ในปี 2567 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุราว 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 10 ปี หรือในปี 2576 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอด (super aged society) คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 30% ของประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกันมีอัตราการเกิดน้อยลง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร จนอาจจะกลายเป็นวิกฤติของประเทศ
ความท้าทายดังกล่าวถือเป็นบทบาทและภารกิจ ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องวางนโยบายเพื่อรับมือ ทั้งผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น วิกฤติเด็กเกิดน้อย ความไม่พร้อมของเด็กรุ่นใหม่ในการมีครอบครัว รวมไปถึงประชากรวัยแรงงานที่ลดลงต่อเนื่อง
“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้พูดคุยกับนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้วางนโยบายและยุทธศาสตร์ในการดูแลทรัพยากรมนุษย์
“วราวุธ” บอกว่า ภารกิจของกระทรวง พม. มีทั้งงานประจำที่ต้องตามแก้ปัญหา เช่น ขอทาน คนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ เด็ก กลุ่มเปราะบาง แต่มีภารกิจในเชิงนโยบายระดับประเทศ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ คือ โครงสร้างประชากรซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปีประมาณ 4-5 แสนคน และอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ขณะที่ อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่น้อยลง หรือปีละ 4-5 แสนคน เมื่อรวมกับอัตราการตายทำให้ในแต่ละปีประเทศไทยมีประชากรลดลงประมาณปีละ 4-5 แสนคนเช่นกัน
เมื่อนำทั้งสองปัจจัยมารวมกัน ประเทศไทยกำลังเกิดปัญหาที่เรียกว่าเป็น population crisis หรือ วิกฤติประชากร
ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ระบบสวัสดิการแห่งรัฐอาจจะล้มละลายได้ เพราะว่ารายได้กับรายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน ทุกคนเรียกร้องอยากจะได้เบี้ยยังชีพ แต่คำถามคือ ใครจ่าย
วิกฤติประชากรมีผลต่อเศรษฐกิจ เพราะเด็กเกิดใหม่น้อย กำลังแรงงานของประเทศก็หายไป เมื่อคนทำงานน้อยลง อุปสงค์กับอุปทานก็น้อยลงตาม เศรษฐกิจก็จะหดตัวลงไปเรื่อยๆ เพราะคนเสียภาษีก็น้อยลง ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน ขึ้นทะเบียนเสียภาษี 11-12 ล้านคน แต่เสียภาษีจริงแค่ 4 ล้านกว่าคน ส่งผลกระทบต่อรายได้และงบประมาณของประเทศ ขณะที่รัฐต้องจ่ายสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มมากขึ้น จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
กระทรวง พม. ได้เชิญหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมจัดทำนโยบาย “5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร” (5×5 Let’s Turn the Tide) ซึ่งได้นำนโยบายดังกล่าวนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งนำเสนอต่อที่ประชุมของกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาและประชากรในช่วงปลายเดือนเมษา 2567 ที่ผ่านมา
“วราวุธ” มองว่า การผลักดันนโยบาย 5×5 จะช่วยลดภาระสวัสดิการแห่งรัฐลงไปได้ เนื่องจากผู้สูงอายุและผู้พิการยังมีศักยภาพที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้ เพียงแต่รัฐต้องช่วยสนับสนุนและสร้างโอกาส
“สิ่งที่เราต้องทำคือการลดการพึ่งพา ซึ่งจะทำให้การจัดสวัสดิการของรัฐต่างๆ ลดลง และจะได้ผลิตภาพเพิ่มจากทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ เราสามารถส่งเสริมให้เขาติดสังคม มีสุขภาพร่างกายที่ดี ไม่เป็นภาระให้กับบุคลากรทางการสาธารณสุขแล้วก็งบประมาณ และยังสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้กับผลิตภาพให้กับประเทศชาติได้ด้วย”
อ่านบทความฉบับเต็ม “วราวุธ ศิลปอาชา” ชี้รัฐสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ หวั่นล้มละลาย ถามดังๆ ‘ใครจ่าย’ ชู 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร ได้ที่เว็บไซต์ไทยพับลิก้า
#วิกฤติโครงสร้างประเทศไทย #สังคมสูงวัย #รัฐสวัสดิการ #วิกฤติประชากร