ThaiPublica > เกาะกระแส > โค้งสุดท้าย เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. “คะแนนเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ปัจจัย”

โค้งสุดท้าย เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. “คะแนนเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ปัจจัย”

21 พฤษภาคม 2022


3 นักรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ ออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง 65-70% กลยุทธ์โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯเทคะแนนให้ผู้สมัครเบอร์เดียว ฝ่ายเดียวกันในเชิงยุทธ์ศาสตร์ ไม่ใช่ปัจจัย “ไม่มีเซอร์ไพรส์” คนกรุงฯ ไม่เลือกผู้สมัครฝั่งรัฐบาล

วิเคราะห์โค้งสุดท้ายเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ก่อนคนกรุงเทพฯหย่อนบัตรคูหาเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค 2565 หลังจากไม่ได้ไปเลือกนาน 9 ปี

วัดใจคนกรุงเทพฯ อะไรคือปัจจัยในการลงคะแนนเสียงในการการเลือกตั้งครั้งนี้และจะเป็นการเทคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเทคะแนนให้ “ระหว่างฝ่ายเสรีนิยม” และ “ฝ่ายอนุรักษ์” หรือบางคนอาจจะแยกเป็นฝ่ายสนับสนุน รัฐบาล และฝ่ายไม่สนับสนุนรัฐบาล หรือการตัดสินใจลงคะแนนเสียงครั้งนี้เป็นเรื่องความชมชอบเฉพาะคน

จากการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) รายงานจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พบว่า มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4,402,944 คน โดยคาดว่าในจำนวนนี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 65-75 %

ไม่มีคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์

การตัดสินใจออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)บอกว่าการลงคะแนนในเชิงยุทธศาสตร์จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้นการณรงค์ที่บอกว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” หรือ ความพยายามในการเทคะแนนให้ฝ่ายเดียวกันที่ทำได้ในการเลือกตั้งในสนามใหญ่ที่ผ่านมา แต่จะไม่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้

หากแบ่งผู้สมัครผู้ว่า กทม.ในเชิงยุทธศาสตร์ออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมประกอบด้วยนายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 3,นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4, พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 6 และนางสาวรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 7

ฝ่ายเสรีนิยมประกอบไปด้วยผู้สมัคร 3 คนคือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล เบอร์ 1 , นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8 ผู้สมัครอิสระ และน.ต.ศิธา ทิวารี เบอร์ 11 พรรคไทยสร้างไทย

อาจารย์สมชัยชี้ว่า ในกลุ่มผู้สมัครที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่หลายคนบอกว่า กลยุทธโค้งสุดท้ายคือ การเทคะแนนให้ใครคนใดคนหนึ่งในเชิงยุทธศาสตร์ ปรากฏการณ์จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะผู้สมัครในกลุ่มนี้แต่ละคนจะไม่ยอมแพ้หรือเทคะแนน เพราะฉะนั้นผู้ที่ลงคะแนนให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะแตกออกเป็นกลุ่มๆไป ไม่รวมเป็นก้อนเดียวกัน

ส่วนการคาดการณืการลงคะแนนเสียงนายสมชัย มองว่าหากแยกออกมาเป็น 2 ฝ่ายแบ่งเป็น ฝ่ายเสรีนิยม 60 และฝ่ายอนุรักษ์นิยม 40 โดยฝ่ายเสรีนิยมมีประมาณ 60 % มีผู้สมัครทั้งหมด 3 คน ซึ่งผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งที่ 1 ของฝ่ายนี้ น่าจะอยู่ที่ 40 % โดยจะชนะเกินล้านคะแนนขึ้นไป ขณะที่ผู้ชนะที่ 2 น่าจะลดลงมาไม่มาก คือทะลุล้านคะแนนเช่นกัน ส่วนที่สามของฝ่ายนี้คะแนนน่าจะอยู่ที่หลักแสนคะแนน

ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหากประเมินคะแนนภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 40 % แต่มีผู้สมัครฝ่ายนี้ทั้งหมด 4 คนทำให้คะแนนจะกระจายออกไปยังผู้สมัครทั้ง 4 เบอร์ แต่ผู้ชนะคะแนนที่ 1 ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม จะได้น้อยกว่าผู้ชนะคะแนนที่หนึ่งของฝ่ายเสรีนิยมประมาณหนึ่งเท่าตัว ซึ่งหมายถึงหากผู้ชนะที่ 1 ของฝ่ายเสรีนิยมได้ ล้านคะแนน ที่หนึ่งของฝ่ายนี้จะได้ประมาณ 5 แสนคน ซึ่งน้อยกว่าผู้ชนะที่ 2 ของฝ่ายเสรีนิยมเช่นกัน

นายสมชัยสรุปว่า กลยุทธ์เทคะแนนให้ฝ่ายเดียวกันไม่เกิดขึ้น และครั้งนี้คนกทม.น่าจะออกมาเลือกตั้งคาดว่า 70% ทำให้ผู้ชนะเลือกตั้ง ที่ ลำดับที่ 1 ลำดับที่ 2 และลำดับที่สามคะแนนรวมกันแล้วน่าจะเกินล้านคะแนน

“ไม่มีเซอร์ไพรส์” คนกรุงฯ ไม่เลือกผู้สมัครฝั่งรัฐบาล

ขณะที่ ดร.สุขุม นวลสกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิเคราะห์ว่าคนกรุงเทพตัดสินใจเลือกผู้สมัครแล้ว ตั้งแต่ 3 วันก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะทำให้ กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ ที่ออกมายืนชูป้ายไฟเชียร์ผู้สมัครของตัวเองอาจจะผิดหวังเพราะไม่สามารถจูงใจให้ตัดสินใจลงคะแนนได้ หรือไม่สามารถชี้นำได้แล้ว

การตัดสินใจเลือกของคนกรุงเทพฯในครั้งนี้ อยู่ที่นโยบาย ผลงาน และความเอาจริงเอาจังของผู้สมัครรับเลือกตั้งและที่สำคัญที่สุดคือ คนกรุงเทพฯตัดสินเลือก “ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล” หรือง่ายๆไม่เลือกสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลนั่งเอง

ดร.สุขุม มองว่าการตัดสินใจลงคะแนนเลือกผู้ว่าครั้งนี้จะเป็นคะแนนโดยทั่วไป โดยผู้ลงคะแนน ตัดสินใจจากนโยบายและบุคคคล ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่า จะเลือกฝั่งไม่สนับสนุนรัฐบาลเนื่องจากที่ผ่านมา ผลงานของรัฐบาลไม่เป็นที่ถูกใจ และบทบาทของรัฐบาลกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้เป็นที่ประทับใจคนกรุงเทพ และเห็นว่ารัฐบาลยังมองคนเห็นต่างเป็นศัตรู

ดังนั้น ดร.สุขุม จึงสรุปว่า คนกรุงเทพจะเทคะแนนให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล โดยเชื่อว่าผู้เลือกตั้งที่โพลล์ให้คะแนนนำอยู่ในขณะนี้น่าจะไม่มีเซอร์ไพรส์ เนื่องจากประกาศตัวก่อน และมีนโยบายที่ชัดเจนซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาคนกรุงเทพฯ ขณะที่ผู้เลือกตั้งในฝั่งรัฐบาลอาจจะมาเป็นที่สอง เพราะอาจจะมีคนชอบลีลา การหาเสียงที่ชัดเจนตรงไปตรงมา

กลุ่ม Gen Y ชี้ขาดผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ

หากแบ่งกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ First Time Voter มีอยู่ประมาณ 16% หรือ 698,660 คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 7 แสนคนนี้ จะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกหลังจากมีการรัฐประหาร

ถัดมาคือกลุ่มอายุ 28-40 ปี เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คิดเป็น 23% โดยประมาณ หรือ 1,013,270 คน

ส่วนกลุ่มอายุ 41-50 ปี มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ประมาณ 19% หรือ 871,272 คน ซึ่งผู้สมัครที่มีอายุอยู่ในช่วงนี้เช่นกัน ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล อายุ 44 ปี, นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ อายุ 44 ปี เป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ อายุ 49 ปี

ขยับไปที่กลุ่มอายุ 51-60 ปี มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ประมาณ 18% หรือ 826,760 คน ใกล้เคียงกับกลุ่มก่อนหน้า โดยแคนดิเดตที่มีอายุอยู่ในช่วงนี้ เช่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ อายุ 55 ปี และ นายศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย อายุ 57 ปี
กลุ่มอายุ 61-70 ปี มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ประมาณ 14% หรือ 611,232 คน ส่วนแคนดิเดตที่มีอายุอยู่ในช่วงนี้ เช่น นางรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ อายุ 68 ปี

กลุ่มอายุ 71-80 ปี มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ประมาณ 7% หรือ 309,315 คน ส่วนแคนดิเดตที่มีอายุอยู่ในช่วงนี้ เช่น นายอัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ อายุ 71 ปี และเป็นอดีตผู้ว่าฯ กทม. สมัยล่าสุดจากการแต่งตั้งโดย คสช.

และสุดท้าย กลุ่มอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด ประมาณ 3% หรือ 151,014 คน

ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่าประชากรทั้งหมดที่มีสิทธิเลือกตั้งในกทม.ราว 4,411,768 คน ความน่าสนใจคือคนส่วนใหญ่ในกทม.เป็นคน Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 28 – 40 ปี และ Baby Boomer วัย 60 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวนใกล้เคียงกันอย่างมาก

ที่ผ่านมา ได้ โพล “สถาบันพระปกเกล้า” พบว่า คนกรุงเทพฯโหวตให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นอันดับหนึ่งโดยฐานคะแนนที่เลือก ว่า มีอยู่ 4 แหล่ง คือ

กลุ่มที่ 1 จากฐานพรรคเพื่อไทยเดิม
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่เคยเลือกพรรคอนาคตใหม่ เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 แต่เปลี่ยนมาเลือกนายชัชชาติ
กลุ่ม 3 มาจากกลุ่มที่เคยเลือกพรรคอื่นๆ แต่ไม่มีพรรคหลัก
กลุ่ม 4 คนที่เคยเลือกสองพรรคเดิม คือ ปชป. และพรรคพลังประชารัฐ แต่มาเลือกชัชชาติ

กลุ่มที่ 1 และ 2 จะสวิงเล็กน้อยในระหว่างขั้วการเมืองเดียวกัน แต่กลุ่มที่ 3 หากมีประเด็นการเมือง อาจสวิงในการเลือกตั้งบ้าง แต่ กลุ่มที่ 4 หากมีข่าวที่กระทบกระเทือนความรู้สึกของเขา หรือมีข้อมูลใหม่ เขาก็พร้อมจะเปลี่ยนไปเลือกอีกขั้วได้ทันที

อย่างไรก็ตามดร.สติธร ตัวชี้ขาดในการตัดสินผลคะแนนเลือกตั้งในครั้งนี้ น่าจะอยู่ที่ กลุ่ม Gen Y ที่อายุ 28-40 ปี หรือกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งเดิมเป็นฐานคะแนนของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เริ่มหันมาสนใจนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล เบอร์ 1 มากขึ้นทำให้การแย่งตัดคะแนนระหว่างนายชัชชาติ และนายวิโรจน์ มีคะแนนที่สูสีกัน ทำให้คะแนนนายชัชชาติ ลดลงจากเดิม 28 % อาจจะเหลือ 25 % ขณะที่ นายวิโรจน์ เพิ่มขึ้นมาเป็น 23% ทำให้โอกาสของผู้สมัครเลือกตั้งของอีกฝั่งหนึ่งมีมากขึ้น ดังนั้นกลุ่ม Gen Y จึงมีโอกาสในการพลิกเกมการเลือกตั้งครั้งนี้

กลยุทธ์เทคะแนนโอกาส “พลิกเกม” ผู้ว่าฯ

ดร.สติธร มองว่าแม้กลยุทธ์ในการหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายที่เริ่มมีการรวมกัน 4 เบอร์แล้วบอกว่าไม่เลือกเราเขามาแน่ จะใช้ไม่ได้ในช่วงที่ผ่านมา แต่กลยุทธ์การเทคะแนนในฝั่งนี้ ซึ่งมีฐานคะแนนในกลุ่มก้อนเดียวกันหากมีการเทคะแนนอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอจะทำให้มีโอกาสชนะอีกฝั่งได้ โดยฐานคะแนนในฝั่งนึ้ คือพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ กลุ่ม กปปส. และพันธมิตร

สำหรับผู้สมัครในฝั่งนี้ ประกอบด้วยนายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 3, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4, พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 6 และนางสาวรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 7

ดร.สติธรบอกว่า ถ้าโค้งสุดท้ายฝั่งรัฐบาลตัดสินใจเทคะแนน โดยเลือกอาจจะเลือกระหว่างนายอัศวิน และนายสุชัชวีร์ ซึ่งผลคะแนนตามโพลนายอัศวิน 16 % นายสุชัชวีร์ 15 % ซึ่งหากเทคะแนนรวมกันสามารถชนะ ฝั่งนายชัชชาติ เนื่องจากมีกลุ่ม Gen Y ที่หันไปปลงคะแนนให้นายวิโรจน์ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การชี้ขาดคะแนนเลือกตั้งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการทะคะแนนของกลุ่มนี้ แต่แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นเรื่องง่ายเพราะเชื่อว่า หากเลือกเทคะแนนให้นายสุชัชวีร์ กลุ่มของนายอัศวิน คงไม่ยอม

ทั้งนี้การวิเคราะห์ผลคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดคงต้องจับตาดูการหย่อนบัตรเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯในวันที่ 22 พ.ค 2565 ว่าจะตัดสินใจเลือกใคร