ThaiPublica > สู่อาเซียน > ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศร่วมลงนาม ‘ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์‘ รับรองวิสัยทัศน์ ASEAN 2045

ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศร่วมลงนาม ‘ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์‘ รับรองวิสัยทัศน์ ASEAN 2045

27 พฤษภาคม 2025


ที่มาภาพ: https://asean.org/kuala-lumpur-declaration-on-asean-2045-our-shared-future/

อาเซียนก้าวไปข้างหน้าครั้งสำคัญในการวางอนาคตระยะยาว ด้วยการรับรองปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา (Kuala Lumpur Declaration on ASEAN 2045: OurShared Future) ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์สำคัญ

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 46 (ASEAN Summit 46th) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่จัดขึ้นในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ ได้ร่วมลงนาม ‘ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์‘ ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา และรับรอง ‘วิสัยทัศน์อาเซียน 2045’ พร้อมดัน 4 ยุทธศาสตร์ ปรับตัวเชิงรุกในยุคที่โลกเปลี่ยน ในโอกาสครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งประชาคมอาเซียน(ASEAN Community)

นายกรัฐมนตรีดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งเป็นตัวแทนของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนในปัจจุบัน กล่าวถึงปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าเป็น “บทสำคัญในเส้นทางของอาเซียน” และเรียกร้องให้ความร่วมมือในอนาคตบนรากฐานความยั่งยืน ความครอบคลุม และความสามัคคีในภูมิภาค

“การบูรณาการในภูมิภาคจะต้องมีศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชนอย่างแท้จริง นั่นหมายถึงการปิดช่องว่างด้านการพัฒนา การยกระดับมาตรฐานการครองชีพ และการลงทุนในจิตวิญญาณและศักยภาพของมนุษย์ของพลเมืองทุกคนของเรา” นายอันวาร์กล่าวปราศรัยที่ศูนย์การประชุมกัวลาลัมเปอร์

ในแถลงการณ์เรื่อง ‘ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์‘ ว่าด้วยอาเซียน 2045 สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า อาเซียนรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045: ยืดหยุ่น สร้างสรรค์ มีพลวัต และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมกับแผนยุทธศาสตร์ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน(ASEAN Political-Security Community Strategic Plan) แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Strategic Plan) แผนยุทธศาสตร์ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน(ASEAN Socio-Cultural Community Strategic Plan) และแผนยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity Strategic Plan)

รวมทั้งเห็นชอบให้ ปฏิญญานี้ ตลอดจนวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 และแผนยุทธศาสตร์ของปฏิญญานี้รวมอยู่ในวิสัยทัศน์อาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา

วิสัยทัศน์ ASEAN 2045: Our Shared Future จะนำมาปฏิบัติต่อจากวิสัยทัศน์ ASEAN 2025:Forging Ahead Together

สมาคมเห็นพ้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตาม ASEAN 2045: Our Shared Future ผ่านองค์กรและองค์กรของอาเซียนอย่างทันท่วงทีและอย่างมีประสิทธิผล และให้มีการประสานงานที่ราบรื่นระหว่างเสาหลักและภาคส่วนต่างๆ ของมาตรการเชิงกลยุทธ์ข้ามเสาหลักและข้ามภาคส่วนที่ระบุไว้

รวมทั้งยังเห็นชอบที่จะเสริมสร้างศักยภาพและประสิทธิภาพของสถาบันอาเซียน และเสริมความแข็งแกร่งให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อส่งเสริมการดำเนินการตาม ASEAN 2045: อนาคตร่วมกันของเรา และมอบหมายให้รัฐมนตรีอาเซียนและองค์กรอาเซียนที่เกี่ยวข้อง ด้วยการสนับสนุนจากเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนระดมทรัพยากรจากประเทศสมาชิกอาเซียนและแหล่งภายนอกเพื่อดำเนินการตามวัสัยทัศน์ ASEAN 2045: อนาคตร่วมกันของเรา

โดยมอบหมาย เลขาธิการอาเซียนติดตามและรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการของแผนงานอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา ต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นประจำทุกปี ผ่านคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Councils)และคณะมนตรีประชาคมอาเซียนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการทบทวนกลางปีสำหรับแผนงานอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา รวมถึงความเป็นไปได้ของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะเสนอการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็นในช่วงเวลาระหว่างนั้น เพื่อให้แผนงานนั้นปรับได้และตอบสนองต่อโอกาสและความท้าทายในปัจจุบันและที่เปลี่ยนแปลงไป
และกำหนดให้การทบทวนและการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ของแผนงานอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา จะต้องมีการประสานงานโดยสภาประชาคมอาเซียนและคณะมนตรีประสานงานอาเซียนตามกระบวนการที่ตกลงกัน เพื่อให้แน่ใจว่าแผนงานยังคงใช้ได้และสอดรับกับการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ส่วนในแถลงการณ์ในโอกาสครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งประชาคมอาเซียน อาเซียนยืนยันความมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ลึกยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นเศรษฐกิจเดียวที่พร้อมสำหรับอนาคต มีความคล่องตัวและยืดหยุ่น ยึดมั่นบนการเติบโตอย่างยั่งยืนและธรรมาภิบาล และเป็นตลาดเดียวที่มีการแข่งขันในระดับโลกและบูรณาการอย่างราบรื่น โดยใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจดิจิทัล สีเขียว และสีน้ำเงิน

อาเซียนจะเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อยกระดับการเชื่อมต่ออาเซียนให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน การเชื่อมโยงพลังงาน และการค้าพลังงานพหุภาคี และลดช่องว่างการพัฒนาผ่านการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมอย่างครอบคลุม มีส่วนร่วม และเท่าเทียมกัน ตลดจนมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอาเซียน และรับประกันว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยการเสริมสร้างการคุ้มครองทางสังคม การเสริมสร้างสุขภาพและโภชนาการ การส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน และการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพและการพัฒนาทักษะสำหรับแรงงานอาเซียนที่พร้อมสำหรับอนาคต

ผู้นำอาเซียนลงนามปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยAsean 2045: Our Shared Future ที่มาภาพ :https://www.malaymail.com/news/malaysia/2025/05/27/kuala-lumpur-declaration-explained-what-does-aseans-20-year-2045-vision-promise/178289

ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์คืออะไร
ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์เป็น เอกสารทางการทูตพื้นฐานที่ลงนามในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 46 ที่ศูนย์การประชุมกัวลาลัมเปอร์ ปฏิญญาฉบับนี้รับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 อย่างเป็นทางการ โดยกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์สำหรับภูมิภาคในอีกสองทศวรรษข้างหน้า

ปฏิญญาฉบับนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล การเพิ่มศักยภาพสถาบัน และความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่ลึกยิ่งขึ้น ปฏิญญาฉบับนี้ยังเรียกร้องให้พันธมิตรภายนอกสนับสนุนเป้าหมายระยะยาวของอาเซียนอีกด้วย

ที่สำคัญปฏิญญาฉบับนี้ยังตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนในการสร้างเอกภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยวางตำแหน่งภูมิภาคให้เป็นผู้นำระดับโลกในอนาคต

วิสัยทัศน์ Asean 2045 คืออะไร?
Asean 2045: อนาคตที่ร่วมกันของเรา เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมซึ่งกำหนดทิศทางการเติบโตและการบูรณาการของภูมิภาคจนถึงปี 2045

กรอบงานใหม่นี้ต่อยอดจากวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 (Asean 2025) โดยมุ่งหวังที่จะเป็นประชาคมอาเซียนที่มีความยืดหยุ่น สร้างสรรค์ มีพลวัต และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างบทบาทของภูมิภาคนี้ในฐานะศูนย์กลางการเติบโตที่สำคัญในอินโด-แปซิฟิก

วิสัยทัศน์นี้ยังมุ่งหวังที่จะยกระดับสถานะของอาเซียนในระดับโลกด้วยการรับมือกับแนวโน้มสำคัญและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทำไมอาเซียนวางวิสัยทัศน์ 20 ปี

วิสัยทัศน์ 20 ปีนี้เป็นแผนงานที่ชัดเจนและปรับเปลี่ยนได้สำหรับประเทศสมาชิกในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันท่ามกลางภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กรอบงานระยะยาวดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนการวางแผนยุทธศาสตรในระยะยาว ให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากร และช่วยให้สามารถติดตามความคืบหน้าได้อย่างสม่ำเสมอ

กรอบงานระยะยาวดังกล่าวยังช่วยให้มั่นใจถึงความยั่งยืน ความสอดคล้องกับการพัฒนาในอนาคต และการตอบสนองเชิงรุกต่อโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้น

เสาหลักสำคัญของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045

วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน (Asean Community Vision)ดังกล่าวยึดโยงกับ 4 เสาหลัก ซึ่งแต่ละเสาหลักจะส่งเสริมความครอบคลุม ความยืดหยุ่น และความเข้มแข็งในภูมิภาค ได้แก่

1. ความมั่นคงทางการเมือง
ส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการยึดมั่นตามกฎหมายระหว่างประเทศ เสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในภูมิภาค และปกป้องความเป็นกลางและความมั่นคง

2. เศรษฐกิจ
วางตำแหน่งอาเซียนให้เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกโดยส่งเสริมนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งขึ้น และการเติบโตอย่างยั่งยืน

3. สังคมและวัฒนธรรม
ส่งเสริมชุมชนที่เหนียวแน่นและครอบคลุมซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนเอกลักษณ์ร่วมกัน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนด้านสุขภาพ ความยุติธรรมทางสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมพลังเยาวชน และการอนุรักษ์วัฒนธรรม

4. การเชื่อมต่อและความสามารถของสถาบัน
ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงทางดิจิทัล เสริมสร้างความยืดหยุ่นในเมือง และเสริมสร้างสถาบันของอาเซียนเพื่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

มีอะไรใหม่ใน Asean Community Vision 2045?

ขณะที่ต่อยอดความพยายามที่ผ่านมา Asean Community Vision 2045 นำเสนอประเด็นสำคัญที่มองไปข้างหน้าหลายประการ คือ

1. ความเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในกิจการระดับโลก(global affairs)
การเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในการกำหนดทิศทางของภูมิภาคและระดับโลก การยึดมั่นในกติการะหว่างประเทศ และการเสริมสร้างกลไกที่นำโดยอาเซียน เช่น เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific)

2. มุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจดิจิทัลและสีเขียว
การเร่งพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ เทคโนโลยีขั้นสูง การเติบโตสีเขียว และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

3. การรวมเอาทุกฝ่ายเข้าไว้ด้วยกันมากขึ้น
การสร้างตัวแทนที่แข็งแกร่งขึ้นของสตรี เยาวชน และชุมชนที่ถูกละเลยในนโยบายและความคิดริเริ่มด้านการเชื่อมต่อ

4. ความยั่งยืนและความยืดหยุ่น
การกำหนดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด และความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานให้เป็นหัวใจสำคัญของวาระการประชุม