ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > กลุ่ม ปตท.กับพันธกิจลดโลกร้อนด้วยพลังงานหมุนเวียน…แม้เราจะไม่ได้อาสาแต่โลกจะบังคับให้เราทำอยู่ดี

กลุ่ม ปตท.กับพันธกิจลดโลกร้อนด้วยพลังงานหมุนเวียน…แม้เราจะไม่ได้อาสาแต่โลกจะบังคับให้เราทำอยู่ดี

15 กันยายน 2019


ภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นให้ทุกประเทศตระหนักและลุกขึ้นปลี่ยนผ่านนโยบายสู่เป้าหมายความยั่งยืนกันถ้วนหน้า

ยิ่งคนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งๆ หน้าในช่วงชีวิตของตัวเอง น้ำในทะเลสาบที่เคยเป็นน้ำแข็งนาน 4 เดือน ปัจจุบันเหลือแค่เดือนเดียว ก็ยิ่งตระหนกต่อภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ส่วนใหญ่จึงเดินหน้าตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง โดยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล หันไปใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน จากสายลม แสงแดด ขยะ ไม้ หรือพลังงานทดแทนอื่นๆมากขึ้น

ไทยพับลิก้า มีโอกาสได้ไปดูงานด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศฟินแลนด์และเดนมาร์กกับกลุ่ม ปตท. เพื่อให้เห็นว่าประเทศในยุโรปเขาเดินหน้ารับมือกับภาวะโลกร้อนกันอย่างไร จากเป้าหมายร่วมกันที่จะไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2030

เริ่มจากประเทศฟินแลนด์ ที่รัฐบาลมีนโยบายท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ให้การปล่อยเท่ากับการดูดกลับจากสิ่งแวดล้อมมีค่าเท่ากับศูนย์ (carbon neutral) ในปี ค.ศ. 2035 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า

ในแต่ละปีรัฐบาลฟินแลนด์สนับสนุนเงินเพื่อการวิจัย 500 ล้านยูโรในเรื่องพลังงานหมุนเวียน เพื่อการลดต้นทุนให้มากที่สุด อันจะทำให้แข่งขันได้

ด้วยเหตุนี้จึงกำหนดเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน ถ่านหิน แก๊สฯ) ลงอีก 50% (จากปัจจุบัน) ให้ได้ในปี 2030 และประกาศชัดว่าจะไม่ใช้พลังงานจากถ่านหินตั้งแต่ปี 2029 เป็นต้นไป

นั่นคือภาวะตระหนักรู้ของฟินแลนด์ต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ที่ต้องดำเนินการบางอย่างเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบการใช้พลังงานที่ยั่งยืน

“เนื่องจากเรารู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่สามารถเลี่ยงได้ และจะมาเร็วกว่าที่พลังงานฟอสซิลจะหมดไป ดังนั้นเราจึงต้องทำอย่างรอบคอบในการจัดการด้าน smart grid ผ่าน digitalization เพื่อให้เกิด connectivity, security และ reliability (ความเชื่อมโยง ความมั่นคง และความเชื่อถือได้)” นาง Helena Saren หัวหน้าด้านโครงการพลังงานอัจฉริยะ กระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงาน (Ministry of Economic Affairs and Employment) ประเทศฟินแลนด์ กล่าว

นอกจากนี้ยังได้ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2030 การผลิตไฟฟ้าจะมาจากโซลาร์เซล (แสงแดด) และพลังงานลม โดยแบตเตอรี่จะมีความจุมากกว่าปัจจุบัน 15 เท่า ขณะที่ตลาดขยะที่นำมาผลิตพลังงาน (waste to energy) ในปี 2018 มีมูลค่า 40.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 58.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020

การไปดูงานครั้งนี้ได้ไปเยี่ยมชมบริษัท Fortum ผู้ผลิตไฟฟ้าใหญ่เป็นอันดับ 3 และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยรัฐบาลฟินแลนด์ถือหุ้น 50.76% 2 ใน 3 ของพลังงานไฟฟ้าที่ Fortum ผลิตได้มาจากพลังงานน้ำและพลังงานนิวเคลียร์ Fortum มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ในอียู และเป้าหมายของ Fortum คือการเป็น Utility of the Future

นาย Arto Raty ซีอีโอ Fortum กล่าวว่า “การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะจะส่งผลกระทบต่อสังคม โดยยึดหลัก 3 ด้าน คือ การมีความรับผิดชอบ ความยั่งยืน และความมั่นคงด้านพลังงาน ดังนั้นการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องกระทำในทุกภาคส่วน และพลังงานไฟฟ้าสะอาดจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ จึงคาดว่าในทศวรรษ 2020 จะกลายเป็นทศวรรษแห่งไฟฟ้า”

นอกจากนี้ยังมองว่า โลกต้องมีการจัดการขยะและรีไซเคิล เพราะการเติบโตของเมืองและประชากรทำให้ขยะเพิ่มมากขึ้น ตลาดของการรีไซเคิลและพลังงานขยะจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่การฝังกลบจะน้อยลง และภาคธุรกิจต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจที่เป็นประโยชน์กับโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการรีไซเคิลพลาสติกจะเป็นที่ต้องการสูงของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม จากการดูงานครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ก็คือการเอาจริงเอาจังในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ต้องเริ่มกันตั้งแต่ต้นทาง เช่น กรณีขยะ มีถังให้ใส่ขยะ 8 ใบ อย่างขวดน้ำพลาสติกมีการระบุที่ขวดชัดเจนว่าเบอร์อะไร ทำมาจากอะไร รีไซเคิลได้ไหม เมื่อใช้เสร็จ เอาขวดไปหย่อนให้ถูกถังถูกเบอร์ ตามเลขที่ระบุไว้ สิ่งเหล่านี้คือการจัดการตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้ขยะถูกนำหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ โดยที่มีต้นทุนในการบริหารจัดการขยะที่ต่ำ

ขณะที่เดนมาร์ก เจ้าหน้าที่สำนักงานพลังงานเดนมาร์ก (Danish Energy Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกำกับดูแลทั้งอุปสงค์ปละอุปทานด้านพลังงาน รวมทั้งวางนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุนการจัดการแบบองค์รวม ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลเดนมาร์กมีนโยบายในการจัดโครงสร้างระบบราชการแบบองค์รวม เพื่อให้หน่วยงานสามารถเชื่อมโยงกันได้และจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เดนมาร์กหันมาพึ่งพาตนเองอย่างจริงจังหลังจากประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเมื่อ 45 ปีที่แล้ว โดยเดนมาร์กต้องนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากประเทศในตะวันออกกลาง

ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของเดนมาร์กคิดเป็น 43% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ มีพลังงานน้ำเป็นพลังงานสำรองในการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยมีสายส่งที่เชื่อมต่อกันระหว่างประเทศ

เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า การผลักดันให้เกิดเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นได้ เป็นเพราะรัฐบาลเดนมาร์กมีนโยบายที่ต่อเนื่อง พร้อมกับการรับฟังผู้ประกอบการในการออกนโยบาย รวมทั้งการทำงานร่วมกัน

พร้อมระบุว่า การที่เดนมาร์กมีประสิทธิภาพในการรวมระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนในช่วงเปลี่ยนถ่ายได้ มาจาก 1. การวางแผนระยะยาวจากรัฐบาล 2. การมีระบบสายไฟที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน 3. สามารถเปลี่ยนวัตถุในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว 4. สามารถคาดการณ์ความต้องการการใช้ไฟฟ้าล่วงหน้า โดยใช้โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักงานพลังงานเดนมาร์ก

ตัวอย่างของภาคเอกชนที่ได้ไปเยี่ยมชมอย่าง Orsted ผู้ผลิตไฟฟ้าจากลมรายใหญ่ที่สุดของการผลิตทั้งโลก ผู้บริหารของ Orsted กล่าวว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานทดแทนเพื่อการพึ่งพาตนเอง การเปลี่ยนแปลงของบริษัทได้รับการสนับสนุนทางความคิดจากรัฐบาล เป้าหมายคือในปี 2050 จะต้องไม่มีการผลิตพลังงานจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน

โดยโครงสร้างการถือหุ้น รัฐบาล 50.1% ที่เหลือเป็นกองทุนและภาคเอกชน เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น การลงทุนของบริษัทมีทั้งการลงทุนเอง ร่วมทุนกับนักลงทุน โดยจะคัดเลือกโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีศักยภาพเท่านั้น คาดว่าแผนการลงทุนในปี 2025 จะอยู่ที่ประมาณ 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ผู้บริหารกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจมาเป็นพลังงานทดแทนสำเร็จคือ 1. Scale ขนาดของการผลิตที่มากพอสำหรับการเฉลี่ยต้นทุน 2. Industrialization คือการเป็นผู้ผลิตรายเดียว 3. Innovation นวัตกรรมชั้นสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

อีกตัวอย่างที่ได้ไปเยี่ยมชมคือเกาะแซมโซ เป็นโมเดลการพึ่งพาตนเอง ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล หันมาใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น แสงแดด สายลม ไม้ เศษวัสดุจากการเกษตร เช่น ฟางข้าว

ทั้งวันที่อยู่บนเกาะ นาย Jesper Roug Kristensen ผู้จัดการฝ่ายบัญชีธุรกิจ ได้พาตระเวนรอบพื้นที่ 114 ตารางกิโลเมตรของเกาะซึ่งมีประชากร 3,800 คน พร้อมเล่าว่า กว่าจะปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน กลุ่มขับเคลื่อนก็ต้องตระเวนไปดื่มกาแฟพูดคุยเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกัน ต้องสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจถึงแผนที่กำลังจะเกิดขึ้น ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น การเลือกที่ตั้งของกังหันลม

ที่นี่เลือกใช้พลังงานทดแทนจากทรัพยากรที่มี เช่น พลังงานจากลม โดยมีกังหันลมบนบก (onshore wind turbine) 11 ตัว โดย 1 ตัวสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับ 630 ครัวเรือน

กังหันลมนอกชายฝั่ง (offshore wind turbine) 10 ตัว ความสูง 103 เมตร ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก เนื่องจากลมจะพัดจากตะวันตกมาทางตะวันออกถึง 95%

โรงไฟฟ้าชีวมวล(straw power plant) 3 แห่ง ผลิตไฟฟ้าเพียงพอสำหรับบ้าน 571 หลัง

โรงพลังงานแสงอาทิตย์ (solar Plant) ขนาดรวมทั้งสิ้น 2,500 ตารางเมตร ผลิตร่วมกับหม้อต้มที่ใช้เศษไม้เป็นเชื้อเพลิง (wood chips fired boiler)

ที่แซมโซผลิตไฟฟ้าได้เกินกว่าความต้องการที่จะใช้ได้ทั้งเกาะ และมีสายไฟฟ้าเชื่อมต่อกับเยอรมันตอนเหนือ คนท้องถิ่นจึงต้องการมีส่วนร่วมในการลงทุน เพราะเห็นรายได้เพิ่มจากการขายไฟฟ้า มีผู้ถือหุ้นของบริษัทท้องถิ่นในการขายไฟฟ้ามากเกือบ 600 คน

ขณะเดียวกัน เทศบาลที่นี่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบสนองนโยบายไม่ใช้พลังงานฟอสซิลในปี 2030

การไปดูงานที่เกาะแซมโซ หากเปรียบเทียบกับ อำเภอท่ามะนาว จ.ลพบุรี ที่หลายหมู่บ้านใช้ทรัพยากรที่มีอย่างขี้หมูมาผลิตแก๊ส แล้วเดินท่อสายส่งไปให้แต่ละหลังคาเรือนใช้ในครัวเรือน ปัจจุบันสามารถขยายการให้บริการไปยังหลายหมู่บ้าน สามารถลดปัญหาเรื่องกลิ่น ทั้งยังได้ขี้หมูตากแห้งมาเป็นปุ๋ย รวมทั้งการผลิตหัวแก๊สและเตาแก๊สจากการปั้นดินเป็นเตาอังโล่ใช้ เป็นเอกลักษณ์และชุมชนดูแลเองได้

เหล่านี้คือตัวอย่างการยกระดับไปสู่การอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างมีทรัพยากรและภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ภูมิปัญญาในการคิดค้นนวัตกรรมที่จะนำมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้พลังงานที่สะอาดได้จึงไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน

เช่นเดียวกับปัญหาขยะในเมืองไทยที่ยังคงใช้วิธีการฝังกลบเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะของกรุงเทพมหานคร แต่เป้าหมายหลักเป็นเรื่องการกำจัดขยะ การผลิตไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ก็ตาม ซึ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าจากการให้สัมปทาน 2 โรงที่เปิดประมูลไปเมื่อเร็วๆ นี้ 10 ปี มูลค่า 20,000 ล้านบาท นี่คือตัวอย่างของการผลิตไฟฟ้าจากขยะ นั่นหมายถึงขยะมีมูลค่ามหาศาล ขยะจะเป็นยิ่งกว่าทองคำที่ใครๆ ก็หวงแหน เป็นสิ่งที่หากแต่ละหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน สร้างการบริหารจัดการที่ดี ก็จะสามารถสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และได้สิ่งแวดล้อมที่ดีกลับคืนมาของชุมชน

เช่นเดียวกับการเผาไร่หลังปลูกพืช หากมีการจัดการที่ดีโดยนำเศษวัสดุเหล่านี้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ก็จะมีพลังงานไฟฟ้าใช้ และด้านหนึ่งก็จะช่วยลดมลพิษจากฝุ่นควันได้ด้วย

ดังนั้น หากจะเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่สะอาด รัฐบาลจำเป็นที่ต้องวางแผนนโยบายระยะยาว กำหนดเป้าหมายว่าเลิกใช้พลังงานจากฟอสซิลเมื่อใด

จึงมีคำถามว่า อีกกี่ปีการใช้พลังงานจากฟอสซิลในประเทศไทยจะเริ่มลดลง ซึ่งตามการคาดการณ์จากผู้บริหารกลุ่ม ปตท. คืออย่างน้อยอีก 15 ปีข้างหน้า ดังนั้นพลังงานฟอสซิลที่เรามีอยู่อาจจะต้องรีบนำออกมาใช้ ก่อนที่จะไม่มีราคาในอนาคต

การมาดูงานในครั้งนี้จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่ม ปตท. ที่จะตอกย้ำการเดินหน้าก้าวสู่พลังงานที่สะอาด โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ที่จะก้าวมาแทนพลังงานจากฟอสซิล ส่วนจะเป็นพลังงานทดแทนจากอะไร การวิจัยและพัฒนาจะเป็นคำตอบ ซึ่งกลุ่ม ปตท.ได้ทำการทดลอง และได้เริ่มเปลี่ยนผ่านไปบ้างแล้ว

โดยผู้บริหารระบุว่า “ธุรกิจ ปตท.ไม่จำเป็นต้องรองรับแต่ประเทศไทย การที่เราเป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ เราต้องมองไปให้ไกลกว่าประเทศไทย”

ดังนั้น ในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานที่สำคัญของประเทศ ด้วยกฎกติกาโลกที่มุ่งไปในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงเป็นพันธกิจของทุกคนต้องแก้ปัญหานี้ร่วมกันให้ได้ ไม่ใช่ภารกิจที่จะมอบหมายให้คนใดคนหนึ่ง อย่างที่ได้ไปดูงานตัวอย่างที่ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ทุกบริษัทพูดเหมือนกันหมดว่าต้องไปในทิศทางนี้

พร้อมย้ำว่า แม้เรายังไม่ได้อาสาที่จะทำ แต่โลกจะบังคับให้เราทำอยู่ดี