ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่”โยนพรรคร่วมรัฐบาลตัดสินเก้าอี้ รมต. – มติ ครม.แบ่งผลตอบแทน “ท่าเรือมาบตาพุด” ใหม่ รัฐรายได้ลด 2,705 ล้านบาท

“บิ๊กตู่”โยนพรรคร่วมรัฐบาลตัดสินเก้าอี้ รมต. – มติ ครม.แบ่งผลตอบแทน “ท่าเรือมาบตาพุด” ใหม่ รัฐรายได้ลด 2,705 ล้านบาท

21 พฤษภาคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

โยนพรรคร่วม รบ.ตัดสินเก้าอี้ รมต.-วอนอย่าเอาตนไปเอี่ยว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลว่า ยังไม่คิด วันนี้ทุกพรรคเขาก็หารือกันเอง อย่าเอาตนไปเกี่ยวข้องเลย ตนไม่ไปก้าวล่วงเขาในส่วนนี้ เป็นเรื่องของคนที่คาดว่าจะเป็นรัฐบาลซึ่งตนคิดว่าทุกอย่างอยู่ที่การพูดคุยกันให้เข้าใจ ให้รู้เรื่องว่าบ้านเมืองต้องการอะไรในขณะนี้ หากทำล่าช้าเกินไปจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศ ทำให้การค้าการลงทุนหยุดชะงัก ซึ่งจะเป็นปัญหาเพราะขณะนี้ก็เกิดสงครามการค้าอยู่

“การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับต่างชาติ ก็มีผลต่อการลงทุนของประเทศด้วย ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูแลคนภายในของเรา ลดความขัดแย้ง ผมเคยบอกไว้แล้วหากทุกคนคิดเป็นซ้าย-ขวา โดยไม่หาทางตรงกลางที่จะมาร่วมกันเลยก็ไปต่อไม่ได้ทุกรัฐบาลนั่นแหละ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสข่าวจากสื่อฮ่องกง ว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปของไทยคือเจ้าสัวซีพี นายธนินทร์ เจียรวนนท์ ว่า เป็นไปได้อย่างไร ตนก็ไม่รู้เหมือนกัน

ต่อคำถามกรณีมีคนเสนอตัวเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกัน หากคุยกันได้แล้วก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ เขาก็ต้องให้นายกฯ เป็นคนตัดสินใจ ซึ่งตนยังตัดสินใจไม่ได้เพราะยังไม่ได้เป็น ขณะนี้บางพรรคก็เพิ่งจะประชุมกันเอง ยังไม่ได้ข้อยุติหรอก

เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐต้องรวมเสียงพรรคการเมืองหลายสิบพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล จะมีปัญหาหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า มองให้ดีสิ หากมีหลายพรรคก็อาจมีข้อดีที่ทุกนโยบายที่ต่างไปหาเสียงกันมาก็นำมาสู่การปฏิบัติ แต่จะปฏิบัติอย่างไรนั้นก็ต้องร่วมมือกันทำ หากไม่ร่วมมือกันไม่ว่าจะกี่พรรคก็ไปกันไม่ได้ทั้งหมด ทั้งหมดหากนำมารวมในนโยบายของรัฐก็สามารถไปดูแผนการดำเนินงานว่าจะทำได้อย่างไรต่อไปให้เป็นขั้นตอน

“ทุกสิ่งที่เขาหาเสียงกันมาผมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้น แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างที่ผมบอก ครม.ใหม่รัฐบาลใหม่ ไม่ใช่จะทำงานง่าย เพราะมีกฎหมายต่างๆ ออกมาหลายตัว และที่ผ่านมาแม้ผมจะมีอำนาจเยอะพอสมควรผมยังไม่ดันทุรังเลย บางเรื่องผมก็ทำไม่ได้ แต่คิดได้กำหนดเป็นแนวทางไว้สำหรับวันข้างหน้า ผมก็หวังว่ารัฐบาลใหม่จะทำต่อเนื่องไป อะไรที่ดีก็ทำต่ออะไรไม่ดีก็แก้ไขก็แค่นั้น การเมืองน่าจะเป็นอย่างนั้นไม่ใช่มุ่งเอาชนะคะคานกัน”

“ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ใช่การขายของ ทุกคนมองเหมือนกับเป็นการขายของไปทั้งหมด พอออกไปมากๆ เข้าต่างชาติจะเชื่อมั่นรัฐบาลเราเหรอ กลายเป็นต่อรองอะไรกันเยอะแยะไปหมด ผมว่าเขาคุยกันรู้เรื่องนะ สำหรับตำแหน่งต่างๆ พรรคร่วมรัฐบาลต้องคุยกันมาก่อน ไม่ใช่ใครจะไปจัดแจงทั้งหมดได้ ไม่ได้หรอก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามถึงกระแสข่าวที่ว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มีส่วนกับการจัดตั้งรัฐบาล และกรณีที่เคยระบุว่ากระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ต้องเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ไม่จริงหรอก ก็คุยกันว่าสถานการณ์การเมืองเป็นอย่างไร อะไรที่ควรจะต้องทำให้เขาทำต่อบ้าง สุดแล้วแต่รัฐบาลใหม่เข้ามาทำต่อแล้วกัน

และเมื่อถามว่า เดือนมิถุนายนจะได้เห็นรัฐบาลใหม่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ตอบเพียงสั้นๆ ว่า “อยู่ที่พวกเราจ้ะ”

มอบ พณ.เจาะตลาดส่งออกใหม่ลงประเทศเล็ก ตั้งรับสงครามการค้า จีน-มะกัน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการประเมินผลกระทบเบื้องต้นกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่อาจได้รับผลกระทบ และเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นมีกรณีเกิดขึ้นมาจะเห็นได้ว่าเราก็ต้องมาแก้ไขในเรื่องการส่งออกของเรา เรื่องการลงทุนร่วมต่างๆ ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่การเขียนทีโออาร์ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน

วันนี้มีการหารือกันเรื่องเศรษฐกิจ ได้ให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาหาตลาดใหม่ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเล็กๆ หลายๆ กลุ่มประเทศ วันนี้ก็ได้ตลาดมาบ้างพอสมควร เนื่องจากหลายประเทศเติบโตดีจากการใช้การส่งออกเป็นหลัก วันนี้ก็มีปัญหาทั้งสิ้น เป็นผลกระทบจาก 2 ประเทศใหญ่ การค้าของไทยมีทั้งการค้ากับประเทศคู่ค้าหลัก และประเทศในภูมิภาคอาเซียน แอคเมคส์ จีเอ็มเอส ต่างๆ เหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น เพราะปลายทางทั้งหมดก็ไปตลาดใหญ่

“คิดว่าผลกระทบที่ได้รับคงไม่มากมายนักในขณะนี้ ขณะเดียวกันไทยเองก็มีเศรษฐกิจในด้านอื่นอีกหลายมิติ เรื่องเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องหนึ่ง พรุ่งนี้จะมีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนซึ่งเราจะมาประเมิน และสังเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็มีผลไปถึงการประชุมอาเซียนด้วยที่ต้องหามาตรการเพื่อรองรับผลกระทบเหล่านี้ เพราะทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบทั้งสิ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

รับ พอใจผลงาน 5 ปี คสช. ขออย่าต่อต้าน – ชี้ฟังคำพระ “กาลเทศะ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการประเมินการทำงานที่ผ่านมาของ คสช. เนื่องจากพรุ่งนี้เป็นวันครบกำหนด 5 ปี ว่า ตนคิดว่าทุกคนก็อยากให้ทำต่อเนื่อง เรื่องอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องสำคัญยังแก้ไขไม่ได้ทั้งระบบ เรื่องใดที่กฎหมายยังไม่มี ยังประกาศใช้ไม่ได้ เหล่านี้ต้องทำต่อทั้งสิ้น เพราะว่าการบริหารประเทศต้องมีความยั่งยืน คือ มีนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรี มี ครม. มีเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพ

“ยอมรับในช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาบ้าง เราทุกคนก็จำเป็นต้องปรับตัว ผมคิดว่านักการเมืองทุกคนทุกพรรคก็ต้องการอย่างนี้แหละ เพราะประชาชนเขาเลือกตั้งมาแล้ว เขาเลือกมา เขาตัดสินใจมา ฉะนั้นก็ต้องรับฟังความคิดเห็น จะทำอย่างไรสิ่งที่เขาต้องการนั้นจะทำได้เป็นขั้นเป็นตอนให้ถูกต้องเสีย ไม่ใช่แก้ปัญหาหนึ่งไปเจออีกปัญหาหนึ่ง แล้วปัญหานั้นก็จะถมทับของเดิมไปอีก ก็ไปกันไม่ได้ทั้งหมด ก็ฝากไว้ด้วยแล้วกัน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในนามหัวหน้า คสช. ตนรู้สึกพอใจ ทุกเรื่องที่ได้ทำนั้นแก้ปัญหาที่หมักหมมมายาวนานต่อเนื่องด้วยกัน เรื่องความสงบเรียบร้อย การแก้ปัญหาให้ชาวนา จำนำข้าว คดีทุจริตคอร์รัปชัน การคืนโฉนดให้ชาวบ้าน ปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหาการบิน ประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การทวงคืนผืนป่า ปรามผู้มีอิทธิพล การจัดระเบียบสังคม และการแก้ปัญหาปากท้องที่ยังต้องแก้กันต่อไป รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

“ขอร้องอย่ามาต่อต้านกันเลย มันมีผลกระทบอื่นๆ ทั้งสิ้น วันก่อนผมไปฟังเทศพระท่านพูดถึง กาลเทศะ ไม่ว่าอะไรก็ตาม การวางตัว การพูดจา ต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ ง่ายๆ คือ ทำอะไรก็ตามที่ไม่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สบายใจ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ที่ต้องการการพัฒนาและปฏิรูปประเทศ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้รัฐบาลได้วางรากฐานประเทศไว้หลายอย่างในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมโยงทางคมนาคมและดิจิทัล ซึ่งหลายอย่างได้เกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลของตน ทั้ง e-payment บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ก็ทำแล้วในรัฐบาลนี้ ก็สุดแล้วแต่ว่ารัฐบาลหน้าจะทำอะไรต่อไป

พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ทั้งหมดที่รัฐบาลนี้ทำมาทั้งการวางโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และการวางแผนปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้านจะเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศและประชาชนต่อไป หลายเรื่องที่มีปัญหาก็เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ เหมือนที่ตนอยู่มาอะไรที่ดีแล้วก็ทำต่อให้ อะไรที่ยังดีไม่มากก็แก้ไขให้ดีขึ้น

ปรับชุมชนคลองเตย-ดูแลแท็กซี่ สองแถว หวัง รัฐบาลใหม่รับไม้ต่อ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวไปถึงปัญหาของผู้มีรายได้น้อย จากการลงพื้นที่ชุมชนคลองเตยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา เมื่อได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ตนรู้สึกเห็นใจ ดังนั้นการจะขยับขยายต่อไปเป็นระยะที่ 2 ที่มีการวางแผนงานไว้แล้ว ในการสร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ มีร้านค้า มีที่ค้าขาย มีการประกอบอาชีพ ให้เขาไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า รวมไปถึงโครงการบ้านล้านหลังก็มีการปรับมาตรการหลายๆ อย่างออกไป เพื่อตอบรับกับข้าราชการชั้นผู้น้อย และประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะมาตรการการเงินการคลังที่ต้องระมัดระวังเรื่องหนี้เสียด้วย เพื่อไม่ให้สร้างหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีระบุถึงเรื่องที่ตนต้องการให้ดูแลเพิ่มเติม ทั้งเรื่องของแท็กซี่ รถสองแถว และชีวิตความเป็นอยู่ในแหล่งชุมชนเก่าที่ยังไม่ได้ย้าย ซึ่งได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าไปดู ซึ่งเรื่องนี้รวมไปถึงพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย

“ผมคิดว่าทุกคนอยากเข้าถึงโอกาสทั้งสิ้น แต่ต้องหากติกาหรือมาตรการที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้มีปัญหาทางกฎหมาย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมอยากจะส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่นั้นจะนำมาสานต่ออย่างไร ผมคิดว่าทุกคนก็อยากจะทำงานการเมืองเพื่อดูแลประชาชน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐบาลและ ครม. กรุณาให้เป็นไปตามขั้นตอน หากถามตนตอนนี้ก็มีปัญหาหมด ตนคิดว่าทุกพรรคการเมืองมีนโยบายของตนเองอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้รัฐบาลใหม่นั้นนำนโยบายของทุกพรรคมาจัดทำเป็นขั้นตอนตามกรอบของนโยบายหลัก ซึ่งในรายละเอียดการปฏิบัติก็ต้องขึ้นกับงบประมาณที่มีอยู่ด้วยไม่ให้เกินสัดส่วนงบประมาณ

ทั้งนี้ตนอยากให้ให้ความสนใจเรื่องพระราชบัญญัติการเงินการคลังและพระราชบัญญัติงบประมาณด้วย และปัญหาต่อไปต่อสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการโดยใช้งบกลาง หรือนำงบประมาณมาช่วยแก้ปัญหาในกรณีเร่งด่วนแล้วอยากให้ท้องถิ่นและชุมชนรักษาไว้ให้ได้ เช่น เรื่องคูคลองคืนน้ำใส การทำบ้านเมืองให้สะอาด ที่ต้องทำให้ได้ทุกจังหวัดและทำให้ต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องที่จะกระทบต่อประชาชนโดยตรง

“วันนี้ผมได้สั่งการไปให้ทุกสวนสาธารณะหาวิธีการปลูกไม้ดอกเพิ่ม เมื่อถึงฤดูออกดอกบ้านเมืองจะได้มีสีสัน ซึ่งตนได้เห็นตัวอย่างจากต่างประเทศที่มีการทำแปลงปลูกดอกไม้ไปตามทางเดิน คนก็จะชอบมาถ่ายรูป สิ่งเหล่านี้ก็เป็นแนวทางทำให้บ้านเมืองสวยงามตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันนี้ผมได้สั่งการไปหลายส่วน ทั้ง กทม. และกระทรวงการคลัง ขอให้ติดตามดู” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ฝ่ายมั่นคงรับทราบ คงมาตรการเข้มชายแดนใต้ถึง “ฮารีรายอ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่กรรมการอิสลามจังหวัด ขอบคุณรัฐบาลที่ดูแลเหตุรุนแรงในชายแดนใต้จนลดลง และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอให้คงมาตรการเข้มงวดจนถึงวันฮารีรายอ ว่า ก็ต้องขอบคุณในความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การแก้ปัญหาความมั่นคงมันต้องทั้งรัฐและประชาชนช่วยกันทุกหมู่เหล่า และวันนี้ได้มีการหารือกันแล้วขอให้คงมาตรการเข้มงวดจนถึงวันฮารีรายอ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงได้รับไปแล้ว

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณไปยังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนในพื้นที่ ที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ส่วนการดูแลความปลอดภัยต่างๆ นั้นเจ้าหน้าที่ได้ดูแลเข้มงวดอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยหมายรวมไปถึงทุกพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมากพอสมควร

“หลายคนออกมาต่อต้าน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย ทุกประเทศเขาก็พึ่งกฎหมายนี่แหละที่จะเป็นตัวกลางในการให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และพ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัฒน์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนัก
ที่มาภาพ : www.thaipublica.go.th

ปรับเกณฑ์กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ – รับซื้อหนี้แบบบุคคลค้ำประกัน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ 3 ประเด็น คือ

1) กำหนดให้การชำระหนี้แทนเกษตรกรทั้งทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันและบุคคลค้ำประกัน โดยกำหนดวิธีการในการชำระหนี้แทนเกษตรกรกรณีบุคคลค้ำประกันให้ชัดเจน และให้กองทุนชำระหนี้แทนได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้สามารถขยายขอบเขตการชำระหนี้ให้ครอบคลุมเกษตรกรที่มีปัญหามากยิ่งขึ้น

“จากเดิมที่จำกัดไว้เฉพาะหนี้ที่มีทรัพย์สินค้ำประกัน แต่จากข้อมูลของเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับกองทุนพบว่ามีจำนวนทั้งหมด 360,000 ราย เป็นมูลหนี้รวม 51,000 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ใช้บุคคลค้ำประกัน 240,000 ราย เป็นมูลหนี้ 24,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือกระทำการต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของเกษตรกรที่อยู่ในระบบ” นายณัฐพรกล่าว

2) แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร จากคราวละ 2 ปี เป็น 4 ปี สำหรับกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร พ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ และกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการของสำนักงานเพื่อให้ได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร ให้สำนักงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรครบวาระ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการทำงานและเพื่อประหยัดงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง

3) แก้ไขให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีสำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาตามความจำเป็น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ

แบ่งผลตอบแทน “ท่าเรือมาบตาพุด” ใหม่ – รัฐได้ลดลง 2,705 ล้านบาท

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 โดยให้เปลี่ยนแปลงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐ โดยหักค่าให้สิทธิการร่วมลงทุนจากเอกชน จากไม่เกิน 516.36 ล้านบาทต่อปี เป็น 720 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยเป็นการส่วนของอัตราคิดลดจาก 2.5% เป็น 4.8% เพื่อสะท้อนต้นทุนทางการเงินของเอกชนที่เหมาะสม

และให้เปลี่ยนแปลงผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่อของการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) จากการร่วมลงทุนกับเอกชนในช่วงที่ 1 และ 2 จะมีผลตอบแทนที่มีมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 6,606 ล้านบาท จากเดิมที่ 9,311 ล้านบาท ทำให้รัฐได้ผลตอบแทนลดลง 2,705 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนทางการเงินที่ 9.75% ลดลงจากเพิ่มที่ 11.8% ขณะที่เอกชนจะได้ผลตอบแทนมากขึ้นจากเดิมที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 11,693 ล้านบาท เป็น 14,371 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,678 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนทางการเงินจาก 10.06% เป็น 10.75%

อนึ่ง เดิม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 วงเงิน 12,900 ล้านบาท โดย กนอ.จะร่วมลงทุนกับเอกชนในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะชำระเงินไม่เกิน 616.36 ล้านบาทต่อปี อัตราคิดลด 2.5% และได้รับค่าให้สิทธิการร่วมลงทุนจากเอกชนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปีเป็นระยะเวลา 30 ปี หรือเป็นมูลค่าชำระสุทธิไม่เกิน 516.32 ล้านบาทต่อปี และเมื่อเอกชนเริ่มประกอบกิจการท่าเรือก๊าซ รวมกับผลตอบแทนขั้นต่ำของ กนอ.ที่ได้จากการร่วมลงทุนในช่วงที่ 1 และ 2 จะมีผลตอบแทนที่มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 9,311 ล้านบาท

อนุมัติวันหยุดฉัตรมงคลเพิ่ม – รวมทั้งปี 19 วัน

พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติวันหยุดราชการเพิ่มเติม โดยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงรับบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ ดังนั้น สลค.จึงเห็นควรกำหนดให้วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล และเป็นวันหยุดราชการประจำปี และได้จัดทำภาพรวมวันหยุดราชการประจำปี โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 19 วัน รวมทั้งเปลี่ยนแปลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยให้สอดคล้องกับประกาศพระบรมราชโองการ

“โดยวันหยุดเหล่านี้เป็นวันหยุดราชการเท่านั้น ส่วนวันหยุดของแรงงานหรือธนาคารจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและกำหนดประกาศต่อไป” พล.ต. อธิสิทธิ์ กล่าว

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 เพิ่มเติม