ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > Yes, Plastic! Things to Rethink นิทรรศการชวนให้คิดและมอง “พลาสติก” ในมุมใหม่ มากกว่าเป็นแค่ขยะตัวร้าย

Yes, Plastic! Things to Rethink นิทรรศการชวนให้คิดและมอง “พลาสติก” ในมุมใหม่ มากกว่าเป็นแค่ขยะตัวร้าย

5 พฤศจิกายน 2018


หุ่นจำลองเทพีไนกี้ ทำจากเม็ดพลาสติก

ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) กรุงปารีส ฝรั่งเศส  มีเทพีไนกี้แห่งซาโมเทรซ (Nike of Samothrace) ประติมากรรมยุคกรีกเฮเลนิสติกสร้างจากหินอ่อน ตั้งกางปีกสง่างามเป็นหนึ่งในศิลปะชิ้นเอกของโลกให้ผู้คนได้มาเยี่ยมชม

แต่วันนี้ที่เมืองไทย ก็มีหุ่นจำลองเทพีไนกี้ “Winged Victory of Samothrace” สูง 260 เซนติเมตร โดยฝีมือคนไทย “อรรฐกรณ์ พรมโกฎิ” ประติมากรผู้ปั้นหุ่นจำลองนี้จากเม็ดพลาสติกกรีไซเคิล ผสมผสานงานช่างและเทคโนโลยี ผ่านความคิดสร้างสรรค์ ออกมาเป็นผลงานศิลปะได้อย่างงดงาม

ผลงานชิ้นนี้ กำลังจัดแสดงอยู่ที่ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC  อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ภายใต้ชุดนิทรรศการ “Yes, Plastic! Things to Rethink  เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่” เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)  และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

นอกจากหุ่นจำลองเทพีไนกี้แล้ว นี้ยังมีผลงานจัดแสดงอื่นๆอีกมากมาย ที่ล้วนแล้วแต่ทำมาจากผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด อาทิ  แบบจำลองถนนพลาสติกแบบโมดูลาร์ ซึ่งทำจากขยะพลาสติกรีไซเคิลจากท้องทะเล ภาพเขียนสีอะคริลิกบนผ้าใบทอจากเส้นใยพลาสติก หรือแม้แต่อวัยวะเทียมมนุษย์ที่สร้างจากพลาสติก

แบบจำลองถนนทำจากขยะพลาสติก

นิทรรศการ Yes, Plastic! Things to Rethink มีคอนเซ็ปต์ต้องการนำเสนอศักยภาพของวัสดุพลาสติกผ่านความคิดสร้างสรรค์ในมิติต่าง ๆ อาทิ ศิลปะ การแพทย์ การคมนาคม ฯลฯ พร้อมทั้งตั้งคำถามการใช้งานทั้งในแง่คุณสมบัติ ผลกระทบ การออกแบบ และการอยู่ร่วมกันกับพลาสติกในอนาคตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในงานนี้ แบ่งการจัดแสดงผลงานออกเป็นส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ส่วนบทนำ คือส่วนจัดแแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของพลาสติกและพลาสติกรีไซเคิล จากการผสมผสานงานช่างและเทคโนโลยี เป็นผลงานศิลปะ อาทิ หุ่นจำลองเทพีไนกี้, จิตรกรรมฝาผนังของราฟาเอล ภาพจำลองศิลปะยุคเรเนซองส์แห่งสำนักเอเธนส์

ส่วนที่หนึ่ง: “เริ่มคิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น” นำเสนอแนวคิดใหม่ในการใช้พลาสติก ที่เปลี่ยนจากการจัดการขยะพลาสติกที่ขั้นตอนสุดท้าย มาเป็นการกำหนดเส้นทางการใช้พลาสติก ตั้งแต่เริ่มต้นการเลือกใช้วัสดุ กระบวนการผลิต จนถึงการกำจัดหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ มีผลงานจัดแสดง อาทิ หนังสือเครเดิล ทู เครเดิล (Cradle to Cradle) หนังสือที่พิมพ์บนแผ่นพลาสติกแทนกระดาษ ซึ่งเกิดจากแนวคิด “ความรู้ไม่ควรสูญหายไปตามกาลเวลา” สะท้อนให้เห็นถึงการเลือกใช้พลาสติกที่มีคุณสมบัติคงทนและไม่ย่อยสลายง่าย

ส่วนที่สอง: “คำถามและการใช้พลาสติก” สร้างความเข้าใจคุณสมบัติของพลาสติก ผ่านการตั้งคำถาม คำถาม ที่จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการใช้พลาสติกในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พลาสติกจะหายไปได้อย่างไร? พลาสติกแข็งแรงได้ขนาดไหน? พลาสติกทดแทนอะไรได้บ้าง? และพลาสติกมีชีวิตได้หรือไม่? โดยมีผลงานตัวอย่าง เช่น ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายโดยหนอนผีเสื้อกลางคืน ถนนพลาสติก สินค้าหรูที่ผลิตจากพลาสติก และอวัยวะเทียมของมนุษย์ที่สร้างจากพลาสติก

สินค้ากระเป๋าหรู ที่ผลิตจากพลาสติก
แบบจำลองอวัยวะเทียมจากพลาสติก

ส่วนที่สาม: “โมเดลการอยู่ร่วมกันในอนาคต” สะท้อนให้เห็นแนวคิดในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์และพลาสติกในอนาคต (New Plastic Economy) ซึ่งเป็นแนวทางที่เน้นให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบวงจรการใช้พลาสติก ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การใช้งาน และการรีไซเคิล โดยก่อให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุด ตลอดจนสามารถหมุนเวียนกลับคืนสู่ระบบการผลิตอีกครั้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า นิทรรศการ Yes, Plastic! Things to Rethink จัดขึ้นเพื่อต้องการสื่อสารให้คนให้ถึงความสำคัญของพลาสติก และใช้พลาสติกกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญคือเมื่อใช้เสร็จแล้ว ยังสามารถนำพลาสติกมาใช้ซ้ำ  รีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑในรูปแบบเดิม หรือรูปแบบใหม่ได้อีกด้วย

“พลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในโลก จากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถเอาไปทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวันและในอนาคตได้  ซึ่งในนิทรรศการจะชี้เห็นว่านอกจากจะนำพลาสติกไปทำเป็นสิ่งของ หรือแพกเกจจิ้งทั่วไปแล้ว ยังนำไปทำเป็นถนน รถยนต์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ได้อีกด้วย” นายปฏิภาณ กล่าว

ทั้งนี้เป็นเพราะการใช้พลาสติก หรือการดูแลจัดการขยะพลาสติก เป็นสิ่งอยู่รอบตัวเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นิทรรศการครั้งนี้จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าพลาสติกสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าที่คิด ไม่ใช่เป็นแค่เป็นตัวร้าย แต่ยังสามารถเอาไปทำงานศิลปะก็ได้ หรือนำพลาสติกที่ใช้แล้ว ไปทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มด้านอื่นๆได้หลากหลาย

“วัตถุประสงค์ของการคิดในงานนี้ คืออยากให้เริ่มคิดว่ามนุษย์สร้างพลาสติกขึ้นมา แต่หลายครั้งเราใช้ไปเพียงแค่ 5 วินาที เช่น ถุงพลาสติก ทั้งที่ในความเป็นจริงเราสามารถคิดการใช้พลาสติกให้เหมาะสมและยืนยาวมากกว่านี้ได้ โดยคิดในแง่ที่ดีของพลาสติก เราอาจมองว่าพลาสติกเป็นมลภาวะ ใช้เวลานานเป็นร้อยๆปีกว่าจะย่อยสลาย แต่ถ้าเราคิดกลับกันว่า ในเมื่อเขาอยู่ได้นาน ทำไมเราไม่คิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกให้มีอายุยืนยาว สามารถใช้ซ้ำต่อไปได้เรื่อยๆ เป็นร้อยๆปีได้เหมือนกัน”

นายปฏิภาณเชื่อว่า คนที่มาดูนิทรรศการนี้จะเกิดไอเดียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกับประเทศได้อีกด้วย

นายปฏิภาณ สุคนธมาน(ซ้าย)- นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช(ขวา)

ด้านนายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)  หรือ CEA กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จัดนิทรรศการนี้ขึ้นเพื่ออยากให้คนกลับมามองพลาสติกในมุมใหม่ว่าจริงๆแล้วเขามีชีวิตหรือมีคาแรคเตอร์อย่างไร แล้วเราจะวางแผนการใช้งานพลาสติกได้อย่างไรบ้าง

“ทุกวันนี้เราใช้พลาสติกแต่ปลายทาง ทำให้พลาสติกหลุดรอดออกไปก่อให้เกิดมลภาวะ เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่หากเราคิดตั้งแต่ต้นทางว่าจะใช้พลาสติกยังไง เพียงใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะด้านการออกแบบ ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้”

สำหรับนิทรรศการ Yes, Plastic! Things to Rethink จัดให้เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ ถึง 17 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.30-21.00 น. (ปิดวันจันทร์) และในระหว่างจัดนิทรรศการจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้ประชาชนผู้สนใจเข้ามาสัมผัสถึงวิธีการคิดใหม่ ในการใช้งานพลาสติกในมุมมองใหม่ๆว่าต้องทำกันอย่างไรบ้าง