ThaiPublica > เกาะกระแส > ไต้หวันสร้างอุตสาหกรรม “เซมิคอนดักเตอร์” ได้อย่างไรจนทำให้ TSMC ผลิตชิปล้ำหน้าที่สุดถึง 90% ของโลก

ไต้หวันสร้างอุตสาหกรรม “เซมิคอนดักเตอร์” ได้อย่างไรจนทำให้ TSMC ผลิตชิปล้ำหน้าที่สุดถึง 90% ของโลก

13 มีนาคม 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

CC Wei ผู้บริหารของ TSMC ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/C._C._Wei_(business_executive)#/media/File

เมื่อวันจันทร์ 3 มีนาคม 2568 CC Wei ผู้บริหารของ TSMC บริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่และก้าวหน้าทันสมัยที่สุดของไต้หวัน ยืนเคียงข้างกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาว และประกาศว่า TSMC จะลงทุนในสหรัฐฯ เป็นเงินหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ในระยะ 4 ปีข้างหน้า นับเป็นการลงทุนต่างประเทศมูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ TSMC ได้ลงทุนมาแล้วหกหมื่นห้าพันล้านดอลลาร์ ในการสร้างโรงงานการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ 3 แห่งในสหรัฐฯ

ทรัมป์กล่าวว่า การลงทุนจะทำให้ TSMC เริ่มต้นผลิตตัวชิปใช้กับเอไอและสมาร์ทโฟนในสหรัฐฯ ช่วยลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ถ้าไม่มีเซมิคอนดักเตอร์ก็จะไม่มีเศรษฐกิจ สหรัฐฯ จะต้องสามารถผลิตตัวชิปที่ต้องใช้ในโรงงานผลิตของสหรัฐฯ ด้วยฝีมือและแรงงานคนอเมริกัน ทรัมป์ยังกล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ ทำให้ TSMC สามารถเลี่ยงภาษี 25% จากการนำเข้าชิปจากไต้หวัน

ที่มาภาพ : amazon.com

ผลิตตัวชิปก้าวหน้าสุด 90% ของโลก

ในหนังสือ Why Taiwan Matter (2025) Kerry Brown ผู้เชี่ยวชาญจีนของอังกฤษ เขียนถึงการเริ่มต้นสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันไว้ว่า ทั่วโลกต่างก็มีอุทยานวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมการวิจัยวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาทางการพาณิชย์ แต่อุทยานวิทยาศาสตร์ซินจู (Hsinchu Science Park) ของไต้หวันมีฐานะแตกต่างออกไป นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1980 อุทยานนี้เป็นจุดทดลองยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบใหม่ของไต้หวัน คือรัฐบาลเป็นฝ่ายลงทุน ส่วนเอกชนเป็นฝ่ายคิดค้นด้านนวัตกรรม

ประเทศอื่นๆ อาจถกเถียงกันเรื่องอะไรคือบทบาทการสนับสนุนทางเศรษฐกิจของรัฐแก่เอกชน แต่ในปี 1987 อุทยานซินจูได้ให้การสนับสนุนที่แน่นอนแก่บริษัทเอกชนรายหนึ่ง และเลือกเอกชนรายนี้ให้เป็นผู้ชนะ อาคารกระจกของอุทยานแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่ชื่อว่า TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) หนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดของโลกในปัจจุบัน การผลิตของ TSMC มีมูลค่า 8% ของผลผลิตทั้งหมดของไต้หวัน และ 12% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไต้หวัน

ปี 2023 บริษัท TSMC ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดถึง 90% ของทั้งหมดในโลก TSMC มีฐานะเหมือน “ศูนย์กลาง” เศรษฐกิจโลกสมัยใหม่ ชิ้นส่วนสำคัญของสิ่งที่เป็นสมองของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ตั้งแต่สมาร์ทโฟน เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และปัญญาประดิษฐ์

การเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก ทำให้ปัญหาจีนกับไต้หวันไม่ใช่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังเป็นปัญหาภูมิเศรษฐศาสตร์ นิตยสาร Forbes จัดอันดับประเทศมั่งคั่งที่สุดในโลกปี 2024 ไต้หวันติดอันดับ 14 ของโลก รายได้ต่อคนที่ 76,860 ดอลลาร์ แต่เมื่อพิจารณาจากจีดีพีต่อคน โดยปรับตามกำลังซื้อและมาตรฐานการครองชีพของแต่ละประเทศ ไต้หวันร่ำรวยกว่าประเทศในยุโรป ยกเว้นสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และเดนมาร์ก

อุทยานวิทยาศาสตร์ซินจู (Hsinchu Science Park)ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Hsinchu_Science_Park#/media/File

จุดเริ่มต้นเซมิคอนดักเตอร์

หนังสือ Why Taiwan Matters กล่าวว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นตัวอย่างการสนับสนุนของรัฐบาลไต้หวันผ่านนโยบายอุตสาหกรรม รัฐให้การสนับสนุนด้านเงินทุน การลดหย่อนภาษี และนโยบายสิทธิประโยชน์อื่นๆ แต่รัฐจะเลือกการสนับสนุนแก่ธุรกิจที่จะเป็น “ผู้ชนะ” ในส่วนของผู้ชนะจะเป็นการดำเนินงานของฝ่ายเอกชนเอง

ในทศวรรษ 1970 สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน มองว่าเซมิคอนดักเตอร์ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่มีความเป็นไปได้ เพราะลงทุนมาก ใช้เงินลงทุนสูง ไต้หวันก็ไม่ได้เป็นเจ้าของในส่วนเทคโนโลยีที่สำคัญ จึงอาจจัดหามาจากแหล่งอื่น หรือไต้หวันแค่ลงทุนแค่การวิจัยพัฒนา เพื่อสร้างอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในอนาคต

แต่ Morris Chang เป็นคนเปลี่ยนสถานการณ์นี้ และสร้างผลต่อเนื่องสำคัญตามมา Morris Chang จบการศึกษาจาก MIT และทำงานที่ Texas Instruments นาน 25 ปี ทำให้เขามีทักษะทั้งการบริหารและความรู้ทางเทคโนโลยี ในทศวรรษ 1980 ไต้หวันเอาจริงเอาจังเรื่องอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และมองว่า Morris Chang คือบุคคลในเป้าหมายที่จะดึงมาทำงาน

ปี 1985 Morris Chang ย้ายมาไต้หวัน เขายอมรับว่าการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน และการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากบริษัท Philips ช่วยลดภาระในการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันขึ้นมา เพราะในเวลานั้น ไต้หวันไม่มีความสามารด้านการออกแบบแผงวงจร (IC) หรือด้านการตลาด มีเพียงการประกอบการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น

ในพิพิธภัณฑ์นวัตกรรมของ TSMC ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ซินจู มีแผนธุรกิจฉบับแรกที่ Morris Chang เสนอแก่รัฐบาลไต้หวันในปี 1987 โดยบอกว่า กระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มี 4 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 คือการพัฒนา ได้แก่ การออบแบบแผง IC ขั้นตอนที่ 2 เทคโนโลยีที่จะสร้างอุปกรณ์การผลิตชิป ขั้นตอนที่ 3 คือการประกอบการผลิต และขั้นตอนสุดท้าย การขายให้ลูกค้า การพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ยากที่จะทำทั้ง 4 ขั้นตอนในแหล่งใดแหล่งหนึ่ง

Morris Chang เสนอให้ TSMC ทุ่มเทในขั้นตอนที่ 2 และ 3 คือออกแบบอุปกรณ์การผลิตและประกอบการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ TSMC จะผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่บริษัทลูกค้า ที่จะนำไปใช้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่นสมาร์ทโฟน แลปทอป หรือหุ่นยนต์ TSMC จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริโภคหรือร้านค้าปลีกใดๆ ดังนั้น จึงไม่มีแบรนด์เนมของ TSMC แต่ TSMC จะทุ่มเทให้กระบวนการผลิตที่ดีที่สุด

Morris Chang ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Morris_Chang#/media/File

การทุ่มเทในขั้นตอนที่ 2 และ 3 ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้ภายใน 20 ปี Morris Chang สร้าง TSMC เป็นบริษัทที่ประสบสำเร็จมากที่สุดบริษัทหนึ่ง ไม่เพียงแต่ TSMC เป็นบริษัทที่ต้องลงทุนมหาศาล มีการวิจัยระดับสูง สิ่งสำคัญมากคือความไว้วางใจจากบริษัทลูกค้าที่ใช้เซมิคอนดักเตอร์ของ TSMC จุดที่ทำให้ TSMC สร้างความไว้วางใจแก่บริษัทลูกค้า มาจากบริษัทลูกค้าเป็นฝ่ายออกแบบเซมิคอนดักเตอร์เอง แล้วจ้างให้ TSMC เป็นผู้ผลิต

การเน้นที่ขั้นตอนการผลิตตัวชิปอย่างเดียว ทำให้ TSMC มีผลกำไรต่อเนื่องนับจากปี 1991 เป็นต้นมา ปี 2024 TSMC เป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดที่ 730 พันล้านดอลลาร์ มากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก Morris Chang เกษียณในปี 2018 เขาให้สัมภาษณ์ The New York Times ในปี 2023 ในสิ่งที่เขามีส่วนสร้างผลงานให้แก่ไต้หวันว่า “ผมค่อนข้างมั่นใจว่า เราสามารถบรรลุความเป็นผู้นำเทคโนโลยี ผมไม่คิดว่าเราจะสูญเสียสิ่งนี้”

Why Taiwan Matters สรุปว่า ปัญหาความสัมพันธ์จีนกับไต้หวัน เป็นเรื่องซับซ้อน แต่ TSMC ให้เรื่องนี้ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะตัว TSMC ทำให้ไต้หวันเกิดสิ่งที่เรียกว่า “โล่กำบังซิลิคอน” (silicon shield) ซึ่งโลกต้องหาทางปกป้อง “ห่วงโซ่อุปทาน” สำคัญนี้ ไม่ให้ตกอยู่กับจีน

TSMC ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/TSMC#/media/File:TSMC_Global_R%EF%BC%86D_Center_at_night.jpg

Morris Chang ให้สัมภาษณ์ว่า ความเป็นไปได้ที่จีนจะบุกไต้หวันมีน้อยมาก รวมทั้งการถูกจีนปิดล้อม แต่สิ่งนี้ก็ยังคงมีโอกาสอยู่ และผมต้องการหลีกเลี่ยงสิ่งนี้” ในทศวรรษ 1980 เขาสามารถชักจูงรัฐบาลไต้หวันให้สนับสนุนแผนงานการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมา เขาอาจเป็นฝ่ายถูกอีกครั้งในเรื่องท่าทีของจีนต่อไต้หวัน

เอกสารประกอบ
TSMC, the Chip Giant, Is to Spend $100 Billion in US. Over the Next 4 Years, March 3, 2025, nytimes.com
Why Taiwan Matters, Kerry Brown, St. Martin Press, 2025.