ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > หมอวรงค์โพสเฟสบุ๊กแจง อาจพบข้าวหาย 50%

หมอวรงค์โพสเฟสบุ๊กแจง อาจพบข้าวหาย 50%

21 กันยายน 2014


บริบท

โดยข้อความข้างต้นเป็นข้อความที่หมอวรงค์พยายามบอกเล่าความล้มเหลวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา ว่าก่อให้เกิดผลเสียกลายเป็น “ที่สุด” ในด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินมากที่สุด ขาดสภาพคล่องเร็วที่สุด มีการโกงมากที่สุด “ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ” ทำลายการส่งออกมากทีสุด ชาวนาตายมากที่สุด ใช้โกดังเก็บข้าวมากที่สุด มีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บมากที่สุด ใช้รัฐมนตรีดูแลมากที่สุด ชาวนาต่างชาติได้ประโยชน์มากที่สุด มีข้าวต่างชาติส่งมาไทยมากที่สุด หายนะต่อชาติมากที่สุด วิธีโกงซับซ้อนที่สุด ข้าวหายมากที่สุด ข้าวเน่าและเสื่อมสภาพมากที่สุด ปกปิดมากที่สุด และตอบคำถามไม่ได้มากทีสุด

 

จากข้อมูลต่างๆ ของหมอวรงค์ นำไปสู่การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนกรณีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวกับนายบุญทรง เตริยาภริมย์ ร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง 15 ราย และส่งผลให้มีการดำเนินการกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้เกิดการความเสียหายต่อรัฐ ในเวลาต่อมา

 

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ตามคำสั่ง คสช. ที่172/2557 ขึ้นมาดูแลเรื่องข้าว และจัดตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ตามคำสั่ง คสช. ที่177/2557 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนของปริมาณ และคุณภาพข้าวคงค้างในสต็อกที่ได้รับรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่าคงเหลืออยู่ 18 ล้านตันนั้น ตรงกันหรือไม่ ได้รับความเสียหายหรือมีข้าวเสื่อมคุณภาพมากน้อยเพียงใด

 

ซึ่งต้องตรวจสอบโกดังจำนวนกว่า 1800 โกดัง และไซโลอีก 137 ไซโล ทั่วประเทศที่รับดูแลข้าวของรัฐบาล โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2557 เรื่อยมา กินระยะเวลากว่า 2 เดือน

 

บทวิเคราะห์

การดำเนินการตรวจสต็อกข้าวทั่วประเทศของคณะทำงานจำนวน 100 ชุด นั้นมีการรายงานผลเป็นระยะๆ ว่าโกดังข้าวแต่ละแห่งมีความผิดปกติอย่างไร พบข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวหาย ข้าวไม่ตรงสเป็ก โรงสีไม่ให้ความร่วมมือ ฯลฯ

 

ตามรายงานของ Voice TV วันที่ 8 กันยายน 2557 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผยเหตุผลที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณฯ ทำงานล่าช้าว่า

 

"โกดังเหล่านี้ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ กองกระสอบข้าวไม่ยอมตั้งให้เจ้าหน้าที่ และยังจะย้อนมาที่ผู้ตรวจด้วยว่า ผู้ตรวจอยากตรวจเร็วนักก็ให้มาตั้งกระสอบข้าวกันเอง ซึ่งผู้ตรวจแต่ละท่านอายุมากๆ กันทั้งนั้น แต่ว่าผมขอไม่ระบุชื่อโกดังที่เป็นปัญหา เพราะเคยเป็นบทเรียนสำคัญที่ผมเคยโดนมาแล้ว แต่อยากจะบอกให้น้องๆ ได้เห็นกันว่า เรื่องแบบนี้คงจะมีอะไรที่เป็นนัยยอยู่"

 

ต่อมาได้มีการรายงานผลการดำเนินงานผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” โดย พล.อ. ประยุทธ์ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ระบุว่า

 

นาทีที่ 9.15

 

 

“จากการตรวจสอบทางกายภาพของข้าวทั่วประเทศตามโกดังต่างๆ ไปแล้ว 1,290 แห่ง จากที่มีทั้งหมด 1,787 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 72% ใน 72% ที่ตรวจสอบไปแล้วประมาณ 80% มีคุณภาพดีและถูกต้อง และอีกประมาณ 10% ที่ยังมีปัญหาอยู่ ไม่ตรงกับที่แจ้งไว้และเสื่อมคุณภาพ

 

ตัวเลขตัวนี้ บางคนบอกว่าทำไมน้อย จะมากหรือน้อยเป็นไปตามข้อมูลที่ให้มา ข้อมูลให้มาตอนเริ่มตรวจสอบ เราไปตรวจสอบเพื่อจะระบายข้าว เมื่อไปตรวจสอบได้ไปพบว่ายอดที่ให้มากับในคลังไม่ตรงกัน ไปดูว่าไม่ตรงกันเพราะอะไร เสื่อมสภาพเท่าไร ตรงไหนผิด ตรงไหนถูก ก็ไปดำเนินคดี อันนี้แค่ปลายเหตุ ที่ตรวจสอบข้าว ผมว่ามีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง จะผิดจะถูกไปว่ากันอีกที อย่าเพิ่งมาจับผิดกันตรงนี้ นี่คือการกระทำตรวจสอบที่ปลายเหตุ”

 

ซึ่งก่อนหน้าไม่กี่วันได้มีการเปิดเผยผลตรวจสต็อกดังกล่าวออกมาบ้างแล้วจากคณะกรรมการตรวจสอบปริมาณข้าวฯ ที่รายงานผลต่อ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557

 

และจากการรายงานเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 ที่มีการดำเนินการไปแล้วประมาณร้อยละ 95 ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบคุณภาพข้าว นางจินตนา ชัยยวรรณาการ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานตรวจสอบคุณภาพข้าว เปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่างข้าวจำนวน 11,774 ตัวอย่างจากโกดังกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้ได้รับผลกลับมาแล้วครึ่งหนึ่ง

 

ผลการตรวจสอบพบว่า ข้าวส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามมาตรฐานข้าวของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น เมล็ดเหลืองมาก มีปลายข้าวมาก การสีข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งยังไม่สามารถระบุปริมาณที่ชัดเจนได้ เนื่องจากจะต้องรอการตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการตรวจสอบข้าวหอมมะลิที่นอกจากตรวจสอบทางกายภาพแล้วยังต้องตรวจสอบดีเอ็นเอด้วย

 

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เปิดเผยว่า  ได้รับแจ้งผลการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการแล้ว 8,779 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 11,926 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 73.6 โดยคาดว่าการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม 2557 

 

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 พล.อ.ประยุธ์ ได้ทำการแถลงถึงผลการตรวจสต๊อกข้าว ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่า ตามสรุปข้อมูลจากกระทรวงการคลัง มีข้าวสารคงค้างอยู่ในสต็อก 18 ล้านตัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นข้าวคุณภาพดี 10% ข้าวคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน 70% ข้าวป่นหรือข้าวเสื่อมสภาพมีประมาณ 5% และข้าวสูญหายอีก 1 แสนตัน

 

สอดรับกับรายงานของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามีข้าวเสื่อม หรือข้าวด้อยคุณภาพในโครงการรับจำนำข้าวทั้งสิ้น 85% -ขณะเดียวกัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการเปิดเผยงานวิจัย ของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ เรื่อง "การคอร์รัปชัน กรณีศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด" ตอกย้ำถึงปัญหาในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร โดยในรายงานได้ระบุที่มาของข้าวคุณภาพต่ำส่วนหนึ่ง (40%) ว่าเป็นการนำข้าวคุณภาพต่ำมาคืนให้รัฐบาลหลังจากมีการลักลอบนำข้าวคุณภาพดีไปขาย คิดเป็นมูลค่า 32,481 ล้านบาท

 

และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 5/2557 พล.อ. ปรยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงภายหลังการประชุมถึงผลของการตรวจสอบคุณภาพข้าวในสต๊อกที่เหลืออยู่จากโครงการรับจำนำข้าว และแนวทางการบริหารจัดการสต๊อกข้าวดังกล่าว  ว่า ปริมาณข้าวในสต๊อกที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะทำงานตรวจสต๊อกข้าวมีทั้งสิ้น 16 ล้านตัน เป็นข้าวที่ผ่านมาตรฐาน 2.35 ล้านตัน ข้าวคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ยังสามารถนำมาปรับปรุงและขายได้ ประมาณ 13 ล้านตัน และเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพทั้งสิ้น 7 แสนตัน

 

"ข้าวดังกล่าวได้แบ่งเป็นเกรดไว้ คือ เกรดเอ (ข้าวที่ผ่านมาตรฐาน) ขายได้ตามมาตรฐาน เกรดบี (ข้าวเสื่อมคุณภาพ) คือข้าวที่ต้องมีการปรับปรุง ราคาจะตกลง ส่วนข้าวเกรดซี (ข้าวเสื่อมคุณภาพ) คือส่วนที่จะต้องแจ้งความและดำเนินคดี ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) เพราะถือว่าเป็นการปิดบัญชีครั้งสุดท้ายแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ในเบื้องต้นมูลค่าการขาดทุนโดยประมาณเมื่อรัฐบาลขายขาวหมดจะอยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาท จากโครงการรับจำนำข้าวทั้ง 4 โครงการ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้รับผิดชอบการระบายข้าวจะเป็นผู้ประเมินผลขาดทุนที่แท้จริงต่อไป

 

สรุป

แม้ในเบื้องต้น จะมีการสรุปผลตรวจสต๊อกข้าวออกมาในวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ตามคำแถลงผ่านรายการคืนความสุขฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช. ว่าการตรวจสอบดำเนินการไปแล้ว 72% ซึ่งพบข้าวคุณภาพดีถึง 80% ชี้ให้เห็นว่ามีอาจมีเพียง 20% เท่านั้นที่เป็นข้าวไม่ได้คุณภาพ

 

และจากการให้สัมภาษณ์ของนางจินตนา ชัยยวรรณาการ อธิบดีกรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 มีความคืบหน้าไปแล้ว 95% ผลการตรวจสอบพบว่าข้าวส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามมาตรฐานข้าวของกระทรวงพาณิชย์ และมีบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

 

ต่อมาได้มีแถลงจากทางนายกรัฐมนตรี ที่ระบุถึงปริมาณข้าวคงค้างอยู่ในสต็อก 18 ล้านตัน ว่า ในจำนวนนี้แบ่งเป็นข้าวคุณภาพดี 10% ข้าวคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน 70% ข้าวป่นหรือข้าวเสื่อมสภาพมีประมาณ 5% และข้าวสูญหายอีก 1 แสนตัน ผนวกกับคำยืนยันจากแหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวไทยพับลิก้า และรายงาน เรื่อง "การคอร์รัปชัน กรณีศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด " โดย ดร.นิพนธ์ และคณะ

 

ทั้งนี้ภายหลังการประชุม นบข.ครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557  พล.อ. ปรยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลของการตรวจสอบคุณภาพข้าวในสต๊อกที่เหลืออยู่จากโครงการรับจำนำข้าว ว่า ปริมาณข้าวในสต๊อกที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะทำงานตรวจสต๊อกข้าวมีทั้งสิ้น 16 ล้านตัน เป็นข้าวที่ผ่านมาตรฐาน 2.35 ล้านตัน ข้าวคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ยังสามารถนำมาปรับปรุงและขายได้ ประมาณ 13 ล้านตัน และเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพทั้งสิ้น 7 แสนตัน 

 

จากการแถลงผลการตรวจสอบข้าวอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 และผลสรุปอย่างเป็นทางการผ่านการประชุม นบข. ครั้งที่ 5/2557 จะเห็นได้ว่าข้าวที่ต่ำกว่ามาตรฐานมีปริมาณสูงที่สุดถึง 80% ถัดมาเป็นข้าวผ่านมาตรฐาน 14% ส่วน อีกประมาณ 5% เป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ โดยขข้าวเน่าและเข้าวเสื่อมสภาพไม่ได้มีปริมาณสูงที่สุดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่าข้าวต่ำกว่ามาตรฐานนั้นมีสัดส่วนถึง 50% และเกินจากที่ประเมินไว้ 20%

 

ดังนั้น ข้อความของ นพ.วรงค์ ที่ว่า “ข้าวเน่าและเสื่อมสภาพมากที่สุด ได้รับการพิสูจน์รายวันที่คณะผู้ตรวจร่วมกับทหารตรวจโกดังและไซโลทั่วประเทศ แทบจะพบเห็นข้าวเน่า…กระจายไปทุกภาคของประเทศ จนคนในวงการข้าวบางท่านประเมินว่าข้าวดีกับข้าวต่ำมาตรฐานอาจสูงถึงสัดส่วน 50%…” ของหมอวรงค์ จึงจัดอยู่ในเกณฑ์ “ก้ำกึ่ง”

 

ป้ายคำ :