ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเผย DSI รับ ‘ตึก สตง.ถล่ม’ เป็นคดีพิเศษ-จี้ กฟผ.-กกพ.รื้อสัญญาทาสใน 45 วัน หั่นค่าไฟเหลือ 3.99 บาท

นายกฯเผย DSI รับ ‘ตึก สตง.ถล่ม’ เป็นคดีพิเศษ-จี้ กฟผ.-กกพ.รื้อสัญญาทาสใน 45 วัน หั่นค่าไฟเหลือ 3.99 บาท

1 เมษายน 2025


เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ เผย DSI รับ ‘ตึก สตง.ถล่ม’ เป็นคดีพิเศษ ผลเป็นอย่างไร – ต้องให้โลกรู้
  • DSI ตรวจพบ ทุนจีนใช้นอมินี 17 บริษัท – รับงานหลวง 11 โครงการ
  • ขีดเส้นตาย ‘อนุทิน’ 7 วัน สรุปผลสอบ ‘ตึก สตง.ถล่ม’
  • จี้ ‘สปน.- ปภ.’ เร่งสรุปมาตรการเยียวยา ‘แผ่นดินไหว’
  • ตั้งเป้าลดค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.นี้เหลือ 3.99 บาท
  • มติ ครม.สั่ง กฟผ.-กกพ.รื้อสัญญาทาสใน 45 วัน ตั้งเป้าหั่นค่าไฟเหลือ 3.99 บาท
  • ไฟเขียว “บ้านเพื่อคนไทย” เฟสแรกเช่าสูงสุดแค่ 60 ปี
  • เพิ่มค่าตอบแทน ‘เภสัชกร’ อภ.เป็น 10,000 บาท/ด. แก้สมองไหล
  • ขึ้นค่าเช่าบ้านให้พนักงาน อภ.เป็น 4,000 – 6,000 บาท/ด.
  • ยกเว้นค่าทางด่วนช่วงสงกรานต์ เริ่มเที่ยงคืน 11 – 17 เม.ย.นี้
  • เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และมอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

    เห็นชอบยุทธศาสตร์ฟ้าใส ‘ไทย-ลาว-เมียนมา’ แก้หมอกควักข้ามแดน

    นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส และความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา และไทย ผ่านกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การควบคุมระดับไฟจากการเผาในที่โล่ง (2) การคาดการณ์การติดตามสถานการณ์หมอกควัน (3) การจัดเกษตรกรรมการอย่างยั่งยืน (4) การบังคับใช้กฎหมายและการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ (5) นำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ส่วนประเทศกัมพูชาจะมีกรอบความร่วมมือกับประเทศไทย และมีเนื้อหาในการแก้ปัญหาคล้ายกัน

    ตั้งเป้าลดค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.นี้ เหลือ 3.99 บาท

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบมาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยกระทรวงพลังงานเสนอให้มีเป้าหมายในการปรับลดอัตราค่าไฟที่จะประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า สำหรับรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ลงเหลือไม่เกินอัตราหน่วยละ 3.99 บาท โดยไม่มีการอุดหนุนจากงบประมาณของภาครัฐ

    มอบ ธอส.-กองสลากฯ คัดเลือกเจ้าของ “บ้านเพื่อคนไทย”

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการบ้านเพื่อคนไทยนำร่องระยะที่ 1 จำนวน 4 โครงการ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย มาพัฒนาเป็นบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อให้โอกาสประชาชน และกลุ่มคนวัยเริ่มทำงานได้มีที่อยู่อาศัยในราคาถูก และอยู่ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดค่าใช้จ่ายประจำวัน

    นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายคือประชาชนวัยทำงาน หรือ ผู้มีรายได้ประจำที่ยังไม่มีที่พักอาศัย และต้องมีคุณสมบัติตามที่โครงการกำหนด

    ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ “ธอส.” จะเป็นผู้ที่มีรายชื่อเข้ารับการคัดเลือกจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยการจับฉลากคัดเลือกต่อไป

    เผย DSI รับ ‘ตึก สตง.ถล่ม’ เป็นคดีพิเศษ ผลเป็นอย่างไร – ต้องประกาศให้โลกรู้

    ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณีตึก สตง. ถล่ม เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ทุกกระทรวงคุยกันเรื่องนี้ ก่อนเริ่มเข้าวาระประชุมก็คุยกันเรื่องสาเหตุตึกถล่ม ทุกกระทรวงมีข้อเสนอและความรับผิดชอบที่คนละเรื่องกัน แต่ทุกกระทรวงก็รับไปในส่วนการพิจารณาต่างๆ เพื่อจะให้การดำเนินการหาข้อเท็จจริงเป็นไปได้อย่างเร็วที่สุด”

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า “จะมีการติดต่อระบบเทคโนโลยีกับประเทศต่างๆ ให้ดีขึ้น เช่น ประเทศที่ประสบเรื่องแผ่นดินไหวอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น หรือ โซนประเทศในยุโรป ก็ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงมอบหมายและพูดคุยเรื่องเทคโนโลยีเพิ่มเติมด้วย อย่าง กระทรวงศึกษาฯ ก็ต้องปรับแผน มีเด็กที่ต้องสอบก็มีการเลื่อนวันเล็กน้อย ทุกกระทรวงก็ปรับตามความเหมาะสมไป ร่วมมือกันอย่างดี”

    ถามว่า จะตรวจสอบบริษัทรับเหมาก่อสร้างหรือไม่ เพราะเห็นว่ารับงานด้านคมนาคมด้วย โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ก็ได้ให้ตรวจสอบทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง และให้ลงลึกว่าทำโครงการไหนบ้าง เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เรื่องความไม่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีก ฉะนั้นเมื่อกี้ก็ได้มีการสั่งการใน ครม. ไปแล้วว่า โครงการที่เกี่ยวข้องก็ให้ผู้ตรวจสอบไปตรวจสอบด้วย”

    นางสาวแพทองธาร ยังย้ำว่า “เมื่อกี้ได้มีการสั่งการไปแล้วใน ครม.”

    ถามต่อว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า เหล็กที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน นายกฯ จะตรวจสอบด้วยหรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อันนี้ต้องตรวจสอบแน่นอนเพราะเป็นเรื่องความปลอดภัย ถ้าพบเจอแล้วว่าชิ้นส่วนพวกเหล็ก หรือ ส่วนประกอบวัสดุต่าง ๆ ที่เอามาทำตึก ถ้ากระจายไปที่โครงการอื่นด้วย ก็ต้องแจ้ง”

    “อย่างที่พูดไว้ก่อนหน้านี้คือ เราต้องจริงจังกับกระบวนการทุกอย่าง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เกิดขึ้นกับตึกๆ เดียว แต่เป็นภาพพจน์ของประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ให้เวลาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป เพื่อจะได้หาคำตอบมาบอกพี่น้องประชาชน จริงๆ ไม่ใช่แค่พี่น้องประชาชน แต่บอกโลกเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ถามต่อว่า ประเด็นดังกล่าวต้องเข้ากระบวนการของ DSI หรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ตอนนี้เรื่องอยู่ที่ดีเอสไอแล้ว ช่วงการประชุม ครม. พล.ต.อ. ทวี สอดส่อง เพิ่งพูดว่าดีเอสไอกำลังพิจารณาอยู่”

    สั่งสอบบริษัทรับเหมาสร้างตึก สตง. – ปัดโฟกัสเฉพาะทุนจีน

    ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น รัฐบาลจะดำเนินการเรียกความเชื่อมั่นอย่างไร โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ดำเนินการตลอดเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวดิฉันเอง หรือ รัฐมนตรีต่างประเทศ หรือ ท่องเที่ยวเอง พยายามสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่า มันเป็นความผิดพลาดเรื่องตึกเดียว แต่ทุกตึกในกรุงเทพฯ ต้องผ่านมาตรฐานตามกฎหมายในเรื่องการรองรับการเกิดแผ่นดินไหว หรือ เรื่องต่างๆ ตามกฎหมายของตึกมันมีขั้นตอน standard อยู่แล้ว แต่ตึกนี้เรากำลัง investigate อยู่ ก็ได้ส่ง message อย่างนี้ไป”

    ถามต่อว่า จะตรวจสอบบริษัทจีนข้ามชาติให้เข้มข้นขึ้นหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “แน่นอน อันนี้เป็นบทเรียนว่าเราต้องเข้มงวดมากขึ้น ในเรื่องของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการสร้างตึก หรือ สร้างอะไร ความปลอดภัยต้องมาเป็นหลัก”

    ผู้สื่อข่าวยังถามว่า ตอนนี้ทุนข้ามชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา แต่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว คนไทยได้อะไร โดย นางสาวแพทองธาร นิ่งคิด และตอบว่า “อันนี้ต้องดูในเรื่องของ register ที่ถูกกฎหมายด้วยเรื่องต่างด้าว ทุกไซต์งานไม่ใช่ชาติใดชาติหนึ่งทั้งหมด บางทีจำนวนคนเองก็ไม่พอในหลายๆ ไซต์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะฉะนั้นก็จะพยายามดูตรงนี้ให้ดี แต่ก็ไม่ให้คนไทยเสียโอกาสอยู่แล้ว อย่างไซต์งานที่เกิดขึ้นก็มีทั้งสองสัญชาติ”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า ตอนนี้ทุนจีนถูกโฟกัสเป็นพิเศษ ทำให้ นางสาวแพทองธาร บอกว่า “เอาอย่างนี้ ตอนที่เขาสร้างตึกนี้ก็เป็นบริษัทไทยกับบริษัทจีน เราก็ต้อง investigate อย่างนั้นไป ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวว่าประเทศไหน หรือ ประเทศไหน ดูตามสัญญาเลยว่าบริษัทยี่ห้อไหนกับยี่ห้อไหนคุยกัน ไม่ได้เกี่ยวกับสัญชาติว่าเป็นอย่างไร ถ้าเป็นไทยจดกับใครก็ได้ เราก็ต้องตรวจสอบทั้งนั้น ไม่เกี่ยวว่าเป็นประเทศอะไร”

    “ไม่ได้อยากให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง เข้าใจว่าเราไปโฟกัสความผิด มันไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของหน้างานที่เป็นแบบนั้น” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    ขอบคุณทุกภาคส่วนระดมพล ช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

    ด้านนายจิรายุ กล่าวว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้รับผลกระทบทำให้สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร ดังนั้น นายกฯ จึงมีข้อสั่งการไปยังทุกหน่วยงานให้บูรณาการการทำงานและระดมทุกสรรพกำลัง จากทั้งภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว และรัฐบาลขอขอบคุณจากใจในทุกภาคส่วนถึงความเสียสละของทุก ๆ ท่านที่ร่วมมือกันจนสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการป้องกัน การเตรียมรับมือและมีมาตรการที่ชัดเจนในการรับมือ อุบัติภัย ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ทุกประเภท ทั้ง อุทกภัย สึนามิ ไฟป่า รวมถึงแผ่นดินไหว นายกฯ จึงสั่งการไปรายกระทรวงอีกด้วย

    มอบ ปภ.เตือนภัยผ่าน ‘Virtual cell broadcast’ ระหว่างรอระบบจริง

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการถึงกระทรวงมหาดไทยว่า ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดทำแผน และมาตรการในการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ โดยมีการแบ่งหน้าที่ และขั้นตอนต่างๆ อย่างชัดเจน (Flowchart) เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลับมาเสนอภายในสิ้นเดือนนี้

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หามาตรการในการประสานงานกับทางกระทรวง DE กรมอุตุนิยมวิทยา และ กสทช. ในการส่งข้อความเตือนภัย ที่ชัดเจน และรวดเร็วมากขึ้นให้มีการใช้ระบบ Virtual cell broadcast กับอุปกรณ์โทรศัพท์ทุกรูปแบบ

    ทั้งนี้ ระหว่างการรอระบบ Cell broadcast ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคม 2568 เพื่อให้ระบบสื่อสารเตือนภัยมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเตือนภัยแก่สาธารณชนในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งจากภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม อุบัติเหตุ อุบัติภัยต่างๆ เช่น ไฟไหม้ อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นต้น แม้กระทั่งการรุกรานจาก cyber crime โดยให้ศึกษาในประเทศต่างๆ ที่มีบทเรียนที่ดีในเรื่องภัยพิบัติต่างๆ และให้ทางกรมโยธาธิการฯ เร่งออกมาตรการข้อกำหนดในการตรวจสอบอาคารสูงทุกอาคาร เพื่อให้ได้มาตรฐาน โดยร่วมมือกับทาง กทม. และสมาคมที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ และควรจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและออกใบรับรองมาตรฐานอาคาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนและนักท่องเที่ยว

    เร่ง ‘กต.’ เชิญผู้เชี่ยวชาญระบบเตือนภัย ตปท.หารือ

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการถึงกระทรวงการต่างประเทศ โดยให้เร่งปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ ที่มีความพร้อมในระบบเตือนภัย เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป นิวซีแลนด์ และอิสราเอล โดยประสานผ่านสถานทูต เพื่อเชิญมาประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทยให้เร็วที่สุด

    สั่ง ‘สธ.’ เขียนแผนรับมือภัยพิบัติ

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการถึงกระทรวงสาธารณสุข โดยวางแผนในการเตรียมการรับมือทั้งแพทย์ฉุกเฉิน เตียงสนามให้เพียงพอ รวมถึงจิตแพทย์ที่จะดูแลฟื้นฟูผู้ที่รับผลกระทบ

    “ให้กระทรวงสาธารณสุขเขียนเป็นแผน ไม่ใช่แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุใหญ่ๆ หรือ อุบัติภัยสำคัญ ควรจะทำแบบไหนอย่างไร โรงพยาบาลสนามควรจะมีรูปแบบไหน และการรองรับในการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ จะต้องปฏิบัติตัวแบบไหน อย่างไร” นายจิรายุ กล่าว

    มอบ ‘ท่องเที่ยว’ แจงต่างชาติ “ขณะนี้สถานการณ์กลับสู่ปกติแล้ว”

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เร่งสื่อสารกับนักท่องเที่ยว หรือ ชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทย ให้ได้รับข้อความเตือนภัย และแผนรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน

    “เร่งสื่อสารว่า ประเทศไทย ณ เวลานี้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ นักท่องเที่ยวยังคงสามารถเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วไทยได้” นายจิรายุ กล่าว

    ‘ทส.’ ระดมนักธรณีวิทยาจัดทำมาตรการรับมือภัยพิบัติ

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระดมนักวิชาการทางด้านธรณีวิทยา เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะในมาตรการรับมือที่ถูกต้อง และป้องกันภัยได้อย่างรัดกุมที่สุด รวมถึงการตรวจระบบอุปกรณ์เตือนภัยต่างๆ ที่เคยมีอยู่ให้สามารถใช้งานได้อย่างปกติ เช่น ระบบเตือนภัยสึนามิ ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากยิ่งขึ้น

    ‘ศธ.’ เพิ่มหลักสูตรรับมือภัยธรรมชาติ

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้ให้กระทรวงศึกษาธิการ – เร่งเพิ่มเติมหลักสูตร และแผนการรับมือภัยธรรมชาติ ในทุกรูปแบบให้กับนักเรียน นักศึกษาทุกระดับ

    “ประเทศไทยไม่เคยเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ เพราะเราไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน” นายจิรายุ กล่าว

    ‘คค.’ ตรวจเส้นทาง-งานก่อสร้างขนาดใหญ่

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการถึงกระทรวงคมนาคม ให้เร่งตรวจสอบเส้นทางคมนาคม ทุกมิติให้มีความพร้อมในการให้บริการกับประชาชน รวมถึงตรวจสอบงานก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ได้มาตรฐาน สามารถรองรับภัยธรรมชาติต่างๆ ได้

    จี้ ‘สปน.- ปภ.’ เร่งสรุปมาตรการเยียวยา ‘แผ่นดินไหว’

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมมือกับ ปภ. เร่งสรุปมาตรการในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเร็วตามที่กฎหมายกำหนด

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์ เป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าวสารที่ถูกต้อง อย่างทั่วถึงรวมทั้งกระจายไปยังช่องทางต่างๆ ให้ครบถ้วนทั้งสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook หรือ LINE รวมทั้งให้ประสานขอความร่วมมือกับ เอกชน ที่มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่สามาารถขึ้นภาพได้ทันที เพื่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง

    ขีดเส้นตาย ‘อนุทิน’ 7 วัน สรุปผลสอบ ‘ตึก สตง.ถล่ม’

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม ภายใน 7 วัน หากมีความผิดต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้คณะกรรมการสืบหาต้นเหตุของตึกก่อสร้าง สตง.

    นายจิรายุ รายงานว่า นายกฯ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “อาคารก่อสร้างถล่มครั้งนี้ ต้องหาสาเหตุ และ หาผู้รับผิดชอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะอยู่ยาก ต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป”

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรม รายงานว่า ผลของการตรวจสอบเหล็กพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานโดยจะส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวน เพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป

    DSI ตรวจพบ ทุนจีนใช้นอมินี 17 บริษัท – รับงานหลวง 11 โครงการ

    นายจิรายุ ยังรายงานว่า นายกฯ ได้สอบถามในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รายงานต่อ ครม.ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ “DSI” ได้รับเป็นคดีพิเศษเพื่อติดตามตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่พบว่า มีนอมินีมากถึง 17 บริษัท

    ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวรับงานส่วนราชการไปทั้งหมด 11 งาน โดย 10 งานอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนงานที่แล้วเสร็จเป็นอาคารเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเข้าดำเนินการตรวจสอบต่อไป

    มติ ครม.มีดังนี้

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ฯ และนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษก ฯร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    สั่ง กฟผ.-กกพ.รื้อสัญญาทาสใน 45 วัน ตั้งเป้าหั่นค่าไฟเหลือ 3.99 บาท

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ 3 เรื่องดังนี้

    เรื่องที่ 1 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดราคาเป้าหมาย สำหรับค่าไฟ เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ไม่เกินหน่วยละ 3.99 บาท เป็นราคาเป้าหมาย และมอบให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแลให้คณะกรรมการ กฟผ และ คณะกรรมการ กกพ.ให้ร่วมกันดำเนินการกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กฟผ. เพื่อให้ปรับลดราคาไฟตามราคาเป้าหมาย

    เรื่องที่ 2 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ กฟผ. คณะกรรมการ กฟผ. คณะกรรมการ กกพ. ร่วมกันดำเนินการ 3 เรื่องต่อไปนี้ ให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วันนับแต่ ครม. มีมติ

      2.1 ให้หาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) และ Feed-in-tariff (FIT) และเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีอายุสัญญาต่อเนื่องโดยไม่มีกำหนดวันสิ้นสุดสัญญา
      2.2 ให้หาแนวทางแก้ไขปัญหา ค่าความพร้อมจ่าย ( AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่นในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ทุกสัญญาที่มีเงื่อนไขทำให้กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสมควร หรือสูงเกินความเป็นจริง
      2.3 ให้หาแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรคในข้อตกลงในสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่างๆ ที่ทำให้ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ไม่สามารถบริหารจัดการ การสั่งผลิตไฟฟ้า ให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ลดต่ำลงได้

    เรื่องที่ 3 ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ศึกษาและเสนอแนวทางปรับโครงสร้างระบบ Pool Gas เพื่อให้ราคาแก๊ส สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนมีราคาต่ำลง โดยให้ดำเนินการให้ทันการประกาศราคาไฟฟ้า สำหรับรอบเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2568

    ไฟเขียว “บ้านเพื่อคนไทย” เฟสแรกเช่าสูงสุดแค่ 60 ปี

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบแนวทางดำเนินการโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ โดยจะนำร่องระยะที่ 1 จำนวน 4 โครงการ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

    โดยพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นพื้นที่ของ รฟท. ที่มีศักยภาพสูงสุดเป็นพื้นที่นำร่อง จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่

      1) พื้นที่โครการ กม.11 ระยะ 1.1 กรุงเทพมหานคร
      2) พื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี (ศิริราช) กรุงเทพมหานคร
      3) พื้นที่รอบสถานีรถไฟจังหวัดเชียงใหม่
      4) พื้นที่รอบสถานีรถไฟเชียงราก จังหวัดปทุมธานี

    ทั้งนี้ โครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” เป็นการนำที่ดินของ รฟท. ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในปัจจุบันมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้และอยู่ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยประชาชนเข้าร่วมโครงการจะได้สิทธิในการเช่าเป็นระยะเวลา 30 ปี และต่ออายุได้อีก 30 ปี ซึ่งไปเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 540 บัญญัติห้ามมิให้เช่าให้อสังหาริมทรัพย์เกินกว่าสามสิบปี นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ

    เพิ่มค่าตอบแทน ‘เภสัชกร’ อภ.เป็น 10,000 บาท/ด. แก้สมองไหล

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการขยายอัตราการจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบโรคศิลปะของเภสัชกรให้แก่เภสัชกรที่เกี่ยวข้องขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นอัตรา 10,000 บาท/คน/เดือน ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การขยายอัตราการจ่ายค่าตอบแทนฯ มีจำนวนผู้มีสิทธิ 580 คน เพื่อจูงใจให้เภสัชกรสนใจสมัครเข้าเป็นพนักงานองค์การเภสัชกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนคนที่ลาออก หรือ เกษียญ รวมถึงรักษาเภสัชกรที่เป็นผู้ปฏิบัติงานปัจจุบันให้ยังคงทำงานกับ อภ. ต่อไป

    โดย ครม. เห็นชอบการขยายอัตราการจ่ายค่าตอบแทนฯ ดังกล่าว และมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น

      1) ควบคุมภาระค่าใช้จ่ายขององค์กรเพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินการในอนาคต
      2) พิจารณาค่าใช้จ่ายบุคลากรให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
      3) พิจารณาให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่น ๆ ในการสร้างความยั่งยืน ในการธำรงรักษาบุคลากรไว้นอกเหนือจากค่าตอบแทน

    ขึ้นค่าเช่าบ้านให้พนักงาน อภ.เป็น 4,000 – 6,000 บาท/ด.

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบสวัสดิการค่าเช่าบ้านผู้ปฏิบัติงานขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตามที่กระทรวงสาธารณสุช (สธ.) เสนอ ดังนี้

      1) ตำแหน่ง ลูกจ้าง (ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว) และพนักงานระดับ 1-3 อัตราค่าเช่าบ้านเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท
      2) ตำแหน่ง พนักงานระดับ 4-5 อัตราค่าเช่าบ้านเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท
      3) ตำแหน่ง พนักงานระดับ 6-11 อัตราค่าเช่าบ้านเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินเดือนละ 6,000 บาท

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจาก อภ. มีโครงการที่มีความจำเป็นต้องให้ผู้ปฏิบัติงานเดินทางไปปฏิบัติงานประจำต่างท้องที่ในหลายพื้นที่ แต่ยังไม่มีสวัสดิการในส่วนของค่าเช่าบ้าน ดังนั้น คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมจึงได้มีมติเห็นชอบให้มีสวัสดิการในส่วนของค่าเช่าบ้านของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อแบ่งเบาภาระ และสร้างขวัญ กำลังใจที่ดี

    ทั้งนี้ ค่าเช่าบ้านของผู้ปฏิบัติงาน อภ. ที่เสนอดังกล่าว เป็นงบประมาณของ อภ. เองทั้งหมด และไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินในภาพรวมของ อภ. ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ยังคงมีอัตราที่เทียบเท่าหรือไม่ได้สูงเกินกว่ารัฐวิสาหกิจอื่น ๆ

    ยกเว้นค่าทางด่วนช่วงสงกรานต์ เริ่มเที่ยงคืน 11 – 17 เม.ย.นี้

    นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2568 ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางบนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลดังกล่าว

    “การยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี และตอนพระประแดง – บางแค ช่วงพระประแดง – ต่างระดับบางขุนเทียน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2568 ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นทำให้การจราจรมีความคล่องตัว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ และลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 183.68 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจโดยสามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ประมาณ 274.51 ล้านบาท โดยประเมินจากมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถและมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง รวมทั้งยังมีผลประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้รวมอยู่ด้วยจากการที่ประชาชนนำเงินที่ประหยัดได้จากการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองนำไปใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีค่าผลทวีคูณของการใช้จ่ายต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiplier Effects) ประมาณ 1.38 เท่า คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 253 ล้านบาท” นายอนุกูล ระบุ

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติรับทราบการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเส้นทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ระหว่าง 11 – 17 เมษายน 2568 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

    “การดำเนินการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษดังกล่าวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 วันที่ 11 เมษายน 2568 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 17 เมษายน 2568 เวลา 24.00 นาฬิกา รวม 7 วัน นั้น จะมีปริมาณจราจรมาใช้ทางพิเศษประมาณ 2,377,669 คัน จะทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ได้รับรายได้ประมาณ 86,128,889 บาท แต่จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่าเงินประมาณ 153,424,348 บาท ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ 93,664,900 บาท และมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง 59,759,448 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 153,424,348 บาท” นายอนุกูล ระบุ

    ตกเบิกค่าสินไหมประกันชีวิต จนท.ชายแดนใต้ 4 ราย 2 ล้านบาท

    นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการจ่ายเงินทดแทนการประกันชีวิตย้อนหลังให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพพลภาพถึงขั้นปลดออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 ที่ยังมิได้รับเงินทดแทนการประกันชีวิตย้อนหลัง (เพิ่มเติม) จำนวน 4 ราย รายละ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 2 ล้านบาท ตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ก.บ.จ.ต.)

    นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติการจ่ายเงินทดแทนการประกับชีวิตย้อนหลังแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพพลภาพถึงขั้นปลดออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 มาแล้ว 3 ครั้ง [จำนวน 1,437 ราย เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 703.50 ล้านบาท ในครั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการจัดเงินทดแทนการประกันชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ฯ ที่ยังมิได้รับเงินทดแทนการประกันชีวิตย้อนหลังเพิ่มเติมอีก 4 ราย รายละ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 2 ล้านบาท ซึ่งได้ตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้ง 4 ราย ไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ที่ได้รับเงินทดแทนไปก่อนหน้านี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย สปน. จะได้เสนอขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และส่งให้กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยนำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงิน “เงินทดแทนการประกันชีวิต” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2550 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ ศอ.บต. พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย

    “เรื่องนี้เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2550 ข้อ 13 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจัดให้มีการประกันชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ราชการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (1 ธันวาคม 2552) อนุมัติให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดทำประกันชีวิต แบ่งเป็น 2 กรณี คือ (1) กรณีหน่วยงานของรัฐจัดทำประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคได้ไว้กับบริษัทประกันภัยโดยมีวงเงินเอาประกันภัย จำนวน 500,000 บาท และ (2) กรณีหน่วยงานของรัฐไม่ได้จัดทำประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานของรัฐมีความประสงค์ให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงิน “เงินทดแทนการประกันชีวิต” แทนการจัดทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันภัย รายละ 500,000 บาท โดยให้เริ่มตั้งแต่ปีงประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นต้น และมติคณะรัฐมนตรี (12 กรกฎาคม 2559) กรณีที่พบว่ามีผู้มีสิทธิในการรับเงินทดแทนการประกันชีวิตเพิ่มเติม ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ขออนุมัติการจ่ายเงินต่อคณะรัฐมนตรีเป็นคราว ๆ ไป โดยมีความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) ประกอบเรื่องด้วย” นายอนุกูล กล่าว

    เพิ่มค่าตอบแทนครู-โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเอกชน 5 จว.ใต้

    นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติปรับเพิ่มค่าตอบแทนครูและบริหารจัดการของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่สอนศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
    1. ปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนครูสอนศาสนา ดังนี้

      1.1 ครูสอนศาสนาในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) จากอัตราปัจจุบัน 3,000 บาท/คน/เดือน เป็น 3,500 บาท/คน/เดือน
      1.2 โต๊ะครูหรือผู้ช่วยโต๊ะครู ในสถาบันศึกษาปอเนาะจากอัตราปัจจุบัน 2,000 บาท/คน/เดือน เป็นโต๊ะครู 4,000 บาท/คน/เดือน และผู้ช่วยโต๊ะครู 3,500 บาท/คน/เดือน เนื่องจากภาระงานของโต๊ะครูมากกว่าผู้ช่วยโต๊ะครูในการดูแลและบริหารจัดการสถาบันศึกษาปอเนาะ
      1.3 ครูสอนศาสนาในโรงเรียนเอกชนในระบบที่สอนศาสนาอิสลามจากอัตราปัจจุบัน 2,000 บาท/คน/เดือน เป็น 3,500 บาท/คน/เดือน
      1.4 ครูสอนศาสนาในโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่สอนศาสนาอิสลามอย่างเดียว จากอัตราปัจจุบัน 2,000 บาท/คน/เดือน เป็น 3,500 บาท/คน/เดือน

    ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีลักษณะพิเศษและมีความละเอียดอ่อนได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะเสริมสร้างความมั่นคงในเขตพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดสันติสุขและสมานฉันท์
    2. ปรับเพิ่มจำนวนครูสอนศาสนาที่ได้รับเงินอุดหนุน ดังนี้

      2.1 เพิ่มการจัดสรรค่าตอบแทนให้กับผู้สอนในตาดีกาที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 180 คน จาก 4 คน เป็น 6 คน เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้สอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – ปีที่ 6 จำนวน 6 คน ตามหลักสูตรอิสลามศึกษาฟัรฎูอีนประจำมัสยิดระดับอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบติดาอียะฮฺ) พุทธศักราช 2559/ฮิจเราะฮฺศักราช 1437 จำนวน 6 ชั้นปี ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอบในตาดีกา และจัดสรรทำตอบแทนให้กับผู้สอนในตาดีกาที่มีจำนวนนักเรียน 181 คน ขึ้นไป ในอัตราส่วนผู้สอน 1 คน ต่อนักเรียน 30 คน ทั้งนี้ ไม่เกิน 12 คน ต่อศูนย์เพื่อให้เป็นไปตามอัตราส่วนจำนวนครูต่อจำนวนนักเรียนตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการกำหนดจำนวนครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระบบ พ.ศ. 2551 ประกาศ ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551
      2.2 จัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าตอบแทนโต๊ะครูและผู้ช่วยโต๊ะครู รวมทั้งค่าบริหารจัดการสถาบันศึกษาปอเนาะให้กับสถาบันศึกษาปอเนาะที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 25 คน ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคแก่สถาบันศึกษาปอเนาะทุกแห่ง
      2.3 เพิ่มการจัดสรรค่าตอบแทนครูในโรงเรียนเอกชนในระบบที่สอนศาสนาอิสลามที่มีนักเรียน 121 คนขึ้นไป จากเดิมจัดสรรให้ครู 4 คน เป็น 6 คน เพื่อให้เสมอภาคและเท่าเทียมกับจำนวนครูสอนศาสนาที่ได้รับเงินอุดหนุนในตาดีกา

    3. ปรับเพิ่มอัตราค่าบริหารจัดการโรงเรียน ดังนี้

      3.1 ตาดีกา จากอัตราปัจจุบัน 2,000 บาท/แห่ง/เดือน ปรับเป็น 3,000 บาท/แห่ง/เดือน
      3.2 สถานศึกษาปอเนาะ จากอัตราปัจจุบัน 1,000 บาท บาท/แห่ง/เดือน ปรับเป็น 3,000 บาท/แห่ง/เดือน
      3.3 โรงเรียนเอกชนนอกระบที่สอนศาสนาอิสลามอย่างเดียว จากอัตราปัจจุบัน 1,000 บาท/แห่ง/เดือน ปรับเป็น 3,000 บาท/แห่ง/เดือน

    ทั้งนี้ เพื่อให้โรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาทุกแห่งได้รับค่าบริหารจัดการที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันประกอบกับโรงเรียนดังกล่าวมีภาระงานที่เพิ่มขึ้น เช่น การติดตามตรวจสอบเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันการจัดทำข้อมูลสารสนเทศของโรงเรียนผ่านระบบสารสนเทศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สข.) การจัดทำหลักฐานการจบหลักสูตร รวมทั้งการจัดทำข้อสอบ ทำให้ค่าบริหารจัดการต้องปรับเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

    4. จัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าตอบแทนครูและค่าบริหารจัดการให้กับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทุกแห่งที่จัดตั้งถูกต้องตามกฎหมายใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาบางประเภทในจังหวัดสตูลและสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าตอบแทนครูและค่าบริหารจัดการเช่นเดียวกับเงินอุดหนุนค่าตอบแทนผู้สอนในตาดีกา และค่าบริหารจัดการมัสยิดที่ให้กับตาดีกาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีลักษณะพิเศษมีความละเอียดอ่อนได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะเสริมความมั่นคงในเขตพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดสันติสุขและสมาฉันท์

    ทั้งนี้ การปรับเพิ่มค่าตอบแทนครู และค่าบริหารจัดการของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่สอนศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้นปีละ 169.95 ล้านบาท

    กำหนด 18 ม.ค.ของทุกปี เป็นวันกล้วยไม้แห่งชาติ

    นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันกล้วยไม้แห่งชาติโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

    “การกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันกล้วยไม้แห่งชาติ เป็นวันสำคัญของชาติ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการจะทำให้สาธารณชนเกิดความตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของกล้วยไม้ไทย รวมถึงเป็นการสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในกล้วยไม้ ที่เป็นทั้งเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ความเป็นชาติไหย และยังเป็นการระลึกถึงจอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ทรงเป็นพระบิดาวงการกล้วยไม้ของประเทศไทย ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2487 โดยได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกราชสกุลบริพัตรผู้อาวุโสด้วยแล้ว ทั้งนี้ การกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันกล้วยไม้แห่งชาติดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและ7สหกรณ์ได้รับทราบด้วยแล้ว ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 และกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ” นายอนุกูล กล่าว

    ถอนร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ 2 ฉบับ

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติ รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ ดังนี้ 1. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เมื่อมีการเปิดทำการศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาคใด ห้ามมิให้ศาลแรงงานภาคดังกล่าวรับคดีที่อยู่ในท้องที่ของศาลแรงงานจังหวัดนั้นไว้พิจารณาพิพากษา และ 2. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการ และจัดตั้งศาลแรงงานขึ้นในจังหวัดระยองโดยให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่ในจังหวัดสมุทรปราการ และตลอดท้องที่ในจังหวัดระยอง ตามลำดับ

    “ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน2567) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งในชั้นการตรวจพิจารณาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 11) มีความเห็นว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้รัฐพึงมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและเนื่องจากคดีแรงงานมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งผู้พิพากษาในศาลแรงงานจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อย่างมากในการพิจารณาพิพากษาคดีแรงงาน รวมทั้งควรมีอาวุโสเทียบเท่ากับผู้พิพากษาสมทบ นอกจากนี้ ในกรณีที่เหตุเกิดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง บางคดีขึ้นศาลแรงงานภาค 2 แต่ในขณะที่บางคดีขึ้นศาลแรงงานจังหวัดระยอง จึงอาจทำให้เกิดความลักลั่นได้ รวมถึงเมื่อมีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดระยองและศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำฟ้องคดีแรงงานต่อศาลจังหวัดระยองหรือศาลจังหวัดสมุทรปราการตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้อีกต่อไป จึงเห็นควรที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะพิจารณาแก้ไขปัญหาผู้พิพากษาไม่เพียงพอต่อจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นด้วยการบริหารจัดการโดยการจัดกลุ่มจังหวัดของศาลแรงงานภาคเสียใหม่ หรือจัดตั้งศาลแรงงานภาคเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว มีความประสงค์ที่จะขอถอน ร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ รวม 2 ฉบับ เพื่อไปดำเนินการจัดตั้งเป็นศาลแรงงานภาคและจะเปิดทำการโดยการตราพระราชกฤษฎีกาต่อไป” นายคารม กล่าว

    ผ่านร่างกฎกระทรวงสำรวจสำมะโนประชากร 9 ฉบับ

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 เพื่อจัดทำสำมะโน หรือ สำรวจตัวอย่าง รวม 9 ฉบับ 1. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. …. 2. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. …. 3. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. …. 4. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. …. 5. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. …. 6. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. …. 7. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. …. 8. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. และ 9. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างความพิการ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันมีกฎกระทรวงที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจตัวอย่างเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ภาวการณ์ทำงานของประชากร การย้ายถิ่นของประชากร อนามัยและสวัสดิการ และประชากรสูงอายุในประเทศไทย รวม 5 ฉบับ ซึ่งมีระยะเวลาการใช้บังคับ 10 ปี (กำหนดไว้ในข้อ 1 ของกฎกระทรวงแต่ละฉบับ โดยเริ่มใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558) และจะครบกำหนดภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2568) ดังนั้น เพื่อให้การสำรวจและรวบรวมข้อมูลดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎกระทรวงจำนวน 5 ฉบับ เพื่อมาใช้บังคับแทนกฎกระทรวงเดิม ดังนี้

      1. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. …. เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน ทรัพย์สิน โครงการสร้างของสมาชิกในครัวเรือน ลักษณะที่อยู่อาศัย การย้ายถิ่นและการส่งเงิน ตลอดจนการได้รับสวัสดิการ/ความช่วยเหลือจากรัฐ และการใช้บริการภาครัฐ
      2. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.ศ. …. เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและคุณลักษณะของกำลังแรงงานในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
      3. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. …. เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการย้ายถิ่นของประชากร
      4. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. …. เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วย การรับบริการส่งเสริมสุขภาพ การรับบริการทันตกรรม การเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายในการรับบริการด้านสาธารณสุขและการเข้าถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของประชากรและลักษณะของสภาพที่อยู่อาศัยของครัวเรือน
      5. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. …. เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุ ลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม ลักษณะการอยู่อาศัย รวมทั้งภาวะสุขภาพ และข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ และได้เสนอร่างกฎกระทรวงใหม่ อีก 4 ฉบับ ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจและรวบรวมข้อมูล ดังนี้
      5.1 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. …. เป็นการสำรวจตัวอย่างเกี่ยวกับคุณลักษณะของครัวเรือน พัฒนาการของทารก สุขภาพของแม่ พัฒนาการของเด็ก โภชนาการ การเรียนรู้ การคุ้มครองจากความรุนแรงและการแสวงหาผลประโยชน์ การอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะอาด และความเท่าเทียมทางสังคม
      5.2 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. …. เป็นการสำรวจตัวอย่าง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหาร และการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
      5.3 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะต่าง ๆ ของประชากร ที่มีงานทำแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคม หรือไม่ได้รับความคุ้มครองจากการทำงานตามกฎหมายแรงงาน
      5.4 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างความพิการ พ.ศ. …. เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความพิการ ข้อมูลพื้นฐานทางประชากรและสวัสดิการจากภาครัฐ

    ทั้งนี้ การออกร่างกฎกระทรวงทั้ง 9 ฉบับดังกล่าว เพื่อให้สำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการสำรวจตัวอย่างและเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ภาครัฐและเอกชนนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับ 10 ปี และร่างกฎกระทรวงทั้ง 9 ฉบับดังกล่าวไม่เป็นร่างกฎที่เข้าหลักเกณฑ์ต้องรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และไม่ต้องขอความยินยอมตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และ (6) มาตรา 25 (2) และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) (ง) ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 แต่อย่างใด โดยข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจตามร่างกฎกระทรวงทั้ง 9 ฉบับดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กำหนดนโยบายและเพื่อการบริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่

      1) ทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงสร้างของครัวเรือน เพศ อายุ การศึกษา รายได้ เป็นต้น
      2) ใช้ในการวางแผนพัฒนากำลังแรงงาน ใช้เป็นตัวชี้วัดภาวะทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค และใช้ประกอบในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และโครงสร้างของรายได้ในแต่ละสาขาอาชีพ
      3) ใช้เป็นฐานข้อมูลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นเพื่อประกอบการวางแผน กำหนดนโยบาย และจัดทำแผนเกี่ยวกับการกระจายตัวและการตั้งถิ่นฐานของประชากร
      4) เพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ดูแลด้านสาธารณสุขของประชาชน ในการนำไปใช้กำหนดนโยบายและวางแผนดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี
      5) เพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ สำหรับกำหนดนโยบายวางแผนดำเนินงาน รวมทั้งติดตามและประเมินผลหรือโครงการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประชากรสูงอายุ
      6) ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่าง ๆ เช่น ภาวะเตี้ย ภาวะผอมแห้ง อัตราการเข้าเรียนปฐมวัย การมีบุตรขณะที่อายุยังน้อย สัดส่วนของผู้หญิงอายุระหว่าง 20 – 24 ปี เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการจัดทำตัวชีวัดการพัฒนาที่ยั่งยืน
      7) เพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในการนำข้อมูลที่จำเป็นไปใช้กำหนดนโยบายและวางแผนดำเนินงาน เพื่อป้องกันหรือลดอัตราการเกิดโรค
      8) เพื่อประกอบการวางแผน และกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการขยายความคุ้มครอง หรือประกันสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบ ให้ได้เข้าถึงสวัสดิการ
      9) เพื่อนำไปใช้วางแผนจัดสวัสดิการ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการ เช่น การศึกษา การประกอบอาชีพ การสาธารณสุข เพื่อให้ผู้พิการได้รับการพัฒนาสมรรถภาพให้สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้

    ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยในหลักการ

    ตั้ง ‘อ๊อฟ – รวีภัทร์’ นั่งสำนักเลขาธิการนายกฯ

    ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติ ดังต่อไปนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้ง นางสาวกฤติกา บูรณะดิษ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ให้ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงจำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นางสาววรพรรณ เลิศไกร ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
      2. นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    3. เรื่อง ข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้ง นายรวีภัทร์ จิรศักดิ์วัฒนา เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วยแล้ว

    4. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอแต่งตั้ง นางอุษา กลิ่นหอม เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขาวิทยาศาสตร์ (ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค) ในคณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากขอลาออก โดยขอให้มีผล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 1 เมษายน 2568 เพิ่มเติม