ประสาท มีแต้ม
หนึ่ง โลกยังร้อนอยู่(นะ)
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะรู้สึกเหมือนกับผมว่า ปีนี้คือปี 2568 อากาศของประเทศไทยเราร้อนน้อยกว่าของปีที่แล้วอย่างชัดเจนหรือมีนัยสำคัญ ซึ่งมันดูจะขัดแย้งกับความรู้ที่เราได้รับจากนักวิทยาศาสตร์มาตลอดว่า แนวโน้มของโลกจะร้อนมากขึ้นๆจากปัญหาโลกร้อน บางคนอาจจะแอบสงสัยอยู่คนเดียวว่า “หรือว่าโลกร้อนเป็นเรื่องโกหก” อย่างที่ประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์เคยกล่าวไว้เมื่อ 8-9 ปีก่อน
ผมเองได้เกาะติดกับเรื่องนี้มานาน เข้าใจหลักการเหตุ-ผล และจำได้ว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 เป็นเดือนที่อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยของโลกสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา ประเด็นที่เกิดความสงสัยก็คือว่า แล้วเดือนกรกฎาคมปี 2568 นี้จะทำลายสถิติแชมป์เก่าหรือไม่
จากข้อมูลในภาพข้างบนนี้ พบว่า
- กล่าวเฉพาะส่วนย่อยที่อยู่ในเขตร้อนของโลก (23.5S ถึง 23.5N-Tropics ซึ่งประเทศเราอยู่ในนั้น) อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยใน 6 เดือนของปี 2568 ต่ำกว่าของปี 2567 จริง ชัดเจน(ดูกราฟขวามือในภาพ)
- แต่เมื่อคิดเฉลี่ยรวมทั้งโลก ผมว่าของเดือนกรกฎาคมปี 2568 น่าจะสูสีกับของปี 2567 ซึ่งก็ยังคงสูงกว่าของค่าเฉลี่ยในช่วง 1979-2000
สอง โลกร้อนขึ้นในอัตราเร่ง
ภาพข้างล่างนี้คือข้อมูลอุณหภูมิอากาศโลกเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนของปีตั้งแต่ปี 1950-2025 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 1901-2000 หมายเหตุ ไม่ได้เทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมที่องค์การสหประชาชาติอ้างถึงในข้อตกลงปารีส
จากกราฟข้างต้นเราจะเห็นว่าเรื่องที่ผมกังวลนั้นมีเหตุผล เพราะปีปัจจุบันคือ 2025 อุณหภูมิเฉลี่ย 5 เดือนแรกคือช่วง ม.ค.-พ.ค. สูงเป็นอันดับสองรองจากของปี 2024 เรียกว่าสูสีกันเลยทีเดียว
จากชื่อบทความ “โลกไม่ใช่แค่ร้อนเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ร้อนขึ้นในอัตราเร่ง” เหตุผลที่ใช้คำว่าเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งก็สรุปอยู่ในข้อความแถบสีแดง คือในช่วงเวลา 10 ปีที่เท่ากัน ในช่วง 1970-2010 อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.18 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงถัดมาคือ 2010-2024 เพิ่มขึ้น 0.27 องศาเซลเซียส และในช่วง 2023-2024 เพิ่มขึ้นถึง 0.4 องศาเซลเซียสในเวลา 2 ปีเท่านั้น
จากบทความของ Dr.James Hansen (อดีตนักวิทยาศาสตร์ขององค์การ NASA) และคณะ (พิมพ์เมื่อธันวาคม 2022) พบว่าในปี 2040 อุณหภูมเฉลี่ยของโลกจะประมาณ 1.9 องศาเซลเซียล เร็วกว่าที่ข้อตกลงปารีสเตือนไว้ถึง 60 ปี
ความแตกต่างระหว่างการเพิ่มขึ้นแบบเรื่อย ๆหรือเพิ่มขึ้นในอัตราคงที่ กับการเพิ่มขึ้นแบบอัตราเร่งมีความสำคัญมาก เปรียบเหมือนกับการคิดดอกเบี้ยธรรมดากับดอกเบี้ยทบต้น หากเราเป็นผู้กู้เงิน ดอกเบี้ยทบต้นจะน่ากลัวมาก เพราะตัวดอกเบี้ยของงวดก่อนถูกป้อนกลับ (Feed Back) เข้าไปเป็นเงินต้นด้วย ยอดเงินรวมจึงพุ่งขึ้นพรวดๆ
ก่อนที่จะไปพูดถึงสาเหตุของการเกิดอัตราเร่ง ขอย้อนกลับไปดูกราฟในภาพอีกครั้งครับ โปรดสังเกตว่าปี 1976 หรือเมื่อ 49 ปีที่แล้ว โลกเราเย็นเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นก็ร้อนเพิ่มขึ้นจนแดงเถือกดังภาพ
นี่ไม่ใช่วัฏจักรของระบบธรรมชาติใดๆ แต่เป็นผลมาจากน้ำมือของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์เพียงลำพังเท่านั้น และไม่ใช่ของมนุษย์ส่วนมากของโลกด้วย แต่เป็นฝีมือมนุษย์ส่วนข้างน้อยเท่านั้นที่สร้างปัญหา
สาม ทำไมโลกจึงร้อนขึ้นในอัตราเร่ง
เราทราบกันดีแล้วว่า สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนนั้นเกิดจากการเก็บกักความร้อนของก๊าซเรือนกระจกที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ โดยที่ก๊าซฯส่วนใหญ่คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล
ดังนั้น คำถามคือแล้วทำไมมันจึงร้อนขึ้นในอัตราเร่ง ข้อมูลในภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบครับ
ภาพซ้ายมือ(บน) แสดงถึงความไม่สมดุลของพลังงานโลกที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกกักเก็บความร้อนไว้ หากคิดเป็นกำลัง(หรือแรงกระทำต่อหนึ่งหน่วยเวลา) พบว่าในปี 1980 เท่ากับ 1.8 วัตต์ต่อตารางเมตร แต่ในปี 2023 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 วัตต์ต่อตารางเมตร โลกเรามีพื้นที่ผิวเท่ากับ 510 ล้านล้านตารางเมตร เมื่อคำนวณออกมาพลังงานส่วนเกินทั้งหมดที่ก๊าซเรือนกระจกกักเก็บไว้ จะเท่ากับ 94 เท่าของพลังงานทุกชนิด (ไฟฟ้า + น้ำมัน + ก๊าซ ฯลฯ) ที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปี
น่ากลัวหรือน่าตกใจไหมครับ
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ผมยังไม่ได้ตอบว่าทำไมจึงเร่ง แต่ดูกราฟในภาพขวามือ(ล่าง) ก็พอจะเห็น(แม้ไม่ค่อยชัดเจนนัก)ว่า แรงกระทำมีลักษณะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งด้วย แต่นี่ไม่ใช่สาเหตุสำคัญของการเร่ง ตัวเร่งจริงๆ มาจาก 3 สาเหตุซึ่งผมจะกล่าวเพียงสั้นๆต่อไปนี้
1.เกิดจากอิทธิพลของสีที่สะท้อนแสง(Albedo Effect)
โดยปกติ บริเวณขั้วโลกทั้งเหนือและใต้จะมีน้ำแข็งและหิมะปกคลุม เมื่อโลกร้อนขึ้นน้ำแข็งและหิมะซึ่งมีสีขาวละลาย กลายเป็นน้ำทะเลซึ่งมีสีฟ้า สีขาวมีความสามารถในการสะท้อนแสงสูงกว่าสีฟ้า ดังนั้นด้วยสาเหตุนี้โลกจึงร้อนขึ้นในลักษณเดียวกับดอกเบี้ยทบต้น นั่นคือตัวดอกเบี้ยถูกป้อนกลับเข้าไปเป็นเงินต้นอีก
2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เมฆลดลง 1.5-3% ต่อ 10 ปี ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น
เรื่องนี้เป็นผลงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ผมขอนำผลสรุปและแหล่งข้อมูลมาไว้ในภาพข้างบนครับ
เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำระเหยมากขึ้น ไอน้ำในอากาศมากขึ้นก็จริง แต่กลับเกิดเมฆได้น้อยลง เรื่องนี้มีกลไกนี้ซับซ้อน ย้อนแย้ง… แต่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า มันน่าห่วงกว่าที่คิด
3.เมื่อโลกร้อนขึ้น เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว หลังเกิดคลื่นความร้อนมักจะตามด้วยพายุรุนแรง “ฝนตกหนักถึงหนักมาก น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม” เราได้ยินบ่อยจนจำได้ เมื่อดินถล่มก๊าซมีเทนซึ่งถูกกักเก็บไว้ใต้ผิวดินนานนับล้านปีก็จะหลุดออกมาสู่บรรยากาศโลก แล้วก็กลายเป็นต้นเหตุทำให้โลกร้อนขึ้นในอัตราเร่ง
สี่ คลื่นความร้อนบ่อยขึ้น นานขึ้นและรุนแรงมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ได้ว่าโลกร้อนจะทำให้การเกิดคลื่นความร้อนบ่อยขึ้น นานขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่ผมเริ่มเขียนบทความชิ้นนี้ คลื่นความร้อนกำลังเกิดขึ้นทั่วทวีปยุโรป นับถึงวันที่ 7 กรกฎาคม มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,439 คน แต่ข่าวกระแสหลักในบ้านเราไม่ได้รายงาน
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ประเทศฝรั่งเศสมีคลื่นความร้อนแล้ว 50 ลูก โดย 22 ครั้งสุดท้ายเพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 14 ปีสุดท้าย ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายเกิดขึ้น 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดมีอุณหภูมิสูงถึง 41.1 องศาเซลเซียส โปรตุเกตสูงถึง 46.6 องศาเซลเซียส (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
กล่าวเฉพาะในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4-5 องศาเซลเซียส สูงกว่าเมื่อครั้งปี 2561 อย่างชัดเจน ดูภาพประกอบ
ห้า สรุป
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ทราบกันดีแล้วว่าสาเหตุของโลกร้อนเกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลัก และน่ากลัวมากแค่ไหน แต่ที่น้อยคนจะรู้ก็คือมันร้อนขึ้นในอัตราเร่งซึ่งน่ากลัวมากกว่า
วิธีแก้ปัญหานี้ก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐบาลและของโลก ด้วย การหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งมีความพร้อมทุกอย่างแล้ว โดยที่ต้นทุนถูกกว่าพลังงฟอสซิลหลายเท่า มีปัญหาเดียวที่ต้องช่วยกันคือทำอย่างไรให้ผู้นำรัฐบาลและของโลกเปลี่ยน ผมรู้ว่ามันยาก แต่เราต้องช่วยกันครับ เรามาถึงเวลาที่ต้องทำให้สำเร็จ ไม่เช่นนั้นก็พังพินาศกันทั้งโลก Do or Die