ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > รักษ์วาฬรักษ์โลก ทางลัดแก้ปัญหาโลกร้อน เมื่อ”วาฬ”ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ 25 เท่า

รักษ์วาฬรักษ์โลก ทางลัดแก้ปัญหาโลกร้อน เมื่อ”วาฬ”ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ 25 เท่า

17 ธันวาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www.weforum.org/agenda/2019/11/whales-carbon-capture-climate-change/?utm_source=sfmc&utm_medium=email&utm_campaign=2707520_Agenda_weekly-6December2019-20191204_094335&utm_term=&emailType=Newsletter

เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Environment programme — UNEP)ให้ข้อมูลว่าความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกในปัจจุบันได้ก้าวข้ามจุดที่ไม่สามารถกลับไปได้แล้ว ซึ่งอาจทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เลวร้ายอยู่แล้วแย่ลงจนถึงขั้นที่ไม่สามารถจินตนาการได้ ทั้งนี้ก๊าซตัวการหลักที่มีความเข้มข้นสูงที่สุดและก่อให้เกิดการสะท้อนกลับของรังสีเป็นอันดับหนึ่งถึง 43% คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ปัญหานี้ทำให้ทั้งโลกต้องกลับมาพิจารณาข้อตกลงปารีส (Paris Agreement 2015) อีกครั้ง และหาทางรับมือกับปัญหานี้ในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม

วาฬ ทางลัดของการแก้ปัญหาโลกร้อน?

ในความเข้าใจเดิมมักเชื่อว่าการที่จะลดความเข้มข้นของคาร์บอนนั้นนอกจะทำโดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว การปลูกต้นไม้ก็มีส่วนช่วยในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ แต่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์พบว่า มหาสมุทรนั้นเป็นแหล่งที่กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าบรรยากาศถึง 50 เท่า ตามข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency — IAEA) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยในการที่คาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่มหาสมุทรอาจมีผลต่อปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของมหาสมุทร

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการประเมินมูลค่าของวาฬขนาดใหญ่ในมหาสมุทรของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund — IMF) ที่ประเมินมูลค่าของวาฬไว้ที่ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ IMF ชี้ว่า หากประเมินข้อมูลอยู่บนความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน มูลค่าจากธุรกิจประมง และมูลค่าจากธุรกิจท่องเที่ยวชมวาฬซึ่งประเมินค่าออกมาได้มากกว่าสองพันล้านเหรียญสหรัฐต่อวาฬขนาดใหญ่แต่ละตัวเลยทีเดียว

ที่มาภาพ: https://www.weforum.org/agenda/2019/11/whales-carbon-capture-climate-change/?utm_source=sfmc&utm_medium=email&utm_campaign=2707520_Agenda_weekly-6December2019-20191204_094335&utm_term=&emailType=Newsletter

เปรียบมวยต้นไม้ปะทะวาฬ

หากเปรียบเทียบความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างต้นไม้และวาฬขนาดใหญ่ พบว่า วาฬขนาดใหญ่จะรวบรวมคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 33 ตันตลอดช่วงอายุขัย 60 ปี เมื่อวาฬสิ้นชีวิตลงร่างของมันจะจมลงสู่ก้นทะเลพร้อมกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่รวบรวมและเก็บคาร์บอนไว้ถึงร้อยปี ในขณะที่ต้นไม้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 48 ปอนด์ต่อปี หากเทียบในระยะเวลาที่เท่ากันภายใน 60 ปี ต้นไม้จะสามารถเก็บคาร์บอนได้ 1.3 ตัน ในขณะที่วาฬขนาดใหญ่หนึ่งตัวจะเก็บกักได้ 33 ตัน ซึ่งห่างกันถึง 25 เท่า

นอกจากความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากแล้ว วาฬยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถของแพลงก์ตอนพืชจากการขับถ่ายของวาฬ ซึ่งสิ่งที่ขับถ่ายออกมานั้นจะประกอบด้วยเหล็กและไนโตรเจน ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติมโตของแพลงก์ตอนพืช

วาฬเหล่านี้จะอพยพไปทั่วโลก ก็เป็นการช่วยเพิ่มการกระจายแพลงก์ตอนพืชอีกด้วย แพลงก์ตอนพืชนี้มีความสำคัญมากในการควบคุมสภาพของชั้นบรรยากาศด้วยการผลิตออกซิเจน (O2) ถึง 50% จากทั้งหมดของโลก และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 37 พันล้านตันนับเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตขึ้นทั้งหมด ซึ่ง IMF คำนวณว่ามีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนเท่ากับต้นไม้ 1.7 ล้านล้านต้น ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ 4 เท่าของต้นไม้ทั้งหมดในป่าแอมะซอน

IMF อธิบายเพิ่มเติมว่า การเพิ่มขีดความสามารถของแพลงก์ตอนพืชที่เกี่ยวกับการขับถ่ายของวาฬนี้เพียงเพิ่ม 1% นั้นมีผลให้สามารถเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นได้หลายร้อยตัน เทียบเท่ากับต้นไม้ที่โตเต็มที่ 2 พันล้านต้น

ที่มาภาพ: https://www.weforum.org/agenda/2019/11/whales-carbon-capture-climate-change/?utm_source=sfmc&utm_medium=email&utm_campaign=2707520_Agenda_weekly-6December2019-20191204_094335&utm_term=&emailType=Newsletter

รักษ์วาฬรักษ์โลก

การเพิ่มจำนวนของวาฬนั้นอาจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการลดความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากวาฬเป็นแหล่งที่กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าชั้นบรรยากาศ อีกทั้งวาฬยังมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงกว่าต้นไม้มาก และยังช่วยเพิ่มแพลงก์ตอนพืชที่มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย หากสามารถเพิ่มจำนวนวาฬได้เท่ากับช่วงก่อนการล่าวาฬที่มีจำนวน 4-5 ล้านตัว นักวิจัยกล่าวว่าในตัวเลขนี้สามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.7 พันล้านตัน ซึ่งมีค่าปกป้องวาฬเหล่านี้เพียง 13 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนั้นเหลือวาฬเพียงประมาณ 1.3 ล้านตัว

ในปัจจุบันสถานการณ์ของวาฬนั้นอยู่ในภาวะวิกฤติเช่นกัน เนื่องจากปัญหาการล่าวาฬเพื่อการค้า การล่าวาฬนี้สามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังใช้ชีวิตแบบไล่ล่าหาเก็บ ซึ่งการล่าวาฬก็เป็นหนึ่งในการล่าของมนุษย์ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งบางกลุ่ม ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการเดินเรือพัฒนาขึ้นจึงเริ่มมีการล่าอย่างเป็นอุตสาหกรรมโดยในช่วงแรกนั้นจะเป็นการล่าเพื่ออาหาร ภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรม การล่าวาฬนั้นได้เติบโตขึ้นจากความต้องการน้ำมันวาฬเพื่ออุตสาหกรรมและการใช้สอยต่างๆ ทำให้วาฬนั้นมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปัจจุบันความต้องการน้ำมันวาฬจะลดน้อยลงอย่างมาก แต่ความต้องการเนื้อ อวัยวะบางส่วน เช่น เขี้ยว กระดูกสันหลัง หรือหนัง ยังทำให้ให้มีการล่าวาฬต่อไป

แม้ว่าจะเริ่มมีการตระหนักถึงการล่าวาฬมาตั้งแต่ปี 1925 ที่สันนิบาติชาติยอมรับถึงปัญหาการล่าวาฬ และมีการออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการล่าวาฬออกมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการห้ามการล่าวาฬเชิงพาณิชย์โดยคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ (International Whaling Commission — IWC) ในปี 1986 ซึ่งมีช่องว่างในการล่าวาฬเพื่อการวิจัยและวิทยาศาสตร์ แต่วาฬกว่า 1,000 ตัวยังคงถูกล่าทุกปีเพื่อการค้า สถานการณ์นี้เลวร้ายลงเมื่อญี่ปุ่นหนึ่งในผู้ล่าวาฬรายใหญ่ของโลกถอนตัวออกจากคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ และประกาศว่าจะเริ่มการล่าวาฬเพื่อการค้าในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2019 นอกจากวาฬจะถูกล่าแล้วก็ยังเสี่ยงต่อการถูกเรือชน การติดแหประมง และปัญหาพลาสติกในมหาสมุทรอีกด้วย ซึ่งเห็นได้หลายกรณีที่วาฬในประเทศไทยเกยตื้นตายพร้อมพลาสติกจำนวนมากในระบบทางเดินอาหาร

การยอมรับเกี่ยวกับประโยชน์ของวาฬในการต่อสู้กับปัญหาความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกนั้นอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจจากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น หากเทียบกับการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้รับการทดสอบและมีราคาแพง เช่น การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรงและฝังไปใต้ดิน ดังนั้นการหันกลับมาพิจารณาถึงปัญหาที่ทำให้วาฬลดจำนวนลงและหาทางเพิ่มจำนวนวาฬขึ้นอาจเป็นวิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหาความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกที่เด็ดขาด

เรียบเรียงจาก weforum,wwf