
วันที่ 4 มิถุนายน 2568 นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมในการแถลงข่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง และมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น หลังมาตรการภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาทางกฎหมาย นอกจากนี้ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เพิ่มภาษี sectoral tariff เหล็กและอะลูมิเนียมจาก 25% เป็น 50% อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป มีส่วนช่วยลดความตึงเครียดของสงครามการค้าในระดับหนึ่ง
แรงส่งของเศรษฐกิจไทยแผ่วลง ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ขยายตัวที่ 3.1%YOY แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวตามการลงทุนภาครัฐซึ่งเทียบกับฐานต่ำในปีก่อน หากไม่นับปัจจัยดังกล่าว เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 2.1%YOY เท่านั้น โดยการบริโภคภาคเอกชนชะลอลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง ด้านการส่งออกสินค้าแม้จะขยายตัวสูงกว่า 15%YOY ตามการเร่งส่งออก แต่กลับไม่ได้ส่งผลบวกต่อภาคการผลิตซึ่งขยายตัวเพียง 0.6%YOY โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยใช้สินค้าคงคลังและผู้ประกอบการไม่ได้ผลิตเพื่อทดแทนสินค้าคงคลังที่ลดลง
เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 1.5-2% ตามการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ที่ 2.0% จำเป็นต้องมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเป้า และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐให้ได้อย่างน้อย 70% ของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังต้องเร่งขยายตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล (long-haul) ซึ่งตั้งแต่ต้นปีขยายตัวราว 17% เพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวจากจีนที่ลดลง และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ แม้คาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 เศรษฐกิจจะขยายตัวใกล้เคียง 3%YOY แต่ครึ่งหลังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไม่ถึง 1%YOY โดยขึ้นอยู่กับผลการเจรจาภาษีระหว่างสหรัฐฯ และไทย เทียบกับประเทศคู่แข่ง ตลอดจนแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจและการจ้างงาน ดังนั้น มาตรการภาครัฐที่ปัจจุบันเป็นมาตรการระยะสั้น จึงควรมองต่อเนื่องทั้งมาตรการระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่อเนื่อง อีกทั้งควรมีความยืดหยุ่นและสอดรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก ตลอดจนป้องกันการไหลบ่าของสินค้านำเข้า ผ่านการควบคุมมาตรฐานและตรวจสอบสินค้าผ่านด่านอย่างเข้มงวด รวมทั้งป้องกันการสวมสิทธิ์เพื่อส่งออก
“สถานการณ์หนี้เสีย เป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังสูง เพราะผลกระทบมันยาวและลึก เราต้องประคับประคองไม่ให้ถลำลึกและขยายวงกว้างออกไป นั่นเป็นสิ่งที่ระบบธนาคารพาณิชย์และภาครัฐอยู่ระหว่างการเร่งให้มีมาตรการออกมา… คิดว่าจะสามารถผ่านจุดที่ผันผวนและผ่านความไม่แน่นอนสูงในช่วงนี้ไปได้ ต้องบอกว่าเป็น disuptive moment ขณะเดียวกัน บนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาค และเศรษฐกิจประเทศ ทำให้ภาคเอกชนมีการชะลอตัวในการตัดสินใจลงทุน เพราะเขาไม่แน่ใจว่าลงทุนแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่กับนโยบายที่ปรับเปลี่ยนทุกวัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนความไม่แน่นอน” นายผยงกล่าว
ที่ประชุม กกร. มีความกังวลประเด็นการสวมสิทธิ์การส่งออก และการ re-export โดยใช้ local content ต่ำ ซึ่งไม่ได้ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวได้สูง แต่ก็มีการนำเข้าที่สูง ขณะที่ภาคการผลิต การบริโภคในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดการเชื่อมโยงด้านการนำเข้ากับส่งออก ที่ทำให้เข้าใจภาพเศรษฐกิจในเชิงลึก เพื่อให้สามารถติดตามและแก้ปัญหา re-export ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
กกร. แสดงความกังวลเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเจรจาอัตราภาษีระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันกรอบเวลาในการเจรจายังไม่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูง โดยเชื่อมโยงกับประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเจรจา โดยระยะเวลาผ่อนปรนภาษี 90 วันของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 ก.ค. 2568
กกร. เห็นด้วยกับการขยายเวลาลงทะเบียนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 1 จนถึง 30 มิ.ย. และแนวทางเฟส 2 ที่ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ที่เข้าโครงการได้ เช่น ผ่อนเกณฑ์เรื่องการค้างชำระหนี้สำหรับลูกค้าที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ ในมาตรการ “จ่ายตรงคงทรัพย์” และการขยายภาระหนี้ที่สามารถเข้ามาตรการ “จ่าย ปิด จบ” ได้ อย่างไรก็ดี ยังจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับในระยะถัดไป โดยเฉพาะการสร้างรายได้ เสริมสวัสดิการ ให้ลูกหนี้มีศักยภาพได้ด้วยตนเองภายหลังจบโครงการ 3 ปี เพื่อไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไปเรื่อยๆ
ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในช่วง 32.5-32.7 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และจีน ในเดือนที่ผ่านมา ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้ โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และการสื่อสารฯ เชิงรุกเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการส่งผ่านประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เช่น ต้นทุนนำเข้าสินค้าพลังงาน และวัตถุดิบในภาคเกษตรฯ ที่ลดลงไปยังภาคการผลิตและภาคประชาชนให้ได้อย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทั้งจากสภาพเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว แรงกดดันจากสงครามการค้า และการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้น เพื่อเป็นมาตรการลดภาระให้กับผู้ประกอบการไทย กกร. จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่ และประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง (กิจการโรงแรมและให้เช่าพักอาศัย) ที่ปัจจุบันมีการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยขอให้ปรับลดวงเงินประกันฯ ให้เหลือ 0.5 เท่า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด จากเดิมที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ปรับเหลือ 0.8 เท่า ทั้งนี้อาจปรับเพิ่มวงเงินขึ้นตามสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการที่มีการผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า โดยการปรับลดวงเงินประกันดังกล่าว จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจที่ความผันผวนสูง