มช.จับมือดับบลิวทีเอช โฮลดิงส์ ผลักดัน “มหาวิทยาลัย AI…CMU AI University” เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์แห่งอนาคต ศูนย์กลางการเรียนรู้ วิจัย และนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งแรกในภาคเหนือของประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้พร้อมรับมือกับโลกยุคดิจิทัล

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับนายวิชัย ทองแตง ประธานมูลนิธิ หนึ่งน้ำใจ One Love Foundation และ นายวรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีวีดี โฮลดิ้งส์ ดร.ก้องเกียรติ สุริเย กรรมการ บริษัท กรีน แสตนดาร์ด จำกัด รองศาสตราจารย์ ดร. สุชาย ธนวเสถียร ผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ดดู ทรานฟอร์เมอร์ กรุ๊ป จำกัด โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต รองอธิการบดี พร้อมผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมประชุม Tech Spiin-off Pitching : ปั้นธุรกิจจากงานวิจัย ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับบริษัท ดับบลิวทีเอช โฮลดิงส์ จำกัด มีเป้าหมายเพื่อผลักดันสู่ “มหาวิทยาลัย AI” เป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้และนวัตกรรมที่สำคัญของไทย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ สำหรับนักศึกษา ผู้ประกอบการและประชาชนผู้สนใจทั่วไป
นายวิชัย ทองแตง ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น The Godfather of Startup กล่าวว่า บริษัท ดับบลิวทีเอช โฮลดิงส์ จำกัดและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะหลังการลงนามความร่วมมือกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายและให้คำแนะนำในโครงการต่าง ๆ ล่าสุดมีการเปิดตัว “มหาวิทยาลัย AI” ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ วิจัย และนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งแรกในภาคเหนือ เป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับภูมิภาค พร้อมเสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล
หลักสูตรของ “มหาวิทยาลัย AI” ครอบคลุมทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยเน้นการพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิทยาการข้อมูล (Data Science) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น AI Agent ฯลฯ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริง รวมถึงการจัดอบรมและสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก นักศึกษาจะได้รับโอกาสทำงานร่วมกับทีมวิจัยที่มีชื่อเสียงและฝึกงานในบริษัทชั้นนำ พร้อมเสริมสร้างประสบการณ์จริงและเตรียมความพร้อมสู่โลกแห่งการทำงานยุคดิจิทัล
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังมุ่งเน้นการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในทุกมิติของการเรียนการสอน การวิจัย การบริหารจัดการ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพทางการศึกษา และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่ออนาคต สร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการพัฒนาบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี AI ที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศของนวัตกรรมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน AI ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังได้จัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการและนักลงทุนที่มีความสนใจในเทคโนโลยี AI เพื่อสร้างโอกาสในการระดมทุนและการขยายธุรกิจ เพื่อให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถเติบโตและแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมุ่งเน้นการสร้างโครงการวิจัยที่มีความเป็นนวัตกรรมและสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคมโดยรวม รวมถึงเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในตลาดโลก
ที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เกิดโครงการที่มีการบูรณาการเทคโนโลยี AI ในการแก้ปัญหาสังคม เช่น การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพด้วย AI การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการพลังงาน และการส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีไปใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ การฝึกอบรม และการวิจัยร่วมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและธุรกิจ โครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาทางเทคโนโลยี แต่ยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมเพื่ออนาคต