ThaiPublica > คนในข่าว > “ลวรณ แสงสนิท” กับภารกิจปรับโครงสร้างภาษีเพื่อการคลังยั่งยืน – เข็น “อารีย์ สกอร์” ช่วยคนตัวเล็กกู้ในระบบ

“ลวรณ แสงสนิท” กับภารกิจปรับโครงสร้างภาษีเพื่อการคลังยั่งยืน – เข็น “อารีย์ สกอร์” ช่วยคนตัวเล็กกู้ในระบบ

7 ธันวาคม 2024


นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

“ลวรณ แสงสนิท” ปลัดกระทรวงการคลังกับภารกิจปรับโครงสร้างภาษี – ลดนิติบุคคล – ขึ้น VAT – ใช้ “NIT” ดึง ปชช.เข้าระบบภาษี 25 ล้านคน – ขยับสัดส่วนรายได้รัฐ/GDP เป็น 18% – เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบฯแบบ “พุ่งเป้า” หาเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง สั่งกรุงไทย – ออมสิน นำร่อง “อารีย์ สกอร์” ประเมินความเสี่ยง – ปล่อยกู้คนตัวเล็ก – เล็งยกเลิก “EXPRESS” ทางบก แก้ปมของเถื่อนทะลัก

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ส่งผลกระทบไปถึงปัญหาอื่นๆตามมา โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปัญหาปากท้องของประชาชนที่กำลังส่งผลกระทบมาถึงการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและความยั่งยืนทางการคลัง พร้อมที่ผ่านมากระทรวงการคลังทำอะไรไปแล้วบ้าง และในอนาคตจะเดินหน้ากันอย่างไร โดยกล่าวว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ไม่ขยายตัวเหมือนประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะก่อนโควิด หรือ หลังโควิดฯคลี่คลายไปแล้ว GDP ของประเทศอื่นกลับมาโตเกิน 5% แต่ของไทยโตแค่ 1-2% นี่คือประเด็นปัญหา

“GDP ของไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ก็แล้วแต่ใครจะมองในมิติไหน อย่างปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจก็มีส่วน แต่การที่เราจะไปมุ่งเน้นเรื่องการปรับโครงอย่างเดียวมันก็ไม่สามารถทำได้เร็ว จะต้องทำอะไรที่ควบคู่กันไปด้วย อาจจะต้องมีมาตรการเสริมเพื่อทำการแก้ไขปัญหาต่างๆทำได้เร็วกว่านี้ แต่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจก็ต้องทำ และไม่ควรละเลยการแก้ปัญหาระยะสั้นด้วย ผมคิดว่ามันต้องหาจุดที่มันพอดี”

ต้องยอมรับความจริง-เรากู้มาเกือบสุดซอยแล้ว

นายลวรณกล่าวว่าปัญหา GDP ที่โตต่ำกว่าศักยภาพ วันนี้ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ทำให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย เมื่อ GDP โตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็เก็บได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นไปด้วย ส่งผลกระทบไปถึงกระบวนการจัดทำงบประมาณ ทำให้รัฐบาลต้องจัดงบประมาณแบบขาดดุล และเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ในระดับสูง ต้องกู้เพิ่ม ทำให้เราเริ่มเห็นปัญหาเรื่องความยั่งยืนทางการคลัง

“กระทรวงการคลังก็ไม่ได้คิดว่าจะกู้อย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คิดว่าวันนี้เรากู้มาเกือบสุดซอยแล้ว หากกู้ไปมากกว่านี้ หรือ เบ่งงบประมาณให้มันใหญ่ไปมากกว่านี้ จะทำให้ฐานะการคลังไม่ยั่งยืน เรื่องนี้นักการคลังรู้อยู่ ไแม้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังไม่ถึง 70% ของ GDP ก็ตาม แต่เราก็ควรกู้เท่าที่จำเป็น”

นายลวรณ กล่าวต่อว่า “ตอนนี้กระทรวงการคลังกำลังหารือกับสำนักงบประมาณเรื่องประมาณการรายได้ เพื่อจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ถ้าจะให้เราเบ่ง หรือ ทำวงเงินงบประมาณเยอะ ๆโดยใช้วิธีการกู้เงิน เราก็ไม่อยากไปในแนวทางนี้แล้ว ทั้งเรื่องการประมาณการรายได้ และรายจ่ายของรัฐบาล ควรสะท้อนความเป็นจริง”

“ที่สำคัญ หากรายได้ไม่โต รายจ่ายก็ต้องไม่โตเหมือนกัน เราต้องยอมรับความจริง ไม่ใช่งบประมาณรายจ่ายต้องโตขึ้นไปทุกปี แต่รายได้มันโตตามไม่ทัน แล้วให้รัฐบาลไปกู้ หนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้เราต้องกลับมาคิดกันใหม่ หากต้องการรายจ่ายโต เราก็ต้องคิดหาเครื่องมือทางภาษีใหม่ ๆขึ้นมาเพื่อหารายได้เพิ่ม เพราะการจัดทำงบประมาณรายจ่าย จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว การที่ GDP ของเราโตต่ำกว่าศักยภาพมานาน นี่คือ ต้นเหตุของปัญหาเพียงแต่ใครจะหยิบมิติไหนมาพูด แต่ผมพูดเฉพาะมิติด้านการคลัง”

เข็น “อารีย์ สกอร์” ช่วยคนตัวเล็กกู้เงินในระบบ

นายลวรณกล่าวต่อถึงเรื่องการขับเคลื่อน Digital Transformations ของกระทรวงการคลังว่า กระทรวงการคลังเรามี “Data Lake” ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่เป็น Big Data อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเริ่มต้นกระบวนการทำ Digital Transformations จากข้อมูลที่มีอยู่ตรงกลางและมีขนาดใหญ่ครอบคลุมได้มากพอสมควร มันสามารถนำไปต่อยอดให้แต่ละกระทรวง หรือ แต่ละกรมนำไปใช้ในการจัดทำนโยบายอะไรต่าง ๆได้ดีมากยิ่งขึ้น

“ผมอยากเห็นอะไรที่เป็น “Quick Win” ทำได้เร็วและเริ่มต้นได้ทันที หากข้อมูลแกนกลางตรงนี้เริ่มได้เร็ว มาตรการต่างๆที่จะออกมาโดยใช้ฐานข้อมูลตรงนี้ จะมีประโยชน์อย่างมาก ซึ่งโมเดล “อารีย์สกอร์” ที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่ เป็นผลของข้อมูลแกนกลางที่ครบทุกมิติ และเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดชุดหนึ่ง โดยใช้เครื่องมือ AI มาช่วยวิเคราะห์เรียบเรียง ทำให้เราความรู้จักและเข้าใจในพฤติกรรมของคนไทยให้มากขึ้น”

นายลวรณกล่าวว่า “ข้อมูลที่กระทรวงการคลังนำมาจัดทำ “อารีย์ สกอร์” ครอบคลุมประชาชนกว่า 60 ล้านคน ทำให้เรารู้ว่าประชาชนมีความกินดีอยู่ดี ความเดือดร้อน ทุกข์ยากเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้เราออกมาตรการมาแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น จากนั้นเราก็คิดต่อยอดฐานข้อมูล โดยนำ “อารีย์ สกอร์” มาใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตราบใดที่ประชาชนยังมีความต้องการเงิน และเข้าไปกู้เงินในระบบไม่ได้ หนี้นอกระบบจึงเป็นทางเลือกที่ดีของเขา ถ้าทำแบบเดิมในการปราบปรามหนี้นอกระบบ ก็ไม่ได้ไปช่วยอะไร ก็เลยต้องคิดใหม่”

“การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เกิดความยั่งยืน ต้องทำให้ประชาชนเข้าสู่การกู้ยืมหนี้ในระบบให้ได้ ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรดีกับคนตัวเล็กที่มีประวัติไม่ดี แบงก์ก็ไม่อยากเสี่ยงปล่อยกู้ ทั้งที่จำนวนเงินที่ขอกู้ก็ไม่มาก”

กระทรวงการคลังจึงคิดหาวิธีการประเมินความเสี่ยงของคนกลุ่มนี้ใหม่ โดยจัดทำเป็น Score ซึ่งสถาบันการเงินทุกแห่งสามารถนำไปใช้ได้ เป็นกลไกขับเคลื่อนเรื่องการให้คนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งเงินกู้ โดยใช้ประวัติข้อมูลจาก “อารีย์ สกอร์” ที่สะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคนไทย โดยจะมีการประเมินเป็นคะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 10 มีธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทยมาทำออกแบบ โดยนำข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ในเครือข่ายของกระทรวงการคลังนำมาเก็บในถังเดียวกัน และใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำเป็น Score

วันนี้ข้อมูลเราพร้อมแล้ว เราไม่ได้เห็นชื่อ เป็นรายบุคคล เราทำข้อมูลโดยใช้เลขประจำตัวบัตรประชาชนคำนวณเครดิตเป็นรายบุคคล

“ยกตัวอย่าง คนนี้ได้อารีย์สกอร์ 8 คะแนน ธนาคารกรุงไทย หรือ ธนาคารออมสิน อาจแปลเลข 8 คะแนนไม่เหมือนกันนะ แบงก์หนึ่งอาจแปลความหมายของ 8 คะแนน โดยอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้ไม่เกิน 20,000 บาท คิดดอกเบี้ยเงินกู้ 5% ต่อปี แต่อีกแบงก์หนึ่งอาจจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แค่ 10,000 บาท และคิดดอกเบี้ยสูงกว่า 5% เพราะมอง 8 คะแนน อาจจะไม่เท่ากันแล้วแต่ธนาคารจะประเมินกันเอง”

“ตัวเลขคะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 10 นี้ จะเปลี่ยนแปลงเป็นแบบเรียลไทม์ ซึ่งในอนาคตอาจมีข้อมูลเพิ่มเติม เช่น เรื่องวินัยของการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอะไรต่าง ๆ ตรงนี้ หากคุณชำระหนี้ค่าน้ำ ค่าไฟตรงเวลา คะแนนคุณอาจจะสูงขึ้น เช่น ได้ 8 คะแนน ก็อาจเพิ่มเป็น 8.5 คะแนน ทุกคนก็จะต้องรักษาเครดิตของคุณตรงนี้เอาไว้ เหตุที่ตั้งชื่อว่า “อารีย์สกอร์” เพราะกระทรวงการคลังตั้งอยู่ซอยอารีย์”

“ก่อนหน้านี้มีคนพูดว่าเครดิตบูโรเข้มมากเกินไป ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เพราะฉะนั้นเราควรจะผ่อนคลายหลักเกณฑ์ลงมาบ้าง เพื่อให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ปัจจุบันเครดิตบูโรของไทยอยู่บนมาตรฐานสากลระดับโลก ของมันดีอยู่แล้ว ก็ไม่ควรไปยุ่ง ดังนั้นเราจึงมาทำทางเลือกใหม่ช่วยคนตัวเล็กคืออารีย์สกอร์ เพราะไม่อยากไปยุ่งกับของที่มันดีอยู่แล้ว ควรจะแยกกันอยู่”

คนตัวเล็กเขาอาจจะต้องการเงินจำนวน 5,000 บาท หรือ 20,000 บาท หากเขาได้เงินจำนวนนี้มา ดอกเบี้ยมันจะถูกกว่าหนี้นอกระบบแน่นอน และคนที่เป็นหนี้นอกระบบ ก็อาจมากู้เงินเพื่อไปรีไฟแนนซ์ โดยคืนหนี้นอกระบบเข้ามาเป็นหนี้ในระบบแทน เราไม่ไปยุ่งกับเจ้าหนี้นอกระบบให้เขาเป็นทางเลือกสุดท้าย สำหรับคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบจริงๆ

นายลวรณกล่าวต่อว่าตอนนี้กำลังทดลอง Run โมเดลกันอยู่ เพื่อกำหนด Score ของคนแต่ละกลุ่ม คะแนนเป็นเท่าไหร่ โดยเชิญตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอออมสินมาช่วยกันพิจารณา ควรเพิ่มน้ำหนักกับตัวไหน ให้ทุกแบงก์มาช่วยกันทำ เมื่อถึงเวลาต้องนำไปใช้จริงจะได้สบายใจ ซึ่งต่อไปธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินจะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ นอกจากเครดิตบูโรแล้ว ก็จะมี ‘อารีย์ สกอร์’ เป็นเครื่องมืออีกทางเลือกหนึ่งที่ธนาคารจะใช้วิเคราะห์เครดิตของลูกค้าแต่ละราย

“การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบครั้งนี้คล้ายๆกับกรณีการแก้ปัญหาขายสลากเกินราคา ยุคหนึ่งเราเคยใช้วิธีปราบปราม ยี่ปั้ว ซาปั้ว และเข้าไปรื้อกลไก แต่มันก็ไม่ยั่งยืน ตราบใดที่คนอยากขายสลากมีจำนวนมากกว่า ผลก็คือตัวแทนจำหน่ายสลากนำโควตาสลากมาขายต่อ บวกกกำไรกันมาเป็นทอด ๆ กว่าจะถึงมือผู้บริโภคราคาขึ้นไปใบละ 100 บาท แต่วันนี้เราใช้วิธีการทำทางเลือกใหม่ โดยเพิ่มตัวแทนจำหน่ายสลากราคา 80 บาท/ใบ กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ดังนั้น “อารีย์ สกอร์” จึงเป็นอีกทางเลือกให้คนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น”

นายลวรณ กล่าวย้ำว่า “การที่กระทรวงการคลังนำข้อมูลที่มีอยู่มาทำเป็น “อารีย์ สกอร์” เราไม่ได้ไปเปิดดูข้อมูลใคร โดยที่เขาไม่อนุญาต ก่อนที่แบงก์จะปล่อยกู้ก็ต้องตรวจเช็คสกอร์ลูกค้า โดยลูกค้าจะต้องเซ็นยินยอมให้ตรวจเครดิตบูโร หรือ อารีย์ สกอร์ ในแบบฟอร์มการขอกู้เงิน ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราเข้าไปเปิดดูข้อมูลส่วนบุคคลของใครก็ได้ ดังนั้นคนที่มีความต้องการใช้เงิน เดินเข้าไปติดต่อสถาบันการเงิน วันนี้ไม่ได้มีแค่เครดิตบูโร แต่จะมี “อารีย์ สกอร์” ในการตรวจสอบเครดิตอีกทางเลือกหนึ่งด้วย”

เมื่อถามว่าทำไมต้องหยิบเรื่องหนี้ภาคครัวเรือนขึ้นมาแก้ก่อน นายลวรณกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้ต้องรีบเข้ามาแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน หรือ หนี้นอกระบบ หรือ หนี้สินของภาครัฐ ตอนนี้มีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับ GDP ซึ่งปัญหามันปริ่มๆแล้ว จึงต้องรีบเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง

ส่วนเรื่องหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ ในวันที่ 11 ธันวาคม 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะแถลงมาตรการแก้ปัญหาหนี้กลุ่มนี้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จากข้อมูลมีประชาชนถูกยึดบ้าน ยึดรถยนต์เป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ปรับโครงสร้างภาษีต้องดู ศก.แข็งแกร่งแค่ไหน

นายลวรณกล่าวถึงเรื่องการหารายได้ให้เพิ่มว่า “เรื่องนี้ต้องประเมินหลายมิติ การขึ้นภาษีแล้วไม่ใช่ทำให้รัฐบาลรายได้เพิ่ม แบบนี้ดูง่ายไป ต้องมาดูด้วยว่าเศรษฐกิจไทยหลังฟื้นตัวจากโควิดฯ ตอนนี้มันแข็งแกร่งพอแล้วหรือยัง ถ้ายัง การปรับขึ้นอัตราภาษีมากเกินไป เศรษฐกิจก็อาจจะ shock ได้ และก็ต้องดูเรื่องจังหวะเวลาด้วย ต้องดูด้วยว่าถ้าปรับภาษีขึ้นไปแล้ว เราสามารถนำเงินกลับมาเยียวยาคนบางกลุ่มได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญมากและได้มอบนโยบายให้กรมสรรพากร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษา คาดว่าจะศึกษาเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ จากนั้นคงได้มีโอกาสหารือกันอีกครั้ง หากปรับโครงสร้างอัตราภาษีแล้ว จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจหรือไม่ อย่างไร

นายลวรณกล่าวว่า การจัดทำงบประมาณที่ผ่านมาขาดดุลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และก็มีเครื่องบ่งชี้ หรือ ตัวเลขบางตัวเริ่มชี้ให้เห็นว่า ไม่ควรจะขาดดุลการคลังไปมากกว่านี้ เพราะอาจกระทบต่อ Credit Rating ของประเทศไทยได้ จากการประเมินว่าฐานะการคลังของประเทศจะยั่งยืนหรือไม่

“ผมคิดว่ารัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่มีใครอยากให้ประเทศถูกลดเครดิตหรอก”

พร้อมให้ความเห็นว่า “เรื่องการขาดดุลงบประมาณ ประเด็นอยู่ที่ว่าใคร(รัฐบาล)จะทำให้มันเต็มถังก่อน รัฐบาลชุดก่อนบอกในสมัยผม ยังอยู่แค่ก้นถัง รัฐบาลชุดถัดมาบอกว่าของผมอยู่แค่ครึ่งถัง พอมารัฐบาลชุดนี้บอกว่ามันใกล้จะเต็มถังแล้ว คงไม่มีใครบอกว่ามันขาดดุลกันมาทุกรัฐบาล ก็ขาดดุลต่อไปสิ คงไม่เหมาะสม ซึ่งผมคิดว่าเราไม่ควรไปแก้ปัญหากันตอนที่มันเต็มถังแล้ว แต่เราต้องมองไว้ล่วงหน้า และประเมินความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจด้วย ต้องมาเริ่มคิดกันได้แล้วว่าเราจะทำอย่างไร ควรเริ่มทยอยออกมาตรการมาแก้ปัญหาได้แล้วหรือยัง ซึ่งเรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีพิชัยให้ความสำคัญกับเรื่องวินัยการเงินการคลังอย่างมาก จึงลงมาดูเรื่องแก้หนี้ เพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล”

เข็น “NIT” ดึงคนเข้าระบบภาษี 25 ล้านคน – เพิ่มรายได้ เบิกจ่ายงบฯแบบ “พุ่งเป้า”

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาฐานะการคลังของประเทศ นายลวรณกล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเป็นแนวทางหนึ่ง ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง จะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี “Negative Income Tax” หรือ “NIT” สามารถตอบโจทย์เรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพได้ ฉากทัศน์ หรือ ภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังจากที่กระทรวงการคลังทำฐานข้อมูล Big Data เสร็จสมบูรณ์ สามารถรู้ได้เลยว่า ประชาชนแต่ละคนมีรายได้อะไร

“หลักการของ Negative Income Tax คือ ทุกคนต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี กรมสรรพากรก็จะเก็บภาษี ส่วนคนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ไม่ต้องเสียภาษี จำเป็นที่จะต้องได้รับสวัสดิการจากรัฐ ก็จะส่งกลับมาที่กระทรวงการคลัง เพื่อให้เราจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมให้แก่คนกลุ่มนี้”

“ในอนาคตคนไทยทุกคนก็จะอยู่บนฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งจะมีการ Track ข้อมูลเพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบ และไม่จำเป็นต้องมานั่งลงทะเบียน เพื่อขอรับสวัสดิการจากรัฐทุกๆ 2 ปีอีกต่อไป เราสามารถ Update ข้อมูลได้ทุกๆ 3 เดือน หากใครมีเงินได้ระหว่างทางเกิดขึ้น จนทำให้มีรายได้รวมถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็จะหลุดออกจากระบบสวัสดิการ เข้าสู่ระบบภาษีโดยอัตโนมัติ นี่คือ หลักการของ Negative Income Tax จากนั้นเราก็มาดูเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการ เพื่อดูแลประชาชนด้วยข้อมูลที่เรามี ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อน คนโน้นได้สวัสดิการอย่างโน้น คนนี้ได้แบบนี้ มันจะทำให้การใช้จ่ายเงินเป็นแบบพุ่งเป้า และไม่จำเป็นต้องได้รับสวัสดิการเหมือนกันทุกคน”

นายลวรณกล่าวต่อว่า “วันนี้มีประชาชนเข้ามาขอรับสวัสดิการจากรัฐประมาณ 14 ล้านคน คนกลุ่มนี้หากไม่เคยอยู่ในระบบภาษี ก็ต้องเข้ามาในระบบภาษี เมื่อรวมกับประชาชนที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอยู๋แล้วจำนวน 11 ล้านคน เท่ากับเราจะมีประชาชนเข้ามาในระบบภาษีทั้งหมด 25 ล้านคน ส่วนจะได้รับสวัสดิการเท่าไหร่ไม่รู้ เสียภาษีเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่ทุกวันนี้ด้วยวิทยาการเทคโนโลยี ทำให้เราเก็บข้อมูลได้ และมี AI มาช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ และตรวจสอบความถูกต้องได้แม่นยำมาก”

“10 ปีที่แล้ว กรมสรรพากรมีคนยื่นภาษีเงินได้ประมาณ 11 ล้านคน เวลาผ่านมา 10 ปี เพิ่มมาแค่ 1 ล้านคนเท่านั้น ถามว่าทำไมขยายฐานภาษีได้น้อยมาก เหตุผล ก็คือ ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการยกเว้น และลดหย่อนภาษีเยอะมาก เงินได้ 150,000 บาทแรก ก็ไม่ต้องเสียภาษี จนวันนี้คนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 28,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี เพราะสามารถหักโน่น หักนี่ได้จนไม่ต้องเสียภาษี”

ปรับลดภาษีนิติบุคคล – ขึ้น VATแต่คืนกลับมาเยียวยากลุ่มเปราะบาง

นายลวรณกล่าวถึงอธิบายหลักการปรับโครงสร้างภาษีว่า ในส่วนภาษีเงินได้ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ควรต้องปรับอัตราลดลงตามบริบทของโลกในวันนี้ แต่ภาษีที่ควรจะต้องขึ้นก็คือ ภาษีเพื่อการบริโภคกับภาษีทรัพย์สินที่เก็บจากความมั่งคั่ง

“ลองนึกภาพตาม หากเรามีเงิน เราจะใช้จ่ายเงินอยู่ 2 อย่าง คือ ไม่กิน ก็เก็บ ใช่หรือไม่ แต่สุดท้ายมันก็ไปโผล่ที่การบริโภคอยู่ดี ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อการบริโภค และภาษีทรัพย์สิน ทั้งสองเรื่องนี้น่าจะตรงจุดกว่าการจัดเก็บภาษีเงินได้แบบขั้นบันได เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย ผมคิดว่าแบบนั้น(ขั้นบันได)มันเป็นแค่ทฤษฎี ตั้งแต่ผมทำงานมาจนเกือบจะเกษียณแล้ว การจัดเก็บภาษีเงินได้แบบขั้นบันได มันไม่ได้ช่วยทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำแคบลงเลย ผมคิดว่าเครื่องมือนี้มันใช้ไม่ได้ เหตุเพราะมีการวางแผนภาษีได้ แต่ถ้าหากทุกคนไม่มีการวางแผนภาษี หักลดหย่อนภาษีอะไรก็ไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้การจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได ก็สามารถตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำได้”

พร้อมอธิบายว่า”การจัดเก็บภาษีเพื่อการบริโภค ไม่ว่าคนจน คนรวย ก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราเดียวกัน แต่คนจนกับคนรวยมีรูปแบบการใช้จ่ายเงินไม่เหมือนกัน หากจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อการบริโภค ประเทศไทยเรามีกลไกดูแลคนตัวเล็ก ดูแลกลุ่มเปราะบาง มีช่องทางชดเชย เยียวยา ช่วยเหลือตัวเล็ก เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีเงินใช้ในการบริโภคได้มากขึ้น สมมติ รัฐบาลปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นมา 100 บาท อาจจะแบ่งไปช่วยคนจน 30 บาท คืนกลับไปที่กลุ่มเปราะบางได้เลย ที่เหลือเก็บเข้าคลังนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป ส่วนภาษีทรัพย์สินกระทรวงการคลังกำลังศึกษารายละเอียดในเรื่องความมั่งคั่งที่แท้จริงอยู่ แต่ยังไม่ได้ลงลึกในเรื่องการกำหนดอัตรา”

นายลวรณ กล่าวต่อว่า ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% ของกำไรสุทธิ ลดลงเหลือ 15% คือตัวเลขที่กรมสรรพากรไปทำข้อตกลงกับ OECD ที่จะจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% เท่ากันทั่วโลก หรือที่เรียกว่า “Pillar II” ซึ่งเป็นกติกาที่บังคับใช้กับกรมสรรพากรทั่วโลก โดยรัฐบาลจะเก็บภาษีต่ำกว่า 15% ไม่ได้ มิฉะนั้นจะถูกกลุ่มประเทศสมาชิกลงโทษ วันนี้ประเทศไทยเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 20% ของกำไรสุทธิ เราจะใช้จังหวะนี้ปรับกลยุทธ์ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาเหลือ 15% เข้าไปอยู่ในระนาบเดียวกับประเทศสิงคโปร์เลยจะดีหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเซ็กซี่น่าลงทุนมากยิ่งขึ้น นี่คือแนวคิดที่รัฐมนตรีว่าการการทรวงการคลังฝากไปคิดเป็นการบ้าน

  • ‘กุลยา ตันติเตมิท’ อธิบดีสรรพากรชู “SMILE RD” ต่อยอด Big Data ขยายฐานภาษีทั้งแนวดิ่ง-แนวราบ
  • อย่างไรก็ตาม ถ้าดูสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ของไทย หากดูจากขนาดเศรษฐกิจควรมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP อยู่ที่ 18% แต่เราจัดเก็บได้แค่ 14% ส่วนประเทศในแถบยุโรปจะมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP อยู่ 24 – 25% ของ GDP ซึ่งของไทยต่ำกว่าที่ควรจะเป็นไป 4% ของ GDP ซึ่งขนาดของ GDP ในปัจจุบันอยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท คูณ 4% คิดเป็นเม็ดเงินภาษีที่ขาดหายไปปีละประมาณ 700,000 – 800,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขใกล้เคียงกับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปีนั่นเอง

    “ดังนั้น เราก็ต้องมาพูดถึงเรื่องการหารายได้อย่างจริงจัง ทำอย่างไรให้สัดส่วนของรายได้ภาษีต่อ GDP เพิ่มขึ้น จาก 14% เป็น 18% เราจะได้ไม่ต้องเป็นหนี้ และมีเงินมากพอที่จะนำไปลงทุน และนำกลับมาดูแลกลุ่มคนที่เดือดร้อนเปราะบางได้”

    เชื่อมข้อมูลภาษี OECD เล็งเก็บ ‘Property tax’ ต่อ

    นายลวรณกล่าวต่อว่าเพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นถูกต้องและแม่นยำ ในปีที่แล้วกรมสรรพากร ได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกรมสรรพากรแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีกับกรมสรรพากรที่เป็นสมาชิก OECD ไม่ว่าคุณจะมีรายได้จากประเทศไหน กรมสรรพากรทราบข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา และถือเป็นครั้งแรกที่กรมสรรพากรต้องส่งข้อมูลรายได้ และธุรกรรมทางการเงินของชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทยทุกธนาคาร ส่งไปให้กรมสรรพากรต่างประเทศที่เป็นสมาชิก OECD ในทางตรงกันข้ามกรมสรรพากรไทยก็จะได้ข้อมูลของคนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศด้วย สามารถรับรู้รายได้ของผู้เสียภาษีได้ทั่วโลก

    “ปัจจุบันคนไทยที่มีบ้านที่ประเทศอังกฤษมีรายได้จากค่าเช่าบ้าน ในอดีตเราไม่รู้ แต่ตอนนี้เรารู้หมดแล้ว OECD เข้าก็ไปดึงหมู่เกาะที่ได้รับยกเว้นภาษี หรือที่เรียกว่า “Tax Haven” อาทิ เกาะเคย์แมน บริติชเวอร์จิน มอลตา มอร์ริเชียส เข้ามาเป็นสมาชิกด้วย ส่วนประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ลำดับที่ 140 ในอดีตเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินมากนัก เพราะเราไม่มีข้อมูล หรือ ไม่รู้ว่าจะเก็บภาษีอย่างไร แต่ตอนนี้เรามีข้อมูลแล้ว เรารู้หมดว่าไปฝากเงินที่ไหน มีทรัพย์สินอยู่ที่ไหนบ้าง ตอนนี้จึงมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีทรัพย์สินอย่างจริงจัง”

    เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบภาษีด้วย AI

    นายลวรณกล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบภาษีของเจ้าหน้าที่สรรพากรว่าได้มีโครงการให้เจ้าหน้าที่สรรพากรให้เรียนรู้การใช้ AI และแปลงข้อมูลภาษีต่างๆให้มาอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลไฟล์เพื่อให้การตรวจสอบภาษีทำได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่มีเจ้าหน้าที่ 2,000 คน และเป็นหน่วยงานที่ใหญ่กว่าหลายๆ กรมในสังกัดกระทรวงการคลัง แต่ถ้าเทียบกับบริษัท ห้าง ร้าน ซึ่งมีจำนวนกว่า 600,000 ราย ที่ต้องตรวจสอบ ถือว่าน้อยมาก ดังนั้น การตรวจภาษีของกรมสรรพากรยังใช้วิธีสุ่มตรวจ กว่าจะวนมาตรวจบริษัทนี้ซ้ำอีกครั้งใช้เวลา 3-5 ปี เหตุเพราะคนของกรมสรรพากรไม่พอ

    “พอแปลงข้อมูลจากกระดาษมาทำเป็น Digital File แล้ว ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ภาษี โดยนำเจ้าหน้าที่มือตรวจสอบภาษีที่เชี่ยวชาญประมาณ 200 คน ไปเทรนการใช้ AI บวกกับการพัฒนาระบบข้อมูลของกรมสรรพากรขึ้นมา เพื่อใช้ตรวจสอบภาษีบริษัทขนาดใหญ่ได้ทุกบริษัท และครบทุกประเภทภาษี ไม่ต้องใช้วิธีสุ่มตรวจเหมือนในอดีต และไม่ต้องรอ 3-5 ปีกว่าจะวนกลับมาตรวจภาษีบริษัทซ้ำอีกครั้ง ระบบใหม่สามารถตรวจสอบภาษีได้บ่อยตามที่ต้องการ และสามารถใช้โปรแกรมตรวจอย่างละเอียดเป็นรายบริษัทได้ทุกๆ 6 เดือน จากนั้นเราก็ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีทั้ง 200 คน ไปสอนเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ๆ ต่อไป เพื่อยกระดับการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี”

    ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ทุกวันนี้ผู้เสียภาษีหลายคนรู้การทำงานของกรมสรรพากร ถ้าขอคืนภาษี ก็จะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบอย่างเข้มข้น ดังนั้น จึงมีผู้เสียภาษีหลายคนที่เสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน ใช้วิธียื่นภาษีแล้วจ่ายเงินเพิ่มนิดหน่อย ทำให้หลุดพ้นจากการตรวจสอบ แต่ต่อไปกรมสรรพากรจะตรวจทั้งหมด คาดว่าจะทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนในโครงการลักษณะนี้ เมื่อลงทุนไปแล้วมีรายได้กลับมา เช่น ลงทุนไป 100 บาท แต่มีรายได้กลับมา 5,000 บาท อย่างนี้คุ้มค่าในการลงทุน

    เล็งยกเลิก “EXPRESS” ทางบก แก้ของเถื่อนทะลัก

    นายลวรณ กล่าวถึงประเด็นสินค้าต่ำกว่ามาตรฐานจากต่างประเทศเข้ามาขายจำนวนมากว่า จากการที่เราไปเซ็น FTA กับประเทศคู่ค้า ตรงนี้เป็นกติกาที่ทุกประเทศรู้และต้องยอมรับ แต่ไม่ใช่จะไปนำเข้าอะไรมาขายในระเทศเราก็ได้ แนวทางที่เรากำลังแก้ปัญหาก็คือ การควบคุมคุณภาพของสินค้า ต้องได้มาตรฐาน มอก. หรือ อย. ในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ก็คือ กรมศุลกากร ได้สั่งการให้กรมศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้า เดิมใช้วิธีสุ่มตรวจ ได้สั่งให้ตรวจ 100% โดยเฉพาะ “การนำเข้าของเร่งด่วนทางบก” ที่มาทางรถยนต์ผ่านด่านมุกดาหารกับด่านนครพนม ตอนนี้ไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อนที่เราเคยยกระดับให้เป็นด่านพิเศษตรวจปล่อยสินค้าอย่างรวดเร็ว แต่วันนี้เราสแกน 100% ขอดูเอกสารประกอบการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตจาก สมอ. , อย. ตรวจอย่างละเอียดก่อนตรวจปล่อยสินค้า

    “เราไม่ได้ไปกลั่นแกล้งเขาน่ะ สำหรับการนำเข้าของเร่งด่วนควรจะใช้เฉพาะที่สนามบิน เพราะมีมาตรฐานสูงกว่าโดยผู้ประกอบการนำเข้าของเร่งด่วนทางอากาศจะสำแดงรายการสินค้า และราคาอย่างละเอียดดำเนินการโดยมืออาชีพระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Fed Ex, UPS, DHL หรือ TNT เขาไม่เสี่ยงที่จะไปทำ Under Invoice พวกนี้ทำ Express ได้ แต่การนำเข้าของเร่งด่วนทางบกต่อไปควรต้องยกเลิก”

  • สกัดของเถื่อนทะลัก ‘EXPRESS’ อ่วม จ่ายค่าธรรมเนียมใบขนสินค้ากรมศุลฯเพิ่ม 5 เท่า
  • ส่วนกระทรวงพาณิชย์ก็ไปเชิญแพลตฟอร์มซื้อ – ขายสินค้าออนไลน์เข้ามาจดทะเบียนตามกฎหมายไทย เพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ล่าสุดทราบว่าทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศจะมาจดทะเบียนประกอบธุรกิจในประเทศไทยให้ถูกต้องแล้ว ส่วน สมอ. หรือ อย.ก็ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าตามภารกิจของเขาไป กรมศุลกากรก็คุมเข้มเรื่องการตรวจปล่อยสินค้า

    “เชื่อว่าความไม่เป็นธรรม หรือ อะไรที่มันลักลั่นก็จะค่อยๆหมดไป แต่จะไปห้ามไม่ให้มีการนำเข้า ไม่ได้หรอก เพราะเราไปทำ FTA กับเขาไว้ เขาบุกเรา เราก็ต้องบุกขา แต่นี่เราตั้งรับเขาอย่างเดียว มันก็เลยเป็นอย่างนี้”