เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย นายกัมพล ปั้นตะกั่ว และ นางสาวชมพูนุช นันทจิต นักวิจัย ร่วมกันนำเสนองานวิจัยหัวข้อ การคอร์รัปชัน กรณีศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด โดยระบุถึงวัตถุประสงค์ว่าในระหว่างปี 2554-2557 โครงการจำนำข้าวทุกเม็ดถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากนักวิชาการ นักการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ได้แก่ การขาดทุนจำนวนมาก การสร้างภาระหนี้สาธารณะ ผลกระทบต่อคุณภาพข้าวไทย การส่งออก เป็นต้น ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แม้แต่รัฐบาลและนักวิชาการผู้สนับสนุนนโยบายจำนำข้าวก็ยอมรับว่าโครงการนี้มีการทุจริต
งานวิชาการที่ศึกษาเรื่องการทุจริตของโครงการรับจำนำข้าวยังมีจำนวนจำกัดงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นเพียงการบรรยายลักษณะของการทุจริต งานเหล่านี้ไม่สามารถประมาณการขนาดของวงเงินทุจริตในภาพรวม ทั้งนี้เพราะนักวิจัยไม่สามารถรวบรวมข้อมูลการทุจริตแต่ละลักษณะว่ามีขนาดมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการทุจริตเป็นธุรกรรมลับๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ในการดำเนินการหรือควบคุมดูแลโครงการกับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายย่อมจะไม่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของตนเอง (หรือที่เรียกว่าอาชญากรรมไร้เจ้าทุกข์)
นอกจากนั้น สื่อมวลชนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการทุจริตในขั้นตอนของการรับซื้อข้าวเปลือก การสีข้าว และส่งมอบข้าวสารเข้าโกดังกลางของรัฐ แต่อันที่จริง การคอร์รัปชันที่มีมูลค่ามากที่สุดเกิดขึ้นในขั้นตอนของการระบายข้าวสารของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการแบบลับๆ ระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงกับบริษัทพรรคพวกของรัฐบาลไม่กี่ราย ฉะนั้นการวิจัยเรื่องการทุจริตจะต้องหาวิธีการศึกษาทางอ้อมเพื่อประมาณการขนาดความเสียหายจากการทุจริต ตัวเลขขนาดความเสียหายนี้เป็นตัวเลขสำคัญที่จะชี้อนาคตของโครงการรับจำนำข้าว และป้องกันความเสียหายต่อฐานะการคลังของประเทศและความเสียหายต่ออนาคตข้าวไทย (อ่านเพิ่มเติม) สู่แนวคิดใหม่ของนโยบายอุดหนุนกาคเกษตร บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว
บทสรุปงานวิจัยจำนำข้าว_นิพนธ์ พัวพงศกร
บทสรุปงานวิจัยจำนำข้าว_นิพนธ์ พัวพงศกร