ThaiPublica > คอลัมน์ > พลิกโฉมสุขภาพและการแพทย์ไทย สู่อุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก

พลิกโฉมสุขภาพและการแพทย์ไทย สู่อุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก

26 มกราคม 2021


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

จากวิกฤติของโรคระบาดโควิด-19 ประเทศไทยได้แสดงให้ประชาคมโลกเห็นเป็นประจักษ์ว่า ระบบการแพทย์และสาธารณสุขนั้น เป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศ พร้อมทั้งมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นสู่ “ศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค”

ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ของไทยในโลกหลังโควิด จะมุ่งเน้นการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตและการใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับประเทศ พร้อมทั้งการปลดล็อคข้อจำกัดและกฎระเบียบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และการพัฒนายกระดับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเก่งเรื่องระบบบริการทางการแพทย์ (Medical Service) แต่ให้น้ำหนักเรื่องของการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ (Medical Tech)ยังไม่มาก การพลิกโฉมอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ของไทย จึงมีเป้าหมายให้ไทยเป็น “Global Medical Hub” โดยมีประเด็นมุ่งเน้น 8 ประเด็นได้แก่

1. การรักษาเฉพาะบุคคล ( Personalized Medicine) การดูแลรักษาที่ได้ประสิทธิภาพและแม่นยำโดยเทคโนโลยีจีโนม

2. การพัฒนายาและวัคซีน (Vaccines and New Medicines) รวมถึงการบริหาร Medical Supply Chain และการส่งเสริมผู้ผลิตที่มีคุณภาพ

3. อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ (Medical Devices) เน้นการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ รวมถึง Assistive Devices ในยุคชีวิตวิถีใหม่

4. ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ติดต่อกันได้แบบ Real-time ลดความแออัดของโรงพยาบาล

5. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิจัยทางคลินิก (Clinical Research Infrastructure) ผลักดันให้เกิดการวิจัยทางคลินิก ผลิตและคิดค้นยาและวัคซีนใหม่ๆ

6. สมุนไพรและการแพทย์พื้นบ้าน (Herbal and Traditional Medicine) พัฒนาตำรับและการใช้สมุนไพรไทย บรรจุสมุนไพรไทยไว้ในหลักสูตรทางการแพทย์และให้ความสำคัญการวิจัยทางคลินิก

7. โภชนเภสัช (Neutraceuticals) คิดค้น ผลิตอาหารที่มีสรรพคุณอาหารด้านการป้องกัน รักษาโรค ชะลอวัย รวมถึงอาหารสำหรับผู้สูงวัย

8. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) เชื่อมต่อการบริการทางการแพทย์กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย

ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานทางด้านการแพทย์และสุขภาพได้อย่างครบวงจร จากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แปลงงานวิจัยและศักยภาพทางด้านสุขภาพและการแพทย์ของไทยไปเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อน “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ในโลกหลังโควิด

…และที่สำคัญยังเป็นหลักประกันถึงความมั่นคงทางสุขภาพและการแพทย์ของประชาชนคนไทยในโลกที่เราอาจจะต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ต่อไป พร้อมๆ กับการสร้างความพร้อมในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในอนาคต