ประสาท มีแต้ม
วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ซึ่งได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติและองค์กรอื่นๆในระดับโลก เพื่อเฉลิมฉลองและยกระดับความตระหนักรู้ในสิทธิและความจำเป็นของผู้บริโภคทั่วโลก ตลอดจนการปกป้องผู้บริโภคจากการตลาดที่ไม่ชอบธรรม รวมทั้งความอยุติธรรมในสังคมในระดับชุมชนและระดับโลกด้วย
ในระดับโลกมีองค์กรที่ชื่อว่า “ผู้บริโภคสากล(Consumers International)” มีสมาชิกกว่า 250 องค์กรจาก 120 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเรามี “สภาองค์กรของผู้บริโภค (Thailand Consumers Council, TCC)” ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นหนึ่งในสมาชิกดังกล่าวด้วย
สำหรับประเด็นหลักที่ใช้ในการรณรงค์ของสมาชิกทั่วโลกประจำปีนี้ก็คือ “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม สู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน” ในโอกาสนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคจะจัดงานดังกล่าวในวันที่ 14-15 มีนาคม และผมเองได้รับเชิญให้ร่วมบรรยายด้วย ผู้จัดได้ระบุหัวข้อที่จะพูดมาให้เสร็จสรรพว่า “การปรับตัวของผู้บริโภค ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง” และหวังว่าให้ผมพูดในเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโลกร้อน
ผมขอเริ่มเริ่มต้นด้วยคำพูดเชิงประชดประชันของนักออกแบบงานศิลปะซึ่งเป็นสตรีท่านหนึ่งที่ได้สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเมื่อปี 1987 แต่ยังทันสมัยจนถึงทุกวันนี้ เธอใช้คำว่า “I shop, therefore I am.” โดยล้อกับคำพูดของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงมากของโลก และคำพูดของเขาก็เป็นที่รู้จักกันดีในวงการวิชาการ คือ “I think, therefore I am.” เมื่อเกือบ 400 ปีมาแล้ว (รายละเอียดอยู่ในภาพประกอบ)
นักปรัชญาที่ว่านี้ชื่อ เรอเน เดการ์ต (1596-1650) นอกจากจะเป็นนักปรัชญาแล้ว เขายังเป็นนักคณิตศาสตร์คนสำคัญด้วย เป็นผู้คิดวิชา “เรขาคณิตวิเคราะห์ (Analytic Geometry)” ที่นำเอา 3 วิชามารวมกันคือ เลขคณิตพีชคณิตและเรขาคณิต และชื่อของเขาก็ได้รับเกียรติให้มาตั้งเป็นชื่อของระบบแกนตั้งฉาก Cartesian Coordinate System ในเวลาต่อมา
ประโยคเด็ดของเดการ์ตดังกล่าวได้มีการตีความไปต่างๆ กัน แต่ขยายความให้ชัดขึ้นว่า “ฉันสงสัย ฉันจึงคิด ดังนั้นฉันจึงมีอยู่” ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นมนุษย์ เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน บนพื้นฐานของการเคารพตนเองและเคารพผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย
หากเราเชื่อตามหลักพุทธศาสนาที่ว่า “การได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก” ดังนั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วจึงควรคิดและทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและประโยชน์สาธารณะให้มีความยั่งยืนด้วย เท่าที่ผมอ่านเจอ พบว่าในวงการวิชาปรัชญาถือว่า การคิดถือเป็นกฎข้อที่หนึ่งของวิชาปรัชญาสมัยใหม่
คราวนี้มาถึงประโยคประชดประชันที่ว่า “I shop, therefore I am.” หลังจากได้ทราบความหมายของผู้ออกแบบแล้ว ผมจึงขอสรุปเป็นว่า “ตัวตนของฉันขึ้นอยู่กับของที่ฉันซื้อ” เช่น ขึ้นกับนาฬิกาหรูเรือนละหลายสิบล้านบาท เครื่องประดับ ประเป๋าถือแบรนด์เนมราคาแพง ๆ เป็นต้น ซึ่งผู้นำทางการเมืองของไทยในยุคนี้หลายคนนิยมทำกัน รวมทั้งชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งที่แม้มีเงินไม่มากพอก็นิยมเช่ามาสวมใส่กัน และยึดถือเป็นกฎข้อที่ 1 ของลัทธิบริโภคนิยม
ผมไม่ได้อิจฉาคนร่ำรวย แต่พฤติกรรมที่ว่านี้มันจะนำไปสู่ค่านิยมที่น่ารังเกียจ รวมทั้งนำไปสู่การคอร์รัปชันซึ่งมีสูงมากในสังคมไทย จนหลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
มาถึงโจทย์ที่ผมได้รับมอบหมาย คือ “การปรับตัวของผู้บริโภค ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง” โดยเน้นไปที่พลังงานซึ่งคนไทยในปี 2567 ต้องจ่ายปีละประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 14.7% ของจีดีพี) และเรื่องโลกร้อนซึ่งสาเหตุหลักประมาณ 75% เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยมนุษย์เราเอง
กลับมาที่เรื่องการคิดอีกครั้งครับ การคิดควรอยู่บนหลักของคุณค่าซึ่ง Dr. Hermann Scheer (1944-2010) อดีตสมาชิกรัฐสภาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ได้รับการยกย่องโดยนิตยสาร Time 2000 ว่าเป็น “วีระบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียว” ได้กล่าวในเวทีองค์การค้าโลกว่า “คุณค่าหลัก 2 ประการของความเป็นมนุษย์ คือมีเสรีภาพส่วนบุคคลและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทำลายคุณภาพชีวิตของผู้อื่น” พร้อมกับขยายความต่อไปว่า พลังงานฟอสซิลมีการผูกขาดและปล่อยมลพิษ พ่อค้าสามารถขึ้นราคาได้ตามใจชอบ มีแต่การใช้พลังงานหมุนเวียนเท่านั้นจึงจะสามารถรักษาคุณค่าหลัก 2 ประการของความเป็นมนุษย์ได้
ขอสลับมาที่ลัทธิบริโภคนิยมครับ เมื่อปลายปี 2024 องค์กร Oxfam ได้ออกรายงานเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด 50 คนแรกของโลก ที่นิยมมีเครื่องบินส่วนตัวและเรือยอร์ช ไว้อวดความร่ำรวย พบว่า “ถ้าทุกคนในโลกเริ่มปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เท่ากับค่าเฉลี่ยของอภิมหาเศรษฐีในกลุ่ม 50 คนแรกของโลก (คิดเฉพาะที่ใช้ในการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวและเรือยอร์ช) อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเกิน 1.5 องศา C ในเวลาเพียง 2 วัน” ไม่ใช่ในปี 2100 ตามข้อตกลงปารีส
ข้อมูลของ Oxfam ชี้ชัดว่า วิถีชีวิตของอภิมหาเศรษฐีจำนวน 50 คนแรกของโลกนี้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับคนทั้งโลก กำลังฆ่าคนทั้งโลกตามชื่อรายงานที่ว่า Carbon Inequality Kills หากเราสามารถลดการใช้ชีวิตที่หรูหราเกินของคนจำนวนน้อยนี้ได้ จะทำให้เกิดความยั่งยืนของโลกของคนทุกคนได้
คราวนี้มาถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงของโลก
เอาเรื่องโลกร้อนก่อนนะครับ
ไม่ว่า สตีเฟน ฮอว์กิง (1942-2018) นักวิทยาศาตร์ที่ได้รับการยอมรับว่าอัจฉริยะมาก(พอๆกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์) และผู้เชี่ยวชาญกว่า 900 คนจาก World Economic Forum ในรายงาน Global Risks Report 2025 เห็นตรงกันว่า ภัยคุกคามต่อโลกที่รุนแรงที่สุดอันดับหนึ่งก็คือภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน บางปีภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาแซงบ้าง แต่ในระยะหลังๆ ภัย (ในระยะ 10 ปี) จากโลกร้อนครองอันดับหนึ่งมาตลอด
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงยิ่งมั่นใจว่าเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดต่อโลกและต่อมนุษยชาติทั้งมวลแต่มีอยู่ 2 ประเด็นที่ผมเห็นว่าคนทั่วไปยังมีความเข้าใจผิดๆในเรื่องโลกร้อน
ความเข้าใจผิดประเด็นแรก คนทั่วไปเชื่อว่า โลกค่อยๆร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และร้อนมานานแล้ว ความจริงคือ โลกเพิ่งร้อนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2520 นี่เอง และร้อนขึ้นในอัตราเร่ง ไม่ใช่เรื่อย ๆ คำอธิบายที่เข้าใจง่ายอยู่ในภาพนี้ครับ
“เราเป็นคนรุ่นแรกที่ได้รับรู้ถึงผลกระทบจากโลกร้อนและจะเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่จะสามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้” ดังนั้น จึงต้องรีบช่วยกันแก้ปัญหานี้โดยด่วนและอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งนานวัน ยิ่งไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว
ความเข้าใจผิดประการที่สอง Robert Charles Swan (1956-) นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นคนแรกของโลกที่สำรวจขั้วโลกทั้ง 2 ขั้ว กล่าวว่า “ภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดต่อโลกของเราคือความเชื่อที่ว่าจะมีคนอื่นมาปกป้องโลก” ผมคิด (I think, therefore I am.) ว่าคำพูดประโยคนี้คือหัวใจสำคัญที่ผู้บริโภคสากลเชื่อและรณรงค์ในปีนี้
โลกเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงในด้านที่เสื่อมทรุดดังที่กล่าวแล้วเพียงอย่างเดียว แต่มีด้านที่ก้าวหน้า เช่น ในด้านเทคโนโลยีพลังงานและการสื่อสารก็มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งไปพร้อมกัน ก้าวหน้าทั้งในด้านประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งอย่าง แต่ราคากลับลดลงในอัตราเร่งด้วย
ประเทศสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกของโลกที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เมื่อ 143 ปีมาแล้ว ตอนนั้นถือว่าก้าวหน้ามาก แต่ในปี 2024 ประเทศนี้ก็เป็นประเทศแรกในโลกที่เลิกการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินทั้งหมดแล้ว เพราะมันล้าหลังแล้ว แล้วหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม ในปี 2023 ถึงร้อยละ 28 จากปีก่อนร้อยละ 25 ในขณะที่ของไทยเราใช้และแสงอาทิตย์รวมกันประมาณ 5% เท่านั้น (ข้อมูลจาก Our World In Data)
ข้อมูลที่อ้างถึงและมีรายละเอียดในภาพ(พร้อมข้อมูลที่สำคัญมากอื่นๆ) พบว่า “เพียง 1 รอบที่ใบพัดกังหันลมหมุนครบ ไฟฟ้าที่ได้เพียงพอสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า(ยี่ห้อหนึ่ง) 1 คัน แล่นได้ 180 กิโลเมตร มันเหลือเชื่อ” ตอนแรกผมเองก็ไม่เชื่อ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วเชื่อได้ครับ
ในภาพข้างต้นนี้ พบว่าราคาแบตเตอรี่ได้ลดลถึง 86% ในช่วง 2013-2024 และจะลดลงกว่านี้อีกกว่า 50-60% ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ราคาโซลาร์เซลล์ก็เช่นเดียวกัน
ผมได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งด้านลบและด้านบวกโดยย่อไปแล้ว ยังคงเหลือประเด็นเดียวคือ การปรับตัวของผู้บริโภค
เพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระการลดโลกร้อนไปให้คนอื่น ผมจึงได้ตัดสินใจสั่งซื้อแบตเตอรี่มาเก็บไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ในเวลากลางคืน ถ้าทุกอย่างเป็นตามสเปก ต้นทุนค่าแบตเตอรี่ก็ 1.86 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า แต่ถ้ายืดอายุออกไปได้เป็น 10 ปี ต้นทุนก็จะลดลงมาเหลือ 1.48 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ประมาณเกือบ 1 บาทต่อหน่วย รวมกันสูงสุดก็ไม่เกิน 2.80 บาทต่อหน่วย (หมายเหตุ รัฐบาลอินเดียได้เปิดประมูลโซลาร์ฟาร์มพร้อมแบตเตอรี่ เมื่อปี 2024 ผู้ชนะเสนอราคา 1.44 บาทต่อหน่วยเท่านั้น)
เมื่อมองในภาพรวมเรื่องการปรับตัวของผู้บริโภค ผมได้นำความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง มาเสนอไว้ในภาพข้างล่างนี้ อนาคตของเราจะปลอดภัยหรือหายนะขึ้นอยู่การเลือกของเรา การเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับ 4 แรงผลัก
มาถึงบทสรุป คือ (1) เรามีพลังงานแสงอาทิตย์และลมมากกว่าความต้องการใช้หลายร้อยหลายพันเท่า (2) ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดด้วยแสงอาทิตย์(Solar) ลม(Wind) และ แบตเตอรี่ (Battery) หรือ 100% SWB ได้ลดลงจนถูกกว่าแหล่งพลังงานอื่นๆทุกชนิดแล้ว และจะลดลงอีกในอัตราเร่ง (3) ความจำเป็นในการใช้น้ำมันก็ลดลงมาก
โลกเราได้ก้าวหน้ามาถึงจุดที่จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 90% ภายในปี 2035 เทคโนโลยีทุกอย่างพร้อมแล้ว สิ่งเดียวที่เรายังขาดอยู่ก็คือความมุ่งมั่นทางการเมืองทั้งของนักการเมืองและของผู้บริโภคเองด้วย เราจำเป็นต้องพูดกันตรงๆอย่างนี้
สมาร์ทโฟนที่เราถืออยู่ตอนนี้ หากคิดเทียบในเชิงประสิทธิภาพและราคาย้อนไปในอดีตเมื่อ 50-60 ปีก่อน มันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท สามารถสื่อสารได้ทุกรูปแบบและสะดวกมากๆ ทำไมเราไม่ใช้มันในการสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตรายให้ไปสู่ความสมดุลและยั่งยืน
มันทำได้จริงๆ ด้วยปลายนิ้วของเราเอง เห็นๆกันอยู่แล้ว อย่าเอาแต่ shop shop และ shop