คลังปัดฝุ่น ‘Micro VAT’ รายได้เพิ่ม 4,000 ล้าน หวังต่อยอดฐานเงินได้บุคคลธรรมดา-ต้อนผู้ประกอบการนอกระบบ 1 แสนคน เข้าสู่ระบบภาษี – ฝากถามสังคมรายได้ปีละ 1.7 ล้านบาท – เดือนละ 141,666 บาท ควรต้องเสียภาษีหรือไม่?
จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ แม้โควิดฯคลี่คลายไปแล้ว หลายประเทศในภูมิภาคนี้กลับมาขยายตัวเกิน 5% ต่อปี แต่จีดีพีของประเทศไทย โดยเฉพาะในปีนี้คาดจะโตไม่ถึง 2% ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยเป็น 36% และจากการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ ทั้งในฝั่งของรายจ่ายที่รัฐบาลจะต้องไปหาเงินมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต และดูแลสวัสดิการของประชาชน ขณะที่ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลขยายตัวไม่ทันกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น แถมยังถดถอยลงไปเรื่อย ๆ จากในปีงบประมาณ 2537-2540 สัดส่วนรายได้สุทธิของรัฐบาลเทียบกับจีดีพี มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 18.34% ของจีดีพี ตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 15.2% ของจีดีพี ทั้งที่ระดับการจัดเก็บรายได้ของประเทศควรอยู่ที่ระดับ 20 %ของจีดีพี
ด้วยเหตุนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้กระทรวงการคลังศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างอัตราภาษี รวมทั้งหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ อุดรูรั่วไหล และขยายฐานภาษีทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ ดึงผู้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาเสียภาษี ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยลดการขาดดุลงบประมาณ หรือ ลดการก่อหนี้ใหม่ ซึ่งจะทำให้ฐานะการคลังมีความยั่งยืนในระยะยาว

นายพิชัยให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงการคลังกำลังศึกษาการขยายฐานการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจะให้กรมสรรพากรจัดเก็บ VAT จากผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ในอัตราเหมาจ่าย 1% ของรายได้จากยอดขาย ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันกรมสรรพากรจะเก็บ VAT เฉพาะผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ขึ้นไป ในอัตรา 7% ของมูลค่าสินค้าและบริการ (ภาษีขาย-ภาษีซื้อ) แต่ถ้าผู้ประกอบการมีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ก็จะได้รับยกเว้น VAT
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวว่า จากการที่โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่หันมาประกอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่พอถึงจุดหนึ่งก็พยายามบีบ หรือ ลดขนาดธุรกิจลง เพื่อไม่ให้รายได้ของตนเองเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี จะได้ไม่ต้องเสีย VAT และบางรายอาจไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ เสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะกรมสรรพากรไม่มีฐานข้อมูลที่จะไปตามเก็บภาษี
“สำหรับผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี หรือ เดือนละไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนบาท กรณีนี้ต้องมาเสีย VAT และภาษีเงินได้บุคคลธรรรมดา คำถามถัดมา หากผู้ประกอบการมีรายได้ปีละ 1.7 ล้านบาท หรือ เดือนละ 141,666 บาท กรณีนี้ควรต้องเสีย VAT และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ นี่คือที่มาของแนวความคิดที่ว่า ทำไมจึงต้องขยายฐานการจัดเก็บ VAT ให้ครอบคลุมผู้ประกอบการที่มียอดขายต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ เพื่อปิดช่องว่างทางภาษี ความเหลื่อมล้ำ และผลักดันให้ธุรกิจ SMEs ของไทยเติบโต และก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าวได้” แหล่งข่าวกรมสรรพากร กล่าว
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวว่า ความจริงเรื่องการขยายฐานภาษี VAT ให้ครอบคุลมถึงผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี หรือ “Micro VAT” นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในประมวลรัษฎากร มาตรา 80/2 ได้กำหนดให้การจัดภาษี VAT แบบเหมาจ่ายในอัตรา 2.5% ของรายได้จากการขายสินค้าและบริการไว้ในกฎหมายแล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาปรับลดอัตราภาษีลงมาเหลือ 1.5% นับตั้งแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2535 จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2540 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการตั้งแต่ 1,200,000 บาท/ปี ขึ้นไป ต้องเสีย VAT เต็มรูปแบบ 7% (ภาษีขาย-ภาษีซื้อ = ภาษีนำส่งสรรพากร) ส่วนผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ 600,000 – 1,200,000 บาท ต้องเสีย Micro VAT ในอัตรา 1.5% ของรายได้จากยอดขาย โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบนี้เสียVATแบบง่ายๆไม่ต้องออกใบกำกับภาษและจัดทำรายงานน้อยมากมีประมาณ 50,000 ราย กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ 500 ล้านบาท/ปี ส่วนผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่ถึงปีละ 600,000 บาท ได้รับยกเว้น VAT ไปเลย เพราะถือเป็นรายย่อยมากๆ
จนกระทั่งมาถึงยุคที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง ฟองสบู่แตก ประเทศไทยต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก โดย IMF ได้กำหนดเงื่อนไขในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ในการกู้เงิน โดยให้ประเทศไทยจัดทำงบประมาณแบบเกินดุล 1% ของจีดีพี ในปีงบประมาณ 2540 และ 2541 กดดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% นานเกือบ 2 ปี เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2540 – 31 มีนาคม 2542 ส่วน Micro VAT ที่เก็บจากผู้ประกอบการที่มีรายได้ 600,000 – 1,200,000 บาท ยังคงจัดเก็บในอัตรา 1.5% เหลือเดิม และรายได้ต่ำกว่า 600,000 บาท ได้รับการยกเว้น
ปรากฏว่าเศรษฐกิจไทยทรุดตัวอย่างรุนแรง จากปี 2540 จีดีพีขยายตัว 11.1% ต่อปี ปี 2541 ติดลบ 2.5% และปี 2542 ติดลบ 1.5% ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย จึงมอบหมายนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปเจรจา IMF ขอดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล รวมทั้งปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าจาก 10% ลงมาเหลือ 7% จนถึงทุกวันนี้ ส่วนการจัดเก็บ Micro VAT กับผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่ถึง 1,200,000 บาท/ปี ได้รับยกเว้น VAT ไปเลย ทั้งหมดนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 – 31 มีนาคม 2548 ทั้งนี้ เนื่องจาก IMF มองว่าเก็บภาษีได้น้อยกว่าต้นทุนในการดำเนินงาน จึงตราพระราชกฤษฎีกามายกเลิกการจัดเก็บ Micro VAT ชั่วคราว แต่ในประมวลรัษฎาการยังมีอยู่
จนกระทั้งมาถึงรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ชำระหนี้คืน IMF เสร็จเรียบร้อย เริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการขยับชั้นรายได้ของผู้ประกอบการที่จะได้รับการยกเว้น VAT ขึ้นไป จาก 1,200,000 บาท/ปี เพิ่มเป็น 1,800,000 บาท ไม่ต้องเสีย VAT มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 มาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวต่อว่า หากจะนำระบบภาษี Micro VAT กลับมาใช้ใหม่ โดยออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการตั้งแต่ 600,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท/ปี ในอัตราเดิม 1.5% ของรายได้จากการขาย คาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายเสียภาษีดังกล่าวประมาณ 100,000 คน ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรมีรายได้ VAT เพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท แต่ถ้าลดอัตราลงมาเหลือ 1% ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่ากรมสรรพากรจะมีรายได้ VAT เพิ่มขึ้นปีละ 4,000 ล้านบาท