ThaiPublica > คอลัมน์ > นัยการสื่อสารในเรื่องโลกเดือด

นัยการสื่อสารในเรื่องโลกเดือด

2 สิงหาคม 2024


กฤษฎา บุญชัย

แม้ประเด็น “โลกเดือด” หรือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดของมนุษยชาติ แต่การสื่อสารเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏในสื่อของไทยนั้น สะท้อนการเมืองวัฒนธรรมที่สื่อเป็นส่วนสำคัญอย่างไร

เริ่มจากสาระที่ปรากฏในสื่อประเภทข่าวที่ปรากฏทั้งในหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ที่สามารถสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา ข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมส่วนมากจะเน้นสถานการณ์ปัญหา โดยในเรื่องโลกร้อนก็จะสื่อสารผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตที่สำคัญ เช่น หมีขาว น้ำแข็งขั้วโลก พะยูน ปะการัง ไฟป่า ภาวะแล้ง อุทกภัยต่างๆ ด้วยวิธีการมุ่งสร้างความตระหนกต่อปัญหา โดยมีน้อยรายที่กล่าวถึงที่มา สาเหตุ และแนวทางแก้ปัญหาเชิงระบบ

แต่กระนั้นก็มีสื่อบางประเภทที่เจาะลึกมากขึ้น ที่พยายามชี้สาเหตุ แต่มักเป็นสาเหตุเชิงปรากฏการณ์ เช่น โรงงานระเบิด เรือขนส่งน้ำมันปล่อยน้ำมันรั่ว ชาวบ้านเผาป่า ทว่าที่มาของปัญหาก็อยู่ในระดับผู้ก่อการเบื้องหน้า น้อยนักที่จะโยงถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาที่เกินขีดจำกัด นโยบาย โครงการเศรษฐกิจการค้าที่ผลักภาระสิ่งแวดล้อมสู่สังคม

ในทุกเรื่องราวข่าวสารสิ่งแวดล้อม มักจะปรากฏบทบาทของ “ผู้เชี่ยวชาญ” เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ เจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้อธิบายสาเหตุ ปัญหา และทางออก รวมทั้งกำหนดบทบาทให้ประชาชน ชาวบ้าน ในฐานะ “เหยื่อ” ของผลกระทบ อันจะสะท้อนวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามที่มีรัฐและองค์ความรู้สมัยใหม่เป็นศูนย์กลาง เช่น รัฐเป็นศูนย์กลาง vs ประชาชนที่ทั้งเหยื่อและผู้ก่อปัญหา, วิทยาศาสตร์ (รวมเศรษฐศาสตร์) คือ องค์ความรู้กำหนดปัญหาและทางออก vs ทัศนะ ประสบการณ์ วิถีประชาชนเป็นเพียงส่วนเสริมของปัญหาและทางออก

ในวิธีคิดแบบรัฐเป็นศูนย์กลาง ปัญหานิเวศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกนำเสนอโดดๆ เพราะไม่สร้างแรงดึงดูดใจกับสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมการเมืองเชิดชูรัฐในการจัดการอำนาจเถื่อน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รัฐสนใจจึงเชื่อมกับปัญหาความขัดแย้งอื่น เช่น การคอร์รัปชัน การใช้อำนาจของผู้มีอิทธิพล หากเป็นกลุ่มทุน ผู้มีอิทธิพลชายขอบ รวมไปถึงชาวบ้านที่ถูกมองว่าขาดสำนึก ความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม ก็ถูกรวมเข้าไปในปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการทวงคืนผืนป่า การควบคุมการเผาไร่ของชาวบ้าน การทิ้งขยะ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างอำนาจและบารมีของรัฐในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การสื่อสารสิ่งแวดล้อมให้เป็นกระแสจึงมักเกาะเกี่ยวกับปัญหาการเมือง อิทธิพล ความมั่นคง มากกว่าจะเป็นสาระหรือเป้าหมายในตัวเอง

การสื่อสารสิ่งแวดล้อมยังส่งเสริมระบบทุนนิยม ดังเห็นได้จากสารสิ่งแวดล้อมที่มีต่อกลุ่มทุนรายใหญ่ ที่มีบทบาททางเศรษฐกิจและนโยบายระดับประเทศ แม้ข้อมูลประจักษ์ชัดว่า สาเหตุของปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม เรากลับไม่เห็นวิธีคิดเชิงวิพากษ์ว่าเป็นสาเหตุหลักที่ปรากฏอยู่ในห่วงโซ่บนสุดของปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องราวของทุนขนาดใหญ่ที่ “ชอบธรรม” ในนโยบาย และกลไกตลาด จึงมุ่งลบเส้นแบ่งระหว่างการเติบโตทางธุรกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงทำให้บทบาทของกลุ่มอุตสาหกรรมถูกจัดวางใหม่ให้เป็น “ผู้รับผิดชอบ” และ “ผู้ช่วยเหลือ” ด้านสิ่งแวดล้อมแทนที่ผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม และเชิดชูบทบาทเทคโนโลยีและกลไกตลาดสิ่งแวดล้อมที่ทุนขนาดใหญ่นำมาใช้เป็นคำตอบ เช่น เทคโนโลยีดักจับกักเก็บคาร์บอน (CCS) ที่ทุนพลังงานใช้โฆษณา อุปกรณ์ดักจับคาร์บอนในโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือกลไกตลาดคาร์บอน คาร์บอนเครดิตในฐานะกลไกจัดการสิ่งแวดล้อมที่มี “ประสิทธิภาพ” ทั้งหมดดำเนินไปด้วยการลบเลือนปัญหาเชิงโครงสร้าง หลงเหลือแต่วิธีคิดนิเวศเทคโนโลยีนิยม ด้วยการให้เทคโนโลยีและกลไกตลาดเป็นคำตอบในการจัดการปัญหาโลกร้อน หรือ “ชดเชย” ด้วยกิจกรรมดูแลสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ทุนเป็นผู้ก่อ

สอดคล้องกับข้อวิเคราะห์ของดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ (2563) นักวิชาการวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ชี้ว่าเนื้อหาข่าวด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยนั้น แฝงไว้ด้วยวาทกรรมที่สนับสนุนอุดมการณ์ ทุนนิยมเสรี และความเป็นชาตินิยม โดยประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้นมักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงเพื่อสนับสนุนประเด็นอื่นๆ เช่น การตลาด กฎหมาย และนโยบายธุรกิจ เป็นต้น และมักมีเนื้อหาที่แท้จริงเป็นประเด็นการประชาสัมพันธ์ธุรกิจต่างๆ และการบริหารจัดการขององค์กรที่สะท้อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งข่าวกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กร โดยที่ข่าวสิ่งแวดล้อมไม่ได้เสนออย่างรอบด้าน ถูกจำกัดให้มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงสาเหตุ พัฒนาการ และผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรม

เมื่อหันมาพิจารณาสื่อในรูปแบบศิลปะ เช่น จิตรกรรม ภาพยนตร์ หนังสือ วรรณกรรม ซึ่งมีบทบาททางด้านอารมณ์และสุนทรียะที่สะท้อนคุณค่ามนุษย์ เรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมได้ปรากฏในสื่อศิลป์มากขึ้น เมื่อกระแสเรื่องโลกเดือดเป็นกระแสหลักด้านสิ่งแวดล้อม ความพยายามสื่อสารโลกเดือดผ่านมุมศิลปะก็เริ่มเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

ตรงข้ามกับการสื่อสารแบบข่าวสารที่เน้นให้ข้อมูลตรงไปตรงมา สื่อศิลป์นำเสนอเรื่องราวสิ่งแวดล้อมในมิติเชิงคุณค่และอารมณ์ ผ่านสัญลักษณ์ที่สะท้อนคุณค่าของธรรมชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่กำลังเป็นปฏิปักษ์ โดยมนุษย์คือฝ่ายทำร้ายธรรมชาติ หน้าที่ของสื่อศิลป์คือ ฟื้นคืนหรือสร้างเสริมความรักของมนุษย์ต่อธรรมชาติ ในฐานะเป็นคุณค่าสำคัญของมนุษย์ในยุคแอนโทรโพซีนเอง

ในเชิงหลักคุณค่า การสื่อสารของสื่อศิลป์เหล่านี้พุ่งเป้าสู่ใจกลางปัญหา ซึ่งคือความสัมพันธ์เชิงคุณค่าของมนุษย์กับธรรมชาติ ด้วยหลักคิดนิเวศวิทยาเชิงลึกที่มุ่งหมายเปลี่ยนความสัมพันธ์ใหม่ แทนที่จะเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง แต่ให้หวนกลับเอาธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง ซึ่งแนวคิดเชิงคุณค่านี้ยากที่จะปรากฏในสื่อสิ่งแวดล้อมประเภทข่าวเท่าใดนัก

ในทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีแล้ว คุณค่าใดๆ ไม่ได้ดำรงอยู่โดดๆ แต่ปรากฏในพื้นที่ ห้วงเวลา สถานการณ์ที่เป็นรูปธรรมของปัญหา ความขัดแย้ง ที่กระทบต่อการดำรงชีพและตัวตนของมนุษย์ ปรากฏเป็นความสิ้นหวังต่อโครงสร้างปัญหา หรือความหวังในการต่อสู้ปัญหา หาทางออกของผู้คนเพื่อเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนชุมชน และรื้อถอนวิธีคิด ระบบที่สร้างปัญหากับธรรมชาติ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่คุณค่า ตัวตน และโครงสร้างใหม่ของสังคมที่เกื้อกูลกับธรรมชาติได้

ดังนั้น การสื่อสารนิเวศเชิงลึกโดยลำพังจะกลายเป็นอุดมคติที่เป็นนามธรรม แต่จะมีพลังได้เมื่อเราเอาคุณค่านิเวศเชิงลึกเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัญหา เห็นผลกระทบต่อผู้คนที่เดือดร้อน ในโครงสร้างความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม เห็นปัญหาการพังทลายนิเวศ ปัญหาโลกเดือดเชื่อมโยงกับสาเหตุเชิงโครงสร้าง จัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหา และเห็นบทบาทของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยในการขับเคลื่อนสังคม

หากแต่สื่อศิลป์ในแนวนิเวศเชิงลึกก็มักจะติดกับดักคู่ตรงข้าม โลกธรรมชาติคือคุณค่า vs มนุษย์คือสิ่งเลวร้าย โดยไม่จำแนกว่ามนุษย์กลุ่มไหน ในสถานการณ์หรือบริบทไหน เป็นปัญหาเชิงวิธีคิดหรือเป็นปัญหาเพราะเป็นมนุษย์ ทางออกของปัญหาคือกลับไปฟื้นคืนธรรมชาติ ฟื้นป่า ปลูกต้นไม้ รักษาแม่น้ำ ทะเล แต่มองข้ามปัญหาเชิงระบบที่ปรากฏเป็นรูปธรรม เช่น อุตสาหกรรมฟอสซิลที่สร้างปัญหาก๊าซเรือนกระจก ปัญหาทุนผูกขาดทรัพยากรที่แย่งยึดทรัพยากรและผลักไสให้ประชาชนเป็นกลุ่มเปราะบาง หรือการ “ฟอกเขียว” ที่มากับกิจกรรมปลูกป่า เมื่อมองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็ลดทอนปัญหาให้เหมารวมว่า คนหรือมนุษย์ทุกคน ล้วนทำลายสิ่งแวดล้อมเท่ากัน และต้องรับผิดชอบเท่ากัน

จึงเห็นได้ว่า สิ่งที่การสื่อสารด้านข่าวสารมิติโลกเดือดสายนิเวศเทคโนโลยี และนิเวศที่รัฐเป็นศูนย์กลางขาดหายไป คือ แนวคิดนิเวศสังคม ที่ตั้งคำถามต่อระบบอำนาจรัฐทุนนิยม ซึ่งใช้อำนาจผ่านกลไกอุดมการณ์ กลไกกฎหมาย กลไกตลาด เทคโนโลยี ว่าจะกำลังสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมต่อระบบนิเวศ ภูมิอากาศ และสังคม กระทบสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นล่าง คนเปราะบางที่ถูกเก็บกดปิดกั้นอำนาจ และไม่เห็นบทบาทประชาชนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างปัญหา สื่อสิ่งแวดล้อมสายข่าวสาร จึงควรมีวิธีคิดเชิงวิพากษ์ต่อระบบอำนาจรัฐ กลไกตลาด เทคโนโลยี บทบาทกลุ่มทุนที่มาในนาม “ทุนนิยมสีเขียว” ที่อาจไม่ตอบโจทย์จริงในด้านแก้ปัญหาโลกเดือด สร้างความเป็นธรรมภูมิอากาศ

เช่นเดียวกับ นิเวศสังคมจะช่วยให้นิเวศเชิงลึกได้เชื่อมโยงมิติเชิงคุณค่านิเวศกับสถานการณ์ปัญหาในชีวิตจริงที่ประชาชนเผชิญ เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และทำให้การกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการขับเคลื่อนปัญหาโลกเดือดมีพลังต่อการเปลี่ยนแปลง มิติเชิงคุณค่าจึงไม่ควรหาออกง่ายๆ ด้วยการมองมนุษย์แบบเหมารวมในฐานะปฏิปักษ์กับโลกธรรมชาติ และแก้ปัญหาด้วยการเพียงหยุดทำลายธรรมชาติ รับผิดชอบฟื้นฟูธรรมชาติ โดยไม่ชี้ที่มา และเสนอความรับผิดชอบที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อธรรมชาติและสังคม

สื่อทั้งข่าว และสื่อศิลป์จึงควรทำหน้าที่ทั้งในเชิงความคิด คือ เป็นพื้นที่แห่งการสนทนาเชิงวิพากษ์ ถ่วงดุลระหว่างแนวคิดนิเวศรัฐนิยม เทคโนโลยีนิยม นิเวศเชิงลึก และนิเวศสังคม และทำหน้าที่เชิงสุนทรียะ ด้วยการสื่อสารคุณค่าความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ กับสถานการณ์ปัญหาและการต่อสู้ปัญหาโลกเดือดที่ผู้คนเผชิญในบริบทของตน พลังการสื่อสารของสื่อในปัญหาโลกเดือดจึงจะมีพลังทางคิดและอารมณ์ให้ผู้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนโลกให้เย็นและเป็นธรรมได้มากยิ่งขึ้น