รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐ (Sovereign Wealth Fund – SWF) ของอินโดนีเซีย ชื่อ “ดานันทารา” (Danantara) เปิดเผยรายชื่อ “ทีมยุทธศาสตร์” ที่จะแนะนำแนวทางการดำเนินงานของกองทุนนี้ ประกอบด้วย Ray Dalio ผู้จัดการกองทุนบริหารความเสี่ยง Bridgewater (Hedge Fund) Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง และทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย และมีรายงายนข่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Tony Blair จะเข้าร่วมภายหลัง
Jeffrey Sachs ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ในฐานะดังกล่าว จึงจะดำรงตำแหน่งในคณะที่ปรึกษาของดานันทารา งานของเขาจะเป็นงานอาสาสมัครทั้งหมด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของอินโดนีเซีย โดยไม่มีค่าตอบแทน
หนึ่งในกองทุน SWF ใหญ่สุดของโลก
กองทุนดานันทาราจะมีบทบาทสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในสมัยประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ 8% ในปี 2029 กองทุนฯจะเข้าซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจ และนำเงินปันผลไปลงทุนในโครงการเชิงพาณิชย์ คาดว่ากองทุนฯจะมีสินทรัพย์ 900 พันล้านดอลลาร์ หนึ่งในกองทุน SWF มูลค่ามากที่สุดของโลก ขณะที่กองทุน Temasek ของสิงคโปร์ มีสินทรัพย์ 288 พันล้านดอลลาร์
กองทุนฯมีแผนในระยะแรก ที่จะลงทุน 20 พันล้านดอลลาร์ จากเงินทุนเริ่มต้น 61 พันล้านดอลลาร์ ในอุตสาหกรรมแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนา AI และความมั่นคงด้านพลังงานกับอาหาร กองทุนฯมีโครงสร้าง 3 ส่วน คือคณะกรรมการกำกับดูแล คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการที่ปรึกษา
ประธานาธิบดีซูเบียนโตแถลงว่า ดานันทาราเป็นเครื่องมือการพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์การลงทุนของดานันทาราคือเน้นประสิทธิภาพการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ นำผลตอบแทนจากการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ ไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตสูง เช่นพลังงานทดแทน ในขั้นต้นจะเข้าไปบริหารรัฐวิสาหกิจชั้นนำ ประกอบด้วย ธนาคารรัฐ 3 แห่ง บริษัทพลังงาน 2 แห่ง บริษัทผลิตไฟฟ้า 1 แห่ง และบริษัทโทรคมนาคม 1 แห่ง
ทรัมป์ประกาศตั้งกองทุน SWF
บทความชื่อ America Needs a Sovereign Fund ของนิตยสาร Foreign Affairs กล่าวว่า หลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดนัลด์ ทรัมป์ก็ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารทันที ให้มีการจัดตั้ง “กองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐ” (SWF) ของอเมริกาขึ้นมา SWF จะส่งเสริมความเข้มแข็งทางการเงินระยะยาวของสหรัฐฯ การลงทุนโดยตรงในอุตสาหกรรมการผลิต และการวิจัยทางการแพทย์ สนับสนุนเทคโนโลยีเกิดใหม่ และห่วงโซ่อุปทาน
แม้สหรัฐฯจะไม่มี SWF ของประเทศ แต่กว่าครึ่งหนึ่งของมลรัฐต่างๆ มีกองทุนลักษณะเดียวกัน ปี 1803 มลรัฐโอไฮโอตั้ง “กองทุนที่ดิน” เพื่อนำเงินมาใช้ด้านการศึกษาของรัฐ บางมลรัฐมีกองทุนอาศัยรายได้จากน้ำมัน มาใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ
ต่อมาประเทศต่างๆเริ่มตั้งกองทุน SWF ขึ้นมา ปี 1953 คูเวตมอบหมายให้ Bank of England เข้ามาบริหารผลกำไรจากน้ำมันของคูเวต ที่คูเวตใช้เป็นงบประมาณรายจ่ายและเงินทุนสำรอง อาบูดาบี นอร์เวย์ และกาตาร์ ตั้ง SWF ของตัวเอง เพื่อประกันความเสี่ยงจากการลดลงของปริมาณสำรองน้ำมัน
ปัจจุบัน กว่า 90 ประเทศตั้งกองทุน SWF ขึ้นมาทั้งหมดมากกว่า 160 กองทุน มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ ปี 2024 อังกฤษตั้ง SWF มูลค่า 35 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม
กองทุน SWF ในระยะแรกอาศัยเงินทุนจากความมั่งคั่ง ที่มาจากสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ ปัจจุบันนี้ ครึ่งหนึ่งของ SWF อาศัยเงินทุนจากแหล่งอื่น เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ตามสารหนี้ภาครัฐ และงบประมาณเกินดุล การลงทุนของ SWF ในระยะแรกมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้
แต่ปัจจุบัน หลายกองทุนต้องการจุดชนวนการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยการดึงหุ้นส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ หรือส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง บางกองทุนสนับสนุนนโยบายกว้างๆ เช่น ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม หรือการวิจัยทางการแพทย์

SWF ทำให้ชาติมั่งคั่งหรือไม่
หนังสือชื่อ Citizen’s Wealth เขียนไว้ว่า ปี 1969 มีการค้นพบน้ำมันดิบที่บ่อน้ำมัน Ekofish พื้นที่ทะเลเหนือในส่วนของนอร์เวย์ ปี 1970 มีการค้นพบน้ำมันที่บ่อน้ำมัน Forties ในส่วนของอังกฤษ การผลิตน้ำมันมีขึ้นในกลางทศวรรษ 1970 ทำให้อังกฤษและนอร์เวย์มีรายได้อย่างมากจากน้ำมัน แต่ 45 ปีต่อมา อังกฤษมีรายได้จากภาษีน้ำมัน 200 พันล้านปอนด์ ส่วนนอร์เวย์มีรายได้ 522 พันล้านปอนด์
สองประเทศค้นพบน้ำมันจากแหล่งเดียวกัน ในเวลาใกล้เคียงกัน และมีรายได้จากภาษีแบบเดียวกัน แต่ถึงปี 2016 นอร์เวย์มีกองทุน SWF มูลค่า 825 พันล้านดอลลาร์ ใช้เงิน 1% มูลค่า 348 ล้านปอนด์ ไปซื้อศูนย์การค้าเมืองเชฟฟิลด์ในอังกฤษ ส่วนอังกฤษไม่มีอะไรเป็นตัวตนจับต้องได้ ที่จะแสดงออกถึงความมั่งคั่งจากน้ำมัน หากอังกฤษตั้งกองทุน SWF แบบนอร์เวย์ คาดว่าจะมีมูลค่า 350 พันล้านปอนด์ในปี 2012
Citizen’s Wealth กล่าวว่า ข้อสังเกตดังกล่าว ทำให้สื่อมวลชนอังกฤษกล่าวหาว่า นักการเมืองนำเอาความมั่งคั่งไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย แต่การตั้ง SWF ขึ้นมา ไม่ได้หมายความว่า ความมั่งคั่งสุทธิจะเกิดขึ้นอันโนมัติ
ความมั่งคั่งจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3 ปัจจัย คือ (1) แหล่งเงินที่จะนำมาเป็นกองทุน (2) การลงทุนที่ประสบความสำเร็จของ SWF และ (3) ความมีวินัยและความต่อเนื่องของการออม และการใช้เงินผลตอบแทนจากกองทุน สรุปก็คือการลงทุนที่รอบคอบ และการบริหารกองทุนอย่างมีวินัย สามารถทำให้ประเทศมั่งคั่งขึ้นมา

ตั้งหรือไม่ตั้ง SWF
ประสบการณ์ที่แตกต่างกันของนอร์เวย์และอังกฤษ เรื่องกองทุน SWF ทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศต่างๆควรจะตั้งกองทุน SWF ขึ้นมาหรือไม่การตัดสินใจของนอร์เวย์ที่จะมีกองทุน SWF ทำให้มีความได้เปรียบหลายอย่างตามมา คนนอร์เวย์วสามารถพูดได้ว่า SWF คือ “เงินน้ำมันของเรา” กองทุนความมั่งคั่งเป็นสัญลักษณ์ของทรัพย์สิน ที่เป็นของประเทศและประชาชน ส่วนเงินน้ำมันของอังกฤษ การถกเถียงกันเป็นเรื่อง “การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย” ทำให้เห็นว่าเงินรายได้จากน้ำมันของอังกฤษ ไม่ได้นำไปสร้างมรดกที่ทุกคนมองเห็นได้
นอกจากนี้ ในทางหลักการ กองทุน SWF ของนอร์เวย์กลายเป็นสิ่งถาวร การนำรายได้จากน้ำมันเข้าสู่ SWF นอร์เวย์ได้เปลี่ยนความมั่งคั่งของทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่เปลี่ยนโอนได้ แต่ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ความมั่งคั่งจากแหล่งน้ำมันของนอร์เวย์ ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์แก่คนรุ่นที่นำน้ำมันออกมาขายเท่านั้น แต่ยังเก็บประโยชน์ไว้ให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต ในรูปของสินทรัพย์ทางการเงินอีกด้วย
กรณีของอังกฤษ เปลี่ยนความมั่งคั่งจากทรัพยากรน้ำมัน ไปใช้ในนโยบายการเคหะ ทำให้คนบางกลุ่มที่เป็นเจ้าของบ้านพักอาศัย ได้ประโยชน์จากความมั่งตั่งของน้ำมันทะเลเหนือ เทียบกับนอร์เวย์ อังกฤษล้มเหลวที่จะทำให้ทรัพยากรเป็นประโยชน์ทั้งแก่คนรุ่นปัจจุบัน และคนในอนาคต
เอกสารประกอบ
Sovereign fund Danantara Indonesia names ‘dream team’ of former presidents, Sachs, Dalio and ex-Thai PM Thaksin, March 24, 2025, Reuters.
America Needs a Sovereign Wealth Fund, February 24, 2025, foreignaffairs.com
Citizen’s Wealth, Angela Cummine, Yale University Press, 2016.