ThaiPublica > เกาะกระแส > ลำดับเหตุการณ์ซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ ของ “ณพ ณรงค์เดช” กรณีถูกฟ้องคดีโกงเจ้าหนี้

ลำดับเหตุการณ์ซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ ของ “ณพ ณรงค์เดช” กรณีถูกฟ้องคดีโกงเจ้าหนี้

3 พฤษภาคม 2018


นายณพ ณรงค์เดช ที่มาภาพ : http://www.naewna.com/lady/336137

จากข่าวกรณี “ณพ ณรงค์เดช กับพวก” ถูกฟ้องโกงเจ้าหนี้ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท – “ครอบครัวณรงค์เดช”แถลงการณ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

“ไทยพับลิก้า”ลำดับเหตุการณ์การซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ ของ นายณพ ณรงค์เดช รองประธานคณะกรรมการ บริษัท วินด์ เอเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด

1.ในปี 2558 บริษัทซิมโฟนี่ พาร์เนอร์ (เอสพีแอล) บริษัทเน็กซ์โกลบอล อินเวสเมนท์ (เอ็นจีไอ) และ บริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ (ดีแอลวี) ได้ขายหุ้นประมาณร้อยละ 99 ของหุ้นใน เคพีเอ็น อีที (ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่าบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด และถือหุ้นในวินด์ เอนเนอร์ยี่ในสัดส่วนร้อยละ 59.4) ในราคาตามสัญญาทั้งสิ้น 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดชำระเงินเป็นหลายงวด ผู้ซื้อหุ้นดังกล่าวได้แก่ ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช ซึ่งทั้งสองบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทกระดาษซึ่งมีนายณพ ณรงค์เดชเป็นเจ้าของและมีอำนาจควบคุม ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชได้ชำระค่าหุ้นงวดแรกเป็นเงินเพียงประมาณ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ จากยอดเงินงวดแรกที่ต้องชำระตามสัญญาจำนวน 175 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกเหนือจากเงินยอดเงินงวดแรกส่วนที่เหลือจำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ยังมีเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวนประมาณ 525 ล้านเหรียญสหรัฐที่จะต้องชำระเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมของวินด์ เอนเนอร์ยี่ ได้รับอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงิน และเมื่อมีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ ข้อกำหนดในเรื่องนี้ระบุไว้ในสัญญาขายหุ้นสองฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2558

โดยเหตุที่ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชไม่ชำระค่าหุ้นงวดแรกให้ครบถ้วน เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีจึงได้ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการของไอซีซี

เงินจำนวน 90 ล้านเหรียญสหรัฐที่ KPNEH ชำระเมื่อปลายปี 2558 นั้น มีที่มาหลักๆ จาก KPNEH ออกตั๋ว B/E ระยะสั้นหลายฉบับ รวมเป็นเงิน 2 พันล้านบาทซึ่งตั๋ว B/E ดังกล่าวนั้นได้มีการต่ออายุ (roll over)หลายครั้ง และจนกระทั่งในที่สุดเมื่อปลายปี 2559 เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่ยินยอมต่ออายุตั๋วให้ จึงเป็นเหตุให้นาย ณพ ณรงค์เดช จำเป็นต้องไปขอยืมเงินจากครอบครัวเพื่อมาชำระหนี้ตั๋ว B/E เหล่านี้ และ เงินจำนวน 300 ล้านบาท ที่เบิกมาจาก วินด์ เอนเนอร์ยี่ จนเป็นเหตุให้ผู้จัดการฝ่ายบัญชีของวินด์ฯทำหนังสือร้องเรียนผู้ถือหุ้นและลาออกและในที่สุดผู้สอบบัญชีคือ KPMG ก็ลาออกในเดือนพฤษภาคม 2559 (โดยข้อเท็จสองข้อนี้สามารถตรวจสอบได้จาก (1) เว็บไซต์สมาคมตราสารหนี้ไทย และ(2) จดหมายลาออกของผู้จัดการฝ่ายบัญชีของวินด์ ลงวันที่ 29 เมษายน 2559 ตามลำดับ)

2.ในกระบวนการของอนุญาโตตุลาการ เอสพีแอล เอ็นจีไอ และ ดีแอลวี ได้เรียกร้องให้มีคำชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (1) ให้ยกเลิกการขายหุ้นระหว่างเอสพีแอลกับฟูลเลอร์ตัน หรือ (2) ให้มีการชำระเงินที่ต้องชำระเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย ในเดือนกันยายน 2560 คณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซีได้สั่งให้เคพีเอ็น อีเอชและฟูลเลอร์ตันชำระเงินจำนวนประมาณ 113 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับยอดเงินงวดแรกส่วนที่เหลือของราคาตามสัญญาและดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าว และได้สั่งมีคำสั่งห้ามการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ในสัดส่วนร้อยละ 59.4 ซึ่งเคพีเอ็น อีทีเป็นเจ้าของ จนกว่าจะได้มีการชำระเงินตามสัญญาจนครบถ้วน โดยระบุว่าการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นดังกล่าวน่าจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงซึ่งอันไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้

อย่างไรก็ตามคณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซี ไม่ได้วินิจฉัยว่าสัญญาขายหุ้นไม่สามารถยกเลิกได้ ในทางตรงกันข้าม คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชไม่ชำระค่าหุ้นงวดแรกพร้อมดอกเบี้ยภายในกำหนดอันเป็นการผิดสัญญาขายหุ้น และยังวินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาขายหุ้นนั้นกระทำได้โดยการมีหนังสือแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร นอกจากนี้ กระบวนการอนุญาโตตุลาการยังดำเนินต่อไป และคณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซี จะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องส่วนที่เหลือของเอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีคิดเป็นเงินจำนวนกว่า 525 ล้านเหรียญสหรัฐ (และดอกเบี้ยของจำนวนเงินดังกล่าว)ในไม่ช้า

3.เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีได้มีคำขอเป็นหนังสือให้ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็นอีเอชชำระเงินตามคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซี ถึงกระนั้น ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชก็ยังปฏิเสธที่จะชำระเงินตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยหน่วงเหนี่ยวการตอบข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเวลากว่า 30 วัน ไม่มีสิ่งใดขัดขวางเคพีเอ็น อีเอชและฟูลเลอร์ตันไม่ให้โอนเงินที่ตนค้างชำระทางโทรเลขไปยังบัญชีธนาคารของเอสพีแอล เอ็นจีไอและ ดีแอลวี หากบริษัททั้งสองต้องการที่จะกระทำการดังกล่าว

4.นอกจากนี้ หลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซีได้มีคำสั่งในเดือนกันยายน 2560 ห้ามโอนหุ้นร้อยละ 59.4 ของวินด์ เอนเนอร์ยี่แล้ว ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชได้ถูกสั่งหลายครั้งให้เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าเคพีเอ็น อีทียังเป็นเจ้าของหุ้นของ วินด์ เอนเนอร์ยี่อยู่หรือไม่ จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2560 ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชก็ได้เปิดเผยในที่สุดว่า เคพีเอ็นอีทีได้โอนหุ้นร้อยละ 59.4 ของวินด์ เอนเนอร์ยี่ซึ่งเคพีเอ็น อีทีเป็นเจ้าของไปยังบุคคลที่สามตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2559 ซึ่งฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อผู้รับโอน

การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวทำให้เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีต้องให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนในวงจำกัดเพื่อแจ้งต่อสาธารณชนเกี่ยวกับคำสั่งห้ามโอนหุ้นร้อยละ 59.4 ของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ และเสนอเงินจูงใจให้แก่บุคคลใดก็ตามที่ที่มีข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานะของหุ้นดังกล่าว (วันที่ 11 พฤศจิกายน 2560) หลังจากนั้นไม่นาน เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีก็ได้รับรู้ถึงตัวของผู้รับโอนหุ้นขั้นต้นของหุ้นร้อยละ 59.4 ของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ว่าเป็นนายเกษม ณรงค์เดช ผู้ซึ่งเป็นบิดาของนายณพ ณรงค์เดช โดยที่ไม่กี่วันก่อนมีการโอนหุ้นร้อยละ 59.4 ของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ให้นายเกษมนั้น กรรมการจำนวน 5 คนของ เคพีเอ็น อีที (นายณพ ณรงค์เดช นายธันว์ เหรียญสุวรรณ นาย กฤษณ์ ณรงค์เดช นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ และนายอมาน ลาคานี) ได้ลาออก และได้ถูกแทนที่โดยกรรมการใหม่จำนวน 3 คนซึ่ง 2 คนมาจากข้าราชการทหารเกษียณอายุ (นายวรนิต ไชยหาญ และนายไพร บัวหลวง) และ ทนายความ (นายสันติ ปิยะทัต) โดยกรรมการทั้งสามคนดังกล่าวนี้เองที่เป็นผู้โอนหุ้นร้อยละ 59.4 ของวินด์ เอนเนอร์ยี่ไป การเปลี่ยนแปลงกรรมการของเคพีเอ็น อีทีได้จดทะเบียนไว้กับ กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 (แบบ บอจ.1) และการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ เคพีเอ็น อีทีไม่ได้ยื่นงบการเงินประจำปี 2559 ต่อกระทรวงพาณิชย์ (เนื่องจากการยื่นงบการเงินจะทำให้เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีรู้ถึงการโอนหุ้นร้อยละ 59.4 ของวินด์ เอนเนอร์ยี่) ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะและตรวจสอบได้กับกระทรวงพาณิชย์ (หนังสือรับรอง สจ4).

รวมทั้งทำให้ทราบว่า ราคาขายหุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ที่เคพีเอ็น อีทีขายให้แก่นายเกษม ณรงค์เดชนั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ของราคาที่ซื้อมาแต่แรก (2.4 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ) และเคพีเอ็นอีทีก็ไม่เคยมีเงินค่าขายหุ้นจำนวน 2.4 พันล้านบาทในบัญชีของตนเลยไม่ว่า ณ เวลาใด ณ สิ้นปี 2559 และเคพีเอ็นอีทีมีเงินในบัญชีอยู่เพียง 5 ล้านบาทเศษเท่านั้น

กล่าวโดยสรุป ในปัจจุบัน เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวี ต้องเผชิญกับสถานการณ์ดังต่อไปนี้ ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชมีเงินทุนชำระแล้วในจำนวนที่จำกัดมาก (50,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับทุนเรือนหุ้นของฟูลเลอร์ตัน และ 2.5 ล้านบาทของเคพีเอ็น อีเอช) ฟูลเลอร์ตัน และเคพีเอ็น อีเอชไม่มีทรัพย์สินสำคัญอื่นใดนอกจากหุ้น เคพีเอ็น อีที ในส่วนของของเคพีเอ็น อีทีนั้นก็ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินรายการเดียวของตนซึ่งได้แก่หุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ในสัดส่วนร้อยละ 59.4 อีกต่อไป

ดังนั้นทั้งสามบริษัทได้แก่ ฟูลเลอร์ตัน เคพีเอ็น อีเอช และเคพีเอ็น อีทีจึงเป็นบริษัทที่ไม่มีมูลค่า แต่ขณะเดียวกัน ฟูลเลอร์ตัน และเคพีเอ็น อีเอช เป็นจำเลยในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของไอซีซี เกี่ยวกับยอดเงินส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ชำระตามสัญญา ซึ่งมีมูลค่ากว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (และดอกเบี้ยของจำนวนเงินดังกล่าว)

ทำให้ เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีได้เริ่มต้นดำเนินคดีอาญาใน ศาลแขวงพระนครใต้ในข้อหา “โกงเจ้าหนี้” (คดีหมายเลขดำเลขที่ อ.157/2561) การไต่สวนมูลฟ้องจะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ซึ่งจะพิจารณาโดยเปิดเผยต่อสื่อและสาธารณชนทั่วไป

เอสพีแอล เอ็นจีไอและ ดีแอลวีได้ฟ้องกรรมการมากกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดของวินด์ เอนเนอร์ยี่ว่าได้สมคบกับ เคพีเอ็น อีที กับ เคพีเอ็น อีเอช และนายเกษม ณรงค์เดชในการ “โกงเจ้าหนี้” ได้แก่

    1.นายณพ ณรงค์เดช
    2.นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์
    3.นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์
    4.นายธันว์ เหรียญสุวรรณ
    5.นายอมาน ลาคานี

หมายเหตุ : แก้ไขล่าสุดวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.50 น.