ThaiPublica > เกาะกระแส > “อะแลสกาโมเดล” สร้างสวัสดิการ Basic Income จากกองทุนความมั่งคั่ง Alaska Permanent Fund

“อะแลสกาโมเดล” สร้างสวัสดิการ Basic Income จากกองทุนความมั่งคั่ง Alaska Permanent Fund

15 กุมภาพันธ์ 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : Facebook Alaska Permanent Fund Corporation

ระบบสวัสดิการของรัฐในประเทศเสรีนิยมมีได้หลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่มีการอภิปรายกันรุนแรงที่สุดในปัจจุบันคือแนวคิด “รายได้พื้นฐาน” (basic income) หรือบางครั้งเรียกว่า “รายได้พื้นฐานแก่ทุกคน” (universal basic income – UBI) ที่รัฐจ่ายเงินให้แก่ประชาชนทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไขในเรื่องการทำงานหรือระดับรายได้

โครงการนำร่องแนวคิดนี้ กำลังดำเนินการอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น บราซิล แคนาดา และฟินแลนด์ ปี 2017 ฮาวายผ่านกฎหมายของรัฐ ตั้งกลุ่มศึกษาเรื่อง UBI แต่ในปีเดียวกันนี้ คนสวิสลงคะแนนเสียง 77% คัดค้านข้อเสนอที่จะนำ UBI มาใช้ ทุกวันนี้ โครงการ UBI ที่แท้จริง คือ กองทุน The Alaska Permanent Fund ของรัฐอะแลสกา ที่จ่ายเงินปันผลรายปีแก่คนทุกคน ที่มีถิ่นอาศัยถาวรในอะแลสกา

แนวคิด “รายได้พื้นฐาน”

ประเทศตะวันตกมีการถกเถียงกันมากเรื่อง “รายได้พื้นฐาน” เพราะการทำงานดำรงชีวิตในบริบทเดิมๆ ของคนเรากำลังถูกกัดกร่อนลงอย่างรวดเร็ว เครื่องจักรกลกำลังมาแทนที่การคิดเงินซื้อสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เกต หรือการทำธุรกรรมที่ธนาคาร หุ่นยนต์กำลังมาแทนที่แรงงานครั้งใหญ่ ในอนาคตจะมีรถยนต์ไร้คนขับบนถนน เหมือนกับที่มีกับรถไฟไร้คนขับมาหลายปีแล้ว

งานที่ถูกคุกคามจากเทคโนโลยีคือ พนักงานเก็บเงิน นักการตลาด พนักงานดูแลลูกค้า คนงานโรงงาน คนกลางที่ให้บริการการเงิน นักข่าว หรือว่านักฎหมาย ต่อไป การตรวจวินิจฉัยโรคสามารถทำผ่านอินเทอร์เน็ต การศึกษาแบบออนไลน์ที่เปิดกว้างจะมาแทนที่บการสอนแบบดั้งเดิม ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์บอกว่า เศรษฐกิจตกต่ำทำลายงานที่มีลักษณะทำแบบซ้ำซาก (routine job) เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว นายจ้างไม่ต้องการจ้างพนักงานกลับมาทำใหม่ เพราะเทคโนโลยีสามารถมาทำแทนได้แล้ว

หากว่าคนเราไม่มีงานทำ แล้วคนเราจะมีเงินซื้อสินค้าต่างๆ ได้อย่างไร ในแง่นี้ “ระบบทุนนิยม” จึงกลายเป็นระบบที่มีเหตุผล เพราะไม่ได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง อาจเป็นระบบที่เป็นประโยชน์แก่นายทุนรายบุคคล แต่ไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เทคโนโลยีใหม่อาจสร้างงานใหม่ขึ้นมาหรือทำให้เกิดการเติบโต แต่จะเป็นในส่วนของงานในระดับสูง เพราะเหตุนี้ แนวคิด “รายได้พื้นฐาน” จึงกลายเป็นกระแสหลักขึ้นมา

หนังสือ Basic Income อธิบายแนวคิด “รายได้พื้นฐาน” ว่า คือโครงการที่รัฐจ่ายเงินจำนวนหนึ่งอย่างไม่มีเงื่อนไข ให้แก่ประชาชนในประเทศ และเป็นการจ่ายเงินแบบประจำ เช่น รายเดือน บางครั้งแรกแนวคิดนี้ว่า “รายได้พื้นฐานแก่ทุกคน” เพราะเป็นการให้เงินแก่ทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

คำว่า “พื้นฐาน” ของแนวคิดนี้ หมายถึงจำนวนเงินที่คนเราหนึ่งคนสามารถอยู่รอดได้ในสังคม เป้าหมายคือการให้ความมั่งคงทางเศรษฐกิจ (economic security) ไม่ใช่ความมั่นคงแบบสมบูรณ์หรือความมั่งคั่ง เพราะสิ่งหลังนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และก็ไม่พึงประสงค์ด้วย

นักวิเคราะห์บางคนใช้หลักเกณฑ์รายได้พื้นฐาน คือ 1 ใน 4 ของรายได้ต่อคนของ GDP ถ้าอาศัยตัวเลขจากเศรษฐกิจปี 2015 หมายความว่า รายได้พื้นฐานต่อคนต่อเดือนในสหรัฐฯ อยู่ที่ 1,163 ดอลลาร์, อังกฤษที่ 910 ดอลลาร์, สวิสที่ 1,670 ดอลลาร์, บราซิลที่ 180 ดอลลาร์ และอินเดียที่ 33 ดอลลาร์

การสนับสนุนและคัดค้าน

เหตุผลสำคัญของฝ่ายที่เห็นด้วยกับแนวคิดรายได้พื้นฐานคือ การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ Scott Santens ผู้ก่อตั้งโครงการ Economic Security Project กล่าวว่า การให้รายได้พื้นฐานแก่คนอเมริกันเดือนละ 1,000 ดอลลาร์และเด็กคนละ 300 ดอลลาร์ จะขจัดความยากจนให้หมดไปจากสหรัฐฯ

ในบราซิล ระดับความยากจนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 รัฐบาลจ่ายเงินเดือนละ 100 ดอลลาร์กับ 25% ของประชากร โครงการทดลอง “รายได้พื้นฐานทุกคน” ปี 2013-2014 ในอินเดีย คนที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า โครงการ UBI ช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น เพราะสามารถซื้อยา ปรับปรุงห้องสุขา เข้าถึงน้ำสะอาด และมีอาหารกินสะหม่ำเสมอ

ส่วนฝ่ายที่คัดค้านมองว่า แนวคิด UBI ทำให้ความยากจนเพิ่มมากขึ้น เพราะคนยากจนจะขาดโครงการ ที่มีเป้าหมายโดยตรงในการต่อสู้กับความยากจน ความยากจนมีหลายมิติ จึงต้องมีโครงการต่อสู้ความยากจนในหลายรูปแบบ เช่น บัตรปันส่วนอาหาร อนามัยสงเคราะห์ และการช่วยเหลือเด็ก โครงการ UBI คือเอาเงินจากโครงการเหล่านี้ไปให้กับคนทุกคนแทน

ฝ่ายที่คัดค้านยังบอกอีกว่า จากการศึกษาในปี 2018 ระบุว่า การจ่ายเงินให้คนอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่แล้วทุกคนเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ ต้องใช้งบประมาณ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เทียบเท่ากับ 21% ของ GDP สหรัฐฯ หรือ 78% ของรายได้จากการเก็บภาษี หากให้ครัวเรือนละ 2,000 ดอลลาร์ต่อเดือน จะใช้เงินถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ การยกเลิกเงินช่วยเหลือหรือสวัสดิการ จากรัฐบาลกลางและท้องถิ่น จะช่วยประหยัดลงได้แค่ 810 ล้านดอลลาร์

ที่มาภาพ : Alaska Public Media

โครงการ “รายได้พื้นฐาน” ของอะแลสกา

หนังสือ Alaska’s Permanent Fund Dividend เขียนไว้ว่า ในทุกปี คนทุกคนในรัฐอะแลสกา ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือเด็ก จะได้รับเงินปันผลในฐานะที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมในแหล่งสำรองน้ำมันของอะแลสกา ปี 1967 มีการค้นพบแหล่งน้ำมันสำรองใหญ่สุดในอเมริกาเหนือ ในพื้นที่ดินสาธารณะของอะแลสกา ปี 1976 รัฐบาลรัฐลงมติให้แบ่งรายได้จากน้ำมันบางส่วน มาให้กับกองทุนการลงทุนของรัฐชื่อว่า “Alaska Permanent Fund” (APF)

ในปี 1982 รัฐบาลรัฐอะแลสกาลงมติให้จ่ายเงินปันผลรายปีจากกองทุน APF ให้ชาวอะแลสกาทุกคน เรียกเงินปันผลนี้ว่า The Permanent Fund Dividend (PFD) ปี 2008 เงินปันผลนี้สูงถึง 3,269 ดอลลาร์ หมายความว่าครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน จะมีรายได้รวมกัน 16,345 ดอลลาร์ แต่ปี 2020 เงินปันผลของ PFD ลดมาอยู่ที่ 992 ดอลลาร์ ต่ำสุดนับจากปี 2013

เงินปันผล PFD เป็นโครงการของรัฐ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐฯ อะแลสกาเป็นรัฐที่มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากกว่ารัฐอื่น โครงการอยู่คู่ไปกับเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองของอะแลสกา กลายเป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนทางการเงินโดยไม่มีเงื่อนไขแก่ชาวอะแลสกา ที่มีความจำเป็นทางการเงิน ขณะที่รัฐอื่นในสหรัฐฯ ลดสวัสดิการต่างๆ ลง หรือไม่ก็เพิ่มเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/photo?fbid=566767605492726&set=pb.100064784738306.-2207520000.

โมเดล “กองทุนความมั่งคั่ง”

หนังสือ Alaska’s Permanent Fund Dividend กล่าวว่า Alaska Model คือการรวมกองทุน APE กับระบบจ่ายเงินปันผล PFD กองทุน APF คือแหล่งรายได้ของ PFD ทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกัน APF คือสิ่งที่เรียกว่า “กองทุนความมั่งคั่ง” (sovereign wealth fund) ที่เปรียบเหมือนสินทรัพย์ ที่คนในอะแลสกาทุกคนเป็นเจ้าของ ส่วน PFD คือนโยบายผลตอบแทน ในรูปเงินปันผลให้แก่คนอะแลสกาทุกคน

หลายประเทศมี “กองทุนความั่งคั่ง” ของตัวเอง แต่มีเพียงกองทุนความมั่งคั่งของอะแลสกาเท่านั้น ที่จ่ายเงินปันผลเป็นประจำรายปีแก่ประชาชนของรัฐ โมเดล APF บวกกับ PFD คือการเชื่อมโยงนโยบายการบริหารรายได้จากทรัพยากร เข้ากับนโยบายทางสังคมที่ก้าวหน้า

การสร้างเป็นกองทุนความมั่งคั่งหมายความว่า รัฐอะแลสกายังคงได้ประโยชน์จากน้ำมัน แม้ว่าเวลาหนึ่งในอนาคตแหล่งน้ำมันสำรองจะหมดไป เงินปันผลหมายความว่า ในแต่ละปี เงินปันผลจะช่วยบรรเทาความยากลำบากทางเศรษฐกิจแก่ประชนชนทุกคนในรัฐ เป็นหลักประกันว่าประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์เป็นรูปธรรมจากความมั่งคั่งของน้ำมัน

ที่มาภาพ : https://apfc.org
ที่มาภาพ : https://apfc.org/what-we-do/

“อะแลสกาโมเดล” จึงประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) รายได้ที่มาจากทรัพยากร (2) การนำรายได้เข้าสู่กองทุนความมั่งคั่งถาวร และ (3) ผลตอบแทนที่จ่ายเป็นตัวเงินแก่ประชาชนทุกคน ที่มีถิ่นพำนักในอะแลสกา

หนังสือ Alaska’s Permanent Fund Dividend สรุปว่า การให้เหตุผลแก่ “อะแลสกาโมเดล” เป็นเรื่องที่ง่ายๆ แต่มีพลัง ทรัพยากรน้ำมันมีเจ้าของคือคนอะแลสกาทุกคน หากว่าการนำรายได้จากน้ำมันของอะแลสกามาตอบแทนแก่ประชาชน เป็นโครงการที่ได้ผลแล้ว ประเทศอื่นที่มีทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้แต่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเลย ก็สามารถนำ “อะแลสกาโมเดล” ไปปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น ทำอย่างไรจะให้การส่งออก “เพชร” ของแอฟริกาใต้เป็นประโยชน์อย่างรูปธรรมต่อคนแอฟริกาใต้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรเลย เช่น ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ แต่ที่ดินอสังหาริมทรัพย์คือทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาล ทำอย่างไรจะทำให้สิ่งนี้เป็นประโยชน์แก่คนทุกคนในฮ่องกงหรือสิงคโปร์

เอกสารประกอบ
Universal Basic Income (UBI), procon.org
Basic Income, Philippe van Parijs and Yannick Vanderborght, Harvard University Press, 2017.
Alaska’s Permanent Fund Dividend, Edited Karl Widerquist and Michael Howard. Palgrave MacMillan, 2012.