
เนื่องจากปัจจุบัน ปรากฏข่าวมากมายในเรื่องของความเกี่ยวพันระหว่างครอบครัวณรงค์เดช กับ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ครอบครัวณรงค์เดช โดย ดร. เกษม ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น นายกฤษณ์ ณรงค์เดช ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น และนายกรณ์ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น จึงมีความจำเป็นต้องส่งแถลงการณ์ต่อสาธารณะเพื่อให้ทราบโดยทั่วกันว่า การดำเนินการใดๆ ของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
โดยรายละเอียดของสาเหตุที่ต้องแถลงการณ์ในครั้งนี้ เริ่มจากประมาณ 2 ปีที่แล้ว นายณพ ณรงค์เดช ได้ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวณรงค์เดช ในเรื่องการจัดหาเงินเพื่อลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ซึ่งต่อมา ครอบครัวณรงค์เดชก็ให้ความช่วยเหลือในการให้ยืมเงินสด การให้นำทรัพย์สินของครอบครัวณรงค์เดช และทรัพย์สินอื่นที่ครอบครัวณรงค์เดชจัดหามาไปเป็นหลักประกันในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม
แต่หลังจากที่ นายณพ ณรงค์เดช ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว นายณพ กลับดำเนินการใดๆ โดยใช้ชื่อเสียง ของครอบครัวณรงค์เดชไปแอบอ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยลำพัง โดยทางครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญหลายประการ ไม่มีส่วนในการรับรู้ถึงรายละเอียดของการดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือบริหารงานใดๆในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการลงทุนที่ผ่านมา แม้นายณพ จะให้ นายกรณ์ ณรงค์เดช ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการฯของ WEH ก็ตาม แต่นายกรณ์ ก็ถูกกีดกันไม่ได้รับรู้ในรายละเอียด หรือร่วมตัดสินใจในการดำเนินการใดๆของ WEH จนนายกรณ์ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทในเวลาต่อมา
ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการดำเนินการใน WEH ของนายณพ ณรงค์เดช นั้น ครอบครัวณรงค์เดชได้รับรู้จากข่าวที่เผยแพร่ทางสาธารณะ ทำให้ทางครอบครัวณรงค์เดชกังวลกับข่าวต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงของครอบครัวณรงค์เดชเป็นอย่างยิ่ง
จึงเรียนชี้แจงเพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน และขอเน้นย้ำว่า การดำเนินการใดๆของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวณรงค์เดชไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และหากมีการนำชื่อของกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น หรือครอบครัวณรงค์เดชไปใช้โดยไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกครอบครัวณรงค์เดช อันได้แก่ ดร.เกษม ณรงค์เดช นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช อยู่ด้วย ขอให้ทราบว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการแอบอ้าง โดยครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับรู้หรือให้ความยินยอมทั้งสิ้น โดยจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด
อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 บริษัทเน็กซ์โกลบอล อินเวสเมนท์ บริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ และ บริษัทซิมโฟนี่ พาร์เนอร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทรีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี่ หรือ อาร์อีซี ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายณพ ณรงค์เดช รองประธานคณะกรรมการ บริษัท วินด์ เอเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด รวมถึงนายเกษม ณรงค์เดช ซึ่งเป็นบิดา และพวกรวม 13 ราย ในความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท ที่ศาลแขวงพระนครใต้
บริษัททั้ง 3 แห่งในฐานะเจ้าหนี้ ได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อนายณพ ณรงค์เดช และพวก จากกรณีที่นายณพและพวกได้ร่วมกันโอนหุ้นและปกปิดซ่อนเร้นข้อเท็จจริงในการโอนหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังลมรายใหญ่ ในส่วนที่บริษัทอาร์อีซีถือหุ้นอยู่ประมาณ 59.4% ไปให้แก่นายเกษม ณรงค์เดช โดยมีเจตนาเพื่อมิให้บริษัททั้ง 3 แห่งที่เป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ทั้งๆ ที่หุ้นในส่วนที่อาร์อีซีถืออยู่นั้น ได้ถูกคำสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายโอน เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทของผู้ถือหุ้นในคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ รวมถึงห้ามทำธุรกรรมการเงินเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าว
ข้อพิพาทดังกล่าวเกิดจากเจ้าหนี้ทั้ง 3 บริษัท ได้ทำรายการขายหุ้น บริษัท อาร์อีซี ให้กับบริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด (ฟูลเลอร์ตัน) และบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (เคพีเอ็นอีเอช) ของนายณพ ณรงค์เดช นักธุรกิจ กลุ่มเคพีเอ็นกรุ๊ปโดยมีสัญญาซื้อขายที่กำหนดรายละเอียดจำนวนหุ้น ราคา และระยะเวลาชำระหนี้ที่ชัดเจน แต่กลับมีการผิดนัดชำระ และขอเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้หลายครั้ง
ส่งผลให้เมื่อปี 2559 บริษัทเน็กซ์โกลบอล อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด , ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด ได้ยื่นฟ้อง เคพีเอ็นอีเอช เพื่อเรียกให้ชดใช้เงินที่ค้างชำระบางส่วนตามสัญญาซื้อขายหุ้นอาร์อีซี ส่วนบริษัทซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ ลิมิเต็ด ได้ยื่นฟ้องบริษัทฟูลเลอร์ตัน ต่ออนุญาโตตุลาการ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเรียกคืนหุ้นอาร์อีซี ในส่วนที่บริษัทฟูลเลอร์ตันถืออยู่ ซึ่งนายณพ ณรงค์เดช เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน เคพีเอ็นอีเอช และ ฟูลเลอร์ตัน ทั้งในทางตรงและทางอ้อม
ทั้งนี้อนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 ให้บริษัทฟูลเลอร์ตันชำระเงินงวดแรกพร้อมดอกเบี้ยให้กับบริษัทซิมโฟนี่ ไม่ใช่การคืนหุ้นที่ฟูลเลอร์ตันถืออยู่ในอาร์อีซี และให้บริษัทเคพีเอ็นเอนเนอร์ยี่โฮลดิ้งชำระดอกเบี้ยบางส่วนให้กับบริษัทเน็กซ์โกลบอล และบริษัทไดนามิค ลิ้งค์ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ผู้แทนของฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็นอีเอช ได้แจ้งต่ออนุญาโตตุลาการว่า อาร์อีซี ได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัทวินด์ฯไปแล้ว เมื่อไตรมาส 2 ของปี 2559
และเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ภายหลังที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดและทางบริษัทฯได้รับทราบว่า นายณพ ได้ทำการขายหุ้นทั้งหมดออกไปแล้ว จึงได้แจ้งข้อมูลให้สาธารณชนทราบผ่านสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศว่า หุ้นบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่จำนวน 59.4 % ที่ถือโดยอาร์อีซี ได้ถูกห้ามจำหน่ายจ่ายโอน เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทของผู้ถือหุ้นในคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ รวมถึงห้ามทำธุรกรรมการเงินเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าว ซึ่งคำสั่งได้รวมถึงหุ้นทั้งหมดของเคพีเอ็นเอนเนอร์ยี่ประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการว่า การโอนหุ้นหนี เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ เนื่องจากหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินอย่างเดียวที่มีมูลค่าของบริษัทโฮลดิ้ง ดังนั้นทั้ง 3 บริษัทจึงได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญานายณพและพวกในครั้งนี้
สรุป ข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการศาลระหว่างประเทศเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้านานาชาติ (ศาล ICC)
เป็นคดี ICC เลขที่ 21790/CYK/PTA
ส่วนในคดีเลขที่ 21790/CYK/PTA มีคำตัดสินชี้ขาดบางส่วนให้ KPNEH ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีให้แก่ NGI และ DLV กับห้ามจำหน่ายจ่ายโอนหุ้น WEH ไม่ว่าวิธีการใด จนกว่าจะได้ชำระราคาซื้อธุรกรรมรวมทั้งหมดให้ NGI และ DLV เรียบร้อยแล้ว
สรุป ข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการศาลระหว่างประเทศเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้านานาชาติ (ศาล ICC)