ThaiPublica > คอลัมน์ > Malaysian East Coast Rail Link (ECRL): เส้นทางรถไฟส่งต่อความเจริญจากตะวันตกสู่ตะวันออก

Malaysian East Coast Rail Link (ECRL): เส้นทางรถไฟส่งต่อความเจริญจากตะวันตกสู่ตะวันออก

28 เมษายน 2025


จิตเกษม พรประพันธ์*

ต่อเนื่องจากบทความเดือนที่แล้ว (สุไหงโก-ลก : เศรษฐกิจ การกินอยู่ และเจ้าแม่โต๊ะโมะ) เล่าถึงสภาพเศรษฐกิจของสุไหงโก-ลก ตามที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการตามโครงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ (Business Liaison Program) และร่วมประชุมกับหอการค้าภาคใต้ 14 จังหวัด ระหว่าง 15-17 ก.พ. 2568 นั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินกับคณะฯ ข้ามด่านชายแดนไปเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และเข้าเยี่ยมสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู โดยท่านภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมบรรยายสภาพเศรษฐกิจของภาคตะวันออกของมาเลเซีย และนำคณะเข้าศึกษาดูงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออก (East Coast Rail Link หรือ ECRL) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อกระจายความเจริญจากฝั่งตะวันตก (รัฐเซลังงอร์) ไปสู่ฝั่งตะวันออก (รัฐกลันตัน) ของมาเลเซีย ผู้เขียนต้องขอขอบคุณท่านกงสุลใหญ่เป็นอย่างสูง

บทความนี้จะเล่าถึงเป้าหมายและความก้าวหน้าของโครงการ ECRL ซึ่งเป็นแบบอย่างของการกระจายความเจริญจากเมือง (ภาคตะวันตก) ไปสู่ชนบท (ภาคตะวันออก) ของประเทศ

โครงการ ECRL ของมาเลเซียเป็นส่วนต่อขยายความร่วมมือกับประเทศจีนตามโครงการ Belt and Road Initiative หรือ BRI เชื่อมต่อทางรถไฟจากจีนตอนใต้สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านบ่อเต็นในลาว ไทย มาเลเซีย และสิ้นสุดที่ สิงคโปร์

โครงการ ECRL เป็นการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงมีความยาวรวม 665 กิโลเมตร ขนาดรางรถไฟกว้าง 1.435 เมตร ก่อสร้างเป็นรางเดี่ยวบนฐานรางคู่ที่ออกแบบรองรับการขยายทางไว้ในอนาคต ระบบงานกระแสไฟฟ้า 25,000 โวลต์ รองรับการขนส่งผู้โดยสาร (electric multiple unit หรือ EMU) ขบวนละ 440 คน และการขนส่งสินค้า (locomotive) ขบวนละ 25 ตัน ที่ความเร็ว 160 กม. และ 80 กม. ตามลำดับ โดยเชื่อมต่อเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ตรังกานู ปาหัง ของภาคตะวันออก และสิ้นสุดที่เมืองกลัง หรือ Klang Valley รัฐเซลังงอร์ ด้านตะวันตก พาดผ่านเมืองหลวง เมืองสำคัญ ท่าเรือ สนามบิน เขตอุตสาหกรรม (industrial hub) 10 แห่ง และแหล่งท่องเที่ยว

เป้าหมายของโครงการ ECRL คือใช้การคมนาคมทางรถไฟเชื่อมต่อเศรษฐกิจและสังคมจากฝั่งตะวันตกที่เจริญแล้วไปสู่ฝั่งตะวันออกที่ยังไม่เจริญของมาเลเซีย เพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนและ GDP ทางภาคตะวันออกให้สูงขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคตะวันตกที่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าภาคตะวันออกเกือบสองเท่า (ภาคตะวันออก รัฐกลันตันมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยและ GDP per capita เท่ากับ 13,700 บาท และ 60,680 บาท ตามลำดับ ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับรัฐตะวันออกด้วยกัน เช่น รัฐตรังกานู 16,768 บาท และ 135,552 บาท และรัฐปาหัง 19,832 บาท และ 159,792 บาท ขณะที่ภาคตะวันตกมีระดับการพัฒนาเมืองที่สูงกว่า เช่น รัฐปีนังมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยและ GDP per capita เท่ากับ 25,600 บาท และ 236,552 บาท ตามลำดับ และรัฐยะโฮร์ 23,664 บาท และ 147,664 บาท ขณะที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ 35,272 บาท และ 409,576 บาท) รัฐบาลมาเลเซียหมายมั่นว่า ECRL จะสามารถดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและผู้โดยสารไปมาหาสู่กับภาคตะวันออก เพื่อสร้างการจ้างงาน ดึงแรงงานที่ทิ้งถิ่นฐานไปมากให้กลับสู่ท้องถิ่น และสร้างโอกาสการประกอบกิจการ เพิ่มรายได้ครัวเรือน และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตทางครอบครัวและสังคมให้กับประชากรในพื้นที่ตะวันออก

โครงการลงทุน ECRL มีมูลค่าการลงทุน 74.96 พันล้าน MYR หรือเท่ากับ 599.68 พันล้านบาท เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลจีน และมาเลเซีย 85% และ 15% ตามลำดับ รัฐบาลมาเลเซียโดยกระทรวงการคลัง Ministry of Finance Incorporated จัดสรรแหล่งเงินกู้จาก China EXIM Bank และการออกตราสารการเงินตามหลักอิสลาม และตราสารการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG Sukuk โดยสถาบันการเงินในมาเลเซีย สัญญาโครงการร่วมทุน (joint venture project) ระหว่างบริษัท Malaysia Rail Link SDN BHD (MRL) กับคู่สัญญาบริษัท China Communications Construction Company Ltd. (CCCC) ร่วมเป็นเจ้าของโครงการ กำกับดูแลงานวิศวกรรม การจัดซื้อจัดจ้างและการจ้างเหมา และงานก่อสร้าง

ทั้งนี้คาดว่า ECRL จะทำให้ต้นทุนการเดินทางของผู้โดยสารลดลง 30-50% และการขนส่งสินค้า 40-50% เทียบกับทางรถยนต์ ประมาณการว่าในปี 2578 จะขนส่งผู้โดยสาร 5 ล้านคนต่อปี และขนส่งสินค้า 40 ล้านตันต่อปี และมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารต่อการขนส่งสินค้าในอัตราส่วน 30:70 ตามลำดับ นอกจากทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมการคมนาคมทางบกแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการขนส่งทางเรือ โดยเป็นลักษณะ land bridge ระหว่างท่าเรือกลัง (Port Klang) ด้านช่องแคบมะละกา ทะเลอันดามันฝั่งตะวันตก ไปท่าเรือกวนตัน (Kuantan Port) ด้านทะเลจีนใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้มีความพร้อม รถ ราง เรือ สำหรับขนส่งวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ซึ่งจะลดต้นทุนให้กับภาคการผลิตอุตสาหกรรมได้ถึง 8% เทียบกับการอ้อมเรือผ่านท่าเรือสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน แซงหน้าแนวคิด land bridge ชุมพร-ระนองไปแล้ว

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและรัฐบาลทำให้โครงการ ECRL เกิดความขลุกขลักไปบ้าง แต่เจ้าหน้าที่บริหารโครงการให้ข้อมูลว่าการก่อสร้างคืบหน้าเร็วกว่าแผน โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2568 เส้นทางรถไฟ ECRL และสถานีแล้วเสร็จไปกว่า 81% คาดว่าจะเสร็จและจะเปิดให้บริการในต้นปี 2569 สำหรับระยะแรกจากโกตาบารูถึงกมบัก (Gombak) และปี 2571 สำหรับระยะที่สองจาก Gombak ถึงท่าเรือกลัง

การพัฒนา ECRL ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของมาเลเซียที่จะนำความเจริญ (urbanization) มาสู่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะสถานีปลายทางเมืองโกตาบารู เมืองหลวงของรัฐกลันตัน จึงเป็นที่น่าจับตามองถึงพลวัตด้านความเป็นอยู่ของพลเมืองและการขยายตัวของเมืองในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ ECRL ไม่ได้เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟไทยที่สิ้นสุดลงที่สุไหงโก-ลกที่ห่างออกไปเกือบ 50 กิโลเมตร จึงคาดว่า spill-over effect มาถึงชายแดนไทยจะยังไม่มาเร็วนัก แต่ก็เป็นการเพิ่มโอกาสและเสริมศักยภาพการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-มาเลเซียขยายตัวเพิ่มขึ้น มองไปข้างหน้าผู้เขียนก็ใคร่ขอเชียร์ให้ผู้เกี่ยวข้องมีนโยบายและแผนงานส่งเสริมพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับคนไทยเราเองในจังหวัดชายแดนใต้ครับ