หน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจและการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนแถลงการณ์ร่วม เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและครบถ้วน หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สาธารณชนมีความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจและระบบทางการเงินของไทย
วันนี้ (31 มีนาคม 2568) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจและการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสภาวิศวกร ได้ร่วมกันจัดแถลงการณ์ร่วมเพื่อให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านความปลอดภัยทางวิศวกรรม ด้านภาคการผลิต การส่งออก และการท่องเที่ยว รวมทั้งด้านตลาดเงินและตลาดทุนมาพร้อมกัน เพื่อนำเสนอสถานการณ์และข้อมูลเพื่อให้ผู้ลงทุนและสาธารณชนได้รับทราบ หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
โดยตัวแทนหน่วยงานที่เข้าร่วมแถลงได้แก่ ผศ. ดร. ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ศ. ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สภาวิศวกรชี้ตึกไทยผ่านการทดสอบ
ผศ. ดร. ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานของอาคารที่ร้องขอให้ไปตรวจสอบไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างมีนัยสำคัญ อาคารต่าง ๆ ได้มีการออกแบบตามมาตรฐานวิศวกรรม ในปัจจุบันสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ ทั้งนี้ ประเมินจากโครงสร้างหลักของอาคารไม่ได้รับความเสียหาย การเข้าใช้ประโยชน์ในอาคารสามารถทำได้กับอาคารที่ได้รับการตรวจและประเมินผลเป็นสีเขียว ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าอาคารได้รับการประเมินเป็นสีเขียวจำนวนมาก
ผศ. ดร. ธเนศ กล่าวว่า ในแวดวงวิศวกรรม เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุอุบัติภัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานวิศวกรรม สิ่งแรกหนึ่งที่คำนึงถึง คือ วิบัติหรือเสียหายลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ําท่วมไฟไหม้ ต่อมาคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของภัยพิบัติที่เกิด นอกเหนือจากการกู้ภัยที่จะต้องเข้าไปช่วย สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้พบว่าแพร่กระจายทั่วไปหมด แม้แต่บ้านที่มีความสูง 2 ชั้น ก็เขย่าด้วย และจากการสอบถามพบว่าเกิดที่เมียนมา ที่ระดับความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งไม่ลึก ฉะนั้นมีโอกาสที่คลื่นจะมาถึงกรุงเทพ ปกติแล้วแผ่นดินไหวมักเกิดในพื้นที่ต่างจังหวัด และไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดแผ่นดินไหว เพียงแต่เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และค่อนข้างแรง
เมื่อคลื่นมาถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เตรียมแผนการแล้วว่าจะต้องตรวจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ในการกลับเข้าไปในตัวอาคาร ซึ่งจากการที่ภาครัฐ กรมโยธาธิการและสำนักผังเมือง และกรุงเทพมหานคร(กทม.)ได้แบ่งหน้าที่ในการตรวจออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ กทม.รับเรื่องของภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป ผ่าน Traffy Fondue ทางด้านกรมโยธาธิการก็ตรวจอาคารสาธารณะ
ผศ. ดร. ธเนศกล่าวถึงกระบวนการการตรวจสอบช่วยเหลือเพื่อให้มีความมั่นใจได้ว่าอาคารยังมีความแข็งแรงว่า สมาคมฯมีประสบการณ์จากการไปตรวจที่เชียงราย ปี 2557 โดยการตรวจได้แบ่งระดับความปลอดภัยของอาคารออกเป็น 3 สี คือเขียว เหลือง แดง เพื่อที่จะทําให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและกลับเข้าไปอยู่หรือใช้งานได้ โดยสีเขียว คือ กลับเข้าไปใช้งานได้เลย สีเหลือง หมายถึงมีการซ่อมแซมเล็กน้อยแล้วกลับเข้าไปใช้ได้ แต่สีแดง ไม่มั่นใจหมายความว่า ไม่มั่นใจในเรืฐานรากที่มองไม่เห็น ฐานรากอาจจะมีปัญหา โครงสร้างบางตัวอาจจะร้าวอยู่ภายใน หรือโชว์พฤติการอาคารป่วยอยู่ข้างนอก ลักษณะแบบนี้คือ สีแดง อย่าเพิ่งกลับเข้าไปใช้ “เพราะฉะนั้นขอให้ประชาชนเชื่อในข้อมูลจากวิศวกรที่เข้าไปตรวจ”
ผศ. ดร. ธเนศกล่าวว่า จากการที่กทม. ได้ตั้งทีมขึ้นมา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยและสภาวิศวกรได้ระดมพลกันเข้าไปเพื่อช่วยตรวจ นำวิศวกรอาสาเข้าไปช่วยปรากฏว่ามีคนร้องขอเข้ามาในกทม.ที่ศูนย์ ข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม 2568 มีประมาณ 13,000 ราย ซึ่งตรวจไปแล้วประมาณ 10,000 ราย ทั้งการตรวจจากภาพที่ส่งมาและลงพื้นที่ตรวจอาคารสูง
“ที่ห่วงกันมากคืออาคารสูง วิศวกรอาสาก็ได้เข้าไปตรวจอาคารสูงหลายที่ จาก 13,000 รายได้ตรวจเหลืออยู่ประมาณ 2,000 กว่าราย ซึ่งจะตรวจต่ออีกสอบวันนี้ส่วนใน 10,000 รายที่ตรวจไปแล้ว จัดว่าอยู่ในระดับสีแดงประมาณ 2 อาคาร ที่เหลือจำนวนมากคือ สีเขียว ดังนั้นประชาชนกลับเข้าอาคารได้ แต่สำหรับประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังมีความรู้สึกว่ายังติดต่อเข้าไม่ได้ สภาวิศกรจะจัดทํารายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการดูรอยร้าวให้” ผศ. ดร. ธเนศกล่าวและว่า การตรวจโรงพยาบาลที่ได้มีการอพยพผู้ป่วยลงจากชั้นสูงของกรมโยธาธิการ ซึ่งพบว่ามีอาคารบางหลังที่อยู่ในลักษณะสีเหลืองนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการและจะประชุมร่วมกันในวันนี้ซึ่งก็น่าจะบอกความชัดเจนได้
ผศ. ดร. ธเนศกล่าวว่า อาคารส่วนใหญ่ที่เห็นว่ามีการโยกตัวนั้น นับเป็นเรื่องปกติที่จะต้องโยกเมื่อเกิดแผ่นดินไหว แต่แกว่งแล้วไม่หัก ก็ยังถือว่ายังใช้ได้อยู่ เพราะตึกมีความเหนียว อาคารที่ออกแบบในปัจจุบันผ่านการใช้กฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี 2540 และได้พัฒนามาต่อเนื่องปี 2560 จนถึง 2564 หลายจังหวัดแล้ว ปัจจุบันครอบคลุมไปจนถึงภาคอีสาน และน่าจะมีประมาณ 43 จังหวัดที่จะต้องออกแบบให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานให้เป็นอาคารที่มีความเหนียว
“ปกติการโยกของอาคารจะเกิดการแตกร้าวตรงรอยต่อระหว่างพื้นเข้าสู่คานเข้าสู่เสา ถ้าตรงข้อต่อร้าวเมื่อไหร่ แสดงว่าแดงแน่ๆ แต่เท่าที่ไปตรวจส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผนัง เพราะฉะนั้นการที่เห็นผนังแตกเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องปกติที่ตึกสะบัดแล้วผนังร้าว แต่ตัวคานตัวพื้นไม่ร้าว แสดงว่าโครงสร้างแข็งแรง ประเทศไทยผ่านการทดสอบครั้งใหญ่ ในเรื่องของการออกแบบถูกต้องตามมาตรฐาน ตามกฎกระทรวง ตามเกณฑ์ที่ใช้ทั่วโลก” ผศ. ดร. ธเนศกล่าว
ผศ. ดร. ธเนศกล่าวว่า ในปัจจุบันมีผู้ตรวจสอบอาคารทำหน้าที่ตรวจอาคารสูงประจําปี สภาวิศวกรยังเตรียมการดำเนินการใน 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ไปว่า ควรมีการคำกันใหม่(calulate)สําหรับผู้ออกแบบที่ดูแลอาคาร reanalyze รองรับอาฟเตอร์ช็อก หรือเกิดแผ่นดินไหวรอบใหม่ ในลักษณะแบบเดียวกันอาคารยังรองรับได้หรือไม่ ปกติการยืดซ้ายยืดขวาหดซ้ายหดขวา ในลักษณะสะบัด ที่เรียกว่ายังเป็นสภาพ elastic ซึ่งถูกต้อง มีความเหนียว เพราะฉะนั้นถ้าไม่นับอาคารที่พังลงมาเพียงแค่หลังเดียว อันนั้นต้องมีการวิเคราะห์เป็น ข้อบทเรียนเป็นข้อศึกษาที่จะต้องดูเกิดอะไรขึ้น แต่ที่เหลือส่วนใหญ่สีเขียวมีความมั่นใจ
ผศ. ดร. ธเนศกล่าวว่า โดยปกติการออกแบบ จะคำนึงถึงจุดที่เกิดแผ่นดินไหวใกล้ที่สุด ในกรณีกรุงเทพฯก็จะคํานึงไปถึงกาญจนบุรี โดยหากเกิดแผ่นดินไหวที่กาญจนบุรีซึ่งใกล้กรุงเทพฯที่สุด ก็จะออกแบบให้เหนียวที่สุดเท่าที่จะเหนียวได้ โดยเฉพาะอาคารพิเศษ เช่น อาคารโทรคมนาคม อาคารโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโรงพยาบาล และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว วิศวกรต้องรีบเข้าไปช่วย ปัจจุบันมีวิศวกรในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนมีอยู่ประมาณ 200,000 คน แต่วิศกรที่เป็นวิศวกรอาสาที่พร้อมจะเข้ามาอาสาเลยแจ้งไว้อยู่ที่ 2,600 คน ไปรองรับตามจุดต่างๆนี้ได้อยู่แล้ว
สำหรับอาคารที่ติดสีแดง ก็อาจจะต้องให้วิศวรระดับวุฒิวิศวกรเข้ามาตรวจ(วิศวกรมี 3 ระดับ คือภาคีวิศวกร สามัญวิศกร และวุฒิวิศวกร) เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายเพราะการออกแบบแก้ไข มีกฎหมายกำหนดว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการเสริมกําลังและรับรองอาคารต้องเป็นวุฒิวิศวกร แต่ทุกอย่างจะมีการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขต้องอยู่บนพื้นฐานทางวิศวกรรมและแก้ไขได้ ตามหลักทางวิศวกรรมทําได้ทุกอย่าง แต่อยู่ที่คุ้มหรือไม่คุ้ม แต่สิ่งสําคัญคือ “ต้องให้มีความมั่นใจกับประชาชนให้ได้ เพราะเราคือวิศวกรของประชาชน อย่างน้อยที่สุดก็คือร่วมกับทุกหน่วย ครั้งนี้วิศวกรเราพร้อมมากที่จะเข้าไปดู ที่ผ่านมาเราทดสอบได้หมด หลังจากตรงนี้มันจะเข้าสเต็ปตรงที่ว่าสร้างความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมรองรับครั้งถัดไป ถ้ามี เพราะฉะนั้นสําหรับในแง่วิศวกรมีความเชื่อมั่นเรื่องอย่างนี้มากและดีใจที่เราผ่านการทดสอบมาแล้วหนึ่งครั้ง”

ภาคการผลิตเข้าสู่โหมดปกติ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างไหวแรง ซึ่งในภาคการผลิตหลายโรงงานมีระบบเซฟตี้เมื่อมีการสั่นไหวถึงระดับหนึ่ง บางเครื่องมีการตั้งระบบที่เมื่อเกิดการเขย่าขึ้นก็จะทำการตัดเครื่องในช่วงแรก ก็จะเป็นการหยุดดำเนินการ แต่หลังจากที่เหตุการณ์กลับสู่สภาพปกติ โรงงานขนาดใหญ่ ขนาดกลางก็จะมีวิศวกรประจําโรงงานเข้าไปตรวจสอบทั้งระบบ ไม่ว่าระบบของตัวเครื่อง ระบบไฟฟ้า ความปลอดภัย ในเวลาไม่นานก็กลับมาเปิดเครื่องแล้วก็ผลิตได้ต่อ ซึ่งก็มีหลายโรงงาน ในวันนั้นกะกลางคืนหลัง 17.00 น.ก็มีการทํางานตามปกติเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีหลายโรงงานที่ต้องมีการตรวจสอบก่อน โดยในวันเสาร์ก็กลับเข้ามาทํางานปกติ ส่วนโรงงานที่เป็นขนาดเล็ก สภาอุตสาหกรรมฯก็มีเจ้าหน้าที่ที่คอยตรวจสอบแล้วก็คอยสอบถามก็ปรากฏว่าไม่มีปัญหา
จากการสำรวจภาคการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่างๆ ในการผลิตยังเปิดใช้งานได้ตามปกติ รวมถึงการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าที่ผลิตเสร็จก็ยังดำเนินการเหมือนเดิมทุกประการ
“สิ่งที่เรากังวลในช่วงแรกก็คือ หนึ่ง เรื่องระบบการส่งก๊าซใต้ดินที่เข้าโรงงานขนาดใหญ่ แต่ปรากฏว่าไม่มีปัญหาของโรงงานขนาดใหญ่ เมื่อได้ตรวจความดันของการที่แก๊สเข้าโรงงานก็อยู่ในสภาวะปกติ เครื่องจักรก็เดินกันตั้งแต่วันเสาร์เสียส่วนใหญ่แล้วนะครับ สําหรับวันจันทร์นี้ก็ทุกอย่างกลับตามปกติ” นายเกรียงไกรกล่าว
ในด้านการขนส่งโดยเฉพาะวัตถุดิบ นายเกรียงไกรกล่าวว่า การขนส่งวัตถุดิบเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการป้อนวัตถุดิบต่างๆที่จะเข้าสู่โรงงาน โดยเส้นทางได้การตรวจสอบแล้วไม่มีปัญหา มีเพียงบางแห่งที่มีการปิดชั่วคราว เช่น กําลังซ่อม หรือทางด่วน ทำให้การขนส่งต้องใช้เส้นทางอ้อมเล็กน้อยและเสียเวลาเพิ่มเล็กน้อย ส่วนการผลิตเพื่อนําไปส่งออกไม่ว่าจะไปท่าเรือ หรือทางเครื่องบิน หรือว่าไปทางรางก็ยังไม่มีปัญหา
“เท่าที่ได้รับรายงานมาเข้าใจว่าน่าจะเข้าสู่โหมดปกติ อันที่จริงตั้งแต่วันเสาร์ แต่วันนี้ก็จะเป็นการยืนยัน เพราะว่าเท่าที่สอบถามเกือบทุกโรงงานกลับมาทํางานตามปกติ อย่างไรก็ตามต่างประเทศก็มีการสอบถามถึงสถานการณ์ รวมถึงการผลิตของโรงงาน กำหนดของการส่งออก ซึ่งยืนยันว่าทุกอย่างเหมือนเดิม” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ ในภาคการท่องเที่ยว ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ประชาชน นักท่องเที่ยว สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ รัฐบาลเฝ้าประเมินสถานการณ์ ตรวจสำรวจอาคาร สถานที่และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยปลอดภัยเที่ยวไทยได้อย่างมั่นใจแน่นอน
นายเกรียงไกรกล่าวว่า “ครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นบททดสอบอันหนึ่งที่สําคัญของความมั่นคงทุกด้านของประเทศไทย” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการก่อสร้าง การที่อยู่อาศัยรวมทั้งภาคการผลิต แม้กระทั่งภาคท่องเที่ยวก็เช่นกัน จะเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก เพราะฉะนั้นคิดว่าก็ฟื้นตัวได้เร็ว สิ่งเหล่านี้ก็คงจะเป็นบทเรียนให้ตระหนักว่าโอกาสของการที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่ไม่เคยคิดว่าจะมีก็มีแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดขณะนี้ ภาคการก่อสร้างจะต้องมีการคํานึงถึงปัจจัยที่อาจจะต้องเพิ่มขึ้นในความเสี่ยงเหล่านี้เข้าไป เพื่อจะได้ทําให้มีความปลอดภัย ความสบายใจมากขึ้น
สำหรับการผลิตของธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมามีไม่นากนัก และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหว จึงได้รับผลกระทบน้อย ด้านการค้าชายแดนยังเป็นตามปกติ และคาดว่าอาจจะมีความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าเพื่อการซ่อมแซม เพราะภัยพิบัติในเมียนมาค่อนข้างรุนแรง และอาจจะส่งผลในเชิงบวกกับไทย
ธปท.กำชับแบงก์ดูแลลูกหนี้
ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในวันศุกร์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น สิ่งที่ธปท.ให้ความสำคัญต่อผลกระทบต่อระบบการ ชําระเงิน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และก็บริการที่ให้กับประชาชน จากการตรวจสอบก็ไม่มีปัญหา แต่การใช้บริการติดขัดอยู่บ้างในเรื่องของกายภาพ บางธนาคารประชาชนเข้าไปทําธุรกรรมไม่สะดวก เพราะฉะนั้นธปท.ได้ยืดหยุ่น ด้วยการยืดเวลาในการชำระบัญชี(settlement) การทำธุรกรรมในวันศุกร์เป็นไปโดยราบรื่น อีกส่วนหนึ่งที่ธปท.ติดตาม คือ ความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ในการให้บริการกับประชาชน “ซึ่งถือเป็น บททดสอบที่สำคัญ(stressed test) และเราก็ผ่าน stressed test นี้มาได้ ไม่ว่าจะระบบบาทเน็ต ระบบพร้อมเพย์ โมบายแบงก์กิ้ง แอปอินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้งผ่านหมดทุกระบบ เพราะฉะนั้น แม้บางสาขาของธนาคารเข้าไปไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องกายภาพ แต่ตัวระบบยังทํางาน เพราะฉะนั้นประชาชนยังใช้บริการจากโมบายได้ เราก็สบายใจ”
ดร.รุ่งกล่าวว่า ในวันเสาร์ก็เริ่มกลับมาทํางานเป็นปกติสาขาต่างๆก็เข้าได้ และในวันนี้มีไม่กี่สาขาที่ยังไม่เปิดบริการซึ่งเป็นเรื่องตัวอาคาร ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องอาคารก็บริการตามปกติ นอกจากนี้จากการติดต่อกับสถาบันการเงินทุกรายยืนยันความพร้อม ไม่ว่าจะทํางานจาก main site หรือ backup site เพราะฉะนั้นในเรื่องของบริการชําระเงินถือว่าปกติ ส่วนเบิกจ่ายของภาครัฐก็ปกติ โดยตรวจสอบจากธุรกรรมเคลื่อนไหวผ่านบัญชีเงินคงคลังที่มีอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้มีอะไรที่เป็นที่น่าสังเกต จากที่รับทราบข้อมูลข่าวสารก็เป็นปกติ ฉะนั้นในส่วนนี้ก็ต้องถือว่า “เราก็ผ่านstressed test ในด้านของแบงก์กิ้งเช่นกัน”
ดร.รุ่งกล่าวว่า ในแง่เสถียรภาพทางการเงินที่หลายคนมีความกังวลนั้น การที่จะประเมินสถานการณ์ก็ต้องรอ แต่มาตรการที่ช่วยเหลือลูกหนี้คงต้องยอมรับก่อนว่าลูกหนี้ทั้งระบบคงไม่ได้ถูกกระทบมาก ต่างจากโควิดที่กระทบในวงกว้างกระทบนาน ที่น่าจะเป็น shock ระยะสั้น แต่ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่บางรายอาจจะต้องซ่อมสร้าง ที่อยู่อาศัย ซึ่งธปท.ก็ได้กําชับธนาคารพาณิชย์ เพราะ “อันที่จริงเรามีกติกา มีเกณฑ์อยู่แล้ว ถ้าเกิดภัยพิบัติธนาคารพาณิชย์สามารถจะให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การลดค่างวดผ่อนขั้นต่ําของบัตรเครดิต ให้วงเงินเพิ่มเผื่อลูกค้าต้องการสภาพคล่องฉุกเฉิน ขณะที่เงื่อนไขของการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ ก็ทําได้อยู่แล้ว”
เกณฑ์ดังกล่าวได้ใช้หลังภัยพิบัติอุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้ว เพียงแต่ขณะนั้น เราไม่ได้นึกถึงแผ่นดินไหว เราก็เลยไม่ได้เขียนเอาไว้ชัดชัด เมื่อวันเสาร์ก็เลยต้อง มา clarify ให้รับรู้ว่าแผ่นดิวไหวก็อยู่ภายใต้เกณฑ์นี้” ดร.รุ่งกล่าว

คปภ.สั่งประกันเตรียมพร้อมสินไหม
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า สิ่งแรกที่คปภ.ดำเนินการในวันศุกร์ คือ ดูแลให้มั่นใจว่าระบบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และได้แจ้งไปยังบริษัทประกันภัยทุกแห่งในเย็นวันศุกร์ ทั้ง สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย ทุกบริษัทให้เตรียมพร้อม ติดตามสถานการณ์ และเตรียมพร้อมหากมีการเบิกค่าสินไหมทดแทน เข้ามา ต้องดําเนินการสํารวจภัยแล้วจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วที่สุด ซึ่งในเวลานั้นยังบอกไม่ได้ว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายขนาดไหน นอกจากนี้ยังแจ้งประกันภัยจังหวัด สํานักงานประกันภัยต่อทั่วประเทศ ให้ไปศูนย์รับเรื่องหากมีเรื่องร้องเรียน หรือเป็นเรื่องสอบถามเข้ามา และได้ประสานงานไปยังผู้ก่อสร้าง บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้ส่งรายชื่อผู้สูญหายมายังสํานักงาน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ และ”พร้อมจะเป็นตัวกลางในการติดต่อไปยังบริษัทประกันภัย เพื่อเตรียมพร้อมการจ่ายค่าศูนย์ทดแทน หรือค่ารักษาพยาบาลให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ด้วย”
ในวันเสาร์ได้รับแจ้งจากทุกบริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิตและวินาศภัยว่าทุกบริษัทพร้อม เตรียมพร้อมรองรับแล้ว มีการเปิดศูนย์ฮอตไลน์ หรือมีการออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประชาชนสามารถที่จะเริ่มสอบถามว่า กรมธรรม์ที่ถือไว้คุ้มครองหรือไม่คุ้มครองภัยแผ่นดินไหว หรือลักษณะรอยร้าว และให้รวบรวมคําถาม ต่างๆ เหล่านี้ไว้ บริษัทประกันวินาศภัย ต้องตอบให้ได้ว่า กรมธรรม์ของลูกค้าคุ้มครองหรือไม่ ส่วนกรมธรรม์ประกันชีวิตเกือบทุกฉบับคุ้มครองภัยธรรมชาติและเหตุการณ์ แผ่นดินไหวอยู่แล้ว แต่กรมธรรม์ประกาศวินาศภัย ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าซื้อความคุ้มครองเพิ่ม หรือเป็นการคุ้มครองหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนบางส่วนยังไม่ทราบ บริษัทประกันภัยต้องตอบได้รับการสอบถามและต้องพร้อมให้ดําเนินการที่เกี่ยวการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ขณะเดียวกันสํานักงาน คปภ. ทั่วประเทศได้เปิดศูนย์รองรับไว้แล้ว ตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา
นายชูฉัตรกล่าวถึง สถานภาพทางการเงินของบริษัทประกันภัยในประเทศว่า เป็นเรื่องที่ได้รับการสอบถามมาก จากกรณีที่มีตึกหลังหนึ่งถล่ม ตึกนี้มีทุนประกันทั้งสิ้น 2,136 ล้านบาท มีรับการประกันภัยโดย 4 บริษัท ซึ่งทั้ง 4 บริษัทได้มีการทำประกันภัยต่อไปยังต่างประเทศทั้งสิ้น ส่วนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนนั้นจะจ่ายตามงวดงานที่เกิดขึ้นจริง สร้างเสร็จกี่เปอร์เซ็นต์ก็ต้องจ่ายตามนั้น เพราะฉะนั้นสํานักงาน คปภ. ขอยืนยันว่าไม่กระทบฐานะการเงินของ 4 บริษัทนี้ ส่วนธุรกิจประกันภัยธุรกิจประกันชีวิตในภาพรวม เมื่อวัดความแข็งแกร่งด้วยอัตราส่วนเงินกองทุนที่ต้องลงไปตามกฎหมาย ธุรกิจประกันชีวิตดํารงเงินกองทุนในภาพรวม โดยเฉลี่ยประมา ณ 3 เท่ากว่าจากที่กฎหมายกําหนดไว้ ธุรกิจประกันวินาศภัยเกือบจะ 3 เท่า จากที่กฎหมายกําหนดไว้ เพราะฉะนั้น แม้จะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ในเวลานี้ ขอยืนยันว่าธุรกิจประกันภัยยังมีความแข็งแกร่ง ยังมีสภาพคล่อง ที่ดีเพียงพอที่จะรองรับ ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
ก.ล.ต.ยันระบบตลาดทุนรับมือได้
ศ. ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตลาดทุนไทยได้ผ่านวิกฤติมาหลายวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤติภัยธรรมชาติ ก็เป็นอีกหนึ่งวิกฤติหนึ่งที่พิสูจน์ว่า ระบบของตลาดทุนไทยมีความสามารถในการรับมือ(resilince) หรือว่ามีความยืดหยุ่นได้ดี
ในวันศุกร์เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก.ล.ต.ได้ดำเนินการตามแผนในการรับมือเหตุการณ์ต่างๆ(Business Continuity Plan) ในด้านระบบของตลาดทุนนะภายในระยะเวลาไม่กี่นาที สามารถที่จะติดต่อกับผู้ประกอบธุรกิจได้ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วก็มีการตัดสินใจร่วมกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ ของผู้ที่ต้องการคุ้มครองการลงทุน ก็คือ นักลงทุน
“การตัดสินใจร่วมกันในการปิดการซื้อขายในตลาดหุ้น รวมถึงตลาดที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่ว่าระบบมีปัญหา แต่เราคํานึงถึงความปลอดภัย รวมถึงที่สําคัญเลยก็คือในช่วงที่มีความไม่แน่นอนของข้อมูลข่าวสาร ก็ทําให้การซื้อขายอาจที่จะมีผลกระทบ การตัดสินใจเมื่อวันศุกร์ก็เป็นการตัดสินใจภายใต้บริบทนั้น แต่ในวันนี้ หลังจากการที่พูดคุยกัน ต่อเนื่องตั้งแต่วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีการติดต่อกับผู้ประกอบธุรกิจ ในทุกประเภทตราสาร เรามีความมั่นใจว่า ระบบของตลาดทุน สินทรัพย์ดิจิทัลของเราก็สามารถที่จะเปิดได้แล้วก็มีเสถียรภาพ” ศ. ดร. พรอนงค์กล่าว
ศ. ดร. พรอนงค์กล่าวว่า ในฐานะของหน่วยงานกํากับดูแล มองว่าข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่สําคัญมาก นักลงทุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องตัดสินใจอย่างมีสติ ภายใต้ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานกํากับดูแลพยายามที่จะรวบรวม และแยกระหว่างข้อเท็จจริง ต่อความเชื่อหรือความคาดหวัง สํานักงาน ก.ล.ต ก็ได้สื่อสาร ผ่านผู้ประกอบธุรกิจแล้วก็สาธารณะ ในเรื่องของมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกไปเมื่อวันเสาร์ และ “ก.ล.ต ก็อยากให้มั่นใจว่า ทุกอย่างยังอยู่ในการควบคุมกํากับเพื่อกลับไปสู่ภาวะปกติภายในไม่ถึงจุดยุติของอาฟเตอร์ช็อกของเมื่อวันศุกร์ เราก็สามารถที่จะประกาศแนวทางแล้วก็ติดตามอย่างต่อเนื่อง”
ตลาดขอนักลงทุนยึดข้อเท็จจริง
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ก็ได้สื่อสารกับนักลงทุนมาตลอดคือ การวิเคราะห์ข้อมูล การดูข้อมูลให้รอบคอบซึ่งในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน “fact fact fact fact คือข้อเท็จจริง ข่าวสารออกไปเยอะมาก ข่าวสารที่ที่ตื่นตระหนก ในยุคของโซเชียลมีเดียต้องวิเคราะห์ให้ดี ต้องแยกแยะให้ได้ว่าใครเป็นคนพูดใครพูดอะไร เพราะฉะนั้นวันนี้เราได้ฟังจากสภาวิศวกรว่าเมืองไทยผ่านการทดสอบทางด้านวิศวกรรม เราอยู่ในระดับโลก เราเจอสิ่งนี้เราไม่มีปัญหา สภาอุตสาหกรรมบอกชัดเจนว่าภาคอุตสาหกรรมทุกหน่วย ดําเนินการต่อได้ยังแข่งขันได้ยังซัพพลายของให้ได้ยังส่งออกได้ ภาคธนาคาร การธนาคาร การเงิน เสถียรภาพไม่สะดุดแม้แต่นิดเดียว ใช้งานได้ตั้งแต่ตั้งแต่วินาทีที่มีแผ่นดินไหว ด้านคปภ. ประกันภัย ก็พร้อมที่จะตอบสนองสิ่งที่ต้องช่วยเหลือประชาชนให้ความสําคัญกับชีวิต เป็นสิ่งแรก แต่อุตสากรรม บริษัทประกันก็มีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศชาติในจังหวะที่จําเป็น”
“สํานักงานก.ล.ต.กับตลาดหลักทรัพย์ เราก็ประสานกันตั้งแต่วินาทีแรกเลยที่เกิดเรื่องขึ้น เพราะฉะนั้น ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมา เราก็ประสานงานกับทุกภาคส่วน คุยกับทางสมาคมต่างต่างเตรียมความพร้อม แน่นอน เราให้ความสําคัญกับบุคลากรเป็นสิ่งแรก แต่ระบบเราใช้งานได้ ไม่ได้สะดุด เพียงแต่ว่าในกรณีนี้ ต้องมีการอพยพบุคลากรแต่ ณ วันนี้ เสาร์ อาทิตย์ ที่ผ่านมา เราก็ได้ปรึกษาหารือกัน เช็คระบบเช็ค เช็คบุคลากร ณ วันนี้ ตลาดทุนทุกคนทุกภาค ส่วนก็พร้อมที่จะดําเนินการและให้บริการทุกคน โดยเฉพาะช่วงจังหวะนี้ก็เข้าใจเป็นช่วงจังหวะที่จะมีประชุมผู้ถือหุ้น มีการส่งรายงาน ทั้งตลาดหลักทรัพย์ก็พร้อมที่จะบริการเต็มที่ วันนี้เคาน์เตอร์ TSD ของเราก็เปิดเต็มที่แล้ว แล้วก็มีคอลเซ็นเตอร์ที่คอยรองรับ นักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนที่มีความต้องการความช่วยเหลือได้ ตลอดเวลา”นายอัสสเดชกล่าว