ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติเวียดนามมุ่งพลังงานหมุนเวียน-ส่งออกอาเซียน

ASEAN Roundup แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติเวียดนามมุ่งพลังงานหมุนเวียน-ส่งออกอาเซียน

20 เมษายน 2025


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 13-19 เมษายน 2568

  • แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติเวียดนามมุ่งพลังงานหมุนเวียน-ส่งออกอาเซียน
  • เวียดนามเตรียมพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อป้องกันการค้า
  • เวียดนามเปิดตัว 80 โครงการโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ
  • อินโดนีเซียเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจรับมือภาษีศุลกากรสหรัฐฯ
  • จีนพร้อมลงนามพิธีสารยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน
  • จีนลงนาม MoU ความร่วมมือกับกัมพูชา 37 ฉบับ

    แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติเวียดนามมุ่งพลังงานหมุนเวียน-ส่งออกอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/national-energy-master-plan-for-20212030-approved/265147.vnp
    รองนายกรัฐมนตรี บุ่ย แทงห์ เซิน ได้ลงนามในคำสั่งของนายกฯ ที่อนุมัติการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าแห่งชาติสำหรับปี 2564-2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2583

    คำสั่งดังกล่าวระบุขอบเขตโครงการและขอบเขตทางกายภาพของแผน โดยครอบคลุมถึงโครงการผลิตและส่งไฟฟ้าที่มีระดับแรงดันไฟฟ้า 220 กิโลโวลต์ขึ้นไป ตลอดจนอุตสาหกรรมและบริการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ทั่วประเทศเวียดนาม ซึ่งรวมถึงโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติกับประเทศเพื่อนบ้าน

    วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อให้แน่ใจว่ามีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมุ่งสู่อัตราการเติบโตเฉลี่ยของ GDP ประมาณ 10% ต่อปีในช่วงปี 2569-2573 และประมาณ 7.5% ต่อปีในช่วงปี 2574-2583

    การลงทุนทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับโครงสร้างพื้นฐานการผลิตและส่งไฟฟ้าคาดว่าจะอยู่ที่ 136,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับปี 2569–2573 สำหรับช่วงปี 2574–2578 และ 2579–2583 การลงทุนที่คาดการณ์ไว้คือ 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและ 569,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

    ภายในปี 2573 จะมีการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมและบริการพลังงานหมุนเวียนระดับภูมิภาค 2 แห่ง ซึ่งครอบคลุมการผลิต การส่ง การบริโภค การผลิตอุปกรณ์ การก่อสร้าง การติดตั้ง และบริการที่เกี่ยวข้อง ศูนย์เหล่านี้จะตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีศักยภาพสูง เช่น ภาคเหนือ ภาคกลางภาคใต้ และภาคใต้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย

  • กำลังการผลิตไฟฟ้าเติบโตอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2573

    ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติที่เรียกกันว่า PDP8 ฉบับปรับปรุงนี้ คาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งทั้งหมดจะอยู่ระหว่าง 183,291 ถึง 236,363 เมกะวัตต์ตาม PDP8 ที่แก้ไขใหม่ ภายในปี 2573 ซึ่งเพิ่มขึ้น 30-50% จากกำลังการผลิตที่ได้รับการอนุมัติก่อนหน้านี้ที่ 150,489 เมกะวัตต์

    ส่วนเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าในปี 2573 กำหนดปริมาณการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ไว้ที่ 500.4 – 557.8 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง การผลิตไฟฟ้าและการนำเข้าที่ 560.4 – 624.6 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดที่ 89,655 – 99,934 เมกะวัตต์

    พลังงานหมุนเวียนยังคงมีความสำคัญสูงสุด โดยมีการปรับเป้าหมายการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเป็นธรรม แผนดังกล่าวกำหนดให้มีการผลักดันการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง (ไม่รวมพลังงานน้ำ) โดยตั้งเป้าให้มีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้า 28 – 36% ภายในปี 2573 และตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 74 – 75% ภายในปี 2583 โดยจะสร้างโครงข่ายอัจฉริยะที่สามารถผสานรวมแหล่งพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

    ปัจจุบันคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมบนบกและใกล้ชายฝั่งจะอยู่ที่ 20,066 – 38,029 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้เป็น 3 เท่า กำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 6,000 เมกะวัตต์เป็น 17,032 เมกะวัตต์ โดยสามารถนำไปใช้งานได้จริงระหว่างปี 2573 ถึง 2593 ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ทางเทคนิคและต้นทุน

    พลังงานแสงอาทิตย์ก็ได้รับการส่งเสริมอย่างแข็งขันเช่นกัน โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 46,459 – 73,416 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิม 20,000 เมกะวัตต์ โดยชีวมวลและพลังงานจากขยะจะมีส่วนสนับสนุน 1,523 – 2,699 เมกะวัตต์ และ 1,441 – 2,137 เมกะวัตต์ ตามลำดับ ในขณะที่พลังงานความร้อนใต้พิภพและแหล่งพลังงานใหม่อื่นๆ จะยังคงอยู่ในระดับพอประมาณที่ 45 เมกะวัตต์

    นอกจากนี้ ภายในปี 2583 แผนดังกล่าวยังตั้งเป้าให้อาคารสำนักงานราว 50% และครัวเรือน 50% ใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่ผลิตเองเพื่อการใช้งานในสถานที่ (ไม่ส่งเข้าสู่ระบบไฟฟ้าแห่งชาติ)

    พลังงานน้ำจะถูกใช้ให้เต็มที่ภายในขีดจำกัดทางเทคนิคและเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตที่ 33,294 – 34,667 เมกะวัตต์ภายในปี 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่พลังงานนิวเคลียร์ถูกนำกลับเข้าสู่การวางแผนอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายที่ 4,000 – 6,400 เมกะวัตต์ระหว่างปี 2573 ถึง 2578 และเป้าหมายระยะยาวที่ 10,500 – 14,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2593

    นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน โดยคาดการณ์ว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบน้ำจะมีกำลังการผลิต 2,400 – 6,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 และ 20,691 – 21,327 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ระบบกักเก็บพลังงานแบบกระจายที่ตั้งอยู่ใกล้ศูนย์พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือศูนย์ที่มีความต้องการสูง คาดว่าจะมีกำลังการผลิตถึง 10,000 เมกะวัตต์ 16,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 และเกือบ 96,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2593

  • LNG จะมีบทบาทสำคัญในสัดส่วนเชื้อเพลิงและพลังงานแบบยืดหยุ่น
    ในประเภทพลังงานความร้อน LNG ยังคงมีบทบาทสำคัญในสัดส่วนเชื้อเพลิงและพลังงานในการผลิตไฟฟ้า (Power Mix) แบบยืดหยุ่น โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิต 22,524 เมกะวัตต์ในปี 2573 คิดเป็น 9.5-12.3% ของระบบ

    แผนคาดว่าพลังงานก๊าซจากในประเทศจะรักษาระดับกำลังการผลิตไว้ที่ 10,861 – 14,930 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงงาน LNG หลายแห่งคาดว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเผาไฮโดรเจนร่วมกันหรือใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS)

    กำลังการผลิตพลังงานด้วยถ่านหินจะยังคงอยู่ที่ 31,055 เมกะวัตต์จนถึงปี 2573 แต่จะไม่มีการอนุมัติโครงการใหม่ใดๆ หลังจากนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นชีวมวลหรือแอมโมเนียภายในปี 2593 โดยคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตในเวลานั้นจะอยู่ที่ 25,798 เมกะวัตต์

    สิ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่ของแผนปรับปรุงใหม่คือแนวทางการส่งออกไฟฟ้า โดยคาดว่าจะส่งออกไฟฟ้า 400 เมกะวัตต์ไปยังกัมพูชาภายในปี 2573 ภายในปี 2578 การส่งออกไปยังสิงคโปร์ มาเลเซีย และพันธมิตรในภูมิภาคอื่นๆ อาจสูงถึง 5,000 – 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะรักษาระดับนี้ไว้ได้จนถึงปี 2593

    ในทางกลับกัน การนำเข้าไฟฟ้าจากลาวและจีนอาจสูงถึง 9,360 – 12,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 คิดเป็นละ 4-5.1% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของเวียดนาม การนำเข้าจากลาวอาจเร่งขึ้นได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางเทคนิคและการทูต

  • พลังงานหมุนเวียนมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างพลังงานภายในปี 2593
    แผนคาดว่าภายในปี 2593 กำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 774,503 – 838,681 เมกะวัตต์ โดยพลังงานหมุนเวียนจะเป็นแกนหลักของระบบ โดยเฉพาะกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จะอยู่ที่ 293,088 – 295,646 เมกะวัตต์ (35.3 – 37.8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) พลังงานลมนอกชายฝั่งจะอยู่ที่ 113,503 – 139,079 เมกะวัตต์ (14.7 – 16.6%) พลังงานลมบนบกจะอยู่ที่ 84,696 – 91,400 เมกะวัตต์ (10.%) และแบตเตอรี่สำรองจะคิดเป็น 11.5 – 12.4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

    ส่วนพลังงานนิวเคลียร์คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าเพื่อความต้องการพื้นฐาน (Based Load)ที่มั่นคงที่ 10,500 – 14,000 เมกะวัตต์ คิดเป็น 1.4 – 1.7% ของระบบทั้งหมด

    แผน PDP8 ฉบับแก้ไขยังเน้นย้ำถึงการส่งเสริมข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (Direct Power Purchase Agreements:DPPA) และการผลิตแหล่งพลังงานใหม่ โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วนสนับสนุนผลผลิตพลังงานหมุนเวียน 30 – 60% ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

    หลักการเบื้องหลังแผน PDP8 ฉบับแก้ไข ได้แก่ ความสมดุลของภูมิภาค ความเป็นไปได้และความปลอดภัยของระบบ และความสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ความมั่นคงด้านพลังงาน และการป้องกันประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามบริบทของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานระดับโลก

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะตรวจสอบความคืบหน้าและรายงานต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยเสนอการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตามความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่ามีความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวและความยืดหยุ่นของระบบ

    เวียดนามเตรียมพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อป้องกันการค้า

    ท่าเรือโฮ จิมินห์ ซิตี้ ที่มาภาพ: https://vir.com.vn/ministry-of-finance-asks-ho-chi-minh-city-to-reconsider-seaport-fee-collection-policy-93416.html
    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้รับมอบหมายให้พัฒนาและจัดการระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อป้องกันการค้า โดยสามารถตรวจสอบการดำเนินการทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นจากต่างประเทศที่เริ่มต้นการสอบสวนการเยียวยาการค้าต่อสินค้าส่งออกของเวียดนาม

    ระบบเตือนภัยล่วงหน้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลที่ทันท่วงทีแก่ธุรกิจและสมาคมอุตสาหกรรม ช่วยให้พวกเขาสามารถดำเนินมาตรการป้องกันและเตรียมการตอบสนองที่เหมาะสมได้

    ระบบดังกล่าวเป็นหนึ่งในบทบัญญัติหลักที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา 86/2025/NĐ-CP ซึ่งเป็นแนวทางการบังคับใช้บทบัญญัติภายใต้กฎหมายว่าด้วยการจัดการการค้าต่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการป้องกันทางการค้า

    รัฐบาลยังได้สั่งการให้จัดทำแผนการดำเนินการทางกฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงสิทธิในการฟ้องร้อง การเรียกร้องค่าชดเชย และการกำหนดมาตรการเมื่อต่างประเทศใช้มาตรการคุ้มครองการค้ากับธุรกิจของเวียดนาม

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมจะประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อร่างแผนฟ้องร้องตามข้อมูลที่รวบรวมหรือคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ค้า สมาคม หรือองค์กรตัวแทนธุรกิจที่เกี่ยวข้องของเวียดนาม โดยจะปฏิบัติตามมาตรา 76 ของกฎหมายว่าด้วยการจัดการการค้าต่างประเทศ (Law on Foreign Trade Management) ในวรรคที่ 1 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมจะจัดทำเอกสารคำร้องเพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรี

    ภายใน 10 วันหลังจากได้รับคำขอจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กระทรวง หน่วยงาน องค์กร และบุคคลที่ปรึกษาหารือกันจะต้องให้ความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว

    นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจว่าจะอนุมัติแผนการฟ้องร้องหรือไม่โดยพิจารณาจากเอกสารที่ส่งมา

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมจะเป็นผู้นำในการฟ้องร้องประเทศหรือเขตปกครอง ที่ดำเนินการสอบสวนมาตรการเยียวยาทางการค้าต่อสินค้าของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะจัดสรรงบประมาณสำหรับกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ค้าตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 ของกฎหมายว่าด้วยการจัดการการค้าต่างประเทศ กระบวนการนี้จะปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบข้อบังคับของข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องซึ่งเวียดนามเป็นสมาชิก

    ผู้ค้า สมาคม และองค์กรตัวแทนธุรกิจที่เกี่ยวข้องของเวียดนามมีหน้าที่ให้ความร่วมมือในกระบวนการฟ้องร้องดังกล่าว

    พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวระบุข้อเสนอแนะโดยละเอียดเกี่ยวกับบทบัญญัติบางประการของกฎหมายว่าด้วยการจัดการการค้าต่างประเทศ รวมถึงวิธีการพิจารณาความเสียหายต่ออุตสาหกรรมในประเทศ มาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการเยียวยาทางการค้า ตลอดจนพื้นฐาน ขั้นตอน ระยะเวลา และเหตุผลในการเริ่มและยุติการสอบสวนมาตรการเยียวยาทางการค้า

    นอกจากนี้ยังระบุขั้นตอนสำหรับการใช้และการตรวจสอบมาตรการเยียวยาทางการค้า หลักเกณฑ์ในการระบุเงินอุดหนุนและการใช้มาตรการตอบโต้ ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระหว่างการสอบสวน และการจัดการกับมาตรการเยียวยาทางการค้าที่กำหนดให้กับสินค้าส่งออกของเวียดนาม

    เวียดนามเปิดตัว 80 โครงการโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ

    ที่มาภาพ: https://english.thesaigontimes.vn/tan-son-nhat-airports-terminal-t3-inaugurated/
    เมื่อวันที่ 19 เมษายน นนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋ง เวียดนาม เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์และเปิดตัวโครงการระดับชาติที่สำคัญ 80 โครงการทั่วประเทศ เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบ 50 ปีการปลดปล่อยภาคใต้และการรวมชาติในวันที่ 30 เมษายน

    พิธีดังกล่าวจัดขึ้นในรูปแบบผสมผสาน โดยงานหลักจัดขึ้นที่อาคารผู้โดยสาร 3 ของสนามบินนานาชาติเตินเซินเญิ้ต ในนครโฮจิมินห์ และเชื่อมโยงไปยังสถานที่อื่นๆ ทั่วประเทศในรูปแบบออนไลน์

    จาก 80 โครงการ ซึ่งมีงบประมาณรวม 445 ล้านล้านด่อง มีโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 40 โครงการ โครงการก่อสร้างอุตสาหกรรมและโยธา 12 โครงการ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 12 โครงการ และโครงการพัฒนาทางวัฒนธรรมและสังคม 9 โครงการ

    ในนครโฮจิมินห์ มีโครงการสำคัญ 6 โครงการที่เปิดตัวหรือเริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ การสร้างอาคารผู้โดยสาร 3 ที่สนามบินนานาชาติเตินเซินเญิ้ต และถนนเชื่อมต่อไปยังถนนเจิ่น ก๊วก ฮว่าน และ กอง ฮวา พิธีเปิดโรงพยาบาลกลางภูมิภาคฮอกมอน และการวางศิลาฤกษ์พื้นที่ถมทะเลเกิ่นโซ เพื่อการท่องเที่ยวและพัฒนาเมือง และส่วนการเคลื่อนย้ายโครงสร้างพื้นฐานและการกำจัดทุ่นระเบิดของถนนวงแหวนที่ 2

    ในการกล่าวเปิดอาคารผู้โดยสาร 3 นายกรัฐมนตรีจิ๋งเน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของโครงการเหล่านี้ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม การเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ และการส่งเสริมการบูรณาการระหว่างประเทศ

    โครงการใหม่หลายโครงการคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เช่น ทางรถไฟหล่าวกาย-ฮานอย-ไฮฟอง ทางด่วนฮานอย-เวียงจันทน์ และทางด่วนสายหลักที่เชื่อมเหนือ-ใต้ ช่วงตะวันตกระหว่างนามดิ่ญ ท้ายบิ่ญ ซาเหงีย(Dak Nong) และ บิ่ญเฟื้อก

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นและกระทรวงต่างๆ ดำเนินการให้มั่นใจว่าโครงการที่เพิ่งเปิดดำเนินการจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้การลงทุนมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการเอาใจใส่ต่อสวัสดิการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ย้ายถิ่นฐานหรือเสียสละเพื่อโครงการระดับชาติ

    นอกจากนี้ยังสั่งการให้ผู้รับเหมาและนักลงทุนเริ่มก่อสร้างโครงการที่เพิ่งเปิดตัวทันที โดยเน้นที่การดำเนินการให้เสร็จทันกำหนด รักษาคุณภาพ และป้องกันไม่ให้งบบานปลาย

    หน่วยงานในพื้นที่ได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหาคอขวดในการเคลียร์พื้นที่และการจัดหาวัสดุเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น

    อินโดนีเซียเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจรับมือภาษีศุลกากรสหรัฐฯ

    ที่มาภาพ :https://www.thejakartapost.com/academia/2019/09/03/jakarta-will-become-the-capital-of-southeast-asia.html
    อินโดนีเซียกำลังจัดทำ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อปกป้องเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการส่งออกจากภาษีศุลกากรที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศใช้ เนื่องจากความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสองประเทศอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานจำนวนมาก

    เมื่อวันศุกร์(18 เมษายน) ที่ผ่านมา นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต หัวหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการตามนโยบายที่ครอบคลุมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าส่งออกของอินโดนีเซียถูกเรียกเก็บภาษี

    มาตรการดังกล่าวรวมถึงการผ่อนปรนใบอนุญาตนำเข้าผ่านระบบ Online Single Submission (OSS) การปรับกระบวนการบริการภาษีและศุลกากร การปรับโควตาการนำเข้า และการปฏิรูปภาคการเงิน รัฐบาลยังได้หารือกับธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia:BI) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของอินโดนีเซีย (Financial Services Authority) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาในระหว่างการหารือทางการค้ากับสหรัฐฯ

    “เรากำลังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ OJK และ BI โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับข้อกำหนดการชำระเงินที่ฝ่ายสหรัฐฯ ร้องขอ” นายแอร์ลังกากล่าวระหว่างการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์

    อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่สหรัฐฯ เชิญอย่างเป็นทางการให้เข้าการเจรจาภาษีอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ทรัมป์ประกาศเพิ่มภาษีกับคู่ค้าหลายรายเมื่อวันที่ 2 เมษายน ทั้งสองประเทศได้ตกลงกันที่จะกำหนดกรอบความร่วมมือภายใน 60 วัน สหรัฐฯ ได้เลื่อนการเรียกเก็บภาษีสินค้าอินโดนีเซียแบบที่เรียกเก็บในอัตราที่เท่ากัน (reciprocol tariffs) 32% ออกไปจนถึงวันที่ 9 มิถุนายน โดยจะใช้ภาษีพื้นฐาน 10% เป็นการชั่วคราวในระหว่างนี้

    โดยทั่วไปแล้ว การส่งออกสิ่งทอ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใช้แรงงานเข้มข้นและมีปริมาณมากของอินโดนีเซีย จะต้องเผชิญภาษีจากสหรัฐฯ ในอัตรา 10-37% และภาษีพื้นฐานอีก 10% และอัตราภาษีที่แท้จริงอาจพุ่งสูงถึง 47% นายแอร์ลังก้าเตือน เนื่องจากในอินโดนีเซียเอง ภาคส่วนนี้เผชิญกับแรงกดดันจากการนำเข้าจากจีนที่มีราคาถูกและความต้องการที่ลดลง ซึ่งทำให้โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลงและนำไปสู่การเลิกจ้างคนงานหลายพันคน

    “นี่ทำให้ต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ซื้อในสหรัฐฯ กำลังขอให้ผู้ส่งออกของเราแบ่งรับภาระภาษี ซึ่งหมายความว่าผลกระทบจะไม่จำกัดอยู่แค่ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ เท่านั้น” นายแอร์ลังกากล่าว

    รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและการแปรรูปกุ้ง

  • เตรียมดูแลแรงงานตกงาน

    นายซาอิด อิคบัล ประธานสมาพันธ์สหภาพแรงงานอินโดนีเซีย (KPSI) เตือนว่า แรงงานอินโดนีเซียราว 50,000 คนอาจต้องตกงาน อันเนื่องจากภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ

    หลังจากคำเตือนดังกล่าว ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโตของอินโดนีเซียได้สั่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเตรียมมาตรการการจ้างงานอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับปัญหานี้

    นางมารี เอลกา ปังเงสตู รองประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic Council:DEN)ของอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายนว่า ยังคงไม่แน่นอนว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอีก 30-60 วันข้างหน้านี้ เนื่องจากการเจรจากับสหรัฐฯ ยังคงดำเนินอยู่

    นางมารี เอลกา ปังเงสตู กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมที่เปราะบางและป้องกันการตกงาน รัฐบาลได้ริเริ่มมาตรการหลายด้านเพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบของภาษีศุลกากรในอัตรา 32% ต่อการส่งออกของอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างที่อาจเกิดขึ้นอันเป็นผลจากภาวะการค้าที่หยุดชะงัก

    รัฐบาลอินโดนีเซียยังมีแผนที่จะปรับปรุงกฎระเบียบให้เรียบง่ายขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงธุรกิจของสหรัฐฯ ด้วย

  • มีแผนเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯเป็น 19 พันล้านดอลล์
    นอกจากนี้ อินโดนีเซียกำลังผลักดันให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียน สินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และกุ้ง รัฐบาลกำลังพยายามให้สหรัฐฯยินยอมสำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญ 20 รายการ เพื่อแลกกับการปฏิบัติทางภาษีที่สมดุล

    ในส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเจรจา อินโดนีเซียมีแผนที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าพลังงานและสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ รวมถึงก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันดิบ ข้าวสาลี และถั่วเหลือง และกำลังพิจารณาลดภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ มาตรการอื่นๆ ได้แก่ การผ่อนคลายเงื่อนไขในการใช้วัสดุที่ผลิตภายในประเทศ (local content requirements) สำหรับโทรคมนาคม เร่งรัดการรับรองฮาลาล และเสนอแรงจูงใจทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงินเพื่อกระตุ้นการค้า

    “ความคิดริเริ่มเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันที่กว้างขึ้นเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกับส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นธรรม” นายแอร์ลังกา กล่าว

    นายแอร์ลังกา กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงวอชิงตัน ว่า อินโดนีเซียจะเพิ่มการนำเข้าอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์จากสหรัฐฯ และลดคำสั่งซื้อจากบางประเทศที่อินโดนีเซียซื้อสินค้าดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน

    นายแอร์ลังกาอยู่ในสหรัฐฯ ร่วมในคณะผู้แทนระดับสูงเเพื่อหารือเรื่องภาษีนำเข้าสินค้าที่อินโดนีเซียถูกเก็บ 32% ซึ่งถูกระงับไว้เป็นเวลา 90 วัน

    อินโดนีเซียเสนอเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากถึง 19,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการนำเข้าพลังงานราว 10,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อลดการเกินดุลการค้าที่มีกับสหรัฐฯ และเพื่อไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์

    “อินโดนีเซียยังมีแผนจะซื้อสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง และกากถั่วเหลือง และเพิ่มการซื้อสินค้าทุนจากสหรัฐฯ” นายแอร์ลังกา กล่าวในการแถลงข่าวซึ่งผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ Zoom

    ข้อมูลจากสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับอินโดนีเซีย 17.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567 เพิ่มขึ้น 5.4% จากปีก่อน

    “เราจะสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาล ตราบใดที่ราคาตลาดและความสามารถในการแข่งขันยังคงสอดคล้องกัน” นางรัตนา ซารี โลปิส กรรมการบริหารสมาคมผู้ผลิตแป้งสาลีแห่งอินโดนีเซีย กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์

    ตามข้อมูลจากสมาคม ออสเตรเลียเป็นแหล่งนำเข้าข้าวสาลีของอินโดนีเซียใมนสัดส่วน 40% ในปี 2567 ส่วนที่เหลือ 26% มาจากยูเครน และ 16% มาจากแคนาดา ส่วนการนำเข้าจากสหรัฐฯ ต่ำกว่า 4% เล็กน้อย ในทางกลับกัน อินโดนีเซียนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เกือบ 89% ในปี 2567

    “เราจะอำนวยความสะดวกแก่บริษัทอเมริกันที่ดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียด้วย ในส่วนของใบอนุญาตและแรงจูงใจ” นายแอร์ลังกากล่าว และอินโดนีเซียจะดำเนินการเกี่ยวกับแร่ธาตุที่สำคัญและลดความซับซ้อนของขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากพืชสวนของอเมริกา

    หลังจากการประชุมกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทั้งสองประเทศตกลงที่จะสรุปการเจรจาภายใน 60 วัน

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ศรี มุลยานี กล่าวก่อนหน้านี้ว่า อินโดนีเซียจะปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจาก 2.5% เป็น 0.5% ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์มือถือและแล็ปท็อป สินค้าอื่นๆ รวมถึงเหล็กกล้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของสหรัฐฯ จะได้รับลดภาษีนำเข้าจาก 5-10% เหลือ 0-5%

    จีนพร้อมลงนามพิธีสารยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน

    ที่มาภาพ: https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/xw/zyxw/202504/t20250417_11595680.html
    ประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิง กล่าวในการหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีในปุตราจายาวันที่ 16 เมษายน 2568 ระหว่างการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการช่วงวันที่ 15-18 เมษายนว่า การที่มาเลเซียเลือก “ความครอบคลุมและความยั่งยืน” ให้เป็นธีมของอาเซียนในปีนี้สะท้อนถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของมาเลเซียต่อภูมิทัศน์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน

    ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่บน เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศจีนว่า จีนสนับสนุนให้มาเลเซียในการทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน และพร้อมที่จะลงนามในพิธีสารยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนกับประเทศต่างๆ หรือ China-ASEAN Free Trade Area Upgrade Protocol ในภูมิภาคโดยเร็วที่สุด

    (ACFTA Upgrading Protocol หรือ Protocol to Amend the Framework Agreement on Comprehensive Economic Co-operation and Certain Agreements thereunder between ASEAN and China คือพิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความตกลงที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบความตกลงฯ ระหว่างอาเซียนกับจีน)

    ทั้งสองประเทศจะร่วมกันปฏิเสธการแยกตัว การหยุดชะงักของอุปทาน กลยุทธ์ “สนามเล็ก รั้วสูง” และการใช้ภาษีศุลกากรอย่างไม่ถูกต้องด้วยความเปิดกว้าง ความครอบคลุม ความสามัคคี และความร่วมมือ ต่อต้านกฎแห่งป่าที่ผู้แข็งแกร่งล่าเหยื่อผู้อ่อนแอด้วยค่านิยมของเอเชีย ได้แก่ สันติภาพ ความร่วมมือ ความเปิดกว้างและความครอบคลุม และจัดการกับความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนในโลกด้วยเสถียรภาพและความแน่นอนของเอเชีย

    จีนลงนาม MoU ความร่วมมือกับกัมพูชา 37 ฉบับ

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501671228/cambodia-and-china-sign-37-agreements-to-strengthen-bilateral-ties-during-president-xi-jinpings-visit/

    จีนและกัมพูชาลงนามเอกสารความร่วมมือ 37 ฉบับเมื่อค่ำวันที่ 17 เมษายน โดยนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนต และประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่สองระหว่างวันที่ 17-18 เมษายน ร่วมเป็นสักขีพยานในการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (MoU)ของทั้งสองฝ่าย

    ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันครอบคลุมหลายภาคส่วน เช่น การลงทุน การค้า การศึกษา การเงิน สื่อมวลชน กิจการเยาวชน การเกษตร สาธารณสุข ทรัพยากรน้ำ การท่องเที่ยว กิจการสตรี และด้านความร่วมมืออื่นๆ

    เจ้าหน้าที่กล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการขยายความร่วมมือภายใต้กรอบแผนความร่วมมือเพชรหกเหลี่ยม (Diamond Hexagon) และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative:BRI) ของจีน ซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากัมพูชา

    การเยือนอย่างเป็นทางการ 2 วันของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง มีขึ้นในขณะที่จีนยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดและเป็นหุ้นส่วนการค้าอันดับหนึ่งของกัมพูชา