
ลิซ ทรัสส์ ก้าวขึ้นสู่นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักร แทนนายบอริส จอห์นสันที่ลาออกไปก่อนหน้า
ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันของสหราชอาณาจักรคว้าชัยในการแข่งขันชิงผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม(หรือที่มักเรียกว่า Tory ซึ่งเป็นชื่อเดิมของพรรค) จากการประกาศของคณะกรรมการ(1922 Committee)ของพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อวันจันทร์(5 ก.ย.) ในรายงานข่าว Liz Truss becomes UK’s 3rd female premier, replacing Boris Johnson
ทรัสส์ ได้รับคะแนนโหวตจากสมาชิกพรรค 81,326 เสียง ขณะที่ริชี ซูนัก คู่ต่อสู้ของเธอได้รับคะแนนเสียง 60,399 คะแนน
ทรัสจะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศแทนนายบอริส จอห์นสัน และจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักรต่อจากนางมากาเร็ต แธตเชอร์และนางเทเรซา เมย์
ทั้งนางมากาเร็ต แธทเชอร์และนางเทเรซ่า เมย์ ต่างก็มาจากพรรคอนุรักษ์นิยม
ทรัสส์ จะเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อรับการแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ อย่างเป็นทางการในวันนี้
News18 รายงานว่า ลิซ ทรัสส์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 56 ของสหราชอาณาจักร เคยเป็นอดีตสมาชิกพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย
ทรัสส์เป็นส.ส.จากเขตเลือกตั้งทางตะวันตกเฉียงใต้ของนอร์โฟล์คและเป็นส.ส.มาตั้งแต่ปี 2010 ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน และยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและความเท่าเทียม

วัยเรียนชอบสวมบทแธตเชอร์
เมื่อตอนที่เธอยังเป็นนักเรียน ทรัสส์ ชอบสวมบทบาทเป็นมากาเร็ต แธตเชอร์ ซึ่ง News18 ตั้งคำถามว่า ทรัสส์จะสามารถเป็นแบบแธตเชอร์ในการทำหน้าที่ ณ บ้านที่ 10 บนถนนดาวนิ่งได้หรือไม่
ทรัสส์ในวัย 47 ปีเกิดที่อ็อกซ์ฟอร์ด พ่อของเธอเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ และแม่ของเธอเป็นพยาบาล ทรัสส์บอกว่าพ่อแม่ของเธอจัดอยู่ในกลุ่มฝ่ายซ้าย ครอบครัวของเธอไม่ได้มีส่วนร่วมของการเมืองอย่างแข็งขันนัก แต่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรีมากาเร็ต แธตเชอร์อนุญาตให้ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่กองทัพอากาศ Greenham Common ทางตะวันตกของลอนดอน
ทรัสส์รับบทเป็นมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ในการเลือกตั้งจำลองที่โรงเรียนแต่ก็แพ้ แต่จำได้ว่าหัวใจของเธอพองโตด้วยความปลื้มปริ่มเมื่อได้รับบทแธตเชอร์ ทั้งนี้ทรัสไปโรงเรียนที่กลาสโกว์และลีดส์
จากนั้นทรัสส์เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ และร่วมกิจกรรมด้านการเมืองของนักศึกษาอย่างแข็งขัน
ทรัสส์แต่งงานในปี 2000 กับฮิวจ์ โอเลียรี่ นักบัญชี ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ The Telegraph ทรัสส์บอกว่า เขาเป็นคนที่นิ่งๆ แต่เป็นสมาชิกที่แข็งขันของพรรคอนุรักษ์นิยมในระดับท้องถิ่น
ทรัส์มีลูกสาวที่อยู่ในวัยรุ่นสองคน คนโตชื่อฟรานเซสอายุ 16 ปี คนที่สองชื่อ ลิเบอร์ตี้ อายุ 13 ปี ซึ่งทั้งคู่เข้าร่วมการรณรงค์เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้เป็นแม่
ความทะเยอทะยานทางการเมืองของลิซ ทรัสส์ ปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดยเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย และมีอยู่ช่วงหนึ่งเธอบอกว่าจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในปี 1994
ทรัสส์หันมาเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมขณะเรียนอยู่ที่อ็อกซ์ฟอร์ด และลงแข่งขันการเลือกตั้งสองครั้งในปี 2001 และ 2005 ในเฮมส์
เวิร์ธและคาลเดอร์ แวลเล่ย์ ตามลำดับ แต่ก็แพ้เลือกตั้ง
เธอชนะการเลือกตั้งครั้งแรกจากเมืองกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอน ในปี 2006 ซึ่งเธอได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภา ในปี 2010 นายเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและอดีตนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ต้องการให้ทรัสส์ติดอยู่ในรายชื่อผู้สมัครที่มีลำดับความสำคัญต้นๆหรือ A List และทรัสส์ก็คว้าชัยการเลือกตั้งในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของนอร์โฟล์ค
สองปีหลังจากที่เธอเป็น ส.ส. ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในปี 2012 และในปี 2014 ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม
สัญญาอะไรไว้
ทรัสส์สัญญาว่าจะไม่ใช้นโยบายภาษีใหม่เพิ่ม และจะยกเลิกแผนการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล ซึ่งเดิมจะเพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 25% ในปี 2023 รวมทั้งจะส่งเสริมนวัตกรรมและกิจการด้วยการกำหนดโซนภาษีอัตราต่ำและโซนการกำกับดูแลที่ผ่อนปรน นอกจากนี้จะระงับการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมหรือที่รู้จักในชื่อ Green Levy ซึ่งสหราชอาณาจักรใช้เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายสำหรับโครงการเพื่อสังคมและโครงการสีเขียว

สื่อต่างประเทศเรียก Iron Weathercock
บรรดาผู้นำระดับโลกได้ส่งคำแสดงความยินดีไปยังลิซ ทรัสส์ แต่ในสื่อต่างประเทศก็มีคำพูดที่เย้ยหยันด้วยเช่นกัน จากรายงาน‘The Iron Weathercock’: World reacts to Truss winของบีบีซี
ในฝรั่งเศส เธอถูกขนานนามว่าไม่ใช่ไอรอน เลดี้(Iron Lady)หรือหญิงเหล็ก ซึ่งเคยเป็นสมญานามของนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ของสหราชอาณาจักร แต่เป็น Iron Weathercock คนที่กลับไปกลับมา (Iron Weathercock คือเครื่องแสดงทางลม ซึ่งติดอยู่บนยอดหลังคาโดยมากทำเป็นรูปไก่ เมื่อเปรียบกับคนที่จัดว่าบุคคลที่เปลี่ยนแนวคิดกลับไปกลับมา)
โดยอ้างถึงการเปลี่ยนความคิดของทรัสส์ กับการที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป เดิมก่อนลงประชามติในปี 2016 ทรัสส์อยู่ในฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ต่อหรือ Remain โดยบอกว่า Brexit จะเป็น ‘โศกนาฏกรรมสามประการ’ สำหรับสหราชอาณาจักร แต่ทรัสส์กลับมาสนับสนุนให้แยกตัวหลังจากนั้น
ด้านสื่อ Corriere della Sera ของอิตาลีเปรียบเทียบทรัสส์กับแธตเชอร์ แต่เปรียบเปรยสุนทรพจน์ของผู้นำคนใหม่ว่า ทื่อเหมือนหุ่นยนต์มากกว่า
ผู้นำคนแรกที่แสดงความยินดีต่อทรัสส์คือโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
“ในช่วงเวลาที่ท้าทายเหล่านี้” นายกรัฐมนตรีเยอรมนีใช้ภาษาอังกฤษ ลอนดอนและเบอร์ลินจะร่วมมือกันในฐานะ “หุ้นส่วนและเพื่อน”
แต่เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลีเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปแสดงความยินดีด้วยถ้อยคำที่อบอุ่นกว่า แต่ก็ไม่วายเอ่ยถึงข้อกำหนดที่เกี่ยวกับไอร์แลนด์เหนืออันเนื่องจาก Brexit โดยทวีตว่า “หวังว่าจะมีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ ในแง่ของข้อตกลงของเรา”
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียส่งความปราถนาดีมายังลิซ ทรัสส์ ส่วน มาแตอุช มอราวีแยตสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวว่า “พอใจเป็นอย่างมาก” กับคำมั่นของเธอที่มีต่อยูเครน
ส่วนปฏิกิริยาจากรัสเซียเป็นไปตามคาด คือ ออกแนวเชิงลบมากขึ้น โดยพิธีกร NTV ของก๊าซพรอมกล่าวว่า การเลือกทรัสส์เป็น “หายนะ” สำหรับสหราชอาณาจักร
กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สนใจทรัสส์เสียเลย ยังไม่ได้การเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการ
ในเดือนกุมภาพันธ์นายเซอร์เก้ ราลอฟนักการทูตระดับสูงของมอสโกฉายภาพการพบกับเธอว่าเป็นการ “การสนทนาระหว่างคนหูหนวกกับคนใบ้”
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของทรัสส์ได้รับการต้อนรับจากบางส่วนในรัสเซีย นายเลโอนิด โวลคอฟ หัวหน้าคณะทำงานของนายอเล็กซี นาวาลนี หัวหน้าฝ่ายค้านที่ถูกจำคุกกล่าวว่า “เป็นข่าวที่ดีเยี่ยม” โดยทวีตในภาษารัสเซียว่า “ในเครมลิน พวกเขากำลังเปิดแชมเปญตอนที่จอห์นสันลาออก แต่ไม่มีเหตุใดที่จะบอกได้ว่าทรัสส์จะอ่อนลง”
ประเทศจีนยังไม่มีการตอบสนองอย่างเป็นทางการ แต่นักข่าวจีนที่มีชื่อเสียงเสนอมุมมองในเชิงลบในทำนองเดียวกันต่ออนาคตของสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของทรัสส์
หู สีจิ้น จาก Global Timesซึ่งเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทวีตว่า “ทรัสน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ธรรมดาที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษ”
“ทรัสต้องการที่จะเป็น “สตรีเหล็กคนใหม่” ของอังกฤษ แต่เธออาจไม่โชคดีเหมือนแธตเชอร์”