิสัยทัศน์หลังปี 2025 ของประชาคมอาเซียน ที่ประกาศโดยผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่งกำหนดว่า “การพัฒนาวิสัยทัศน์หลังปี 2025 จะต้องดำเนินการอย่างครอบคลุม ปฏิบัติได้ สมดุล มีความทั่วถึงและร่วมมือ ใช้แนวทางแบบครบวงจรของประชาคมเพื่อประสานการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกเสาหลักประชาคมอาเซียน และคณะทำงานต่างๆ เพื่อจัดการกับความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของโอกาสและความท้าทายที่อาเซียนเผชิญอยู่”

    “ASEAN 2025: Forging Ahead Together” เป็นวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2025 และแผนงานประชาคมอาเซียน 2016-2025 ซึ่งมีสโลแกนว่า One vision, One identity, One community หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม

    โดยในเสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้น ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนจะเป็นประชาคมที่มีความเป็นหนึ่ง ครอบคลุม และแข็งแกร่ง ประชาชนของเราจะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ปรองดอง และมั่นคง โอบรับค่านิยมเรื่องขันติธรรมและทางสายกลาง รวมทั้งยึดมั่นในหลักการขั้นพื้นฐานของอาเซียน ค่านิยมและบรรทัดฐานที่มีร่วมกัน นอกจากนี้ อาเซียนยังคงมีความแน่นแฟ้น มีความสำคัญ และตอบสนองต่อความท้าทายที่คุกคามสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค และมีบทบาทหลักในการสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกันก็ปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอกอย่างลึกซึ้งขึ้น และร่วมส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพของโลก

    ส่วนเสาหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี 2025 ประชาคมเศรษฐกิจของเราจะต้องมีการรวมตัวกันอย่างลึกซึ้งมีความเป็นเอกภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มีพลวัต และมีความหลากหลาย รวมทั้งมีความเชื่อมโยงและความร่วมมือจากแต่ละภาคส่วนที่เพิ่มขึ้น และเป็นประชาคมที่มีความแข็งแกร่ง ทุกคนมีส่วนร่วม มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ

    สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี 2025 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของเราจะเป็นประชาคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน และประชาชนได้รับประโยชน์ รวมทั้งทุกคนมีส่วนร่วม มีความยั่งยืน แข็งแกร่งและพลวัต

    สิงคโปร์ร่วมมือลาวด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและดิจิทัล

    ที่มาภาพ:FB:Tan See Leng

    สิงคโปร์และลาวยกระดับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น พลังงาน ดิจิทัล ความยั่งยืน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการฑูตในปี 2567

    เมื่อวันพุธที่ผ่านมา(28 ก.ย.) ได้มี การลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) สี่ฉบับระหว่างสองประเทศที่ Istana หรือที่พำนักของประธานาธิบดีสิงคโปร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง และนายกรัฐมนตรีลาว นายพันคำ วิพาวันซึ่งเดินทางมาเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีลี ร่วมเป็นสักขีพยาน

    บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานประกอบด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนในลาว การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาคและการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดน ตลอดจนการพัฒนาระบบและขั้นตอนในการวัด รายงาน และตรวจสอบพลังงานหมุนเวียน มีการลงนามโดย ดร.ตัน สี เล้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและ ดร.ดาววง โพนแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคนที่สอง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว

    การลงนามใน MOU เป็นการต่อยอดจากความสำเร็จของการเริ่มต้นโครงการบูรณาการพลังงาน สปป. ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการนำเข้าพลังงานหมุนเวียนครั้งแรกของสิงคโปร์ โดยนำไฟฟ้าจากลาวผ่านไทยและมาเลเซียมากถึง 100 เมกะวัตต์ ผ่านการเชื่อมต่อโครงข่ายที่มีอยู่

    “การบูรณาการพลังงานจะช่วยส่งเสริมการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดนในภูมิภาค และทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและตอบสนองความต้องการพลังงานในประเทศ พร้อมๆ กับสร้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศต้นทาง” ดร. ตัน กล่าว “นอกจากนี้ยังเป็นก้าวไปสู่การทำให้วิสัยทัศน์อาเซียน พาวเวอร์ กริด เป็นจริงในวงกว้าง”

    MOU อีกฉบับหนึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม นางเกรซ ฟู และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งลาว นายบุนคำ วอระจิต เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการและปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    MOU ฉบับล่าสุด ซึ่งต่อเนื่องจาก MOU ก่อนหน้านี้ที่ลงนามในปี 2018 จะอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญ และสร้างโอกาสการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับธุรกิจ

    ส่วน MOU เกี่ยวกับความร่วมมือทางดิจิทัลจะครอบคลุมด้านต่างๆ เช่น ข้อมูล รัฐบาลดิจิทัล ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เทคโนโลยีใหม่ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งลงนามโดย ดร.จานิล พุธูเชอรี รัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐด้านการสื่อสารและสารสนเทศ และ ดร.สันติสุข สิมมาลาวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารของลาว

    กระทรวงการต่างประเทศทั้งสองประเทศยังได้จัดให้มีการหารือทวิภาคี ตามบันทึกความเข้าใจซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวิเวียน บาลากริชนัน และรองนายกรัฐมนตรีลาวและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสะเหลิมไซ กมมะสิด

    เวียดนาม GDP ปีนี้โต 8% สูงสุดในอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/economy/vietnam-to-post-highest-gdp-growth-in-southeast-asia-this-year-4517751.html
    เวียดนามพร้อมที่จะเป็น เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีนี้ หลังจากขยายตัว 8.83% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สูงสุดในรอบ 12 ปี เป็นผลจากการเติบโตถึง 13.67% ในไตรมาสสาม

    Le Trung Hieu รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติทั่วไปกล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโต 8% ในปี 2565 แม้สถานะทางเศรษฐกิจจะไม่ดีนักในไตรมาสที่แล้ว

    เฟรเดอริก นิวมานน์ จาก Asian Economic Research แห่ง HSBC Holdings ในฮ่องกง กล่าวว่า เวียดนามเป็นจุดที่สดใสท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มืดมน เพราะประสบกับเงินเฟ้อ และความต้องการของผู้บริโภคในยุโรปที่ลดลงเพราะราคาพลังงานสูงขึ้น และว่า” เวียดนามยังคงเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2566 และหลังจากนั้น”

    ด้านจีนประสบกับปัญหาซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ และนโยบาย zero-Covid ก็ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ แม้จะมีผลต่อเวียดนาม แต่เวียดนามก็ยังมีความในการปรับตัว

    HSBC ประเมินว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.9% ในปีนี้ สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย(Asian Development Bank)คาดการณ์ GDP ปีนี้เวียดนามไว้ที่ 6.5% แม้จะชะลอตัวลงมาที่ ส่วนธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้จะขยายตัว 7.2% สูงสุดในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

    บรูค เทย์เลอร์ ซีอีโอ VinaCapital Asset Management กล่าวว่า แนวโน้มของเวียดนามในระยะยาวยังสดใส เศรษฐกิจในปีนี้คา่ดว่าจะเติบโต 8% และเติบโต 6% ในทศวรรษหน้า”

    อย่างไรก็ตามเวียดนามอาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งราคาพลังงานสูงและต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นเพราะ 55% ของการนำเข้าวัตถุดิบมาจากจีน และสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิคส์แพงขึ้นเพราะขาดแคลนจากสงครามยูเครนกับรัสเซีย และนโยบาย zero-Covid ของจีน ขณะที่การส่งออกจะได้รับผลกระทบจากความต้องการของตลาดยุโรป สหรัฐและจีน ที่ลดลง

    เวียดนามทุ่มงบกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สู้โควิด-19

    เวียดนามใช้เงินเกือบ 79.7 ล้านล้านด่อง (3.32 พันล้านดอลลาร์) เพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสในช่วงสองปีที่ผ่านมา ตามรายงานของรัฐบาลล่าสุด

    ในจำนวนนี้ ประมาณสองในสามหรือมากกว่า 51.22 ล้านล้านด่องใช้ไปในปี 2564 เพียงปีเดียว ตามรายงานที่ส่งไปยังรัฐสภาเพื่อตรวจสอบการจัดการของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยที่กระทรวงสาธารณสุขใช้เงินกว่า 8.8 ล้านล้านด่องจากจาก 51.22 ล้านล้านด่อง เพื่อซื้อวัคซีนโควิด

    ในปี 2564 เวียดนามยังได้รับวัคซีน 95.08 ล้านโดสจากประเทศอื่นหรือองค์กรระหว่างประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือได้รับการสนับสนุนบางส่วน

    สำหรับปี 2565 รัฐบาลยังคงใช้เงินกว่า 36.1 ล้านล้านด่องเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 โดยที่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้จัดสรรไว้สำหรับการจัดหาวัคซีนในปีนี้

    เพื่อประหยัดเงิน ปีที่แล้ว รัฐบาลกลางได้ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในการจัดประชุมและทัศนศึกษา และประหยัดค่าใช้จ่ายปกติอื่นๆ ได้ถึง 10%

    กัมพูชาเปิดใช้ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/national/phnom-penh-sihanoukville-expressway-opens-public
    กระทรวงโยธาธิการและคมนาคมเปิดใช้ทางด่วนระหว่างพนมเปญกับสีหนุวิลล์ระยะทางกว่า 187 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โดยให้ใช้ฟรีตลอดทั้งเดือนตุลาคม

    ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์จะย่นระยะเวลาการเดินทางจากพนมเปญไปสีหนุวิลล์ลงเหลือ 2 ชั่วโมงจาก 5 ชั่วโมง

    บนทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ มีจุดพักรถ 4 จุดและจุดบริการตลอดเส้นทาง แต่ละแห่งมีที่จอดรถ ปั๊มน้ำมัน ห้องน้ำ ร้านอาหาร และพื้นที่ให้บริการอื่นๆ โดยจุดพักรถทั้ง 4 แห่งได้แก่ กำปงสปือ (กิโลเมตรที่ 40 ), กำปงสปือตะวันตก (กม. 63), กัมปงเซลา (กม. 109) และเปรยนบทางตะวันตก (กม. 156)

    ทางด่วนแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่

    ถนนสำหรับการจราจรปกติ สำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทต้องขับเลนขวาของทางด่วนซึ่งเป็นช่องทางสำหรับการจราจรปกติ

    ช่องทางสำหรับแซง ในกรณีที่ต้องการแซง ผู้ขับขี่ต้องให้สัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายอย่างน้อย 5 วินาที แล้วเลี้ยวซ้ายของฟรีเวย์ซึ่งเป็นช่องทางให้แซง เมื่อแซง ผู้ขับขี่จะต้องให้สัญญาณไฟเลี้ยวขวาเพื่อกลับเข้าเลนสำหรับการจราจรปกติ

    ในกรณีที่การจราจรหนาแน่น ผู้ขับขี่สามารถใช้ทั้งสองช่องทางได้ แต่ยานพาหนะขนาดใหญ่ต้องยึดช่องจราจรสำหรับการจราจรปกติ ในกรณีนี้ รถในช่องทางใดที่ขับเร็วกว่าจะไม่ถือว่าแซง และรถที่อยู่ข้างหลังจะต้องใช้ไฟเตือน

    ช่องทางฉุกเฉิน ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นช่องทางทั่วไปสำหรับยานพาหนะทั่วไป ยกเว้นรถดับเพลิง รถพยาบาลในโรงพยาบาล รถตำรวจ ตำรวจทหาร ตำรวจทหาร รถบำรุงรักษาถนนที่ปฏิบัติหน้าที่ และยานพาหนะที่เสียหรือมีอุบัติเหตุจราจรหรือเหตุฉุกเฉิน

    ทางด่วนนี้ จำกัดความเร็วขั้นต่ำและความเร็ว สูงสุด คือ ความเร็ว 60 – 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับรถครอบครัว/รถขนาดเล็ก ความเร็ว 60 – 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับรถบรรทุกหนักไม่มีรถพ่วง รถพ่วง หรือรถจักรยานยนต์ 500 ซีซีขึ้นไป และความเร็วรถ 60 – 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับรถกึ่งพ่วงหรือรถพ่วงท่องเที่ยว

    ในกรณีเข้าโค้งที่ทางเข้าด้านข้างทางด่วน ผู้ขับขี่ต้องจำกัดการขับขี่เพียง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วต้องเพิ่มความเร็วเป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในกรณีที่จำเป็นต้องลดความเร็วลง ก็ยังมี เส้นจราจรที่ตีขวางบนถนน เพื่อเตือนคนขับอีกด้วย

    ทางด่วนนี้มีทางเข้าออก 8 จุด ก่อสร้างโดย PPSHV Expressway Co., Ltd และบริษัทลูกของ China Road Bridge Corporation (CRBC) และมั MINCONSULT SDN. BHD. ตรวจสอบทางเทคนิค ใช้เวลาก่อสร้าง 48 เดือนในวงเงินราว 2 พันล้านดอลลาร์