
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559 นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ลงนามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1529/2559 ย้ายข้าราชการกรมศุลกากร 6 ราย มีรายชื่อดังนี้
1. นายถวัลย์ รอดจิตต์ นายด่านศุลกากรวังประจัน ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรมุกดาหาร กรมศุลกากร
2. นายวัลลภ ซุ่ยรักษา ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค-การตรวจสอบสินค้า สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรวังประจัน กรมศุลกากร
3. นางมนทิรา เชิดชู นายด่านศุลกากรมาบตาพุด ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรท่าอากาศยานเชียงใหม่ กรมศุลกากร
4. นายบุญมา สิริธรังศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมทางศุลกากรพื้นที่ภาคที่ 1 สำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรมาบตาพุด กรมศุลกากร
5. นางหัทยา ทิพยะวัฒน์ นายด่านศุลกากรท่าอากาศยานภูเก็ต ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรเชียงคาน กรมศุลกากร
6. นายคณิท อิศดุลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบผู้โดยสาร สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรท่าอากาศยานภูเก็ต กรมศุลกากร
แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่า คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการซี 9 กรมศุลกากรครั้งนี้ ที่น่าสนใจเป็นตำแหน่งของนางมนทิรา เชิดชู อดีตเลขาหน้าห้องนายศุภชัย พิศิษฐวานิช อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรมาบตาพุด ซึ่งถือเป็นด่านศุลกากรเกรด A แต่ละปีจัดเก็บภาษีได้เกือบ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี รองจากด่านศุลกากรแหลมฉบังและสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ถูกย้ายไปเป็นนายด่านศุลกากรท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งเป็นด่านขนาดเล็กจัดเก็บภาษีนำส่งกระทรวงการคลังปีละไม่กี่ร้อยล้านบาทต่อปี คำสั่งย้ายนางมนทิราออกจากตำแหน่งครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็นการลดชั้น ขณะที่นายบุญมา สิริธรังศรี นักวิชาการศุลกากรเชี่ยวชาญ สำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 ได้รับการโปรโมทให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรมาบตาพุดแทน
“ก่อนหน้านี้นายกุลิศ (สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร)เป็นผู้เสนอชื่อนางมนทิรา ย้ายจากตำแหน่งนายด่านศุลกากรท่าอากาศยานภูเก็ตมาดำรงตำแหน่งนายด่านมาบตาพุดเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เนื่องจากนางมนทิรา อาวุโสกว่านายบุญมา ต่อปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนคำสั่งย้ายนางมนทิราครั้งนี้ ศุลกากรหลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าปลัดกระทรวงการคลังเป็นคนสั่งย้าย เพราะเกี่ยวข้องกับกรณีการยกเว้นภาษีให้กับบริษัท เชฟรอนฯ ที่กำลังเป็นข่าวใหญ่อยู่ในขณะนี้ แต่ข้อเท็จจริงก็คือนายกุลิศเป็นคนเสนอชื่อให้ปลัดกระทรวงการคลัง สั่งย้ายเนื่องจากผู้บังคับบัญชามองว่านางมนทิรา ยังขาดประสบการณ์ในการบริหารด่านศุลกากรขนาดใหญ่ ซึ่งต้องอำนวยความสะดวกการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรม และที่สำคัญนางมนทิรามีความเห็นแตกต่างจากผู้บังคับบัญชาในกรณีการปฏิบัติพิธีการศุลกากรของบริษัทเชฟรอนฯ จึงเสนอชื่อให้นายบุญมาดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรมาบตาพุดแทนนางมนทิรา” แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากรกล่าว
อนึ่ง ด่านศุลกากรมาบตาพุด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง นอกจากทำหน้าที่การจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งกรณีบริษัท เชฟรอนฯ ซื้อน้ำมันดีเซลจากโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง ส่งไปขายที่แท่นขุดเจาะน้ำมันบริเวณไหล่ทวีป ก็ทำใบขนสินค้าขาออกที่ด่านศุลกากรมาบตาพุด
นอกจากนี้นายสมชัย ยังได้ลงนามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1435/2559 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ให้ข้าราชการรักษาการในตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญที่ว่างอีก 12 ตำแหน่ง (ควบ 2 ตำแหน่ง) มีรายชื่อดังนี้
1. นางสุมาลี ดงสุขวงศาวัฒน์ นักวิชาการศุลกากร ส่วนบริการศุลกากร ด่านศุลกากรเชียงดาว รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจสอบภายใน กลุ่มตรวจสอบภายในกรมศุลกากร กรมศุลกากรด้วย
2. นายอุทัย ดวงสูงเนิน นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ส่วนพัฒนาระบบนำเข้า สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสาร สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร
3. นายประวัติ ชื่นชวลิต นักทรัพยากรบุคคล สถาบันวิทยาการศุลกากร สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล กรมศุลกากร
4. น.ส.จินตนา คงเมือง นักทรัพยากรบุคคล ส่วนโครงสร้างระบบงานและอัตรากำลัง สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล กรมศุลกากร
5. น.ส.มณีรัตน์ ทรัพย์อนันต์ชัย นักวิชาการศุลกากร ส่วนมาตรฐานพิกัดอัตราศุลกากร 4 สำนักพิกัดอัตราศุลกากร รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยพิกัดศุลกากร สำนักพิกัดอัตราศุลกากร กรมศุลกากร
6. น.ส.อารีย์ โกมลวิลาศ นักวิชาการศุลกากร ส่วนบริการศุลกากร ด่านศุลกากรสตูล รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร กรมศุลกากร
7. นางรัดใจ ลีละวงศ์ นักวิชาการศุลกากร ส่วนคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบตรวจสอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร กรมศุลกากร
8. นายสุรเดช ตรงศิริวิบูลย์ นักวิชาการศุลกากร ส่วนบริการศุลกากร ด่านศุลกากรบึงกาฬ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร
9. นางระพีพรรณ ไทยจงรักษ์ นักวิชาการศุลกากร ส่วนบริการศุลกากร ด่านศุลกากรทุ่งช้าง รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมศุลกากร
10. นางพัชรี สุจิตนภิศธรรม นักวิชาการศุลกากร ส่วนบริการศุลกากร ด่านศุลกากรเขมราฐ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมทางศุลกากรพื้นที่ภาคที่ 2 สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 กรมศุลกากร
11. นางนันทวัน จินตมุสิก นักวิชาการศุลกากร ส่วนปฏิบัติการตรวจสอบ 2 สำนักตรวจสอบอากร รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านตรวจสอบการฉ้อฉลทางศุลกากร สำนักตรวจสอบอากร กรมศุลกากร
12. นายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักวิชาการศุลกากร ส่วนบริการศุลกากร ด่านศุลกากรตากใบ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนและปราบปราม สำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร