ThaiPublica > คนในข่าว > “วราวุธ ศิลปอาชา” ชี้รัฐสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ หวั่นล้มละลาย ถามดังๆ ‘ใครจ่าย’ ชู 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร

“วราวุธ ศิลปอาชา” ชี้รัฐสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ หวั่นล้มละลาย ถามดังๆ ‘ใครจ่าย’ ชู 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร

20 มกราคม 2025


“วราวุธ ศิลปอาชา” ชี้ไทยเผชิญปัญหาวิกฤติโครงสร้างประชากร อีก 10 ปี ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน อัตราเด็กเกิดใหม่ 4-5 แสนคน คนวัยทำงานน้อยลง ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถามดังๆ ใครจะเป็นคนจ่าย จะเอาเงินจากไหน อนาคตมีแต่จะล่มสลาย ชูนโยบาย 5 คูณ 5 ดึงศักยภาพผู้สูงอายุ-คนพิการ ฝ่าวิกฤติประชากร

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ในปี 2567 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุราว 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 10 ปี หรือในปี 2576 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอด (super aged society) คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 30% ของประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกันมีอัตราการเกิดน้อยลง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร จนอาจจะกลายเป็นวิกฤติของประเทศ

ความท้าทายดังกล่าวถือเป็นบทบาทและภารกิจ ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องวางนโยบายเพื่อรับมือ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น วิกฤติเด็กเกิดน้อย ความไม่พร้อมของเด็กรุ่นใหม่ในการมีครอบครัว รวมไปถึงประชากรวัยแรงงานที่ลดลงต่อเนื่อง

“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้พูดคุยกับนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเข้ามาวางนโยบายและกลุยุทธ์ในการดูแลทรัพยากรมนุษย์ มากว่า 1 ปีกับอีก 5 เดือน

“ดีใจที่ได้มาทำงานกระทรวงนี้ เพราะว่าได้เห็นสัจธรรมของชีวิต และได้ดูแลคนในทุกช่วงวัย ทำให้รู้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ท้ายที่สุดแล้ว หากสภาพร่างกายของคุณไปไม่ไหว ถ้าไม่มีเงิน ไม่มีลูกหลาน แล้วไม่มีระบบอะไรรองรับ ใครจะดูแล เป็นเรื่องน่ากังวล”

“วราวุธ” บอกว่า ภารกิจของกระทรวง พม. มีทั้งงานประจำที่ต้องตามไล่แก้ปัญหา เช่น ขอทาน คนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ เด็ก กลุ่มเปราะบาง แต่มีภารกิจในเชิงนโยบายระดับประเทศ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ คือ โครงสร้างประชากรซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปีประมาณ 4-5 แสนคน และอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่น้อยลง หรือปีละ 4-5แสนคน จากช่วงที่ผ่านมาที่มีเด็กเกิดใหม่ปีละเกือบล้านคน เมื่อรวมกับอัตราการตายทำให้ในแต่ละปีประเทศไทยจะมีประชากรลดลงประมาณปีละ 4-5 แสนคนเช่นกัน และเมื่อนำเอาทั้งสองปัจจัยมารวมกัน ประเทศไทยกำลังเกิดปัญหาที่เรียกว่าเป็น population crisis หรือ วิกฤติประชากร

วิกฤติประชากร ผู้สูงอายุเพิ่ม-เด็กเกิดน้อย

วิกฤติประชากร เกี่ยวข้องกับปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเด็กเกิดใหม่น้อยแล้วกำลังแรงงานของประเทศก็หายไป เมื่อคนทำงานน้อยลง อุปสงค์กับอุปทานก็น้อยลงตามไปด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อทุกอย่างน้อยลง เศรษฐกิจก็จะหดตัวลงไปเรื่อยๆ เพราะคนเสียภาษีก็น้อยลง โดยจะเห็นว่าประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน ขึ้นทะเบียนเสียภาษี 11-12 ล้านคน แต่เสียภาษีแค่ 4 ล้านกว่าคน ส่งผลกระทบต่อรายได้และงบประมาณของประเทศ ขณะที่รัฐต้องจ่ายสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

“ทุกวันนี้ ผู้สูงอายุทุกคนต้องการเบี้ยยังชีพเพิ่ม ซึ่งวันนี้เรายังพอมีเงินจ่ายได้ แต่อีก 10 ปีจากนี้ไป เราจะมีตังค์พอจ่ายหรือไม่ เพราะว่าเงินในกระเป๋าเรามันจะน้อยลงทุกวัน เนื่องจากคนเข้ามาทำงานน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุกับคนเกษียณอายุเพิ่มมากขึ้น และทุกคนก็จะรอสวัสดิการแห่งรัฐมากขึ้นด้วย”

ถ้าสถาการณ์ยังเป็นแบบนี้ ระบบสวัสดิการแห่งรัฐอาจจะล้มละลายได้ เพราะว่ารายได้กับรายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน ทุกคนเรียกร้องอยากจะได้เบี้ยยังชีพ แต่คำถามคือ ใครจ่าย

“ไม่ใช่ เราไม่อยากให้เงิน แต่เราต้องคิดถึงการรักษาระบบด้วย ถ้าทุกคนต้องการหมด ใครจะเป็นคนจ่าย นี่คือปัญหาของวิกฤติประชากร ที่ทุกวันนี้หลายประเทศกําลังเจอ เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี ที่เจอปัญหาคนสูงอายุจำนวนมาก และยังไม่สามารถแก้ไขได้ ขณะที่การจะเพิ่มจำนวนประชากร ไม่ง่าย เพียงแค่ให้คนสองคนมาอยู่ด้วยกัน มีครอบครัวแล้วก็มีลูกหลานออกมา มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น”

นอกจากนี้ Gen Y, Gen Z หรือ Gen Alpha ยังไม่อยากมีครอบครัว ซึ่งถ้าถามหาสาเหตุก็จะตอบเหมือนกันว่า แค่จะดูแลตัวเองยังเอาไม่รอดเลย แล้วจะดูแลครอบครัวหรือดูแลลูกได้ยังไง แต่ถ้าถามถึงปัจจัยที่ทำให้พวกเขาอยากมีครอบครัว ส่วนใหญ่จะตอบว่า ต้องมีงานที่มั่นคง ต้องมีสังคมที่ปลอดภัย ไม่มียาเสพติด ไม่มีฝุ่น PM2.5 และการศึกษาที่มีคุณภาพ

“ถ้าไปหาคำตอบถึงสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีครอบครัว แต่ละประเทศแตกต่างกันด้วยระบบสังคม ยุโรปเขาก็จะต้องการแบบหนึ่ง ญี่ปุ่นเขาอาจจะต้องการอีกอย่างหนึ่ง มาถามไทยเราก็ต้องการอีกอย่าง แต่สิ่งที่เราต้องหาให้เจอก็คือ ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาของประเทศไทยได้”

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ชูนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร

“วราวุธ” บอกว่า เพื่อหาคำตอบ อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ต้องการมีครอบครัว มีลูก ทำให้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวง พม. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤติประชากร” เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาโครงสร้างประชากร โดยได้เชิญหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วม เช่น ผู้บริหาร 20 กระทรวง และองค์กรระหว่างประเทศ 6 แห่ง ประกอบด้วย UNDP, UNHPA, UNV, UNWOMEN, UN Habitat และ UNICEF รวมไปถึงตัวแทนจากธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลก (WHO) มาร่วมระดมคความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติประชากร

“ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันทำเวิร์กชอปตลอดทั้งวันทำให้ได้นโยบาย “5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร” (5×5 Let’s Turn the Tide) และนำนโยบายดังกล่าวนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งนำเสนอต่อที่ประชุมของกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาและประชากรในช่วงปลายเดือนเมษา 2567 ที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. ไม่สามารถดำเนินนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากรเพียงลำพัง แต่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ทั้งกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษา กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงดีอี ทุกกระทรวงต้องมาผลักดันร่วมกันหมด

“นโยบาย 5×5 จะทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่ามันตอบโจทย์ ฉันมีบ้านนะ ฉันมีอาชีพการงานที่มั่นคง ฉันอยากไปทำงาน ไม่ต้องเสียตังค์วันละสี่ห้าร้อยเพื่อจะจ่ายค่าที่จอดรถ จ่ายค่าเดินทาง มีเงินเก็บ ดูแลลูกได้ ลูกคุณภาพการศึกษาดีขึ้น แต่ทั้งหมดกระทรวง พม. ทำหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องให้ทุกกระทรวงนำไปประยุกต์ แล้วก็ไปปรับนโยบายการทำงานของตัวเอง เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกอยากที่จะมีลูก นี่คือแนวทางแก้ปัญหาวิกฤติโครงสร้างประชากร”

สำหรับยุทธศาสตร์ 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากรจะดูแลทุกกลุ่มประชากร ซึ่งประกอบด้วย

1. ยุทธศาสตร์เสริมพลังให้กับคนวัยทำงาน ให้มีอาชีพที่มั่นคง การสร้างครอบครัวพัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (reskill/upskill) เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ และบูรณาการฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงาน (ทั้งอุปสงค์และอุปทาน)

  • ส่งเสริมการมีงานทำและรายได้ ด้วยการกระจายงานสู่พื้นที่และชุมชน ส่งเสริมการออม สร้างแรงจูงใจให้ประชากรในวัยทำงานออมเพื่ออนาคตและเตรียมการเกษียณ (ออมภาคบังคับ)
  • ปรับสถานที่ทำงานให้เป็นสถานประกอบการที่คำนึงถึงความสุข ส่งเสริมสุขภาพของบุคลากร และเพิ่มสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
  • มาตรการส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว เช่น สร้างแรงจูงใจด้านภาษีหรือการยกย่องทางสังคม ให้แก่นายจ้างที่จัดสวัสดิการดูแลเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุให้แก่ลูกจ้าง การทำงานแบบยืดหยุ่น ส่งเสริมบทบาทชายหญิงในการร่วมกันดูแลครอบครัว
  • 2. ยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาเด็ก ต้องทำให้มีคุณภาพทั้งร่างกายแข็งแรง สติปัญญาทั้งอีคิวและไอคิวทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นพลังในการที่จะมาพัฒนาสังคม

  • ส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถานบันการศึกษาให้มีความเข้มแข็ง การดูแลสุขภาพทางกายและจิตใจของเด็กและแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์
  • การมีศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน มีมาตรฐาน รับเด็กอายุน้อยลง มีความยืดหยุ่น ชุมชนช่วยจัดการได้
  • การพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพตามวัย สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เป็นพลวัต และการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัย
  • 3. ยุทธศาสตร์สร้างพลังผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที และได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีมาตรการสำคัญ 5 มาตรการ ในการเสริมพลังผู้สูงอายุ ได้แก่

  • การมุ่งการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค เสริมการมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ
  • การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ ขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะที่จำเป็น ส่งเสริมความรอบรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี
  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
  • การส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำกิจวัตรประจำวัน และการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศ
  • การส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติ
  • 4 ยุทธศาสตร์ พัฒนาคนพิการ ต้องดึงเอาศักยภาพของคนพิการมาทำงาน โดยได้ลงนามในเอ็มโอยูกับกระทรวงศึกษา กับกระทรวงออุดมศึกษา เพื่อใช้สถาบันการศึกษาในการฝึกอบรมผู้พิการ จนสามารถทำางานร่วมกับภาคเอกชนได้

    5. ยุทธศาสตร์ซึ่งมีความท้าทายที่สุด คือ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้คนทุกกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกัน และทำให้สังคมน่าอยู่ เช่น การปราบยาเสพติด ระบบการขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมไปจนถึงระดับหมู่บ้าน ต้องมีความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน คุณภาพอากาศที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี

    นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    ยุทธศาสตร์ 5×5 ดูแลคนทุกกลุ่ม

    “วราวุธ” อธิบายเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาโครงสร้างประชากร ต้องดูแลคนทุกกลุ่มตั้งแต่เกิดจนตาย โดยยุทธศาสตร์ 5×5 มีมาตรการย่อยรวมๆ กันหลายเรื่อง เช่น การเสริมพลังคนวัยทำงาน ซึ่งจะมีมาตรการทำให้เขามีบ้านที่อยู่อาศัย ขณะที่เรื่องของเด็กเล็กจะลดเพดานอายุของศูนย์ดูแลเด็กลงจากปกติ 3 ขวบเป็น 3 เดือน เพราะปัจจุบันกฎหมายแรงงานให้แม่ลาคลอดได้ 98 วัน หลังจากนั้น แม่ต้องส่งลูกไปไว้กับคุณตาคุณยายที่ต่างจังหวัด แต่ถ้าศูนย์เด็กเล็กสามารถดูแลต่อได้ ก็จะช่วยลดปัญหาและความกังวลของคนวัยทำงานในเรื่องนี้ได้

    ส่วนเรื่องของคนพิการ จะเสริมพลังโดยการดึงเอาศักยภาพเขามาใช้ในการทำงาน และมีการออกแบบโครงสร้างของพื้นที่ต่างๆ เป็น infrastructure friendly design ให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้

    “การแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากร คือภาพใหญ่ภาพรวมของประเทศไทยที่เรากําลังจะเผชิญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผมเชื่อว่าอีกไม่เกิน 10 ปี ทุกคนจะเจอปัญหาเรื่องแรงงานหายไปไหน ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยมีคนตกงานจำนวนมาก แต่เพื่อนผมหลายคนบอกว่าหาคนทํางานไม่ได้ เพราะคนไทยเลือกงาน อยากได้ตังค์เยอะ ทำงานน้อย ต้องการ work-life-balance ทำให้คนวัยทำงานหดลงไปอีก เพราะทุกคนอยากจะเป็นผู้ประกอบการ อยากจะเป็นฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ แต่พอถึงเวลาปุ๊บ productivity ไม่ได้”

    ส่วนเรื่องของการส่งต่อนโยบายเพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติ “วราวุธ” บอกว่า ส่งแผนปฏิบัติและมาตรการไปยังทุกหน่วยงาน แต่ถ้าหน่วยงานอื่นไม่เอาไปประยุกต์ใช้ กระทรวง พม. ก็ไม่มีอำนาจในการสั่งการให้ทุกกระทรวงดำเนินการ

    ดังนั้น โดยภารกิจแล้วกระทรวง พม. จึงเป็นรากฐานของสังคมที่สำคัญไม่ต่างจากสถาบันครอบครัว ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคม

    “เราดูคนที่จุดเริ่มต้นแล้วก็จุดบั้นปลายของชีวิต เพราะกระทรวงนี้เป็นรากฐาน ซึ่งถ้าถามว่า ผมถนัดงานกระทรวงฯ เรื่องสังคมสงเคราะห์มั้ย ผมต้องบอกว่าไม่กระดิกเลย แต่พอได้มาทำงานแล้วรู้สึกโชคดี เพราะทำให้ผมได้รู้ถึงพื้นฐานทั้งหมดของคนไทยว่า การที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าต้องมองหลายมิติอย่างไร เราต้องช้อนเอาคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่ดึงประเทศไปข้างหน้าแล้วกลายเป็นหนังสติ๊ก ดึงไปๆ ก็จะเกิดช่องว่าง แล้วถ้าขาดก็จะเกิดแรงกระทบไปดีดมืออีกข้างได้”

    แก้ปัญหาขอทาน คนไทยต้องหยุดให้ทาน

    “วราวุธ” บอกว่า ภารกิจหลักของกระทรวง พม. คือทำหน้าที่สนับสนุนและผลักดันเพราะคนบางกลุ่ม เช่น ปัญหาเรื่องขอทาน บอกว่าทำงานทั้งวันได้ไม่เท่ากับมานั่งขอทานได้ 5,000 บาท ซึ่งต้องเรียกคนพวกนี้ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว เพราะคนที่มาขอทานแล้วบอกว่าพิการ แต่ตอนนี้ กระทรวง พม. มีมาตรการช่วย upskill/reskill เพื่อจะทำงานสร้างรายได้ แต่บอกว่าขอทานง่ายกว่า นั่งอยู่เฉยๆ ได้เงินมากกว่า เพราะฉะนั้น เราต้องเปลี่ยนทัศนคติเหล่านี้ เพื่อที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า

    “ผมคิดว่าปัญหาเรื่องขอทานแก้ง่ายนิดเดียวเลย คนในสังคมต้องหยุด ‘ให้’ เขา ก็จบแล้ว ถามว่าที่สุพรรณฯ บ้านผมไม่มีขอทานเลย ก็ไม่มีใครให้ ขอทานจะพบมากที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี เพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินไปก็จ่ายทีละ 5 บาท 10 บาท ทั้งวันได้เป็นพันบาท เดือนหนึ่งได้ไม่รู้กี่หมื่น ภาษีไม่ต้องเสีย อย่างล่าสุดที่เป็นข่าวก็จับขอทานที่เป็นคนไทย มีเงินฝากอยู่ในธนาคารเป็นล้าน มีเงินติดตัวอยู่ 3 แสนบาท โอ้โห! บางคนมีเงินติดตัวติดบัญชียังไม่ถึง 5 หมื่นบาทด้วยซ้ำไป นี่คือความเห็นแก่ตัวของคนกลุ่มนี้”

    “วราวุธ” บอกอีกว่า ถ้าใครเจอขอทานให้โทรมาหากระทรวง พม. ได้ที่ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง จะส่งเจ้าหน้าที่ไปพูดคุย และกระทรวง พม. จะหาที่อยู่ให้ ฝึกฝีมือ และหางานให้ทำ แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือพอจับได้ก็ไปขอทานที่อื่น เพราะฉะนั้น คนไทยต้องหยุดให้ขอทาน ต้องเข้าใจว่าขอทานเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย และขณะนี้กําลังหารือกับฝ่ายกฎหมายว่าคนให้ทานก็เป็นสิ่งผิดกฎหมายเหมือนกัน

    “การให้เงินขอทานกันไม่เกี่ยวกับการไปทำทาน หรือถ้าไปเจอคนเปิดหมวก ร้องเพลง เป็นผู้มีความสามารถ เราให้เงินได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่นั่งเฉยๆ ขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถ้าเจอให้โทรแจ้ง กระทรวง พม. ที่ 1300 ได้เลย”

    ส่วนการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน “วราวุธ” บอกว่า คนไร้บ้าน 90% มีครอบครัว มีบ้าน แต่ตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตข้างนอกด้วยหลายสาเหตุ เช่น โดนความรุนแรงในครอบครัว หรืออาการทางจิต ไม่มีใครดูแล ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวง พม. พยายามนำคนเหล่านี้ไปบำบัด และนำไปฝึกอาชีพ เพราะมีสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ แต่ปัญหาคือคนเหล่านี้ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจาก พม.

    “ถ้าเจ้าตัวไม่ยอม ผมไม่สามารถอุ้มเข้าไปแล้วบังคับให้เขาอยู่ได้ เพราะฉะนั้น เจ้าตัวต้องยอมก่อน ซึ่งต้องค่อยๆ คุย และค่อยๆ นวด เพราะคนกลุ่มนี้จะค่อนข้างอ่อนไหว นอกจากนี้ เราจะพยายามติดต่อกลับไปยังครอบครัวของเขาก่อน เพื่อให้รับคนกลุ่มนี้กลับเข้าไปอยู่ในครอบครัว ซึ่งปัญหานี้ไม่สามารถเป็น one policy fit all ได้ ต้องแก้กันทีละบ้าน เพราะแต่ละบ้านปัจจัยก็จะต่างกันไป จึงถือเป็นความท้าทายที่ทีมงาน พม. ต้องทำ คือแก้ทีละบ้านๆ ต้องค่อยๆ ทำไป”

    นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    ลดภาระสวัสดิการแห่งรัฐ สร้างโมเดลนิคมสร้างตนเอง

    “วราวุธ” มองว่า การผลักดันนโยบาย 5×5 จะช่วยลดภาระสวัสดิการแห่งรัฐลงไปได้ เนื่องจากผู้สูงอายุและผู้พิการยังมีศักยภาพที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้ เพียงแต่รัฐต้องช่วยสนับสนุนและสร้างโอกาส

    “ผมมองว่าผู้สูงอายุในวันนี้ ไม่เหมือนในอดีตเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เพราะตอนนี้คนอายุ 60-70 ปียังแข็งแรง ยังแอคทีฟ ยังทำงานได้ เราต้องดึงพลังของคนเหล่านี้ออกมาใช้ เพราะว่าเด็กเกิดใหม่ของเราน้อยลง คนวัยทำงานน้อยลง ต้องดึงเอาสติปัญญาของคนเหล่านี้ออกมา โดยต้องมา upskill Reskill ให้ผู้สูงอายุทันสมัย ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี ความปลอดภัยจากพวกคอลเซนเตอร์และมิจฉาชีพทั้งหลาย เพื่อให้คนวัยทำงานภาระลดลง”

    ส่วนการทำงาน กระทรวง พม. ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการสงเคราะห์หรือการให้สวัสดิการ มาเป็นการสร้างพลัง สร้างศักยภาพให้กับกลุ่มคนเปราะบาง ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และลดการพึ่งพารัฐลดลง เนื่องจากในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้รัฐไม่มีงบประมาณมากพอที่จะเข้าไปดูแล

    “สิ่งที่เราต้องทำคือการลดการพึ่งพา ซึ่งจะทำให้การจัดรัฐสวัสดิการต่างๆ ลดลง และจะได้ผลิตภาพเพิ่มจากทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ เราสามารถส่งเสริมให้เขาติดสังคม มีสุขภาพร่างกายที่ดี ไม่เป็นภาระให้กับบุคลากรทางการสาธารณสุขแล้วก็งบประมาณ และยังสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้กับผลิตภาพให้กับประเทศชาติได้ด้วยนะครับ”

    “วราวุธ” ย้ำว่า รัฐสวัสดิการอาจจะจำเป็นในการช่วยเหลือคนบางกลุ่ม แต่ต้องในอนาคต การจัดสวัสดิการอาจต้องลดภาระลง เนื่องจากปัญหาภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือต้องทำให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบางมีศักยภาพในการที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้ ลดการพึ่งพารัฐสวัสดิการให้น้อยที่สุด

    “ถ้าเราทำให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มันจะเหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว อันที่หนึ่งคือเขาก็จะมีรายได้ เขาจะละการพึ่งพาสวัสดิการของรัฐลง และอาจจะมีศักยภาพภาษีได้ด้วย และสอง คือผู้สูงอายุที่ยังติดสังคม ทำงานได้ จะทำให้มีสุขภาพดี มีอาการป่วยน้อยลงไม่ล้มหมอนนอนเสื่อ ไม่เป็นภาระทางสาธารณสุข”

    “วราวุธ” บอกด้วยว่า คนทั่วไปมักจะมองกระทรวง พม. เป็นกระทรวงสังคมสงเคราะห์ มีอะไรก็ต้องช่วยเหลือ ต้องแจก แต่ปัจจุบันเราจำเป็นต้องพัฒนาคนที่มีศักยภาพให้พึ่งพาตัวเอง เราจะไม่แจกอย่างเดียว เพราะในระยะยาวอีก 10 ปีจะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 20 ล้านคน แล้วใครจะเป็นคนดูแลพวกเขาเหล่านั้น การจัดสวัสดิการเต็มรูปแบบอย่างเดียวอาจจะสร้างปัญหาได้ในอนาคต

    เช่น ตัวอย่างประเทศที่จัดรัฐสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบ โดยเก็บภาษีสูง 30-40 % อย่างประเทศแถบนอร์ดิกคันทรี เช่น ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน กําลังเจอปัญหาคนวัยทำงานเกษียณตอนอายุ 40 กว่าปีเพื่อรับเงินสวัสดิการจากรัฐ จนอาจส่งผลให้ระบบรัฐสวัสดิการล่มสลาย เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการจ่ายสวัสดิการ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือ การทำให้ทุกคนมีศักยภาพในทำงานเพื่อสร้างผลิตภาพ มากกว่าหันมาพึ่งพาสวัสดิการของรัฐอย่างเดียว

    ส่วนแนวทางในการผลักดันนโยบาย 5×5 ไปสู่การปฏิบัติ ได้ทำความเข้าใจวิธีคิดกับข้าราชการในกระทรวง พม. ตั้งแต่ระดับบริหาร ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมฯ ต่างๆ โดยนำแผนดังกล่าวไปดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม ในนิคมสร้างตัวเองที่กระทรวงดูแล

    ที่ผ่านมาได้ดำเนินการที่นิคม “กระเสียวโมเดล” ซึ่งเป็นนิคมสร้างตนเองในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำเอามาตรการต่างๆ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG โมเดล) เพื่อให้สมาชิกนิคมฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นวัยทำงาน เด็กและเยาวชน ผู้สูงวัย และคนพิการ

    “นิคมสร้างตัวเอง ก็เหมือนตำบลที่มีหลายหมู่บ้าน มีคนอยู่เป็นหลายพันคน เราดูแลอยู่ เราใส่ไอเดียเรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณูปโภค เรื่องการเกษตรทฤษฎีใหม่ เรื่องการหาอาชีพให้กับผู้สูงอายุ การดูแลคนพิการ การให้การศึกษาที่ถูกต้องกับเด็กๆ ตอนนี้เรานำเอากระเสียวโมเดลเตรียมขยายไป 43 นิคมสร้างตนเองทั่วประเทศแล้ว”

    นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    เตรียมข้อมูลกลุ่มเปราะบาง รับผลกระทบโลกร้อน

    ส่วนในเรื่องของการเตรียมแผนและเตรียมคน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กระทรวง พม. เห็นว่ามีความจำเป็น เนื่องจากกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือกลุ่มคนเปราะบาง ที่มีทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการ ดังนั้นต้องทำงานเชิงรุก โดยการเตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูลของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดก่อน

    “เรื่องโลกร้อนมีอยู่สองขา ขาหนึ่ง คือ mitigation เป็นการลดก๊าซเรือนกระจกให้ลดน้อยที่สุด ส่วนอีกขาหนึ่งคือ adaptation ซึ่งคนที่ต้องปรับตัวมากที่สุดคือคนกลุ่มที่ พม. ดูแล ดังนั้น เราต้องเตรียมข้อมูลคนกลุ่มนี้เอาไว้”

    “วราวุธ” บอกว่า กระทรวง พม. ได้เตรียมแผนที่ความเสี่ยง และข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก เพื่อจัดทำแผนในการดูแลหากประสบปัญหาภัยพิบัติ โดยแผนดังกล่าวจะสอดคล้องกับแผนที่ความเสี่ยงดินถล่มของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    “ตัวอย่างน้ำท่วมเชียงใหม่ เชียงรายในปีที่ผ่านมา ผมไม่อยากใช้คําว่าน้ำท่วม มันเป็นโคลนท่วม ใครลําบากสุด คนแก่ คนพิการ เด็กเล็ก ฉะนั้น แผนการดูแลคนกลุ่มนี้เราจะต้องมีแผนที่ เช่นเดียวกับที่กระทรวงทรัพย์เขามีแผนที่ความเสี่ยงว่าพื้นที่ไหนจะเกิดดินถล่ม โอกาสเกิดน้ำท่วมสูง พม. เราก็ต้องมีแผนที่ของเราว่า ถ้าเกิดภัยพิบัติ เราต้องบอกผู้ว่าฯ ว่าต้องไปซอยนี้ก่อน ซอยนี้มีคนพิการ ซอยนี้มีคนแก่อยู่ เพื่อสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที”

    นอกจากนี้ กระทรวง พม. เปลี่ยนวิธีคิดทำงานจากการรอเยียวยาหลังเหตุการณ์ มาเป็นการทำงานเชิงรุก โดยการลงพื้นที่ไปหาทีละบ้านเพื่อเก็บข้อมูลกลุ่มเปราะบาง จะได้เตรียมความพร้อมในการปรับตัว ไม่ใช่ต้องรอให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยไปช่วยเหลือ

    “วราวุธ” ย้ำว่า ทุกคนกําลังเร่งปรับเปลี่ยนการทำงาน สำรวจข้อมูลมาทำแผนช่วยเหลือก่อนจะเกิดเหตุการณ์ เพื่อทำงานเชิงรุก และถือเป็นมิติใหม่ของเจ้าหน้าที่ พม. เพราะที่ผ่านมาไม่เคยทำงานเชิงรุก แต่ถ้าคุณไม่เริ่มทำวันนี้ คุณจะเริ่มทำวันไหน จะรอให้ใครมาทำ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ต้องลงพื้นที่ไปก่อนว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

    “ผมจะทำงานแบบเดิมก็ได้ เพราะการทำงานสังคมสงเคราะห์อย่างเดียวไม่ต้องมียุทธศาสตร์ หรือนโยบายอะไร ถึงเวลาไปแจกถุงยังชีพแจกตังค์ คำถามคือจะมีรัฐมนตรีทําไม ผมก็ให้ข้าราชการทำงานไป ไม่ต้องมีรัฐมนตรี เพราะการที่มีรัฐมนตรีแปลว่าคุณจะต้องมีนโยบายในการที่จะมาขับเคลื่อน ในการที่จะมาพัฒนาอะไรให้มันดีขึ้น”

    พร้อมย้ำว่าเรื่องของ adaptation หรือการปรับตัว เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ภัยพิบัติ และผลกระทบจากโลกร้อน โลกรวน ต้องปรับเพื่ออยู่กับธรรมชาติให้ได้

    “ในอดีตที่เรานิยมปลูกบ้านติดแม่น้ำ ตอนนี้ต้องปรับใหม่ เพราะการปลูกบ้านริมแม่น้ำอาจจะเสี่ยงดินถล่ม และการสร้างบ้านแบบเดิมที่มีหลังคาสังกะสีอาจจะไม่เหมาะกับอากาศที่ร้อน 40-50 องศา ก็ต้องปรับการสร้างบ้านในอนาคตให้ลดความร้อนลง ระบายความร้อนให้ดีขึ้น ผมคิดว่าทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว”

    อย่างไรก็ตาม “วราวุธ” บอกว่า กระทรวง พม. มีความเกี่ยวข้องกับเรื่อง climate change โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนเปราะบาง ผู้สูงอายุ ซึ่งได้เตรียมข้อมูลและแผนในการช่วยเหลือรองรับไว้แล้วเช่นกัน