
คลังสั่งออมสินจัด ‘ซอฟต์โลน’ อีก 1 แสนล้าน อุ้มส่งออกตลาดสหรัฐ – เสริมสภาพคล่อง SMEs รับมือสินค้านำเข้าราคาถูกเกรดต่ำทะลัก – เบื้องต้นลดดอกเบี้ยเงินกู้เยียวยาลูกค้า 2-3% เริ่ม 19 พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม เพื่อมอบนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง ณ หอประชุมบุรฉัตร อาคาร 1 ชั้น 1 ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายกระทรวงการคลังให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา เป็นการเร่งด่วนนั้น กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน , ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) , ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) , ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ “SME D Bank” , ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ “EXIM Bank” , ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
สำหรับโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ที่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่
1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา
2) ธุรกิจ Supply Chain และ
3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ
ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐอื่น เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออก และธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้มาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ภายใต้สภาวะความผันผวนที่ภาคธุรกิจไทยที่ต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่น และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่ากลไกสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติ เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืนในระยะยาว

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า วันนี้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังได้เดินทางมามอบนโยบายให้แบงก์ของรัฐที่ธนาคารออมสิน โดยมอบหมายให้แบงก์รัฐร่วมกันดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่วนที่ 2 เป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ เป็นโจทย์ที่นายพิชัยมอบหมายให้แบงก์รัฐไปศึกษา และให้รีบนำกลับมารายงานต่อที่ประชุมแบงก์รัฐครั้งถัดไป
นายวิทัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของธนาคารออมสินได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ “Soft loan” ปล่อยสินเชื่อผ่านทั้งสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนแบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ โครงการแรก สินเชื่อ Soft loan เดิมวงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และธนาคารได้เริ่มดำเนินการปล่อยกู้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 โดยมีระยะเวลาในการอนุมัติสินเชื่อได้ถึงสิ้นปี 2568 และเมื่อสถาบันการเงินได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วสามารถเบิกจ่ายกับธนาคารออมสินไปได้ถึงสิ้นปี 2569 ปัจจุบันธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อ Soft loan ให้กับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 75,000 ล้านบาท ยังมีวงเงินคงเหลืออยู่อีก 25,000 ล้านบาท
โครงการที่ 2 สินเชื่อ Soft loan ใหม่อีก 100,000 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน แต่จะพุ่งเป้าไปที่ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจะมาตรการภาษีทรัมป์เป็นหลัก รวมทั้งถึง Supply Chain ของผู้ส่งออก และ SMEs ในประเทศที่ผลิตสินค้า ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการแข่งขัน โดยเฉพาะสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศที่ไหลทะลักเข้ามาขายในประเทศไทย และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน หรือ ธุรกิจท่องเที่ยวด้วย ซึ่งธนาคารออมสินจะต้องเร่งดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จส่งให้กระทรวงการคลังเสนอที่ประชุม ครม.
“โครงการซอฟต์โลนของธนาคารออมสินตัวใหม่ เงื่อนไขก็จะใกล้เคียงกับของเดิม แต่มีกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นกว่าเดิม โครงการนี้เราทำเพื่อสังคม โดยเราเอา Funding ของเรามาปล่อยสินเชื่อให้กับแบงก์พาณิชย์ 0.01% เพื่อให้ไปปล่อยสินเชื่อต่อให้ลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการส่งเสริม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ส่วนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ เราก็ยังมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ช่วยลูกค้าอีก 2–3% ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 2568 เป็นต้นไป โดยไม่ต้องนำเสนอให้ ครม.อนุมัติ เช่น เคยจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่อัตรา 5 – 6% ก็อาจปรับลดลงมาเหลือ 3 – 4% เป็นต้น” นายวิทัย กล่าว
อนึ่ง หลังจากที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) “GSB Boost Up” วงเงิน 100,000 ล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างธนาคารออมสินกับสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้รวม 16 แห่ง ตามที่รัฐบาลได้สั่งการให้ธนาคารออมสินเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ และเพื่อลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการปล่อยสินเชื่อวงเงิน 100,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เข้าร่วมโครงการฯในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าเดิม หรือ ลูกค้าใหม่ที่ไม่ใช่การรีไฟแนนซ์ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายรวมทุกสถาบันการเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ สำหรับลงทุนและเสริมสภาพคล่องในกิจการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up มีสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 16 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร , ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย , ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย , ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย , ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา , ธนาคารทหารไทยธนชาต , ธนาคารเกียรตินาคินภัทร , ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ , ธนาคารยูโอบี , ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) , ธนาคารทิสโก้ และธนาคารไทยเครดิต