ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > อินเดียขาดแคลนน้ำรุนแรง “เจินไน” เมืองใหญ่อันดับ 6 วิกฤติสุด – ร้านอาหาร โรงแรมปิดชั่วคราว บริษัทให้พนง.ทำงานที่บ้าน

อินเดียขาดแคลนน้ำรุนแรง “เจินไน” เมืองใหญ่อันดับ 6 วิกฤติสุด – ร้านอาหาร โรงแรมปิดชั่วคราว บริษัทให้พนง.ทำงานที่บ้าน

20 มิถุนายน 2019


ที่มาภาพ: https://www.indiatoday.in/india/story/chennai-water-crisis-madras-hc-palaniswami-tamil-nadu-media-illusion-scarcity-1551677-2019-06-19

เจินไนหรือเดิมคือมัทราส ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 6 ของอินเดียในรัฐทมิฬนาฑู กำลังประสบวิกฤติขาดแคลนน้ำอย่างหนักติดต่อกันมาหลายสัปดาห์หลังแหล่งกักเก็บน้ำ 4 แห่งแห้งผาก

ชาวบ้านต้องเข้าคิวนานนับชั่วโมงเพื่อรองน้ำจากแท็งก์น้ำของรัฐบาล ขณะที่โรงแรมและร้านอาหารหลายแห่งต้องปิดชั่วคราวหรือต้องลดชั่วโมงให้บริการลงเพราะขาดน้ำ ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งต้องแบ่งสรรปันส่วนน้ำ สถานีรถไฟใต้ดินต้องปิดเครื่องปรับอากาศ และหลายบริษัทขอให้พนักงานทำงานอยู่กับบ้านเพื่อประหยัดน้ำ

ในเจินไนและพื้นที่รอบนอกมีโรงแรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กราว 8,000 แห่ง ซึ่งต้องการใช้น้ำประมาณ 150 ล้านลิตรต่อวัน

สถานการณ์ที่เลวร้ายทำให้เกิดการปะทะกันในกลุ่มชาวบ้าน ในสัปดาห์ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมชายคนหนึ่งที่แทงเพื่อนบ้านจากเหตุทะเลาะในการแบ่งน้ำใช้ระหว่างหมู่บ้าน

เจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่งกล่าวว่า สถานการณ์จะดีขึ้นหากมีฝนตกลงมา และหน่วยงานด้านน้ำก็ได้พยายามหาแหล่งน้ำใหม่ แต่ประเด็นหลักคืออ่างเก็บน้ำแห้งมาก และระดับน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลที่น้อยมาก ซึ่งปีก่อนๆ แม้จะมีปัญหาการขาดน้ำแต่ได้อาศัยน้ำใต้ดินมาช่วย

การขาดแคลนน้ำไม่ได้จำกัดอยู่ที่เจินไน แต่กระจายไปทั่วหลายพื้นที่ในอินเดียทั้งในเมืองและชนบท แต่นายคเชนทรา สิงห์ เศขาวัต รัฐมนตรีกระทรวงน้ำของอินเดีย กล่าวในการแถลงข่าววันที่ 17 มิถุนายน ว่า รายงานการขาดแคลนน้ำเป็นการรายงานเกินความจริง เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีน้ำพอในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ และการขาดแคลนน้ำไม่ได้ร้ายแรงเหมือนที่สื่อรายงาน

นายเค ปาลานิสวามี มุขมนตรีรัฐทมิฬนาฑู กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เหมือนกับที่สื่อรายงาน และเรียกร้องผู้สื่อข่าวไม่ให้บิดเบือนการขาดน้ำ และยังกล่าวว่า “ประชาชนต้องเข้าใจและให้ความร่วมมือ สื่อเองก็อย่าสร้างภาพการขาดน้ำเกินจริง”

นายปาลานิสวามีกล่าวว่า ภาวะแห้งแล้งและฤดูมรสุมที่ล่าช้ามีผลให้ระดับน้ำใต้ดินลดลง และรัฐต้องพึ่งพาน้ำบาดาลไปจนกว่าลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะนำฝนมาในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน นอกจากนี้ แม่น้ำกฤษณาที่รับน้ำจากเขื่อนในรัฐอานธรประเทศก็มีน้อย อย่างไรก็ตาม ได้มีการดำเนินการเพื่อจัดหาน้ำ โดยเฉพาะน้ำดื่มที่ต้องให้เพียงพอ ซึ่งจะประมูลน้ำจากทะเลสาปวีรนัมในเขตกุดาลูร์

ศาลสูงในเจินไนดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อรัฐบาลทมิฬนาฑู กรณีไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการขาดแคลนน้ำภายในรัฐ โดยก่อนหน้านี้ได้ขอให้รัฐบาลชี้แจงถึงมาตรการที่ดำเนินการในการแก้ไขวิกฤติน้ำ ศาลเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีการดำเนินการที่มากพอต่อการขาดแคลนน้ำรุนแรงในขณะที่ฤดูมรสุมล่าช้า

ศาลสูงได้ไต่สวนการกรณีที่มีการร้องขอให้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลเพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งสั่งการให้กรมโยธาธิการที่ระบุในคำร้อง นำส่งรายงานข้อมูลจำนวนอ่างเก็บน้ำทั้งหมดในรัฐ มาตรการในการกรองน้ำ และรายละเอียดอื่นอย่างครบถ้วน

การวิเคราะห์ระดับน้ำในเขื่อน 91 แห่งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พบว่า 85 เขื่อนมีระดับน้ำต่ำกว่า 40% และมี 65 เขื่อนที่ระดับน้ำต่ำกว่า 20% มีเพียง 2 เขื่อนใน 17 เขื่อนในรัฐมหาราษฏระที่ระดับน้ำมากกว่า 25% ส่วนอีก 7 เขื่อนที่เหลือระดับน้ำเท่ากับศูนย์ ประกอบกับฤดูมรสุมที่เกิดขึ้นช้ากว่าปกติยิ่งทำให้เกิดความกังวลมากขึ้น ปกติแล้วลมมรสุมจะนำฝนมาให้ถึง 70%

แม้ที่เจินไนมีโรงกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด แต่ก็มีปริมาณไม่มากพอที่จะชดเชยการขาดแคลนน้ำได้

ที่มาภาพ: https://daily-sun.com/post/400390/Chennai-water-crisis:-Citys-reservoirs-run-dry

ในเดือนก่อนรัฐบาลได้ประกาศแจ้งเตือนภาวะภัยแล้งรัฐมหาราษฏระ รัฐคุชราต รัฐกรณาฏกะ รัฐอานธรประเทศ รัฐเตลังคานา และรัฐทมิฬนาฑู และขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด หลังจากระดับน้ำในเขื่อนลดลงมาที่ระดับวิกฤติ รวมทั้งระดับน้ำในแหล่งกักเก็บในทุกรัฐในทางใต้และวันตกลดลงต่ำอย่างมากในรอบ 10 ปี แม้แต่รัฐคุชราต บ้านเกิดของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ก็ประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำ โดยเขตปกครอง 96 เขตจาก 250 เขตใน 17 ตำบลประกาศภาวะภัยแล้ง

แม่น้ำนรรมทา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในทางตะวันตกของประเทศ และเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของรัฐคุชราตและรัฐมัธยประเทศ กลับแห้งลงจนผู้เดินทางไปแสวงบุญที่วโฑทราสามารถนำรถลงไปจอดในร่องน้ำที่เคยมีน้ำไหลผ่านได้

การที่ไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อนสารทรสโรวารหรือปล่อยลงมาน้อยทำให้แม่น้ำซึ่งเคยมีกระแสน้ำไหลกว้างถึง 300 เมตรกลับแคบลงหลายเป็นสายน้ำที่มีความกว้างเพียง 6 เมตรเท่านั้น

บังคาลอร์ เมืองไอทีในรัฐกรณาฏกะ ก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเช่นกัน การพัฒนาความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การจัดการน้ำที่แย่ ทะเลสาบที่มีฟองน้ำเสียฟูฟ่องและมลพิษที่แพร่เร็ว ทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงเร็วมาก จนในปี 2018 รัฐบาลได้คาดไว้ว่าใน 21 เมืองซึ่งรวมนิวเดลี บังคาลอร์ และเจินไน ระดับน้ำใต้ดินในเมืองก็จะไม่เหลือ หรือไม่อยู่ในระดับที่ตื้นพอที่จะนำมาใช้ ภายในปี 2020

แหล่งกักเก็บน้ำได้ลดลงและอ่างเก็บน้ำก็แห้งขอด แต่รัฐบาลก็ยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับวิกฤติ

นายหิมานชู ธักการ์ ผู้ประสายงานเครือข่ายเขื่อน แม่น้ำและประชาชนเอเชียใต้ (South Asia Network on Dams, Rivers & People) ให้ความเห็นว่า ปัญหาเกิดจากการขาดความเข้าใจ การตระหนักถึงสถานการณ์ และการไม่ลงมือดำเนินการ เพราะโดยปกติแล้วมรสุมจะนำน้ำฝนมาให้ 70-80% และรัฐบาลควรจะจัดการได้ดี ที่เจินไนเจอวิกฤติอย่างหนัก ทั้งๆ ที่ปลายเดือนกรกฎาคมปีก่อน อ่างเก็บน้ำทุกแห่งเต็มไปด้วยน้ำ แต่รัฐบาลกลับปล่อยน้ำออก อีกทั้งแหล่งกักเก็บน้ำตื้นขึ้น ดังนั้นน้ำจึงไหลลงแม่น้ำเสียมาก จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบกักเก็บน้ำฝน

อินเดียเป็นประเทศเกษตรกรรม การปลูกธัญพืชต้องใช้น้ำปริมาณมาก อีกทั้งแผนการปลูกพืชที่ไม่ถูกต้องก็มีผลต่อวิกฤติน้ำด้วย

ศรีปัท ธรรมาธิการี ผู้ก่อตั้ง Manthan Adhyayan Kendra องค์กรไม่แสวงกำไร กล่าวว่า ประเด็นหลักของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นคือสงวนน้ำไว้สำหรับดื่มและใช้ในครัวเรือน และแผนการปลูกพืชต้องปรับเปลี่ยน การใช้น้ำอย่างผิดๆ ในภาคการเกษตรจะสร้างผลกระทบมหาศาลและเป็นการใชน้ำในปริมาณมากเกินไป การปลูกพืชเกษตร เช่น อ้อยและข้าว ที่ต้องใช้น้ำมาก ต้องทบทวนกันใหม่

การขาดแคลนน้ำไม่เพียงทำให้พืชผลเกษตรเสียหายและมีผลกระทบต่อครัวเรือน มีเกษตรฆ่าตัวตายจำนวนมาก โดยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในเขตวิทรพา รัฐมหาราษฏระ มีเกษตรกรฆ่าตัวตายมากที่สุดถึง 5,214 ราย รองลงมาคือเมืองออรังกาบัด ที่มีจำนวน 4,699 ราย จากภาวะภัยแล้ง นอกจากนี้ ในรัฐปัญจาบ ภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง และไม่สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ ก็เป็นอีกสาเหตุของการจบชีวิตของเกษตรกร

พื้นที่ชนบทหลายแห่งขาดแคลนน้ำดื่มและไม่มีน้ำใช้เพียงพอที่จะใช้ทำความสะอาด ซักเสื้อผ้า แม้แต่ในห้องน้ำ จึงมีน้ำเสียและน้ำที่ปนเปื้อนสูงขึ้น ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนจากภาวะร่างกายขาดน้ำ ผู้หญิงในชนบทต้องเดินเท้าไปหาน้ำจากหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งต้องเข้าแถวยาวรอ เกษตรกรอินเดียจึงดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตอยู่

ที่มาภาพ: https://www.indiatoday.in/india/story/chennai-water-crisis-hospitality-industry-1550788-2019-06-17

ในทางตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นภูเขาส่วนใหญ่ก็ประสบกับปัญหาแหล่งน้ำลดลงเช่นกัน เป็นผลจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่โตเร็วมาก ทำให้เกิดวิกฤติน้ำ มลพิษการสัญจรของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการก่อสร้างโรงแรมใหม่

ในปีที่ผ่านได้มีการรณรงค์แคมเปญ หยุดเที่ยวชิมลา หรือ #StopVisitingShimla เพราะชาวบ้านที่นั่นประสบวิกฤติน้ำในหิมาจัลประเทศ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ระบบนิเวศของเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าวิตก

เพราะนักท่องเที่ยวเดินทางไปราว 100,000 คนต่อปี ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่เพียง 172,000 คน ยิ่งมีผลกระทบต่อพื้นที่ซึ่งหาน้ำได้ยากอยู่แล้ว

ในชิมลา ปกติน้ำดื่มบรรจุขวดจำหน่ายในราคา 20 รูปี แต่ในหน้าร้อนที่แล้วราคาได้พุ่งขึ้นถึง 100 รูปีเพราะฝนตกน้อย ระบบน้ำไม่มีการสำรวจมานาน การขาดมาตรการอนุรักษ์น้ำและหน่วยงานรัฐบาลขัดแย่งกันเองกรณีน้ำบรรจุขวดทำให้ชิมลาเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เจอวิกฤติน้ำ

ในเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ศาลสูงได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานติดตามกระแสนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเมืองมัสซูรี ในรัฐอุตรขัณฑ์ ก็พบว่าเมืองได้รับการจัดสรรน้ำเพียง 7.60 ล้านลิตรต่อวันขณะที่ความต้องการน้ำในหน้าร้อนสูงสุดถึง 14.5 ล้านลิตรต่อวัน เมืองไนนิตาลซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือทะเลสาบไนนินและเมืองรานิเกต ไม่มีมาตรการอนุรักษ์น้ำ ธุรกิจน้ำซึ่งใช้น้ำบาดาลจึงเฟื่องฟู แต่การใช้น้ำบาดาลโดยไม่มีการควบคุมมีผลกระทบอย่างมาก ทั้งแหล่งน้ำแร่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักในรัฐบนเทือกเขาหิมาลัย

การท่องเที่ยวยั่งยืนอาจจะเป็นแนวทางแก้ไขวิกฤติน้ำที่กำลังเผชิญอยู่ได้ แต่ต้องพึ่งพาการร่วมมือจากคนในพื้นที่ และต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานที่เกี่ยวกับน้ำ ซึ่งจะเป็นแนวทางให้พื้นที่อื่นนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมต่อไป

อุณหภูมิที่สูงขึ้นในบริเวณตอนเหนือ ตะวันตก และตอนใต้ของประเทศ ทำให้โอกาสฝนตกลดลงมาที่ 43% และมรสุมที่ล่าช้ากว่าเดิมก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ ประกอบกับอินเดียก็มีนโยบายด้านน้ำน้อยมาก ขณะเดียวกันพื้นที่ชุ่มน้ำลดลง การรุกล้ำลงไปในน้ำ การขาดบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ และการใช้น้ำบาดาลที่มากเกินไป รวมทั้งการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ จะมีผลกระทบถาวรต่อระดับน้ำในอินเดียและอาจจะทำให้ประเทศรั้งท้ายได้

ที่มาภาพ: https://www.thenewsminute.com/article/chennai-water-crisis-private-tankers-fleece-public-rates-increase-over-100-103859

เรียบเรียงจาก bbc, asiatimes, indiatoday