ThaiPublica > เกาะกระแส > “ณัฐ วงศ์พานิช” ชูกลยุทธ์ 3S ฟื้นฟูค้าปลีกไทย – จี้รัฐคุมสินค้าราคาถูกและด้อยคุณภาพทะลัก

“ณัฐ วงศ์พานิช” ชูกลยุทธ์ 3S ฟื้นฟูค้าปลีกไทย – จี้รัฐคุมสินค้าราคาถูกและด้อยคุณภาพทะลัก

22 เมษายน 2025


นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดแนวโน้มค้าปลีกครึ่งปีหลัง 2568 เผชิญปัจจัยรอบด้านทั้งภายในและภายนอก ภายใต้โลกการค้าใหม่ ชี้แนวทางฟื้นฟูค้าปลีกด้วย กลยุทธ์ 3S “Shield (ตั้งรับ) Strike (รุกกลับ) Shape (ปรับตัว)” เร่งเดินหน้านโยบาย “TRA GREAT” ยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้แข็งแกร่ง

ค้าปลีกชะลอตัว ผลพวงเศรษฐกิจโลก

นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดค้าปลีกและความท้าทายในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 โดยอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า อัตราการเติบโตของมูลค่าตลาดค้าปลีกในช่วงปี 2567-2568 อยู่ที่ 3.4% หรือ 1.36 แสนล้านบาท มีแนวโน้มชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2565-2566 ที่โต 5.9% เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำแพงภาษีสหรัฐฯ กำลังซื้อผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงการแข่งขันรุนแรงกับแพลตฟอร์มค้าปลีกต่างชาติอย่าง E-Commerce

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะสินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ ที่เข้ามาผ่านทางอีคอมเมิร์ซและผู้ประกอบการรายย่อยข้ามแดน อีกทั้งต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรง ต้นทุนโลจิสติกส์ ค่าพลังงานและสาธารณูปโภคส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มากกว่า 3.3 ล้านราย

“จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกที่ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพการบริโภคที่ชะลอตัว ภาคท่องเที่ยวเติบโตลดลง และภาคส่งออกที่กำลังเผชิญกับกำแพงภาษี” นายณัฐกล่าว

โดยปี 2567 ภาคค้าปลีกมีมูลค่าราว 4 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนมูลค่าใน GDP สูงเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็น 16% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศ

นายณัฐ ย้ำว่า ค้าปลีกยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย ในการขับเคลื่อนภาคผลิต ภาคการบริโภค และภาคแรงงาน แม้ช่วงครึ่งปีหลังนักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนลดลง จึงจำเป็นต้องหาตลาดทดแทน เช่น นักท่องเที่ยวระยะไกล (Long Haul) หรือยุโรปมากขึ้น เช่น รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และตะวันออกกลาง เป็นต้น

ทั้งนี้ เทรนด์ภาคค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังมีดังนี้

  • Convergence Commerce as the New Standard สร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างช่องทาง Offline และ Online รวมถึงการผสานร้านค้ารายใหญ่และรายย่อยให้เป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) เดียวกัน เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
  • AI Personalization Engine นำเสนอสินค้า โปรโมชั่น และประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละรายอย่างเฉพาะบุคคล (Personalization) ด้วยการใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อบริหารจัดการสต็อกสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มยอดขาย ลดปริมาณสินค้าคงคลังที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
  • Sustainable Retail ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม, ใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน

สินค้าจีนทะลัก ไทยแข่งต้นทุนไม่ได้

อีกหนึ่งความท้าทายสินค้าจีนตีตลาดไทยอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลพวงจากกำแพงภาษีของทรัมป์ ซึ่งทำให้จีนต้องหาตลาดระบายสินค้า โดย นายณัฐ อธิบายว่า การแข่งขันภายในประเทศไทยจะรุนแรงขึ้น เพราะสินค้าไทยต้องแข่งกับสินค้าจีน ดังนั้นผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก กลาง หรือใหญ่ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างยิ่ง

“สินค้าจีนที่จะล้นทะลักเข้ามา บางอย่างมาตรฐานไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะต้นทุนที่ต่ำ สินค้าจีนจะเข้ามาเยอะขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และของใช้ในชีวิตประจำวัน”

นายณัฐ แนะนำว่า ผู้ประกอบการจะขายสินค้าราคาถูกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสินค้าจีนราคาถูกและต้นทุนต่ำกว่า ดังนั้นต้องปรับตัว โดยพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพหรือพยายามสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) เข้าไปในสินค้าของเรา หรือหาระบบ-เทคโนโลยีเข้ามาเสริม กระทั่งปรับรูปแบบร้านออนไลน์-เพจ เพื่อดึงดูดลูกค้ามากขึ้น

ปิดจุดเสี่ยง สินค้าด้อยคุณภาพ-ปราบธุรกิจนอมินี

นายณัฐ กล่าวถึงข้อเสนอภายใต้กลยุทธ์ 3S หรือ Shield Strike Shape ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งรับ รุกกลับ และปรับตัว

ข้อเสนอ (1) ตั้งรับ (Shield)

เน้นการป้องกันสินค้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ เช่น การตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% แทนการสุ่มตรวจ ด้วยระบบเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำ และตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่วางจำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวด เช่น การมีมาตรฐาน มอก. และฉลากต้องเป็นภาษาไทย

รวมถึงปราบปรามธุรกิจนอมินี โดยเร่งหามาตรการเชิงรุกในการจัดการธุรกิจนอมินี (Nominee) ที่สวมสิทธิ์คนไทยในทุกระดับ ตั้งแต่รายย่อยถึงรายใหญ่ ครอบคลุมธุรกิจในหลายรูปแบบ เช่น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงแรมศูนย์เหรียญ เพื่อยับยั้งการรั่วไหลของเม็ดเงิน และผลักดันให้รายได้จากภาคค้าปลีกหมุนเวียนกลับสู่ระบบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทย และป้องกันการสวมสิทธิ์ผลิตสินค้าที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปสหรัฐ (Re-Export) ส่งผลให้ไทยเกินดุลสหรัฐ

เสนอเปิด Paradise Sandbox นำร่องภูเก็ต – Instant Tax Refund คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

ข้อเสนอ (2) รุกกลับ (Strike)

  • ค้าเสรีและเป็นธรรม
    • -จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% กับสินค้าออนไลน์นำเข้าที่มีมูลค่าตั้งแต่บาทแรก (จากเดิมสินค้าไม่เกิน 1,500 บาทได้รับการยกเว้นภาษี) โดยออกเป็นกฏหมายบังคับใช้เป็นการถาวร
      -ปรับปรุงกฏหมายที่มีข้อจำกัดและไม่ครอบคลุมของ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” หรือการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าไม่ได้มาตรฐานราคาถูกที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มข้ามชาติ เพื่อปกป้องผู้บริโภคคนไทย เช่น จัดให้มีระบบเชื่อมต่อข้อมูลอัตโนมัติ (API) กับหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
      -ออกมาตรการรับมือกับสถานการณ์สินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดไทย อันเนื่องมาจากปัญหาการผลิตสินค้าเกินความต้องการภายในประเทศจีน (Oversupply) ซึ่งจีนจำเป็นต้องระบายสินค้าสู่ต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยจนถึงขั้นต้องปิดกิจการหรือมีการเลิกจ้างแรงงาน
  • ช้อปปิ้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Instant Tax Refund)
    • เสนอการนำร่องมาตรการ Instant Tax Refund คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับนักท่องเที่ยวที่มียอดซื้อสินค้าขั้นต่ำ 3,000 บาทขึ้นไป ต่อ 1 วันในร้านค้าเดียวกัน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับประเทศจีนที่ได้ประกาศใช้นโยบาย Instant Tax Refund 500 หยวน (ประมาณ 2,500 บาท) นำร่องที่เมืองท่องเที่ยวอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว
  • เขตปลอดภาษีสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ (Shopping Paradise Sandbox)
    • -พิจารณาการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง น้ำหอม โดยอาจเริ่มที่สินค้าอเมริกาก่อน โดยนำร่องทำแซนด์บ็อกซ์เป็นเขตปลอดภาษี (Free Trade Zone) ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและเพิ่มศักยภาพให้ไทยเป็น Shopping Paradise ของภูมิภาค
      -การลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์จากสหรัฐฯ เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าไทย–สหรัฐฯ และสร้างความหลากหลายให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์คุณภาพจากต่างประเทศ

    รื้อ กม. ล้าสมัย – ดันเอสเอ็มอีรายเล็ก

    ข้อเสนอ (3) ปรับตัว (Shape)

    การลดทอนกฏระเบียบที่ล้าสมัยและซับซ้อน (Regulatory Guillotine) โดยผลักดันมาตรการ Regulatory Guillotine เพื่อลดกฎระเบียบที่ล้าสมัยและซับซ้อน เช่น การปรับลดจำนวนและขั้นตอนการขอใบอนุญาตหลายใบให้อยู่ในใบเดียว (Super License) และผ่านระบบกลาง (Biz Portal) ครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น ใบอนุญาตเปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และใบอนุญาตก่อสร้าง

    การสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย (Championing Thai SME) รัฐสนับสนุนเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษี โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและพัฒนานวัตกรรมสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ พร้อมผลักดันให้ได้รับการรับรอง ‘Made in Thailand’ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและขยายโอกาสในการส่งออก ตลอดจนส่งเสริมการมอบสัญลักษณ์ Thai SELECT จากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อการันตีคุณภาพอาหารไทยซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ทั้งในและต่างประเทศ

    การมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่าน BOI เพื่อจูงใจนักลงทุนไทยให้ลงทุนในเมืองน่าเที่ยวศักยภาพสูง เพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำ

    ผลงานสมาคมฯ

    นายณัฐ ยังกล่าวถึงโครงการโดดเด่นของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 – เมษายน 2568 เช่น

    • การร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เป็นศูนย์กลางลงทะเบียนร้านค้าเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครอบคลุม 400 บริษัท กว่า 2 แสนแห่งทั่วประเทศ อาทิ ภาคค้าปลีก ค้าส่ง ร้านค้าในศูนย์การค้า ศูนย์อาหาร ร้านอาหาร เป็นต้น
    • นำเสนอข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบสินค้านำเข้าราคาถูกและการสวมสิทธิ์นอมินี รวมทั้งสมาคมฯ ได้มีโอกาสหารือกับคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อให้ข้อเสนอแนะ ส่งผลให้สมาคมฯ กลายเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญที่ผลักดันให้เกิดมาตรการปราบปรามอย่างจริงจัง
    • สนับสนุนเอสเอ็มอี โดยเฉพาะวิสาหกิจรายย่อย (Micro SME) โดยร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผ่านการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายภายในห้างร้านและศูนย์การค้าของสมาชิก
    • นำเสนอมาตรการ Easy E-Receipt ให้กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อช่วยปลุกมู้ดการจับจ่ายใช้สอยได้เป็นอย่างดี

    “เราคุยกับภาครัฐเราคุยมาเยอะ แต่ภาครัฐก็มองว่า (ข้อเสนอ) มันจะเกิดประโยชน์อะไรกับภาครัฐด้วย ตอนนี้เราเป็นกระบอกเสียงพูดไปก่อน…ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คุยกันตอนนี้เกิดปีหน้าได้ก็เก่งแล้ว”