
จังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร เป็นปราการด่านสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้มวลน้ำไหลเข้าสู่กรุงเทพมหานคร
ถ้าย้อนเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 หลังจากที่น้ำเข้าท่วม จ.ปทุมธานีวันที่ 17 ตุลาคม 2554 อีก 3 วันต่อมา น้ำก็เข้าสู่กรุงเทพมหานครผ่านทาง จ.นนทบุรี และดอนเมือง
ปทุมธานีจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่า หากเกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2554 อีก น้ำก็จะท่วมกรุงเทพฯหรือไม่
วันที 27 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยพับลิก้า พร้อมทีมนักวิชาการที่สนใจและติดตามเรื่องนี้ได้ลงพื้นที่สำรวจแนวคันกั้นน้ำของ จ.ปทุมธานี ฝั่งตะวันตก ด้านที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าหันหน้าขึ้นไปทางภาคเหนือ แนวคันกั้นน้ำนี้จะอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ผ่าน 3 อำเภอของ จ.ปทุมธานี คือ อ.เมือง อ.ลาดหลุมแก้ว และ อ.สามโคก ผ่าน จ.อยุธยา จ.นครปฐม ไปสิ้นสุดที่ จ.สุรรณบุรี
แนวคันกั้นน้ำนี้ มีลักษณะของเป็นถนนยกสูงขึ้นให้รถสามารถวิ่งบนแนวคันได้ โดยแนวคันนี้จะเริ่มบริเวณ ประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ จ.สุพรรณบุรี วางตัวขนานกับคลองพระยาบรรลือ ไปจนเจอกับเม่น้ำเจ้าพระยา และวางตัวขนานกับแม่น้ำเจ้าพระขาฝั่งตะวันตก ผ่าน อ.สามโคก อ.เมือง และ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ไปจนเจอกับ จ.นนทบุรี ที่ อ.บางบัวทอง ไปทางถนนราชพฤกษ์ จนถึงถนนกาญจนาภิเษก
ความสำคัญของแนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันตกของ จ.ปทุมธานีคือ เป็นตัวกั้นน้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นปราการป้องกันน้ำทุ่งที่ไหลบ่าจาก จ.อยุธยา และ จ.สุพรรณบุรี ไม่ให้เข้าสู่ จ.ปทุมธานี หากแนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันตกนี้ไม่สามารถต้านทานน้ำได้ น้ำก็จะไหลเข้าท่วม จ.ปทุมธานีทั้งจังหวัด ลามไปสู่ จ.นนทบุรี จ.นครปฐม และเข้าสู่กรุงเทพฯ ผ่านทางเขตบางพลัด และตลิ่งชัน ในที่สุด

จุดแรกของการสำรวจ เริ่มจากการขับรถไล่มาตั้งแต่ประตูระบายน้ำคลองพระอุดม ไปหยุดสำรวจที่ประตูระบายน้ำคลองแหลมกลาง จ.นนทบุรี พบว่าบริเวณนี้เมื่อปีที่แล้วน้ำไม่ได้ท่วมสูงมาก และประตูน้ำยังคงใช้การได้ แต่ถนน หรือแนวคันกั้นน้ำก่อนที่จะมาถึงประตูระบายน้ำ ยังคงเตี้ยกว่าระดับน้ำที่ท่วมเมื่อปีที่แล้ว ทำให้มีโอกาสที่น้ำจะเข้าท่วมบริเวณนี้ได้ ทางแก้ในเบื้องต้นคือ การนำกระสอบทรายมาเสริม

จุดที่สอง คือประตูน้ำคลองบางตะไนย์ ต.บางคูวัด อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.ปทุมธานี และจ.นนทบุรี พบว่าบริเวณประตูน้ำเมื่อเทียบกับระดับน้ำปีที่แล้วจะพอดีกับบานกั้นน้ำ ซึ่งปกติแล้วบานกั้นน้ำควรมีระยะพ้นน้ำไม่ต่ำกว่า 0.5 เมตร แต่ประตูน้ำนี้ไม่มีระยะพ้นน้ำดังกล่าว ทำให้เมื่อมีคลื่นมา น้ำอาจกระเพื่อมไปสู่บ้านเรือนบริเวณใกล้เคียงได้ โดยความสูงของถนนจากจุดที่แล้ว มาสู่จุดนี้ยังคงต่ำกว่าระดับน้ำท่วมอยู่ ซึ่งสามารถนำกระสอบทรายมาหนุนได้ แต่คันกั้นจะต้องมีความแข็งแรง

จุดที่สาม ขับรถไปตาม ถนนราษฎรบำรุง พบโรงงานสุราบางยี่ขัน ที่กำลังมีการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมล้อมรอบโรงงาน โดยโครงการเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 มีกำหนดการแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ลักษณะเป็นคันกั้นน้ำคอนกรีต ทำสูงจากพื้นดินประมาณ 3 เมตร และจากการสังเกตเสาไฟฟ้าบริเวณใกล้เคียง พบรอยน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร

จุดที่สี่ ขับรถไปตาม ถ.ปทุมธานี สายใน ไปหยุดที่ประตูระบายน้ำคลองบางโพธิ์ใต้ ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำสายใหญ่ที่เชื่อมไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำในบริเวณนี้เมื่อปีที่แล้วสูงประมาณ 3.8 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งการจะป้องกันน้ำในระดับนี้ ไม่ให้ไหลท่วมพื้นที่ใกล้เคียง จะต้องมีกำแพงกั้นน้ำที่สูง
โดยในปีหน้าจะมีงบประมาณก่อสร้างแท่งคอนกรีต ตลอดแนวถนนเพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหล่ท่วมฝั่ง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อนที่จะมีงบประมาณในการปรับปรุงถนนให้สูงขึ้น ซึ่งประชาชนในพื้นที่ระบุว่า หากมีการสร้างกำแพงกั้นน้ำ ประชาชนที่อยู่หน้ากำแพงจะไม่ยอมให้ก่อสร้าง เนื่องจากจะทำให้บ้านของประชาชนถูกน้ำท่วมสูงขึ้น และหากมีการสร้างกำแพงแล้วไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทันที คนก็จะไม่เห็นคุณค่า และมีการทุบกำแพงทิ้ง เพราะการก่อสร้างกำแพงกั้นน้ำไปกีดขวางการจราจร ทำให้บ้านริมถนนมีระดับต่ำกว่าพื้นผิวถนนหลายเมตร

จุดที่ห้า จากคลองบางโพธิ์ใต้ ผ่าน อ.สามโคก ไปตามถนนชลประทาน ตรงพื้นที่ อบต. ท้ายเกาะ เป็นถนนแนวคันกั้นน้ำเลียบคลองพระยาบรรลือไปสู่ จ.อยุธยา พบการเสริมแนวคันกั้นน้ำเป็นถนนลาดยาง สูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 เมตร ทำให้ความสูงของแนวคันมีระดับสูงกว่าระดับน้ำเมื่อปีที่แล้วเล็กน้อย
จุดที่หก ไล่ตามคลองพระยาบรรลือ บริเวณคลองหมอบุญ ซึ่งเป็นจุดที่การก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำใหม่พึ่งแล้วเสร็จ จากการสำรวจแนวคันกั้นน้ำที่ผ่านมาทั้งหมด พบว่าเป็นการยกแนวคันที่มีอยู่แล้วให้สูงขึ้น แต่ในจุดนี้จะเป็นการก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำใหม่ จากที่ไม่เคยมีอยู่เลย การสำรวจพบว่าการก่อสร้างยังคงไม่เรียบร้อย เนื่องจากฐานรากการก่อสร้างของแนวคันกั้นน้ำแคบ ทำให้แนวคันนี้มีลักษณะลาดชัน และมีการทรุดตัวของพื้นผิวเป็นระยะ จากการสอบถามประชาชนในพื้นที่พบว่า การก่อสร้างแนวคันนี้ มีปัญหาเรื่องที่ดินกับเจ้าของพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถสร้างคันกั้นน้ำที่มีฐานกว้างมากได้ เพราะจะไปลุกล้ำที่นาของประชาชน

จุดที่เจ็ด ประตูระบายน้ำสิงหนาท เป็นประตูน้ำที่กั้นระหว่างคลองพระยาบรรลือและแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นประตูที่ช่วยระบายน้ำจากคลองพระยาบรรลือ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และป้องกันไม่ให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลเอ่อท่วมบริเวณนี้ จากการสำรวจพบว่าประตูน้ำอยู่ในสภาพดี เนื่องจากมีการปรับปรุงประตูระบายน้ำให้มีความเรียบร้อยมากขึ้นหลังน้ำท่วม มีการทาสีใหม่ และเก็บสายไฟใกล้เคียงให้เป็นระเบียบมากขึ้น
ความสำคัญของแนวคันกั้นน้ำเลียบคลองพระยาบรรลือคือ เป็นแนวคันหลัก ที่จะป้องกันน้ำทุ่งจาก จ.อยุธยา ไม่ให้ไหลเข้าสู่ จ.ปทุมธานี โดยน้ำที่มาจากอยูธยา จะไหลลงสู่คลองพระยาบรรลือ เพื่อเตรียมสูบลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประตูระบายน้ำสิงหนาทต่อไป

จุดที่แปด เป็นการขับรถเลียบคลองพระยาบรรลือ จากประตูระบายน้ำสิงหนาท ไปทาง อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยา โดยคณะสำรวจมาหยุดที่ถนนชลประทาน เลียบคลองพระยาบรรลือฝั่งใต้ เขต อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยา พบกำลังมีการก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำ ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท ที่ก่อสร้างจากบริเวณประตูระบายน้ำสิงหนาท ตามแนวถนนชลประทานไปจนสุดเขตรอยต่อ จ.สุพรรณบุรี

ในระหว่างการสำรวจ ได้พบกองดิน ที่คาดว่าเป็นแนวกั้นริมคลองที่ทำขึ้นมาตามโครงการ และมีป้ายประกาศของโครงการ มีความเสียหาย วางกลับหัวบนพื้น บริเวณหน้าบ้านของประชาชน เมื่อเข้าไปสำรวจคันดินโดยละเอียดก็พบว่า คันดินดังกล่าว ที่คาดว่าจะสร้างเป็นแนวคันกั้นน้ำเลียบคลองพระยาบรรลือฝั่งใต้ เป็นเพียงดินที่นำมากองไว้ โดยไม่มีการบดอัดทำให้ไม่มีความแข็งแรง ดินมีลักษณะเปื่อยยุ่ย เมื่อขึ้นไปเหยียบ ดินก็จะทรุดตัวและเป็นรอยยุบตามน้ำหนักที่กดทับ

ดังนั้นแนวดินดังกล่าวจึงเป็นเพียงดินที่นำมาถมเรียงกัน เมื่อน้ำมาก็จะเซาะกองดินเหล่านี้ละลายหายไป ไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันน้ำท่วม จึงไม่สามรถเรียกว่าเป็นแนวคันกั้นน้ำได้ ทั้งที่การก่อสร้างตามหลักควรจะเป็นการยกถนนให้สูงขึ้น มีการบดอัดดินให้แข็งแรง
จุดที่เก้า จุดสุดท้ายที่ทำการสำรวจ เป็นแนวคันกั้นน้ำเลียบคลองพระยาบรรลือ ตามแนวคันที่ต่อเนื่องมาจากจุดที่แล้ว ซึ่งบริเวณนี้อยู่ในเขต รอยต่อ 3 จังหวัด คือ อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยา อ.บางเลน จ.นครปฐม และ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดยจุดที่ทำการสำรวจอยู่ใน จ.นครปฐม พบว่ามีการปรับปรุงเพียงผิวจราจร มีการลาดยางพื้นผิวถนนใหม่ แต่ไม่มีการยกคันให้สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับระดับน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้วพบว่าแนวคันนี้ ยังคงต่ำกว่าระดับน้ำท่วมไม่น้อยกว่า 1 เมตร ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า ทางราชการมีแผนจะทำคันกั้นน้ำ แต่ตอนนี้ยังไม่เริ่มทำ เพียงแค่มีการปรับปรุงผิวจราจรเท่านั้น

สรุปการสำรวจแนวคันกั้นน้ำของ จ.ปทุมธานี ฝั่งตะวันตก เริ่มตั้งแต่ อ.บางบัวทอง จ.ปทุมธานี ผ่าน อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยา มาสิ้นสุดที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งมีความสำคัญในการป้องกัน จ.ปทุมธานี ในภาพรวมการก่อสร้างยังไม่มีความคืบหน้า
เมื่อแบ่งแนวคันออกเป็น 3 ช่วง 1. คันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.เมือง ไปจนถึง อ.สามโคก มีคันกั้นน้ำเดิม ที่บางช่วงยังมีระดับต่ำ หากมีน้ำมาก็จะไหลข้ามคันกั้นน้ำ 2. คันกั้นน้ำจาก อ.สามโคก ไปถึงคลองพระยาบรรลือ บริเวณประตูระบายน้ำสิงหนาท มีการยกคันทางสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 เมตร ซึ่งสามารถป้องกันน้ำได้ และช่วงสุดท้าย 3. จากประตูระบายน้ำสิงหนาท ไปถึงประตูระบายพระยาบรรลือ พบมีการเสริมคันคลองเป็นบางช่วง แต่ยังมีสภาพที่ไม่เรียบร้อย ไม่มีการบดอัดให้แข็งแรง และบางช่วงเป็นเพียงการปรับปรุงผิวถนน ไม่ได้ยกคันให้สูงขึ้น
ดังนั้นหากมีน้ำมามากเท่ากับ ปี 2554 ประชาชน จ.ปทุมธานี จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้ประสบภัยอีกครั้ง