เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
ในยุคที่เด็กเยาวชนเติบโตท่ามกลางอัลกอริธึม แพลตฟอร์มสั้นๆและสื่อที่ถูกออกแบบมาเพื่อดึงความสนใจทุก ๆ 3 วินาที ห้องสมุดกลายเป็นที่ที่ดูเหมือนหลุดออกมาจากยุคก่อนอินเทอร์เน็ต เงียบเกินไป ช้าเกินไป และไม่น่าตื่นเต้นพอจะดึงดูดใจคนปัจจุบัน แต่ในโลกที่ทุกอย่างเร่งรีบและเปราะบาง ห้องสมุดอาจเป็นสถานที่ไม่กี่แห่งที่ยังเหลืออยู่ซึ่งเด็ก ๆ จะได้ฝึกอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง
ห้องสมุดในความทรงจำ
หลายคนที่เติบโตมาก่อนยุคโซเชียลมีเดีย มักมีภาพจำของห้องสมุดเป็นสถานที่อันเงียบสงบ เต็มไปด้วยชั้นหนังสือ กลิ่นกระดาษและแสงแดดลอดหน้าต่าง เป็นที่ที่เราจะได้หลบหนีจากความวุ่นวายและได้เดินทางผ่านหน้ากระดาษไปยังอีกโลกหนึ่ง โลกที่ไม่มีโฆษณาคั่น ไม่มีป๊อปอัป ไม่มีคลิปที่เล่นเองโดยอัตโนมัติ และไม่มีคลิปที่ระบบเลือกสรรให้ แต่มีเวลาให้กับความคิด คำถาม และจินตนาการ
สำหรับคนในยุคปัจจุบัน ห้องสมุดในลักษณะนี้อาจกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่สนใจความรู้ แต่เพราะพวกเขาไม่คุ้นชินกับการอยู่กับความเงียบความช้า และการรอคอย การเติบโตท่ามกลางสื่อที่ตอบสนองทันที (instant gratification)ทำให้คนจำนวนมากมีแนวโน้มจะหงุดหงิด เบื่อหน่ายหรือรู้สึกไร้ค่าเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองในเวลาอันสั้น
การศึกษาจาก Common Sense Media พบว่า เด็กอายุ 8–12 ปี ในสหรัฐฯใช้เวลาเฉลี่ยมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวันอยู่กับหน้าจอดิจิทัล และในวัยรุ่นอายุ 13–18 ปี ตัวเลขนั้นเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 8.3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งไม่รวมเวลาที่ใช้ในการเรียนออนไลน์ นี่คือคำยืนยันว่าพื้นที่ในโลกจริงที่เงียบสงบอย่างห้องสมุด กำลังถูกแทนที่ด้วยสื่อที่ฉูดฉาดและเร่งเร้า

ห้องสมุดไม่ใช่แค่ชั้นหนังสือ
ในหลายประเทศ ห้องสมุดยุคใหม่ถูกออกแบบให้กลายเป็น “พื้นที่สร้างสรรค์” มากกว่าจะเป็นแค่ที่เก็บหนังสือ เช่น Oodi Library ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์เป็นทั้งห้องสมุด สตูดิโอบันทึกเสียง พื้นที่ทำอาหาร พื้นที่เย็บผ้า โรงภาพยนตร์และพื้นที่นั่งทำงานร่วมกัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เด็กสามารถมานั่งเงียบ ๆ หรือมาเล่นกับเพื่อนได้โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท
ห้องสมุดในฟินแลนด์ได้รับความนิยมมาก เช่น ในกรุงเฮลซิงกิมีคนใช้บริการห้องสมุดถึงกว่า 2.5 ล้านครั้งต่อปี ทั้งที่ประชากรเมืองนี้มีเพียงประมาณ 600,000 คนเท่านั้น สะท้อนว่าห้องสมุดกลายเป็น พื้นที่กลางของเมือง สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการใช้ชีวิตร่วมกัน
ในทางตรงกันข้าม ห้องสมุดไทยหลายแห่งยังคงยึดติดอยู่กับระบบสมาชิก เก้าอี้แข็ง ๆ ไฟสว่างจ้า และป้าย ห้ามส่งเสียง ที่ติดทั่วห้อง หากเด็กยุคใหม่จะรู้สึกอึดอัดในพื้นที่แบบนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เราจำเป็นต้องรื้อความเข้าใจที่ว่าห้องสมุดคือสถานที่เงียบเท่านั้น และออกแบบให้เป็นพื้นที่หลากหลายตามการใช้ชีวิตจริงของเด็ก ๆ
การอ่านคือการฝึกอยู่กับตัวเอง
การอ่านหนังสือเล่มหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบ คือการเดินทางภายในที่ต้องใช้ทั้งสมาธิ ความอดทน และการย่อยข้อมูลด้วยตัวเอง ในขณะที่การเสพสื่อสั้น ๆ เช่น Reels, TikTok หรือ Stories นั้นเต็มไปด้วยความรวดเร็ว การตัดภาพ การใส่ซาวด์และอารมณ์ที่ถูกควบคุมไว้แล้วให้ผู้ชมเพียงแค่รู้สึกตามโดยไม่ต้องคิด
เด็กที่อ่านหนังสือได้ดี ไม่ใช่แค่เด็กที่เรียนเก่ง แต่คือเด็กที่สามารถนั่งอยู่กับตัวเองได้โดยไม่ต้องการการกระตุ้นตลอดเวลา ในแง่นี้การอ่านกลายเป็นทักษะชีวิตมากกว่าจะเป็นแค่พฤติกรรมทางวิชาการ
ผลการศึกษาจาก OECD ชี้ว่า เด็กที่อ่านเพื่อความเพลิดเพลินอย่างสม่ำเสมอ มีแนวโน้มที่จะได้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าเด็กที่ไม่อ่าน ถึงแม้จะมาจากครอบครัวที่มีฐานะด้อยกว่าก็ตาม นั่นหมายความว่าการอ่านไม่ใช่เพียงเครื่องมือทางความรู้ แต่เป็นสะพานเชื่อมความเหลื่อมล้ำ
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางปัญญา
สิ่งที่เด็กและเยาวชนในยุคนี้ต้องการ ไม่ใช่แค่พื้นที่ทางกายภาพ แต่คือพื้นที่ทางจิตใจ ที่ซึ่งพวกเขาจะไม่ถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ เพศ วัย หรือเกรดเฉลี่ย ห้องสมุดที่ดีจึงควรเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีโฆษณาและไม่ต้องมีแรงกดดันในชีวิต
ลองจินตนาการถึงห้องสมุดที่มีมุมพักผ่อนสำหรับวัยรุ่น มีโซนหนังสือที่ไม่จำเป็นต้องมีสาระเสมอไป เช่น นวนิยาย การ์ตูน บันทึกส่วนตัวของนักเขียน มีพื้นที่จัดกิจกรรมแบบไม่เป็นทางการ เช่น วงสนทนา ฉายหนัง ฟังดนตรีหรือแค่นั่งเล่นเงียบ ๆ
ห้องสมุดอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการพัฒนาเยาวชน แต่เป็นหนึ่งในวิธีที่เรียบง่ายและทรงพลังที่สุดในการบ่มเพาะการคิดเชิงลึก ความเข้าใจตนเอง และความสามารถในการอยู่กับสิ่งที่ไม่แน่นอน
เราควรลงทุนกับความเงียบ
ในขณะที่รัฐและเอกชนไทยทุ่มงบประมาณไปกับการซื้อแท็บเล็ต การพัฒนาแอปพลิเคชันการเรียนรู้ หรือการฝึกทักษะทางเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราแทบไม่เห็นการลงทุนในพื้นที่เงียบ ๆ อย่างห้องสมุด แม้ว่าจะเป็นไม่กี่สถานที่ที่เปิดโอกาสให้เราหลบจากโลกที่เสียงดังและเต็มไปด้วยแรงกดดัน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จำนวนห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง และบางแห่งขาดงบประมาณในการพัฒนา จัดซื้อหนังสือ หรือปรับปรุงสถานที่ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่
นี่คือสัญญาณที่ชี้ว่าเรากำลังละเลยเครื่องมือสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพไปโดยไม่รู้ตัว
งบประมาณในการพัฒนาห้องสมุดให้น่านั่งขึ้น เงียบขึ้น อากาศถ่ายเทขึ้นและเปิดกว้างขึ้น คือการลงทุนในทักษะที่แทบจะไม่มีในแพลตฟอร์มใด ๆ ได้แก่ การฟัง การรอ และใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง
ประเทศไทยอาจไม่ได้ขาดเทคโนโลยี แต่เราขาดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้หยุดพักและหันกลับมาทบทวนตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะก้าวต่อไปในทิศทางใด
เฉกเช่นเดียวกับการส่งเสริมให้เด็กดูหนังยาว ๆ และอ่านนิตยสารทั้งเล่ม
การชวนเด็กกลับห้องสมุดจึงไม่ใช่แค่การคืนชีพให้กับหนังสือกระดาษ หรือวิถีชีวิตแบบ “อนาล็อก” แต่คือการปลูกฝังทักษะใหม่ในโลกที่ข้อมูลไหลเชี่ยวกว่าที่สมองที่คนโดยปกติจะรับไหว
มันคือการฝึกให้เด็กยอมรับว่าไม่ต้องเข้าใจทุกอย่างทันที ไม่ต้องรู้ทุกเรื่องใน 30 วินาที และไม่จำเป็นต้องได้รับความบันเทิงตลอดเวลา เฉกเช่นเดียวกับการส่งเสริมให้เด็กดูภาพยนตร์ขนาดยาวแทนคลิป reel หรืออ่านนิตยสารทั้งเล่ม แทนการสแกน online content เราไม่ได้แค่เรียกร้องให้พวกเขาเสพเนื้อหาที่ลึกขึ้น แต่เรากำลังเรียกร้องให้โลกให้เวลาเขามากขึ้นด้วย
และบางทีแล้ว จุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบการศึกษาไทยอาจไม่ใช่แค่การเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ หรือเพิ่มวิชาทันสมัยเข้าไปในห้องเรียนแต่เป็นการทำให้เด็กมีโอกาสได้นั่งอ่านหนังสือเงียบ ๆ ในห้องสมุดและเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับความรุ่มรวยของความคิดนานัปการ