มหากาพย์ตึก สตง. 18 ปี โยกงบฯ ออกแบบ – ก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ จาก ‘ปทุมธานี’ ย้ายมา ‘จตุจักร’ วงเงิน 2,560 ล้านบาท จากซากถึงซาก เพราะไม่มีโครงการไหนสร้างเสร็จ – สถาปนิกชื่อดังระบุบริษัทคุมงานก่อสร้างต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบชี้แจง–ตรวจรับงานถูกต้องหรือไม่?
ข่าวตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่ม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 จากแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาขนาด 7.2 ตามมาตราริกเตอร์ ทำให้เจ้าหน้าที่ คนงาน ที่อยู่ในไซต์งานก่อสร้างบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และเป็นเพียงตึกเดียวในประเทศไทยที่ถล่มลงมาในกรณีนี้ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่และคำถามมากมาย ด้วยบทบาท สตง. ทำหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานอื่นๆ วันนี้กลับต้องถูกตรวจสอบเสียเอง และจนถึงวันนี้ สตง. ยังไม่สามารถบอกกับสังคมได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
หากย้อนที่มาที่ไปของการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่สูง 29 ชั้น พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบบนเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
เริ่มจาก 18 ปีที่แล้ว ที่ สตง. ริเริ่ม 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ 2. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ จังหวัดปทุมธานี ทั้งสองโครงการไม่สามารถสร้างเสร็จ การดำเนินงานล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงาน จนในที่สุดก็ต้องหยุดดำเนินการ
กรมบัญชีกลางตรวจสอบ จ่ายเงินแล้วแต่สร้างไม่เสร็จ
จากข้อมูลรายงานการตรวจสอบ สตง. ในปีงบประมาณ 2562 ที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อทราบ ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับการตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของ สตง. โดยให้กรมบัญชีกลางตั้ง “คณะผู้ตรวจสอบ” และให้รายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการกำกับการตรวจสอบ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาพิจารณา ปรากฏว่า รายงานการตรวจสอบพบโครงการก่อสร้างอาคารของ สตง. มีการเบิกจ่ายเงินไปบางส่วนแล้ว แต่สร้างไม่เสร็จทั้ง 2 โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
เริ่มจากโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ในรายงานของคณะผู้ตรวจสอบระบุว่า สตง. ได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณในปีงบประมาณ 2551-2552 และปี 2557 เป็นเงิน 135.38 ล้านบาท สตง. ได้มีการเบิกเงินและนำเงินฝากธนาคาร แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ต่อมาในปีงบประมาณ 2552 มีการก่อสร้างเสร็จเฉพาะตัวอาคารอำนวยการ โดยใช้จ่ายจากเงินเหลือจ่ายสะสม 58.32 ล้านบาท นอกจากนี้ ในรายงานของคณะผู้ตรวจสอบ กรมบัญชีกลาง ระบุว่า “มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่บางส่วนของอาคารอำนวยการในการเก็บรักษาเอกสารต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ”
ต่อมาในปีงบประมาณ 2554 พบว่า สตง. มีการจ่ายค่าออกแบบก่อสร้างจากเงินเหลือจ่ายสะสมไปอีก 12.28 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2557 ได้มีการจ้างที่ปรึกษามาศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลอีก 1.2 ล้านบาท จากเงินเหลือจ่ายสะสม และจากการตรวจสอบในเบื้องต้น ได้มีการเบิกจ่ายเงินงวดที่ 1 จำนวน 240,000 บาทเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ปรากฏว่า การดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษามีความล่าช้า เนื่องจากที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้างนั้นเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ ทำให้ไม่สามารถจัดทำรายงานผลการศึกษา EIA เพื่อขอความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ ในที่สุด สตง. ก็ต้องยุติการจ้างศึกษาโครงการดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559
หลังจากที่มีการก่อสร้างอาคารอำนวยการของสถาบันธรรมาภิบาลเสร็จ ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอาคาร ในรายงานของคณะผู้ตรวจสอบระบุว่า “ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552–2562 รวมเป็นเงิน 31.90 ล้านบาท” ทาง สตง. จึงมีการทบทวนและเห็นว่า “จะไม่ดำเนินการก่อสร้างอาคารสถาบันธรรมาภิบาลต่อ แต่จะนำรูปแบบอาคารประชุมและการฝึกอบรม มาออกแบบร่วมกับโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ แต่ยังคงใช้ประโยชน์จากอาคารอำนวยการแห่งนี้ต่อไป จนกว่าจะสามารถเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ได้”
คตง. สั่งยกเลิกโครงการก่อสร้าง “สถาบันธรรมาภิบาล”
ต่อมา ในปีงบประมาณ 2562 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นได้อนุมัติตัดรายการค่าออกแบบก่อสร้าง 12.28 ล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ
โครงการที่ 2 คือ โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่จังหวัดปทุมธานี ในรายงานผลการตรวจสอบของคณะผู้ตรวจสอบ ระบุว่า สตง. ได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณในปีงบประมาณ 2553–2554 จำนวน 357.32 ล้านบาท ได้มีการเบิกเงินและนำฝากธนาคาร แต่ก็ยังไม่ได้นำเงินไปจ่ายค่าดำเนินการก่อสร้าง
โดยในปีงบประมาณ 2553 สตง. ได้จ่ายค่าออกแบบก่อสร้างอาคาร ณ ที่ทำการหมวดการทางลาดหลุมแก้ว และหมวดการทางปทุมธานี ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 26.30 ล้านบาท แต่ค่าออกแบบก่อสร้างอาคารนี้ สตง. ไม่ได้ใช้แบบก่อสร้างอาคารดังกล่าว เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการของ สตง. แห่งใหม่ จากปทุมธานีมาสร้างที่บริเวณพหลโยธิน (จตุจักร) โดย สตง. ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 โดยมีระยะเวลาการเช่า 14 ปี 5 เดือน แต่ยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าให้ รฟท. เพราะยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ
จนกระทั่งมาถึงในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 สตง. และ รฟท. ได้เปลี่ยนแปลงระยะเวลาการเช่าเป็น 15 ปี และเริ่มจ่ายค่าเช่าตั้งแต่ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ในระหว่างปีงบประมาณ 2561 สตง. อยู่ระหว่างการจ้างออกแบบอาคาร สตง. วงเงิน 73 ล้านบาท โดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสมัยนั้นได้อนุมัติให้ตัดรายการค่าออกแบบก่อสร้างอาคารที่เคยจ้างออกแบบเสร็จแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 จำนวน 26.30 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้ใช้แบบก่อสร้างดังกล่าว (ที่ปทุมธานี) เพราะ สตง. ได้เปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการใหม่มาที่จตุจักร และในระหว่างปีงบประมาณ 2562 สตง. ได้จ่ายเงินค่าเช่าที่ดินให้กับ รฟท. 25.01 ล้านบาท ต่อมาผู้รับจ้างได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อย จึงมีการจ่ายเงินค่าออกแบบให้ผู้รับจ้างไป 3 งวด รวมเป็นเงิน 51.10 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 4 อีก 21.90 ล้านบาท จ่ายในปีงบประมาณ 2563 รวม 73 ล้านบาท
คลังจี้ สตง. ตั้ง คกก. สอบโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาล – สนง.ใหญ่
หลังจากที่คณะกรรมการกำกับการตรวจสอบ รับทราบผลการตรวจสอบ สตง. ปีงบประมาณ 2562 ตามที่คณะผู้ตรวจสอบรายงานมีความเห็นว่า “การดำเนินการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ตามมาตรา 85 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ให้ สตง. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย สำหรับโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ และโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ (ปทุมธานี) ที่พบว่าเข้าข่ายก่อให้เกิดความเสียหาย กรณีที่มีการจ่ายค่าออกแบบก่อสร้าง และการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์”
ปี ’63 มติ ครม. โยกเงินสร้างตึก สตง. ใหม่จตุจักร–จ้างคุมงาน 2,636 ล้าน
จากนั้น ในปีงบประมาณ 2563 สตง. ได้เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่อีกครั้ง โดยที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติเห็นชอบให้ สตง. ทำเรื่องเสนอ ครม. ขอเปลี่ยนแปลงรายการก่อสร้างอาคารในอดีต 4 รายการ จาก 2 โครงการข้างต้น ที่สร้างไม่เสร็จและไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามที่ของบประมาณมาก่อสร้างได้ ประกอบด้วยสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ 2 รายการ และรายการค่าสร้างอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ 2 รายการ ต่อมา ที่ประชุม ครม. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมติอนุมัติให้ สตง. เปลี่ยนแปลงรายการค่าก่อสร้างอาคารเดิมที่ ครม. เคยมีมติอนุมัติ 4 รายการ มีรายละเอียดดังนี้
-
รายการแรก ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 อนุมัติโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ โดยให้บรรจุไว้ในแผนการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2551–2553 ในวงเงิน 338.95 ล้านบาท
รายการที่ 2 ที่ประชุม ครม. วันที่ 15 ธันวาคม 2552 มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้บรรจุไว้ในแผนก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2553–2555 ในวงเงิน 988 ล้านบาท
รายการที่ 3 ที่ประชุม ครม. วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ระยะที่ 2 โดยให้บรรจุไว้ในแผนก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2554–2556 ในวงเงิน 500 ล้านบาท
รายการที่ 4 ที่ประชุม ครม. วันที่ 22 ตุลาคม 2556 มีมติอนุมัติค่าควบคุมงานก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาล โดยให้บรรจุไว้ในแผนก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2557–2559 ในวงเงิน 5.96 ล้านบาท
จากงบฯ ก่อสร้าง 4 รายการในอดีต ตามที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมติอนุมัติตามที่ สตง. เสนอ โดยให้เปลี่ยนแปลงงบฯ เหลือ 2 รายการ มาเป็น “1. รายการค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บรรจุอยู่ในแผนก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2563–2566 วงเงิน 2,560 ล้านบาท และ 2. รายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บรรจุอยู่ในแผนก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2563–2566 วงเงิน 76.8 ล้านบาท”
กลางปี ’63 เปิดประมูลงานก่อสร้างวงเงิน 2,522 ล้าน
หลังจากโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. ผ่านการอนุมัติจาก ครม. วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 สตง. ได้ออกประกาศเชิญชวนประกวดราคาก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ 29 ชั้น พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “e-bidding” ในราคากลาง 2,522 ล้านบาท ประกอบด้วยงานก่อสร้าง 2,061.21 ล้านบาท งานจัดซื้อครุภัณฑ์ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ระบบโสตทัศนูปกรณ์ ระบบสื่อสารข้อมูลคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์วงจรปิด ระบบควบคุมประตูอัตโนมัติ และระบบแสดงผลห้องควบคุม วงเงิน 345.91 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายตามข้อกำหนดพิเศษ เช่น เครื่องจักรกลพิเศษที่ใช้ในการก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายนั่งร้านและระบบป้องกันฝุ่น ระบบป้องกันดินพัง ค่าพาหนะของคนงานไป-กลับที่พัก กรณีที่ไม่อนุญาตให้คนงานพักในไซต์งานก่อสร้าง เป็นต้น รวมเป็นเงิน 115 ล้านบาท โดย สตง. เปิดขายเอกสารประกวดราคาด้วยอิเล็กทรอนิกส์ชุดละ 3,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2563 นัดชี้แจงรายละเอียดโครงการผ่านเว็บไซต์ www.audit.go.th/และ www.gprocurement.go.th/ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 และกำหนดยื่นข้อเสนอ และเสนอราคาผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในวันที่ 25 สิงหาคม 2563 เวลา 8.30–16.30 น.
วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ปิดขายเอกสาร มีผู้มาซื้อซองประมูล 17 ราย ประกอบด้วย
วันที่ 25 สิงหาคม 2563 ครบกำหนดวันยื่นเอกสารเสนอราคา มีผู้มายื่นซอง 7 ราย ประกอบด้วย
-
– บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
– บริษัท คริสเตียนี และนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน)
– กิจการร่วมค้า วรเรียล
– บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
– บริษัท กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด
– กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ไม่ปรากฏชื่อในเว็บไซต์ e-GP เนื่องจากขณะนั้นอยู่ระหว่างขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีกับกรมสรรพากร)
ในวันเดียวกันนั้น สตง. ได้ประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ และเทคนิค 4 ราย คือ
-
– บริษัท อาคาร 33 จำกัด
– บริษัท คริสเตียนี และนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน)
– บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
– กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ไม่เปิดเผยชื่อ เพราะอยู่ระหว่างการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี)
กิจการร่วมค้า ITD-CREC เสนอราคาต่ำสุด 2,136 ล้าน เป็นผู้ชนะ
วันที่ 15 กันยายน 2563 สตง. ได้ประกาศชื่อผู้ชนะการประมูล คือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี เป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด 2,136 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางถึง 386 ล้านบาท (ราคากลาง 2,522) โดย สตง. ได้ทำสัญญาเลขที่ 021/2564 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 กับกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) วงเงินตามสัญญา 2,136 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการภายใน 1,080 วัน นับจากวันที่ส่งมอบพื้นที่ กำหนดการจ่ายเงิน 36 งวด โดย สตง. ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 จนถึงปัจจุบัน สตง. เบิกจ่ายเงินให้กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ไปแล้ว 22 งวด เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท
จ้างกิจการร่วมค้า PKW คุมงาน–ตรวจรับรองวัสดุก่อสร้างตามแบบ
ส่วนการจ้างบริษัทควบคุมงานก่อสร้าง สตง. ได้จัดหาผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีคัดเลือก สตง. ได้กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด ร่วมค้ากับบริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด) เป็นผู้ชนะการยื่นข้อเสนองานจ้างควบคุมงานด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท โดย สตง. ได้ทำสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างฯ เลขที่ 024/2564 ลงวันที่ 14 มกราคม 2564 เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง และรับรองการทดสอบคุณสมบัติของพัสดุในการก่อสร้างทุกรายการตามแบบ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินงานตลอดระยะเวลาก่อสร้าง ตั้งแต่วันเริ่มสัญญาจ้างก่อสร้างจนถึงวันก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นเวลา 36 เดือน และระยะที่ 2 ดำเนินงานตลอดระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องของงานก่อสร้าง เป็นเวลา 24 เดือน
บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 ทุนจดทะเบียน 8 ล้านบาท ที่ตั้ง63/123 ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ผู้มีอำนาจลงนามคือนายปฏิวัติ ศิริไทย ผู้ถือหุ้นและกรรมการ ได้แก่ 1. นายปฏิวัติ ศิริไทย (ถือหุ้น 79,400 หุ้น คิดเป็น 99.25%) 2. นางพรรณภา ศิริไทย และ 3. นายนัฏพร กฤษฎานุภาพ ผลประกอบการบริษัทปี 2565 กำไรสุทธิ 1.07 ล้านบาท ปี 2566 กำไรสุทธิ 1.25 ล้านบาท
บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งวันที่ 18 พฤษภาคม 2526 ทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท ที่ตั้ง 55 ซอยรามคำแหง 18 (แม้นเขียน 3) ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ผู้มีอำนาจลงนาม นายโชควิชิต ลักษณากร ผู้ถือหุ้น 1. นายโชควิชิต ลักษณากร 2,400 หุ้น (60%) 2. นางพิมลดา ลักษณากร 1,200 หุ้น (30%) 3. นายวิชัย ลักษณากร 200 หุ้น (5%) 4. นายวิทู รักษ์วนิชพงศ์ 200 หุ้น (5%) กรรมการ ได้แก่ นายโชควิชิต ลักษณากร นายพลเดช เทอดพิทักษ์วานิช นางปราณีต แสงอลังการ ผลประกอบการ ปี 2565 กำไรสุทธิ 2.49 ล้านบาท ปี 2566 กำไรสุทธิ 3.65 ล้านบาท ปี 2567 (ครึ่งปีแรก) กำไรสุทธิ 3.01 ล้านบาท
บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งวันที่ 31 มกราคม 2548 ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ที่ตั้ง 76/2 ถนนรามคำแหง แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพ ผู้มีอำนาจลงนาม นายกฤตภัฏ ปล่องกระโทก ผู้ถือหุ้น 1. นายกฤตภัฏ ปล่องกระโทก 10,500 หุ้น (52.5%) 2. นายศิริศักดิ์ วดีศิริศักดิ์ 2,500 หุ้น (12.5%) 3. นายมนตรี สุดรักษ์ 2,500 หุ้น (12.5%) 4. นางสาวพนิดดา พิทักษ์เกียรติยศ 2,000 หุ้น (10%) กรรมการ ได้แก่ 1. นายกฤตภัฏ ปล่องกระโทก 2. นายศิริศักดิ์ วดีศิริศักดิ์ 3. นายมนตรี สุดรักษ์ 4. นายณัฐวุฒิ เลิศศรีดำรงค์กุล ผลประกอบการ ปี 2565 กำไรสุทธิ 2.48 ล้านบาท ปี 2566 กำไรสุทธิ 2.16 ล้านบาท
เพิ่มงบฯ จ้างคุมงานก่อสร้างจาก 74.65 เป็น 84.37 ล้านบาท
ในระหว่างการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ สตง. ได้ขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 155 วัน ด้วยเหตุดังนี้
ครั้งที่ 1 เนื่องจากงานรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมในพื้นที่ การหยุดงานก่อสร้างตามประกาศของทางราชการดันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ และมีงานพิธีวางศิลาฤกษ์ รวมระยะเวลา 58 วัน
ครั้งที่ 2 เนื่องจากมีการแก้ไขแบบก่อสร้าง กรณี load facter, core wall และการสัญจรของรถบรรทุกในชั้นใต้ดิน รวมระยะเวลา 97 วัน
จากการที่ สตง. ขยายเวลาให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่เพิ่มเติมอีก 155 วัน จาก 1,080 วัน ขยายเป็น 1,235 วัน ส่งผลต่อสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 148 วัน เป็นเงิน 9.72 ล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินตามสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 74.65 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 84.37 ล้านบาท ขณะที่ ครม. เคยมีมติอนุมัติวงเงินจ้างควบคุมงานก่อสร้างเอาไว้ที่ 76.80 ล้านบาท มีวงเงินเกินกว่าที่ ครม. เคยอนุมัติไป 7.57 ล้านบาท ทาง สตง. จึงทำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติอนุมัติให้ สตง. เพิ่มวงเงินรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ จากวงเงินเดิม 76.80 ล้านบาท เพิ่มเป็น 84.37 ล้านบาท
……
หลังจากที่ผู้รับเหมางานดำเนินการก่อสร้างตัวโครงสร้างอาคารแล้วเสร็จ ปรากฏว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหว โครงสร้างตึก สตง. ถล่มลงมา มีคนงานเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบถึงความน่าเชื่อถือและเชื่อมั่นของประเทศ รัฐบาลต้องระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง วิศกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าไปตรวจหาสาเหตุการพังถล่มของตัวตึกว่าเกิดจากแผ่นดินไหวหรือเหตุผลอื่นใด โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องการออกแบบ และคุณภาพของเหล็กเส้น
ขณะที่ความเห็นของนายดวงฤทธิ์ บุนนาค อดีตกรรมการ สภาสถาปนิก 2 สมัย โพสต์ ‘เฟซบุ๊ก Duangrit Bunnag’ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า กรณีที่อาคารโดยทั่วไปเกิดปัญหาวิบัติในทางโครงสร้าง ความรับผิดชอบแรกจะต้องพุ่งไปที่ผู้ควบคุมงานที่เราเรียกว่า “CM” หรือ “Construction Management” โดยกฎหมายกำหนดให้การก่อสร้างอาคารทุกแห่งต้องมีผู้ควบคุมงานที่มีใบประกอบวิชาชีพ เพื่อควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ หากผู้รับเหมามีเจตนาจะเอาเปรียบ ก็จะพยายามสร้างให้ไม่ตรงแบบ พยายามจะลดข้อกำหนดคุณภาพของวัสดุ (Specification) หรือ วิธีการก่อสร้าง เพื่อลดปริมาณงานลงเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด
นายดวงฤทธิ์ ให้ความเห็นถึงกรณีของงานราชการที่มีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้รับเหมา หรือ “เงินทอน” ประมาณ 10% – 30% หากผู้รับเหมาที่อยากได้งาน ก็จำเป็นต้องรับงานกันไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าสร้างไม่จบแน่ เพราะเงินโดนหักไปแล้ว 30% ก็ต้องไปจบที่การทิ้งงาน จึงเห็นเป็นตึกราชการที่สร้างไม่เสร็จให้เราเห็นโดยทั่วไป ผู้รับเหมาที่ทิ้งงานแล้วก็จะถูก Black List กลับมารับงานไม่ได้อีก แต่ถ้าอยากรับงานราชการ งานอื่น ก็ต้องไปตั้งบริษัทใหม่ แต่งตัวกันเข้ามาใหม่ ส่วนบริษัทที่ไม่อยากติด Black List ก็ต้องพยายามสร้างงานให้จบ โดยพยายามลดต้นทุนให้มากที่สุด ซึ่งการลดต้นทุนนั้น ผู้ควบคุมงานจะเป็นคนที่เซ็นอนุมัติ หรือ ไม่เซ็นอนุมัติให้
ดังนั้น ผู้ควบคุมงาน จึงเป็น Factor สำคัญมาก เจ้าของโครงการที่เป็นหน่วยงานราชการรู้ความจริงข้อนี้ดี จึงต้องเลือกจ้างผู้ควบคุมงานที่ตนกำกับดูแลได้ สมยอมกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้ลดงานก่อสร้างลงไปจากแบบ หรือ จัดทำ Shop Drawing ที่แตกต่างไปจากแบบที่ออกไว้ เพื่อให้ผู้ควบคุมงานอนุมัติ และสามารถก่อสร้างไปได้ โดยมีสัดส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้น เพื่อมาชดเชยกับ “เงินทอน” ที่ต้องจ่ายไป ทั้งหมดนี้ เริ่มต้นมาจากที่มีคนเรียกรับเงินทอนคนแรก มันไม่ได้ผิดที่คนออกแบบเลย
เรื่องก่อสร้างผิดจากแบบ เป็นความผิดของผู้ควบคุมงานโดยตรง ความผิดถัดมาก็ผู้รับเหมาที่จะเป็นจำเลยสังคมต่อไป จะวิเคราะห์เรื่องการออกแบบ Specification ของเหล็กเส้น คนที่อยู่ในวงการก่อสร้างเราก็ออกจะขำ เพราะเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นไปจากต้นเหตุ คือ การคอร์รัปชันอย่างไม่ต้องสงสัย ในกรณีนี้ ผู้ออกแบบทั้งสถาปัตยกรรม และวิศวกรรม ต้องนับได้ว่าซวย เพราะในงานราชการ จะไม่อนุญาตให้ผู้ออกแบบเข้าไปตรวจสอบเลย ราชการเขากำหนดเรื่องนี้ไว้โดยมีวัตถุประสงค์ให้การตรวจสอบอยู่ในมือผู้ควบคุมงานอย่างเดียว จะได้จัดการเบ็ดเสร็จทั้งต้นน้ำปลายน้ำได้ง่าย มันก็เป็นเช่นนี้มาช้านานแล้ว ….นายดวงฤทธิ์กล่าว
……