กบข. รวมพลังนักลงทุนสถาบันและธนาคาร รวม 43 รายประกาศเจตนารมณ์ร่วมลงนาม “Sustainable Thailand 2021”มุ่งผลักดันธุรกิจการเงินไทยสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
กบข. ร่วมกับนักลงทุนสถาบันและภาคธนาคาร ประกาศเจตนารมณ์ “Sustainable Thailand 2021” สนับสนุนการนำหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบ และหลักการการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ มาใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานและสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ “Sustainable Thailand” ในครั้งนี้ กล่าวว่า กระทรวงการคลังมุ่งมั่นสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นมาโดยตลอด ผ่านนโยบายทางการคลังทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบนั้น รัฐบาลได้ควบคุมการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และจัดสรรทรัพยากรทางการคลังและการเงินที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อสนับสนุนระบบการรักษาพยาบาล และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจ ผ่านหลากหลายโครงการ เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น เพื่อรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศไว้ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2564 เศรษฐกิจจะเติบโตที่ร้อยละ 1.3 และจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 4-5 ในปี 2565
สำหรับโครงการ “Sustainable Thailand 2021” เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ นักลงทุนสถาบัน และธนาคาร ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยผลักดันภาคธุรกิจการเงินการลงทุนของไทย ให้นำหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (PRI) และหลักการการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (PRB) มาใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคการเงินและการลงทุนของไทยแข็งแรง พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า การร่วมลงนามในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ นักลงทุนสถาบัน และธุรกิจธนาคาร รวม 43 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 40.18 ล้านล้านบาท เพื่อร่วมกันผลักดันการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ครอบคลุมทุกมิติและเป็นไปตามมาตรฐานสากล (Sustainable Finance) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญอันจะนำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) สำหรับสาระสำคัญของความร่วมมือ คือ การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบสอดรับกับความตกลงปฏิญญาปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยความรับผิดชอบร่วมกันต่อภัยคุกคามจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการดำเนินงานและธุรกิจสู่ความยั่งยืน อันจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อทุกห่วงโซ่อุปทาน
อนึ่ง กบข. ในฐานะนักลงทุนสถาบัน ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลกกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ตระหนักถึงพันธกิจสำคัญที่นอกเหนือจากการสร้างผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวให้กับสมาชิกข้าราชการมีเงินออมในวัยเกษียณที่เพียงพอ หากแต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และต้องส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่ยึดถือในหลักธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วย (Doing well while doing good) อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการลงทุนอย่างรับผิดชอบ ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable Economic and Social Development) สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ กบข. ในการเป็นผู้นำและผู้ริเริ่มนวัตกรรมการด้านการลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG (Leader in ESG Investing & Initiatives in Thailand)
การลงนามประกาศเจตจำนง “Sustainable Thailand” ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงาน Sustainable Thailand 2021 จัดโดย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง องค์การสหประชาชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารกสิกรไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 โดยผู้นำจากหลากหลายองค์กรร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และร่วมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง
ธปท.ชี้การธนาคารแบบยั่งยืนลดความเสี่ยงของประเทศ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาว่า รายงานล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของ UN เป็นการเตือนและเร่งให้ปฏิบัติจริงจัง และจากรายงานการวิเคราะห์ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally determined contributions (NDCs) ของ UN ฉบับล่าสุด การลดปล่อยมลพิษตามที่ได้ให้คำมั่นไว้นั้น ดูเหมือนว่าไม่ได้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง การเตือนและเร่งให้ปฏิบัติจริงจัง มีความเกี่ยวข้องกับไทยโดยเฉพาะ
ไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับหนึ่งในสิบของโลกด้านความเปราะบางและความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ ไทยเป็นประเทศที่มีกำลังแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม และประชากรและพื้นที่อุตสาหกรรมของไทยจำนวนมากตั้งอยู่ในพื้นที่ติดทะเล ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
ไทยไม่เพียงมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ไทยยังเปราะบางต่อนโยบายที่ประเทศต่างๆ ดำเนินการ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย การส่งออกจำนวนมากของไทยอยู่ในภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก และจะอ่อนไหวต่อมาตรการเชิงนโยบาย เช่น กลไกการปรับคาร์บอนที่พรมแดน ตามที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสีเขียวของสหภาพยุโรป ดังนั้น การธนาคารแบบยั่งยืนจะมีบทบาทในการนำประเทศไทยจากที่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไปสู่จุดที่ต้องการในแง่ของการลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความคืบหน้า ปัจจุบันภาคการธนาคารของไทย ซึ่งรวมถึงสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารระหว่างประเทศในประเทศไทย ได้พัฒนาและนำแนวทางการธนาคารที่ยั่งยืนมาใช้ในปี 2562 และมีการดำเนินการที่สำคัญ ธนาคารไทยได้นำความยั่งยืนมาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ มีโครงสร้างการกำกับดูแลที่ชัดเจนในประเด็นด้านความยั่งยืน เช่น มีคณะกรรมการเพื่อความยั่งยืนโดยเฉพาะ การพัฒนาเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยง และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ESG
มาตรฐานสากลที่ธนาคารยึดถือ ได้แก่ หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบของสหประชาชาติ(UN Principles for Responsible Banking) และคำแนะนำจากคณะทำงานเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-Related Financial Disclosures)
“ธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมนำและสนับสนุนบทบาทของสถาบันการเงินในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป้าหมายของธปท.คือ การสร้างระบบนิเวศสำหรับการเงินที่ยั่งยืนซึ่งจะช่วยจัดการกับความกังวลและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงการรวมและปรับปรุงมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล การพัฒนาเครื่องมือประเมินความเสี่ยงที่ดีขึ้น ตลอดจน การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน (taxonomy)”
“นี่เป็นเพียงก้าวแรกๆ และยังต้องดำเนินการอีกมาก หากไม่ทำอะไรเลย มีแต่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เป็นระเบียบ”
กสิกรไทยชี้ต้องสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็งและต้อง”ทำมากขึ้น”
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงบทบาทของธนาคารกสิกรไทยในการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืนว่า ธนาคารกสิกรไทยดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลากว่า 7 ทศวรรษ โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ระบบการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม
ด้วยธนาคารตระหนักดีว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อสถาบันการเงิน จึงเห็นว่าสถาบันการเงินต้องมีใบอนุญาต 2 ใบในการประกอบธุรกิจ คือ ใบอนุญาตการธนาคาร (Banking License) ซึ่งก็คือใบอนุญาตจากทางการเพื่อสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามกฎหมาย และใบอนุญาตทางสังคม (Social License) ซึ่งหมายถึงการได้รับการยอมรับจากสังคมในการดำเนินธุรกิจ และดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ธนาคารจึงต้องสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน แม้บางครั้งอาจต้องเผชิญความยากลำบากในระยะสั้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว
“ถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ ธนาคารก็อยู่ไม่ได้ โดยเรื่องดังกล่าวไม่ใช่แค่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมแต่รวมถึงการให้การสนับสนุนแก่ประชาชนและชุมชนด้วยการสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินและการให้การช่วยเหลือทางการเงินในช่วงเวลาการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถรับมือกับวิกฤติครั้งนี้และมีความเข้มแข็งที่จะดำเนินธุรกิจในช่วงหลังโควิด-19 ได้”
นอกจากวิกฤติโควิด-19 แล้ว วาระเร่งด่วนสำคัญของโลกคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกรวน ซึ่งต้องการการจัดการอย่างทันท่วงทีและในวงกว้างเพื่อบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบ ทุกฝ่ายรวมทั้งธนาคารกสิกรไทยต่างเชื่อว่าความพยายามในระดับนานาชาติที่สอดคล้องกับความตกลงปารีสเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องการการประสานพลังเพื่อลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง
การดำเนินการดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนจากทางการ การสนับสนุนทางการเงิน และมาตรฐานที่เหมือนกันในแต่ละอุตสาหกรรมและตลอดห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ ขณะนี้บางประเทศและบางองค์กรได้ตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่งในอนาคตก็จะมีอีกหลายประเทศและหลายหน่วยงานทั่วโลกที่จะเข้าร่วมปณิธานนี้ต่อไป
ในแวดวงธุรกิจการธนาคารไทย ได้รับการสนับสนุนจากทางการในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยในการกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืน โดยการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ และการพัฒนานิยามการเงินสีเขียว (Green Taxonomy) หรือการจำแนกหมวดหมู่สำหรับกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 One Report ตามเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาธิบาล หรือ ESG
“ดิฉันในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม (Chief Environmental Officer)ของธนาคารกสิกรไทย มีความมุ่งหวังให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้พิทักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารและแนวโน้มด้านความยั่งยืนของโลก นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยร่วมผลักดันให้คนไทยพิทักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งต่อโลกใบนี้แก่เยาวชนให้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบ สมดุล และยั่งยืน”
ตั้งแต่ปี 2563 ธนาคารกสิกรไทยได้เข้าร่วมลงนามรับ“หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ขององค์การสหประชาชาติ” (UN Principles for Responsible Banking: UN PRB) ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (United Nations Environmental Program Finance Initiative: UNEP FI)ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินธุรกิจธนาคารอย่างยั่งยืนของโลก และครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมในยุทธศาสตร์ทางธุรกิจด้วย เพื่อขับเคลื่อนองค์กรบนมาตรฐานธนาคารแห่งความรับผิดชอบในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ธนาคารยังได้เข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures หรือ TCFD) ทั้งในด้านความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงิน ธนาคารส่งเสริมให้ลูกค้าดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้นรวมทั้งการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจในขณะที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยธนาคารให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจที่ยึดถือในหลักการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (BCG) ตัวอย่างเช่น การใช้เกณฑ์ ESG ตามความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Screening Tools) เป็นเครื่องมือในกระบวนการพิจารณาเครดิต
ธนาคารกสิกรไทยได้จัดทำระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้การปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ได้รับการรับรองการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets หรือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมทั้งเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ด้วย
ถึงแม้ว่าธนาคารจะดำเนินงานอย่างจริงจังในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ยังมีภารกิจที่จะทำได้อีกมาก ธนาคารกำหนดนโยบายเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีความตั้งใจจริงที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงประสบความสำเร็จแล้วในบางเป้าหมาย ในขณะที่ยังต้องเร่งดำเนินงานให้เร็วขึ้นด้วย
“สุดท้ายนี้ นอกเหนือจาก “ทำสิ่งดีและทำอย่างดี” แล้ว เรายังต้อง “ทำมากขึ้น” อีกด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น แต่เป็นทุกฝ่ายในระบบนิเวศนี้ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจ หน่วยงานทางการและภาคประชาชนที่จะต้องร่วมมือกันและมีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็งและยั่งยืน”
ภายในงาน Sustainable Thailand 2021 วันนี้ นางสาวขัตติยาได้เป็นตัวแทนธนาคารกสิกรไทยร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ Statement of Commitment for Sustainable Thailand 2021 ในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ บนหลักการลงทุนและธนาคารแห่งความยั่งยืน (Sustainable Investment and Banking) ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) และข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อร่วมสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศยั่งยืน และผลักดันให้ภาคการเงินและภาคการลงทุนไทยเดินหน้าสู่มาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบมาตรฐานสากลในอนาคต ตามข้อเสนอขององค์การสหประชาชาติ