
วันพุธที่ 9 เมษายน 2568 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแถลงสรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนมีนาคม 2568 และภาวะตลาดวันที่ 8 เมษายนหลังจากตลาดทั่วโลกปั่นป่วนจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ และดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาวะตลาดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 SET Index ปิดที่ 1,074.59 จุด ลดลง 4.50% มูลค่าการซื้อขายรวม 66,714 ล้านบาท สะท้อนแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากความวิตกต่อมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 เมษายน 2568 โดยนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบาย “Liberation Day” SET Index ปรับลดลง 8.4% สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค
ดร.ศรพลกล่าวว่า มาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ได้นำมาใช้เมื่อวันที่ 8 เมษายน เป็นชุดมาตรการเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้อำนาจมาและมีอยู่แล้ว คือ การลด Ceiling และ Floor เหลือ ±15% และลดช่วงราคาผันผวน Dynamic Price Band เหลือเพียง ±5% อีกทั้งห้ามการขายชอร์ตเป็นการชั่วคราวนั้น จำนวนหลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์ควบคุมความผันผวนมีไม่มาก ซึ่งถือเป็นการดำเนินมาตรการที่ถูกต้องและเหมาะสม
“ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนที่ทรัมป์ประกาศนโยบาย “Liberation Day” หุ้นไทย ปรับลดลง 8.4% แสดงให้เห็นว่าไทยไม่ได้รับผลเยอะ บางประเทศ อย่างเช่นเวียดนามลดลงไปถึง 14% บางประเทศที่สะเทือนน้อย ปรับลงไม่เยอะ” ดร.ศรพลกล่าว

“ผลกระทบจากแผ่นดินไหวจบแล้วและค่อนข้างจำกัด ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ยังคงอยู๋ ตลาดมีมาตรการที่ดูแลไม่ให้หุ้นได้รับผลกระทบมากนัก และยังคงติดตามสถานการณ์ต่อไป” ดร.ศรพลกล่าว
ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 7 เมษายน 2568 ได้มีมติอนุมัติปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ด้วยการปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor, Dynamic Price Band และห้ามขายชอร์ต เป็นการชั่วคราว เพื่อให้มีมาตรการรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น หลังการประกาศใช้นโยบายภาษีใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
โดย ปรับราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด(Ceiling & Floor) สำหรับทั้ง SET, mai และ TFEX ส่งผลให้ Ceiling & Floor ใน SET, mai จากเดิม +/- 30% ปรับเป็น +/-15% สำหรับการซื้อขายหุ้น หน่วยลงทุนและ Foreign share ส่วนใน TFEX นั้น Ceiling & Floor สำหรับการซื้อขาย Index Futures / Options Sector Futures Single Stock Futures จากเดิม +/- 30% ปรับเป็น +/-15%
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) สำหรับการซื้อขายในแต่ละวันข้างต้น จะไม่ใช้บังคับกับการซื้อขาย DR และ DRx

นอกจากนี้ยังได้ปรับกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ จากเดิม ±10% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น เป็น ±5% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น
และห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวยกเว้น Market Maker สำหรับ SET, mai และ TFEX
การปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2568 และไม่เกินวันที่ 11 เมษายน 2568 โดย ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะติดตามภาวะตลาดต่อเนื่องทุกวัน พร้อมปรับเปลี่ยนเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมปรับมาตรการตามสถานการณ์
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงผลของมาตรการที่ออกมา และคิดว่ามาตรการนี้ช่วย โดยชี้ไปที่การซื้อขายเมื่อวันที่ 8 เมษายน ซึ่งจากการที่ปรับลด Ceiling & Floor นั้นใน SET 100 มีหุ้นเพียง 2 ตัวที่แตะ Floor ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาหุ้นไทยอยู่ในจุดที่ดี ตลาดโดยรวมลงไป 4.5% แต่ SET 100 ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(Market Cap) รวมถึง 80-90% ของตลาดรวม มีหุ้นแตะ Floor เพียง 2 ตัว และไม่ได้ปิดที่ Floor ส่วนหุ้นอื่นๆที่แตะ Floor ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อยอยู่แล้ว อีกทั้งตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับตัวลงมากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค

สำหรับมาตรการอื่นเพื่อเตรียมรองรับตลาดหลังจากมาตรการชั่วคราวสิ้นสุดลงในวันที่ 11 เมษายนนั้น นายอัสสเดชกล่าวว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องวิเคราะห์สิ่งที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์หน้า เพราะมีข้อมูลเปลี่ยนแปลงทุกวัน ตลาดโลกจะเป็นอย่างไร ต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดต่อไป แต่ ณ วันนี้ยังไม่จำเป็นที่ต้องทบทวนหรือปรับปรุงมาตรการ ตลาดหุ้นไทยยังเป็นหนึ่งในตลาดที่ยังบวกอยู่ ต้องคอยดูเป็นจังหวะเรื่อยๆ ดูข้อมูลตลอดเวลาเพื่อประเมินเป็นระยะว่าอะไรต้องจำเป็นที่จะปรับปรุงหรือไม่”
นายอัสสเดชกล่าวถึง การขายชอร์ตที่ห้ามชั่วคราวว่า เนื่องจากตลาดอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ และเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วง 3-4 วันนี้ แต่การขายชอร์ตเป็น practice(แนวปฏิบัติ) สากลในภาวะที่ตลาดปกติ “ในภาวะปกติ การชอร์ตก็เป็นประโยชน์ใน Price Discovery(กระบวนการค้นหาราคาเพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง) เป็น practice ที่ตลาดทั่วโลกใช้”
สำหรับการใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น นายอัสสเดชกล่าวว่า “ต้องดูว่าอะไรจะเหมาะสมอะไรจะผ่อนคลาย”
นายอัสสเดชกล่าวว่า ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ นักลงทุนต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้ดี และที่สำคัญกว่านั้น คือ วิเคราะห์ว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ ยกตัวอย่าง เมื่อวันจันทร์มีรายงานออกมาว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อาจจะเลื่อนการบังคับใช้ภาษีออกไป 90 วัน ปรากฏว่าเป็น fake news ตลาดหุ้นสหรัฐบวกและกลับเป็นลบภายในหนึ่งชั่วโมง “วันนี้ ตลาดไม่ใช่ตลาดไทยแห่งเดียว แต่ตลาดทั่วโลกอ่อนไหวกับข้อมูล ที่สำคัญกว่าปกติ คือ ต้องมีสติในการวิเคราะห์ข้อมูล ก่อนที่จะตัดสินใจไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ข้อดีคือในประเทศเราค่อนข้างนิ่ง ดูจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวกระทบตลาดเราค่อนข้างน้อย แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรม ธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนค่อนข้างแข็งแรง อาจจะอยู้ในพื้นฐานที่อยากให้โตมากกว่านี้ แต่ downside ค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นต้องวิเคราะห์ข่าวจากต่างประเทศให้ดี”

หุ้นไทยมีนาคมรับผลแผ่นดินไหว
สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่อง และปริมาณการซื้อขายในช่วงปลายเดือนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐประกาศมาตรการเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายไปมาหลายครั้ง ทำให้ผู้ลงทุนกังวลเกี่ยวกับการส่งออกของไทย รวมถึงผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแจ้งปิดการซื้อขายทุกตลาด ทั้ง SET mai TFEX ในภาคบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับภัยธรรมชาติในอดีตทั้งสึนามิ ปี 2547 และน้ำท่วม ปี 2554 แม้ว่ามีผลกระทบต่อจิตวิทยาผู้ลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม แต่ผลกระทบเหล่านี้มักเป็นระยะสั้นและมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งกระทบกับกลุ่มขนส่ง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มประกันภัย และกลุ่มรับเหมา ทำให้ผู้ลงทุนมีความกังวลว่าอาจมี บจ. ในกลุ่มดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่หากพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ พบว่า บจ. ยังมีความเข้มแข็งและน่าจะสามารถผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้ อีกทั้ง SET Index ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ Valuation ของหลักทรัพย์อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น เริ่มเห็นสัญญาณ บจ. ไทยเข้ามาช่วยหนุนมูลค่าบริษัทของตัวเองโดยการเข้ามาซื้อหุ้นคืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ขณะที่ Value Stock เริ่มมี downside ที่จำกัด

เดือนมีนาคม 2568 SET Index ปิดที่ 1,158.09 จุด ปรับลดลง 3.8% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 SET Index ปรับลดลง 17.3%
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มทรัพยากร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอาหาร และ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 38,491 ล้านบาท หรือลดลง 10.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงไตรมาส 1/2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมฯ อยู่ที่ 42,826 ล้านบาท ลดลง 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 21,852 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2568 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 39,978 ล้านบาท

Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.9 เท่า
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 4.24% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.34%
ส่วนภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนมีนาคม 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 519,619 สัญญา เพิ่มขึ้น 7.1% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures ทำให้ในปี 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 463,656 สัญญา ลดลง 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ Gold Online Futures