ThaiPublica > เกาะกระแส > EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 3)

EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 3)

12 ธันวาคม 2020


ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตวุฒิสภา และในฐานะผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงมาตลอดชีวิต ได้ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Maritime Studies and Marine Innovation: Towards a Sustainable Ocean” จัดโดยวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (EU-IUU, pitfall for sustainable fisheries development: Thailand case)”ด้วยปาฐกถาพิเศษมีรายละเอียดที่น่าสนใจ “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอโดยแบ่งเป็น 4 ตอน

ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ต่อจากตอนที่ 2 ได้นำเสนอรายละเอียดที่ปรากฏในเอกสารคำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการยุโรป สรุปสาเหตุที่ทำให้ คณะกรรมาธิการยุโรปให้ “ใบเหลือง” ประเทศไทย ในตอนนี้จะกล่าวถึงเรื่องใดบ้างที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

5.เรื่องใดบ้างที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

  • จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (National Plan of Action to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: NPOA-IUU) ที่สอดคล้องกับบทบัญญัติ ข้อกำหนด มาตรการ และจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการประมงทั้งในระดับภูมิภาค และสากล
  • ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และการจัดการด้านการประมงของไทยให้สอดคล้องกับกฎหมายสากล มาตรการ และข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีทั้งในระดับภูมิภาค และสากล และนำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (National Plan of Action to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: NPOA-IUU) มาบรรจุไว้ในพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่
  • ปรับปรุงแผนการและการดำเนินการด้านการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง (Monitoring Control and Surveillance Center: MCS) ให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับข้อกำหนดของ FAOs IPOA-IUU ทั้งในด้านการจดทะเบียนเรือ การออกใบอนุญาตการทำประมง การพัฒนาระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) การให้เรือประมงจัดทำสมุดบันทึกการทำประมง หรือสมุดปูมเรือ (fishing logbook) และปรับปรุงกระบวนการการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (catch certification)
  • ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องมาตรฐานทางการค้าระหว่างประเทศ และมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบ
  • พัฒนาความร่วมมือกับรัฐอื่น ๆ โดยเฉพาะรัฐชายฝั่งที่เรือประมงที่ติดธงไทยเข้าทำการประมง
  • บังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการภายในประเทศ รวมทั้งกฎหมาย ข้อตกลง มาตรการสากลระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ
เรือประมงไทย จ.สมุทรสาคร

6.รัฐบาลไทยตอบสนองการให้ “ใบเหลือง” IUU Fishing ของสหภาพยุโรปอย่างไร

หลังรับทราบการประกาศแจ้งเตือนฯ จากคณะกรรมาธิการยุโรป รัฐบาล (คสช.) ได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหา ออกประกาศ คำสั่ง กฎระเบียบ กฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนมากมาบังคับใช้อย่างเด็ดขาดและในทันที โดยขาดมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น สร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประมงในทุกระดับ และไม่สนใจรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในประเด็นหลัก เช่น

  • ใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2558 ออกประกาศ คำสั่ง คสช. และหัวหน้า คสช. หลายฉบับ บังคับใช้กับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงอย่างเร่งรีบ ซึ่งต่อมามีการออกประกาศ คำสั่ง ทั้งเพิ่มเติม และยกเลิกฉบับเดิมที่ประกาศใช้แล้วหลายฉบับ สะท้อนถึงการขาดการศึกษาถึงข้อมูล ข้อเท็จจริง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สร้างความเดือดร้อน และสับสนให้ประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ
  • ใช้อำนาจฝ่ายบริหารในการตราพระราชบัญญัติประมงฉบับใหม่ แต่เมื่อมีผลใช้บังคับได้เพียง 2 เดือนเศษ ก็ถูกยกเลิกโดย “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558” ที่ตราขึ้นมาบังคับใช้อย่างเร่งด่วนและทันที (ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา) โดยการคัดลอกกฎหมายประมงบางมาตราของประเทศอื่น มีการเพิ่มบทลงโทษโดยเฉพาะอัตราค่าปรับที่สูงมากโดยไม่คำนึงถึงบริบททางด้านเศรษฐกิจ สังคมของประเทศไทย และไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งมีการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการประมงมาบังคับใช้มากกว่า 100 ฉบับ
  • จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ.” เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจ อยู่ภายใต้การบัญชาการของผู้บัญชาการทหารเรือ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมาย ควบคุม สั่งการ เสนอแผนงาน มาตรการ กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ บังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวด มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ประกอบการประมงนับหมื่นคดี
  • จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (National Plan of Action to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: NPOA-IUU) อย่างเร่งด่วน โดยมีการนำบทบัญญัติใน NPOA ของประเทศอื่น (Philippines) มาบรรจุไว้ในแผนฯ
  • ปรับปรุงและดำเนินการด้านการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง (Monitoring Control and Surveillance Center: MCS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุมกองเรือประมงไทยและเรือประมงของประเทศที่สามที่เข้ามาขนถ่ายสินค้าในท่าเทียบเรือไทยให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของแผนปฏิบัติการสากลฯ (IPOA-IUU)
  • ให้สัตยาบันการเข้าร่วมเป็นภาคีของความตกลง เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการมวลปลาที่ย้ายถิ่นอยู่ระหว่างเขตทางทะเลและมวลปลาที่ย้ายถิ่นอยู่เสมอ (Agreement for the Implementation of the Provisions of the United Nations Convention on the Law of the Sea of 10 December 1982 Relating to the Conservation and Management of Straddling Fish Stocks and Highly Migratory Fish Stocks) และเข้าเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของ FAO (FAO Agreement on Port State Measures to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) เป็นต้น

นอกจากนี้ จากการตรวจประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของไทยในครั้งแรก คณะผู้แทนกรรมาธิการยุโรปด้านการประมงและทะเล (Directorate-General for Maritime Affairs and Fisheries: DG-MARE) ได้นำประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้ประเทศไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานประมงไปพร้อมกับการแก้ไขการทำประมง IUU รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาระว่างประเทศด้านแรงงานประมง ทั้ง ๆ ที่เจตนารมณ์ของมาตรการในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ที่ FAO กำหนด คือ การอนุรักษ์ การจัดการ และการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำ (fish stock) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดความยั่งยืน และเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคต ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS 1982) ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงาน หรือการค้ามนุษย์ ทำให้การแก้ไขปัญหาเพื่อ “ปลดใบเหลือง” ของประเทศไทยมีความซับซ้อน ยุ่งยาก และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหามากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าว โดยเป็นประเทศแรกในเอเซียที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ C188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล (International Labour Organization C188 Working on Fishing Convention) ในขณะที่ประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป และประเทศที่ทำการประมงในเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ก็ยังมิได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้

อ่านต่อตอนจบ…ผลกระทบต่อประเทศไทยจากการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing)