
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายแก่กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง เพื่อให้ผู้แทนฯ เร่งการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล และให้เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนบทบาทของกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นเชิงรุก (Active Shareholder)
สืบเนื่องจากนโยบายของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการทำงานของรัฐวิสาหกิจตามนโยบายการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอให้กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังให้ความสำคัญในเรื่องดังต่อไปนี้
1) ความสำคัญของรัฐวิสาหกิจกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์ 13.5 ล้านล้านบาท เป็นผู้ครอบครองสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์สำคัญของประเทศ หรือ Strategic Assets โดยมีการลงทุนคิดเป็น 50% ของการลงทุนภาครัฐ และสามารถนำส่งรายได้ 160,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2558 ถือเป็นอัน 3 ของหน่วยงานที่รายได้เข้ารัฐ เป็นรองเพียงกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตของกระทรวงการคลัง
2) เน้นบทบาทกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในการเป็นผู้แทนฯ เชิงรุก หรือ Active Shareholder ในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล จากเดิมมักจะเป็นรูปแบบผู้แทนเชิงรับ หรือ Silent Shareholder
ส่วนความกังวลว่าผู้แทนฯ เพียงคนเดียวในบอร์ดรัฐวิสาหกิจจะมีเสียงเพียงพอหรือไม่ นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ปกติมติของบอร์ดมักจะต้องเป็นเอกฉันท์ หากมีเสียงแย้งจากกรรมการจะต้องหารือตกลงจะได้ข้อยุติร่วมกัน ดังนั้น หากผู้แทนฯ ทำหน้าที่ได้ดีจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐวิสาหกิจและประเทศได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทุกไตรมาสจะมีการประเมินว่าทำหน้าที่ได้ดีเพียงใด ซึ่งจะช่วยให้ผู้แทนฯ ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ สคร. จะจัดตั้งหน่วยงาน Account Officer (AO) ขึ้นภายใน สคร. มีพนักงาน 20 คน ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ความสามรถเฉพาะทาง (Specialist) ขึ้นมาดูแลและติดตามรัฐวิสาหกิจในรายแห่งและรายสาขา ทั้งเรื่องผลประกอบการ การดำเนินตามนโยบายภาครัฐ ประสิทธิภาพของการดำเนินการ ก่อนจะส่งข้อมูลต่อให้ผู้แทนฯ มีข้อมูลเพียงพอเข้าประชุม ขณะเดียวกัน ภายหลังการประชุมจะส่งข้อมูลที่ได้กลับมายัง สคร. ด้วย เพื่อให้ AO ประเมินและติดตามการทำงานของรัฐวิสาหกิจต่อไป
“มันเป็นการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล สคร. ต้องทำงานเชิงรุกร่วมกับการทำงานของผู้แทนกระทรวงการคลัง โดยจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารสองทาง (Two-way) และการสร้างความเข้าใจให้กับกรรมการผู้แทนฯ เช่น หน้าที่ของกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในการที่ต้องรายงานประเด็นและข้อเท็จจริงสำคัญของรัฐวิสาหกิจกลับมาให้ สคร. ทราบโดยเร็ว นอกจากนี้ สคร. ยังจัดทำฐานข้อมูลกลางรัฐวิสาหกิจที่กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น ข้อมูลผลการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ปัญหาข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงที่ต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ ตรงนี้เราเห็นว่ากระทรงการคลังเป็นกระทรวงเดียวที่มีผู้แทนในทุกรัฐวิสาหกิจ จึงอาศัยกลไกตรงนี้เข้ามาเริ่มต้น” นายเอกนิติกล่าว
ขณะที่ความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ซึ่งมีดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานอนุกรรมการเตรียมความพร้อมจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ทุกอย่างแล้วเสร็จกำลังรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ